ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : มวลชนกับโลกาภิวัตน์ – โจทย์ที่การสร้างอนาคตใหม่ต้องคิด

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจคือปรากฏการณ์ที่คนไทยแทบทุกฝ่ายรู้สึกร่วมกัน และไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพูดว่าเศรษฐกิจดีแค่ไหน

ข้อเท็จจริงในกระเป๋าเงินทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อที่นายกฯ นายพลพูดแน่ๆ ยกเว้นแต่คุณสมคิด, ทีมพลเอกผู้แต่งตั้งคุณสมคิด และทีมเดินตามคุณสมคิดจนได้เป็นรัฐมนตรีสามสี่คน

มองย้อนไปในรอบสี่ปี ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจเกิดจากสาเหตุทางโครงสร้างและสถานการณ์เฉพาะหน้าปนกันไปหมด สามปีแรกของรัฐบาลทำเศรษฐกิจมหภาคและการส่งออกติดลบจนน่าใจหาย

ส่วนปีนี้ก็เกิดปัญหาที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้อะไรจากเศรษฐกิจมหภาคและส่งออกที่ฟื้นตัวช่วงกลางปี 2560 เป็นต้นมา

พูดง่ายๆ ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้เคลื่อนจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั้งระบบเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้อะไรจากระบบเศรษฐกิจ

หลักฐานง่ายๆ ได้แก่ ส่งออกปีนี้โต 10% จีดีพีประเทศขึ้นไป 3.5-4% แต่การบริโภคในประเทศยังอยู่เขต 3%

ซึ่งแปลว่าการส่งออกไม่ส่งผลให้คนส่วนใหญ่มีเงินจับจ่ายอะไร

ข้อมูลจากบทความ “จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย” ของสถาบันวิจัย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้ภาพที่ช่วยอธิบายว่าทำไมคนไทยไร้เงินแม้ส่งออกโต

เหตุผลง่ายๆ คือมูลค่าการส่งออก 88% เป็นของนักธุรกิจไม่กี่เจ้า และถ้าเข้าใจต่อไปว่าจีดีพีไทยมาจากการส่งออก 60% ก็เท่ากับมีคนนิดเดียวที่ได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจโต

หากเอาข้อมูลปี 2558 เป็นตัวตั้ง ประเทศไทยมีนักธุรกิจส่งออกทั้งหมด 36,686 ราย

และถ้าตัวเลขของสถาบันป๋วยถูกต้องว่ากลุ่มธุรกิจราวร้อยละ 5 ครอบครองมูลค่าการส่งออกเกือบทั้งหมด ก็พอจะอนุมานได้ว่าเม็ดเงินจากการส่งออกร้อยละ 88 กระจุกอยู่ในมือกลุ่มผู้ส่งออกราวๆ 1,800 ราย

ถ้าอิงข้อมูลที่ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทยว่าไว้ 2 ใน 3 ของกิจการที่โกยเงินจากภาคส่งออกที่สุดนั้นเป็นทุนต่างชาติ

เม็ดเงินจากการส่งออกกองใหญ่ก็อาจอยู่ในธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาผลิตหรือถือหุ้นส่วนกับทุนไทยแล้วส่งออกราว 1,300 ราย

แต่ไม่ได้กระจายสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศไทย

จริงอยู่ว่าการเติบโตของภาคส่งออกเกิดจากปัจจัยอย่างความสามารถถึงวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการ แต่นโยบายอย่างการยกเว้นภาษีหรือกดค่าจ้างขั้นต่ำก็คือปัจจัยหนุนการส่งออกที่รัฐยัดเยียดให้ประชาชนแบกรับ

รัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้คนในประเทศได้อะไรจากเรื่องนี้ยิ่งกว่าเป็นลูกจ้างค่าแรงถูกๆ

อย่างที่ผ่านมาหากรัฐไม่กดดันให้ทุนข้ามชาติกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรม คนส่วนใหญ่ก็จะจมปลักในหุบแห่งความยากจนไม่สิ้นสุด

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 จึงเกิด “ขบวนการ” ที่ประชาชนรวมตัวสู้เพื่อความยุติธรรมด้านนี้ในหลายประเทศ และนี่เป็นอีกเรื่องซึ่งควรเป็นหนึ่งในอนาคตใหม่ของสังคมไทยในสังคมที่รัฐเทิดทูนทุนข้ามชาติยิ่งกว่าประชาชน

