ละครไทยไม่ได้เพิ่งจะโกอินเตอร์ “5 สิ่ง” ที่ทำแล้วไปไกลได้สุดๆ !

กระแสบุพเพสันนิวาสที่โด่งดังในต่างประเทศไม่แพ้ในประเทศไทย มีการแปลซับไตเติลออกมาเป็นภาษาต่างๆ มากมาย

ล่าสุดไปเปิดบู๊ธในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ฮ่องกง จนหลายฝ่ายพากันดีใจว่าละครไทยจะโกอินเตอร์ได้จริงๆ เสียที

ทำให้เกิดคำถามว่าละครไทยเพิ่งจะโกอินเตอร์หรือ ละครบุพเพฯ จุดติดกระแสละครไทยจนต่างชาติหันมาสนใจสั่งซื้อละครไทยไปฉายขนาดนั้นเชียวหรือ

ละครไทยจะมีหนทางไปสู่การส่งออกนานาชาติแบบละครเกาหลีได้หรือไม่

สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่สื่อสนใจอยากหาคำตอบให้แก่ผู้ติดตามออเจ้ากันทั้งบ้านทั้งเมือง

คำถามข้างบนนี้มีคำตอบจากผู้ที่ทำวิจัยเรื่องกระแสละครไทยในอาเซียนนี้มายาวนานอย่าง ดร.อัมพร จิรัฐติกร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากเฟสแรกเรื่องกระแสความนิยมละครไทยในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และพม่า

มาจนถึงเฟสที่สองเรื่องการบริโภคละครไทยทางอินเตอร์เน็ตในประเทศจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ดร.อัมพรเล่าถึงมูลเหตุที่หันมาศึกษาวิจัยเรื่องนี้เมื่อ 6 ปีก่อนว่า

“เกิดจากการเห็นว่าเริ่มเกิดกระแสละครไทยในจีน ยุคปี พ.ศ.2551-2554 ละครไทยอย่างเรื่องสงครามนางฟ้าดังเป็นพลุแตก เลือดขัตติยาที่ติ๊ก เจษฎาภรณ์ เล่นดังมาก แต่คนจีนไม่ชอบที่พระเอกตายตอนจบ จนถึงขั้นมาขอซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใหม่ให้พระเอกไม่ตาย จากจุดนั้นก็เลยทำให้มาคิดว่าหากเราอยากจะก้าวไปส่งออกละครไทยไปประเทศในแถบเอเชียแบบที่เกาหลีเขาทำจนประสบความสำเร็จมาแล้ว เราต้องศึกษาแต่ละประเทศว่าเขามีรสนิยมอย่างไร เขามีข้อห้ามอะไรบ้าง อะไรที่เซ็นซิทีฟสำหรับเขา ไม่ใช่มองตลาดนี้เป็นตลาดเดียว”

ดร.อัมพรเล่าว่า ความจริงแล้วละครไทยไม่ใช่เพิ่งจะมาโกอินเตอร์ในยุคออเจ้า ละครไทยโกอินเตอร์มาเป็นสิบปีแล้ว

แต่ถ้านับกลุ่มผู้ชมในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาวหรือกัมพูชา ประเทศเหล่านี้ดูละครไทยมานานกว่ายี่สิบปี

“ประเทศเพื่อนบ้านของเราเขาดูละครไทยเป็นล่ำเป็นสัน กลายเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตไปแล้ว ช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ ที่มีเหตุให้ละครไทยหยุดออกอากาศ คนดูในลาว ในกัมพูชา ร้องไห้กันหนักมาก เพราะว่าอดดูละครไทย”

แม้กระทั่งชนกลุ่มน้อยในพม่าอย่างชาวไทใหญ่ ก็ดูละครไทยมาเนิ่นนาน มีการนำละครไทยไปพากย์เสียงผลิตขายเป็นล่ำเป็นสัน เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็นภาษาไทใหญ่ เปลี่ยนชื่อดาราไทยไปเป็นชื่อไทใหญ่ แล้วก็เรียกชื่อนั้นตลอดไปทุกเรื่อง

