ข้อพิจารณา ข่าวปอเนาะโกงเงิน เพื่อแบ่งแยกดินแดน

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวใหญ่รับสงกรานต์ที่ชายแดนใต้เมื่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จชต. หรือชาวบ้านเรียกว่าปอเนาะ ถูกกล่าวเป็นข่าวดังว่าโกงเงินรัฐแล้วนำเงินนี้ไปเป็นท่อน้ำเลี้ยงการก่อการร้าย จชต. ซึ่งข่าวนี้ตีคู่กับข่าวดังอื่นๆ เกี่ยวกับการทุจริตเงินนักเรียน เงินคนจนและการคอร์รัปชั่นใน ศอ.บต.

กล่าวคือ จากการสัมภาษณ์ของแม่ทัพภาคที่ 4 เรื่องการตรวจสอบเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและมีการพาดหัว ตีความจากหลายสื่อว่าเงินอุดหนุนรัฐต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (ปอเนาะ) เฉพาะปัตตานีกว่า 700 ล้านบาทนำไปหนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน (โปรดดู https://www.deepsouthwatch.org/node/11813)

ซึ่งผู้เขียนขอชี้แจงในประเด็นดังต่อไปนี้เพื่อให้เพื่อนสื่อต่างๆ ได้นำเสนอข่าวอย่างรอบด้านเพราะมันเป็นมิติความมั่นคงและจะกระทบต่อกระบวนการสันติภาพ จชต.

(ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เป็นฐานสำคัญในการสร้างบุคลากรทุกภาคส่วน ไม่ว่าอยู่ในรัฐและเอกชนจากทุกสาขาอาชีพ)

1.โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีวิวัฒนการจากสถาบันสอนศาสนาอิสลามอย่างเดียวในอดีต และปัจจุบันมีการเรียนการสอนด้านศาสนากับหลักสูตรสามัญตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ

ดังนั้น โรงเรียนเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้หลักการศาสนาอิสลามผ่านผู้นำศาสนา การโกงการทุจริตแม้แต่บาทเดียวศาสนาอิสลามไม่อนุญาตเพราะผิดหลักคุณธรรมจริยธรรมทั้งอิสลามและสากล ดังนั้น โรงเรียนใด โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหากปฏิบัติ ท่านกำลังทำลายภาพพจน์ศาสนา และเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานรับผิดชอบให้เข้าตรวจสอบอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ภายใต้กฎหมายไทย

และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งขอให้ผู้นำศาสนาอิสลามร่วมรณรงค์ว่าการทุจริตงบฯ รัฐก็เป็นบาป ไม่สามารถปฏิบัติได้

2.เงินอุดหนุนที่รัฐให้ทุกสถาบันทั่วประเทศที่เป็นเอกชนเปิดสอนหลักสูตรสามัญตามหลักเกณฑ์กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่ให้เฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา (ปอเนาะ จชต. เท่านั้น) จากการพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหนึ่งซึ่งขอสงวนนาม ขออนุญาตนำเสนอข้อมูลเก่าของปี 2556-2558 ที่ถูกฉายซ้ำๆ หลายครั้ง เกี่ยวกับปัญหาเด็กนักเรียนซ้ำซ้อนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (มีการเปิดเผยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม)

– ปีงบประมาณ 2556 มีโรงเรียนสอนศาสนาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องคืนเงินอุดหนุน จำนวน 256 โรง จำนวนเงินทั้งสิ้น 43,300,000 บาท

– ปีงบประมาณ 2557 มีโรงเรียนที่ต้องคืนเงินอุดหนุน 227 โรง จำนวนเงินที่ต้องส่งคืน 82,300,000 บาท

– ปีงบประมาณ 2558 มีโรงเรียนต้องส่งคืนเงินอุดหนุน 8,800,000 บาท

ข้อมูลนี้ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นแล้วว่าปัญหานี้ได้รับการแก้ไขจากผู้ที่เกี่ยวข้องจนลดลง

เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับท่านอดินันท์ ปากบารา สมัยที่ท่านเป็นเลขาฯ สช. ต้องการให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนามีระบบการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ในฐานะสถาบันการศึกษาหลักของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความโปร่งใส ไม่เป็นที่กังขาของสังคม