หนทางแห่งการยุติหรือบรรเทาสภาพอันบัดซบนี้มีขั้นตอนสำคัญสองข้อ

ข้อแรก คือความรู้ว่านายทุนคนไหนและกลุ่มธุรกิจใดอยู่เบื้องหลังทุนข้ามชาติซึ่งสร้างปัญหาทั้งหมด

และข้อสอง คือโอกาสที่ความรู้เรื่องนี้จะเปลี่ยนเป็นแรงกดดันให้รัฐและทุนปรับพฤติกรรม

ไม่ว่าทหารกลุ่มยึดอำนาจจะใช้เล่ห์เหลี่ยมเตะถ่วงเลือกตั้งไปอีกนานแค่ไหน ถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองต้องหยิบเรื่องนี้เป็นนโยบายเพื่อเปลี่ยนประเทศสู่เส้นทางเพื่อประชาชน

เพราะในยุโรปหลายประเทศ พรรคเล็กและนักการเมืองใหม่ก็ชูนโยบายนี้จนประชาชนลงคะแนนให้เข้าสภาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ในกรณีฝรั่งเศสซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้พรรคทางเลือกในหลายสังคม

ส.ส.ใหม่ที่โด่งดังอย่างฟรองซัวส์ รุฟแฟงต์ ก็เป็นอดีต “สื่อทางเลือก” ของสหภาพแล้วทำสารคดี Merci Patron! แฉธุรกิจเครือหลุยส์ที่ย้ายโรงงานแล้วเลิกจ้างคนงานไม่สิ้นสุด จากนั้นคนงานก็โหวตให้เขาเข้าไปสร้างอนาคตที่ดีขึ้นกับประชาชน

จริงอยู่ ชัยชนะของนักการเมืองรายนี้ชวนให้คิดว่าคนหัวก้าวหน้าแจ้งเกิดจากการลงเลือกตั้งครั้งเดียวได้ แต่ความสำเร็จกรณีนี้มีเงื่อนไขเฉพาะคือรุฟแฟงต์ก่อเกิดจากการต่อสู้ของมวลชนขั้นเป็นผู้ริเริ่มขบวนการ Nuit debout ซึ่งปี 2016 แข็งแกร่งขนาดนัดหยุดงาน, ยึดจัตุรัส และชุมนุมในฝรั่งเศสพร้อมกัน 30 เมือง

พูดให้เห็นภาพอีกนิด นักประวัติศาสตร์บางคนบอกว่า Nuit debout เทียบได้กับการลุกฮือที่นักศึกษายึดมหาวิทยาลัยและคนงานยึดโรงงานทั่วฝรั่งเศสจนประธานาธิบดีหนีไปเยอรมนีในปี 1968

ขณะที่สื่อบางส่วนเปรียบเทียบขบวนการนี้กับกลุ่ม Occupy Wall Street ที่ประชาชนบุกยึดพื้นที่หน้าตลาดหุ้นอเมริกา

สําหรับผู้สนใจการเมืองจำนวนมาก Nuit debout ซึ่งแปลว่า Rise up the Night (คืนลุกฮือ) เกิดจากประชาชนแต่ละกลุ่มเผชิญความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจถึงจุดที่เห็นว่าต้องประท้วงร่วมกัน นอกจากนั้น คือความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและพรรคการเมืองล่มสลายจนคนไม่เชื่อว่าสถาบันนี้จะแก้ปัญหาได้ต่อไป

ในระดับภาพกว้าง ปัญหาเศรษฐกิจผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงในการชุมนุมและนัดหยุดงาน ความยากจน, อัตราว่างงานสูง, เยาวชนไร้อนาคต, ถูกเลิกจ้าง, ผลกระทบจากการค้าเสรี ฯลฯ จึงผสานเป็นเนื้อดินให้ผู้คนร่วมกันสร้างการเมืองมวลชนบนท้องถนนเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของตนเอง

ในกรณีของ ส.ส. รุฟแฟงต์ ผู้บุกเบิกขบวนการมวลชนและสร้างสารคดี Merci Patron! หรือ “ขอบใจเจ้านาย” งานสำคัญที่เป็นแรงส่งเขาเข้าสภาคือการต่อสู้กับทุนข้ามชาติเครือหลุยส์ซึ่งทำชนชั้นคนงานหายนะ หรือพูดอีกแบบคือการสู้กับทุนโลกาภิวัตน์ซึ่งสร้างความอยุติธรรมกับคนส่วนใหญ่ในสังคมอุตสาหกรรม