โดยเมื่อปี 2556 ท่านริเริ่มเอาข้อมูลนักเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) ของโรงเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปตรวจสอบกับนักเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยการเทียบเลขบัตรประชาชน 13 หลัก

พบนักเรียนซ้ำซ้อนเรียนอยู่สองที่พร้อมกันจำนวนมาก (แน่นอนว่าต้องมีเด็กผีสักที่) ทำให้ได้รับเงินอุดหนุนเกินจริง ประเมินเป็นความเสียหายที่โรงเรียนเอกชนต้องคืน 43.3 ล้าน

พอปี 2557 จึงเอาข้อมูลไปตรวจสอบทั้งกับ สพฐ. กศน. และอาชีวศึกษา ตัวเลขที่โรงเรียนเอกชนต้องคืนอยู่ที่ 82.3 ล้าน (ปี 2556 ถ้าตรวจสอบกับทุกสังกัดต้องมากกว่า 43.3 ล้านแน่ๆ)

พอมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ปัญหาจึงได้รับการแก้ไข ปี 2558 ความเสียหายอยู่ที่ 8.8 ล้าน ลดลงถึง 89%

อยากรู้ว่ามีเด็กซ้ำซ้อนกี่คนก็เอา 14,000 บาท/คน ไปหาร ได้คำตอบคร่าวๆ ว่าปี 2558 โรงเรียนเอกชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเด็กซ้ำซ้อนไม่เกิน 630 คน

(ในอดีตก่อนปี 2558) สาเหตุส่วนใหญ่แล้ว โรงเรียนอาจจะไม่ได้ใส่ใจกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ไม่ได้ติดตามว่านักเรียนที่ขาดเรียนว่าหายไปไหน

ระเบียบมีอยู่ว่าหากนักเรียนขาดเรียนเกิน 15 วันจะต้องตัดชื่อออก แต่จะโดยตั้งใจหรือไม่ได้วางระบบการติดตามก็ตาม ไม่มีการตัดชื่อตรงนี้ออก

ต้นปีกับท้ายปีนักเรียนอยู่ครบ ทั้งๆ ที่นักเรียนไปเรียนที่อื่นแล้ว สมัครเรียนต่อกับ กศน. แล้วก็มี เผลอๆ ไปทำงานขายต้มยำที่มาเลเซียแล้ว!!!

บางรายหายไปและถูกตัดชื่อออกไปแล้ว แต่พอถึงวันสอบ O-NET ดันโผล่มาสอบ ทำเอาผู้บริหารโรงเรียนหรือฝ่ายวิชาการสะดุ้ง เพราะกลัวจะทำคะแนนเฉลี่ย O-NET ของโรงเรียนตก (ฮา…)

พอมีการตรวจสอบ จึงเกิดรายชื่อซ้ำซ้อนขึ้น นักเรียนไม่ได้อยู่ โรงเรียนนั้นต้องคืน

ตรงนี้แก้ปัญหาได้ด้วยการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง

ซึ่งที่ผ่านมา ทาง สช. ได้เข้าไปวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนที่มีปัญหา ติดตามนักเรียนรายบุคคล จนตัวเลขการซ้ำซ้อนลดลง

บางแห่งถึงขนาดให้กองกำลังหน่วย ฉก. ในพื้นที่เข้าไปช่วยเรียกชื่อ/นับจำนวนนักเรียนในแถวกันเลย ในวันที่เจ้าหน้าที่ สช. เข้าไปตรวจสอบ

ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวหาว่ามีโรงเรียนที่ตั้งใจเอารายชื่อเด็กที่ไหนมาก็ไม่รู้ ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาเอาเข้าบัญชี หวังค่าอุดหนุนรายหัว มีพฤติกรรมส่อทุจริตชัดเจน จนฝ่ายความมั่นคงสงสัยว่าอาจเป็นช่องทางสนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบ หากปรากฏมีอยู่จริงก็ควรระบุให้ชัดเจนไปเลย ไม่ใช่เชื่อมโยงปัญหาอย่างเหมารวม

ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยจากโรงเรียนเอกชนก็คือ มีการตรวจสอบการซ้ำซ้อนเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช่หรือไม่?