หนึ่งในอัปลักษณ์ของโลกาภิวัตน์คือทุนใหญ่ระดับประเทศวิวัฒนาการเป็นทุนข้ามชาติที่ลงทุนทั่วโลกได้เสรี นายทุนกลายเป็นเครือข่ายชนชั้นนำโลกที่รัฐบาลทุกประเทศเกรงใจ การย้ายกิจการไปแหล่งค่าแรงถูกหรือต้นทุนแรงงานต่ำเกิดได้โดยอิสระ ผลก็คือประชากรเผชิญความไม่มั่นคงในการทำงานตลอดเวลา

คู่ขนานไปกับการเคลื่อนย้ายทุนโดยเสรีที่ขยายตัว วิธีจ้างงาน “แบบยืดหยุ่น” คือรูปแบบการจ้างงานซึ่งแพร่หลายตามไปด้วย เจ้าของทุนพัฒนาการจ้างแบบลูกจ้างชั่วคราว, ฟรีแลนซ์, ซับคอนแทกต์, outsource ฯลฯ

จนนายจ้างแทบมีอิสรภาพในการเลิกจ้างได้ตามใจชอบ สวนทางกับคนส่วนใหญ่ที่ไร้อำนาจต่อรอง

ก็ในเมื่อคนส่วนใหญ่ยังชีพด้วยค่าจ้างจากการทำงาน ความไม่มั่นคงด้านนี้ย่อมสร้างความด้อยโอกาสด้านการศึกษา, การแพทย์, การเลื่อนสถานะ ฯลฯ ตามไปด้วย โลกาภิวัตน์สูตรนี้ส่งผลให้ “ความไม่เท่าเทียม” เป็นลิขิตที่คนส่วนใหญ่จำต้องยอมรับ สังคมในสภาพแบบนี้จึงเป็นสังคมที่การแบ่งแยกแทบเป็นนิรันดร์

พูดแบบ Joseph Stiglitz ก็คือโลกาภิวัตน์สร้าง The Great Divide ที่คนจำนวนมากในโลกเกิดและตายแบบชนชั้นรากหญ้าจากปู่สู่หลาน ส่วนคนหยิบมือเดียวก็สะสมทุนจนความมั่งคั่งทวีคูณในชนชั้นเดียวกัน

การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนคือหนึ่งในเครื่องมือที่ทุนข้ามชาติใช้เพื่อสร้างการจ้างงานที่ยืดหยุ่นได้ตามใจ บรรษัทข้ามชาติทั้งหมดกระจายการผลิตไปโรงงานในประเทศล้าหลังซึ่งหลายกรณีไม่มีกฎหมายแรงงาน, มีแต่ไม่ปฏิบัติ และบางกรณีก็ใช้แรงงานบังคับอย่างอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่อื้อฉาวของไทย

ด้วยเหตุดังนี้ Mark Anner ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ไม่กี่คนที่ศึกษาเรื่องห่วงโซ่การผลิตระดับโลก หรือ Global Supply Chain จึงชี้ว่าการควบคุมแรงงานคือเป้าหมายของโครงสร้างการผลิตแบบนี้ ไม่ใช่การกดค่าแรง, หั่นสวัสดิการ หรือการแย่งชิงความได้เปรียบในการขนส่งสินค้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ

โดยพื้นฐานแล้วพลังของคนในสังคมเกิดจากการรวมตัว แต่เมื่อใดที่โครงสร้างการผลิตเต็มไปด้วยการจ้างชั่วคราว / outsource / เหมาช่วง ฯลฯ เมื่อนั้นความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงานย่อมทำให้คนไม่รวมกลุ่มจนอำนาจต่อรองมวลชนถดถอย จากนั้นการจำยอมต่อการถูกละเมิดสิทธิหรือกดค่าแรงก็ตามมาโดยปริยาย

ถ้าโลกาภิวัตน์เป็นแค่ห่วงโซ่การผลิตเพื่อคุมแรงงาน บูรณาการของผู้คนสู่โลกาภิวัตน์ย่อมเป็นเส้นทางที่คนส่วนใหญ่จมปลักกับความไม่เท่าเทียม และในเมื่อห่วงโซ่การผลิตคือเครื่องมือที่ทุนใช้จนคนส่วนใหญ่ไม่ได้อะไร สิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องทำจึงได้แก่การตรวจสอบความอยุติธรรมในห่วงโซ่การผลิตของทุน