(มันก็น่าอยู่หรอกนะ เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคง) แล้วภาพรวมของทั้งประเทศเป็นอย่างไร ไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูล

ที่สงสัยอย่างนั้น เพราะในการตรวจสอบกันเองระหว่างโรงเรียนเอกชนพบว่ามีนักเรียนจำนวนมากเกิดซ้ำซ้อน โดยเฉพาะที่ย้ายมาจากนอกเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่นักเรียนมาเรียนอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่โรงเรียนเดิมก่อนย้ายมาไม่ได้ตัดรายชื่อออกและปรากฏชื่อซ้ำซ้อนทุกปีที่มีการตรวจสอบ

แสดงว่าไม่ได้มีการตรวจสอบ/ติดตามไปที่โรงเรียนเดิมที่อยู่นอกเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด

เพิ่งจะมีการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวในปีนี้ โดยนายการุณ สกุลประดิษฐ ปลัด ศธ. (พื้นเพคนสายบุรี) พบตัวเลขเด็กซ้ำซ้อนระหว่างสังกัดต่างๆ ทั่วประเทศถึง 117,431 คน

เด็กซ้ำซ้อนแสนกว่าคน!!!! (ประเทศเสียหายไปเท่าไหร่ ก็เอาจำนวนเงินอุดหนุนรายหัวของแต่ละสังกัดเข้าไปคูณ) ระบุว่าจะมีการปรับระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อแก้ปัญหาเด็กซ้ำซ้อนให้ได้ต่อไป

เมื่อมองความเสียหายโดยภาพรวมของประเทศ จึงเกิดข้อเคลือบแคลงกันว่ามีการฉายซ้ำข้อมูลเก่าของโรงเรียนเอกชนใน 5 จังหวัด ที่ได้รับการแก้ไขแล้วเพื่อจุดประสงค์อะไร?

3.ดังนั้น ในข้อเสนอนี้รัฐควรตรวจสอบจากเงินอุดหนุนนักเรียนทุกสังกัดด้วยเพราะจะเห็นภาพรวมจริง

และใช้โปรแกรมนักเรียนเดียวที่สามารถเชื่อมและตัดยอดได้ทุกเดือนของทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาของรัฐ

4.พิจารณาใหม่เรื่องกฎระเบียบของรัฐที่กำหนดเงินเดือนและเงินเสี่ยงภัยในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจากกรณีที่กฎของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ต้องให้เงินเดือน 15,000 บาท/เดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรี และกำหนดจำนวนคนแต่ละโรงว่าเงินเสี่ยงภัย 2,500 บาท/คน

ความเป็นจริงในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีการเรียนการสอน 2 หลักสูตร คือ สามัญศึกษาจากปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอิสลามศึกษา (หลักสูตรศาสนา) เด็กแต่ละคนเรียนสองหลักสูตร ดังนั้น กระบวนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนจะต้องจ้างบุคลากรทั้งศาสนา สามัญ จึงทวีคูณ 2 เท่า

ส่งผลให้การบริหารงานโรงเรียนแต่ละโรงจะต้องจ่ายเกือบสองเท่าของโรงเรียนเอกชนปกติที่คิดการอุดหนุนรายหัวเท่ากัน

ดังนั้น ในแง่เอกสาร ครูที่เซ็นรับ 15,000 บาท อาจรับไม่ถึงเพราะอาจต้องนำเงินนี้ไปเจียดให้ครูที่ทำการสอนจริงในอีกหนึ่งหลักสูตร

เงินเสี่ยงภัยเช่นกัน 2,500 บาท/เดือน/คน ก็อาจต้องเฉลี่ยกับคนสอนอื่นๆ ในโรงเรียนเช่นกันซึ่งมีอีกข้อตกลงระหว่างโรงเรียนกับครู

ตรงนี้หลายโรงยอมรับว่าบริหารตามเอกสารลำบาก

เพราะถ้าทำตามเอกสารจริงๆ หลายคนก็อาจไม่ได้

ตรงนี้ควรจะปฏิรูปผ่านการพูดคุยและกฎอย่างไรที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทั้งเอกสาร ความเป็นจริง ส่วนโรงเรียนใดนำเงินนี้ไปเบียดเบียนใช้ส่วนตัวไม่ถึงครูถึงโรงเรียนขอให้รัฐช่วยจัดการ

5.ระมัดระวังในการให้ข่าวและไม่เหมารวม ใครผิดก็ว่าตามผิด

เพราะผู้ถูกกล่าวหาวันนี้เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย หากวันหนึ่งเขาชนะคดีเหมือนคดีความมั่นคง ใครจะรับผิดชอบ

อีกทั้งอย่าลืมประวัติศาสตร์สมัยหะยีสุหลงก็เคยถูกกล่าวหาว่าท่านสอนแนวคิดแบ่งแยกดินแดนแล้ว มีการเหมารวมสถาบันการสอนศาสนาอิสลาม

ทำให้ท้ายสุดเกิดขบวนการใต้ดินต่อต้านรัฐ เกิดการประท้วงรัฐใหญ่ปี 2518 หน้ามัสยิดกลางปัตตานี

เหตุการณ์เหล่านี้ผู้เขียนไม่อยากให้เกิด แต่อดกังวลไม่ได้เพราะเริ่มเห็นชมรมผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จชต. ออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อและถูกตีความว่าอาจไม่ร่วมมือกับรัฐในนโยบายแก้ปัญหา จชต. ซึ่งมีการเคลื่อนไหวสองครั้ง คือ หนึ่ง เมื่อวันที่ 23/3/61 หน้ามัสยิดกลางปัตตานี และล่าสุด 4 เมษายน 2561 ที่โรงเเรมไดอิชิ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

โดยตัวแทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จชต. ในนามคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเสริมสร้างความยุติธรรม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีข้อเสนอ 9 ข้อดังนี้

1. การใช้เงินอุดหนุนของรัฐ ที่ทางโรงเรียนดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ทางโรงเรียนยินดีจะร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องต่อไป

2. คณะที่ปรึกษาเสริมสร้างความยุติธรรมฯ (ในส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา) จะร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและด้านอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน

3. ถ้ามีผู้บริหาร ครู บุคลากร นักเรียน และผู้เห็นต่าง ที่กระทำความผิด หรือมีคดีความมั่นคง ทางคณะที่ปรึกษาเสริมสร้างความยุติธรรมฯ จะประสานกับโรงเรียนเพื่อนำบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมโครงการปูลังกำปง (โครงการพาคนกลับบ้าน)

4. แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยมีคณะที่ปรึกษาเสริมสร้างความยุติธรรมฯ/ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้/ตัวแทน ศอ.บต./ตัวแทน กอ.รมน. และหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

5. การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนให้ยึดปัจจุบันและอนาคต โดยการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ใช้วิธีการสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

6. การปฏิบัติการจะต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยเริ่มจากพูดคุย ค้น และดำเนินการอย่างละมุนละม่อมและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

7. หลีกเลี่ยงการดิสเครดิตโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

8. เจ้าหน้าของรัฐที่ปฏิบัติการในฟื้นที่จะต้องเข้าใจบริบทอย่างแท้จริงและต้องดำรงซึ่งคุณธรรม จริยธรรม อย่างเคร่งครัด

9. ระบบตรวจเด็กซ้ำซ้อนจะต้องตรวจได้ทั้งระบบ ทั้งเอกชนและของรัฐ อย่าตรวจสอบเฉพาะของเอกชนเพียงอย่างเดียว

การออกมาใข้กฎหมายนำนโยบายการเมืองของแม่ทัพภาคสี่โดยเข้าตรวจค้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามผ่านการตรวจเงินอุดหนุนรัฐก็ใช้อย่างระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะการแถลงข่าวผ่านสื่อเชื่อมกับขบวนการก่อการร้าย/แบ่งแยกดินแดน โดยใช้เงินกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งต้องไม่ลืมด้วยว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเองก็เริ่มมีนักกฎหมายมือดีที่มีความรู้ด้านกฎหมายพิเศษและทั่วไปเช่นกันในการรองรับวิกฤตปัจจุบัน

ซึ่งท้ายสุดหากผู้ไม่หวังดีนำปฏิบัติการของรัฐซึ่งอาจผิดพลาดไปขยายผลต่อมวลชน การแก้ปัญหาจะยิ่งทับซ้อนเพิ่มขึ้น