ถึงจุดนี้เองที่การละเมิดสิทธิหรือการปฏิบัติกับคนงานไม่เป็นธรรมกับคนงานกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ในบรรดาธุรกิจข้ามชาติที่มีโครงสร้างการผลิตซับซ้อนในปัจจุบัน เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีพฤติกรรมนี้ในประเทศต่างๆ มากที่สุด ช่วงไม่กี่ปีมานี้จึงเกิดการสำรวจที่เรียกว่า Fashion Industry Index เพื่อตรวจสอบว่าเสื้อผ้าแต่ละแบรนด์ปกปิดหรือโปร่งใสด้านกระบวนการผลิตที่เป็นจริง

พูดให้เป็นรูปธรรม ดัชนีนี้ตรวจสอบความโปร่งใสของการผลิตเสื้อผ้าดังอย่าง Zara, Dior, Calvin Klein, Burberry, Adidas, Louis Vuitton, Mango, H&M, Hugo Boss, Timberland, Uniqlo, Triumph, Gap, YSL, Wrangler, Guess,Gucci, Lacoste, Prada, Old Navy, Levi, Esprit, Coach ฯลฯ รวมกัน 100 ยี่ห้อในปัจจุบัน

จากการสำรวจปีที่ผ่านมา งานวิจัยพบว่าสินค้าที่มีปัญหา Traceablity หรือตรวจสอบที่มาที่ไปไม่ได้สูงสุดคือกลุ่มแบรนด์หรูดังเช่น Louis Vuitton, Dior, Chanel, Prada, YSL, Gucci, Burberry, Guess, Ralph Lauren และ Armani ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลด้านการผลิตและธรรมาภิบาลในห่วงโซ่การผลิตแม้แต่นิดเดียว

มองในแง่นี้ ทุนข้ามชาติกลุ่มนี้มีโอกาสจะปกปิดความไม่ชอบมาพากลในการผลิตอยู่ตลอดเวลา เสื้อผ้าราคาตัวละเป็นแสนจึงอาจผลิตโดยคนงานที่ถูกละเมิดสิทธิหรือได้ค่าแรงวันละ 10 เหรียญในมาดากัสการ์, ไทย, จีน, กัมพูชา ฯลฯ

ซึ่งทุนกลุ่มนี้ไม่มีทางทำได้ หากผลิตแบรนด์หรูโดยคนงานในประเทศตัวเอง

ด้วยเหตุดังนี้ โลกาภิวัตน์ภายใต้เครือข่ายทุนข้ามชาติระดับโลกจึงเดินหน้าบนการสร้างความขัดแย้งในตัวเองสองข้อ

ข้อแรก คือความขัดแย้งจากมวลชนในสังคมอุตสาหกรรมจากประเทศที่เป็นแกนของทุนนิยม

ข้อสอง คือความขัดแย้งจากชนชั้นแรงงานในประเทศที่เป็นปลายน้ำของห่วงโซ่การผลิตอย่างที่กล่าวไป

ในสังคมที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปัตย์ ใครมีข้อเสนอซึ่งชนะใจคนส่วนใหญ่ทั้งสองกลุ่มนี้ก็ย่อมมีโอกาสครอบครองอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตย

ชัยชนะของ ส.ส.หัวก้าวหน้าในฝรั่งเศสจากหนัง Merci Patron! เป็นตัวอย่างว่าความคับแค้นทางเศรษฐกิจคือพลังของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

โลกาภิวัตน์ไม่ใช่สวรรค์ของคนส่วนใหญ่

และประชาธิปไตยสมัยใหม่กำลังมาถึงจุดที่การแก้ปัญหาโลกาภิวัตน์สำคัญกว่าทฤษฎีว่าจีดีพีและส่งออกจะทำให้คนหายจน

หน้าที่ของรัฐสมัยใหม่คือการจัดสรรทรัพยากรให้คนทุกกลุ่มอย่างยุติธรรม แต่ที่ผ่านมามีรัฐบาลไม่กี่ชุดที่ทำแบบนี้ อนาคตใหม่ของประเทศไม่มีวันเกิด หากคนส่วนใหญ่ไม่ได้อะไรจากปัจจุบัน

ประตูบานแรกในการนำประเทศสู่ทางเลือกใหม่ต้องตั้งต้นที่เรื่องความยากจนของมวลชนกับโลกาภิวัตน์ยิ่งกว่าที่ผ่านมา