อย่างอั้ม พัชราภา ได้ชื่อในภาษาไทใหญ่ว่า นางเฮวเงิน ฟังดูไม่ค่อยเพราะ เจ้าของชื่อได้ยินอาจจะตกใจ แต่จริงๆ แล้วแปลว่าเรียวเงิน คือรูปร่างดีมาก หรือเป็นชื่อดอกไม้คือดอกมหาหงส์

ประเทศเพื่อนบ้านของเราดูละครไทยมาเกินสิบปี เป็นการดูแบบที่ผู้ผลิตฝั่งไทยไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะลักลอบเอาไปพากย์เสียง อัดขายกันเอง

แต่เราเพิ่งจะมาตื่นตัวเอาเมื่อจีนซื้อละครไทยไปฉาย

ซึ่งราคาส่งออกละครไทยตอนนั้นเทียบแล้วระดับใกล้เคียงกับราคาละครเกาหลีเลยทีเดียว ช่วงปี พ.ศ.2551-2554 สถานีโทรทัศน์ของจีนบางสถานีฉายละครไทยถึงปีละ 10 เรื่อง

หลังจากเกิดกระแสขึ้นในจีนแล้ว ละครไทยก็เริ่มขยายตัวส่งออกไปเวียดนาม ไปกัมพูชา พม่าแบบเป็นทางการมากขึ้น คือมีการซื้อขายลิขสิทธิ์กันแบบถูกต้องตามกฎหมาย นำไปพากย์เสียงฉายทางโทรทัศน์

บางครั้งก็ตัดต่อใหม่ด้วยเพื่อให้ผ่านเซ็นเซอร์ของแต่ละประเทศ

แต่แล้วกระแสละครไทยโกอินเตอร์ก็มาสะดุดหยุดลงเมื่อความนิยมในจีนเริ่มแผ่ว ทั้งนี้ การส่งออกไปจีนเป็นตัวทำรายได้มากที่สุดให้ละครไทย เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่

การขายให้ตลาดอย่างเวียดนาม กัมพูชา พม่านั้นเรียกว่าเหมือนเป็นของแถม ขายเพราะอยากไปเปิดตลาดมากกว่า ซึ่งผู้จัดจำหน่ายบอกว่าแทบจะเหมือนให้ฟรี

จะเห็นได้ว่าการที่เราสามารถขายลิขสิทธิ์ละครไทยให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม หรือพม่าได้นั้นเพราะว่าประเทศเหล่านี้ไม่ผลิตละครของตัวเอง หรือแม้จะผลิตบ้างแต่คนในประเทศไม่นิยมดู จึงต้องนำเข้าละครจากต่างประเทศเป็นหลัก

นอกจากนี้ ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมก็ทำให้คนในประเทศเหล่านี้ชื่นชอบละครไทยได้ง่าย

แต่ในประเทศที่ผลิตรายการของตัวเองอยู่แล้ว ทั้งวัฒนธรรมก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับไทยมากนักอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ละครไทยยังไม่สามารถเจาะตลาดในประเทศเหล่านี้ได้

มีเพียงจีนเท่านั้นที่ละครไทยมีโอกาสไปบุกเบิกตลาดช่วงทศวรรษก่อน

แต่กระแสนี้ก็ชะงักงันไป จนกระทั่งความนิยมอย่างท่วมท้นของละครบุพเพสันนิวาส ทำให้เราหวนกลับมาตื่นตัวอีกครั้ง ด้วยความหวังว่าละครไทยอย่างบุพเพสันนิวาสจะช่วยจุดกระแสการส่งออกละครไทยไปโกอินเตอร์ให้เกิดขึ้นมาได้อย่างจริงๆ จังๆ

ดร.อัมพรกล่าวถึงการที่กระแสการส่งออกละครไทยในต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา “ยังไปไม่สุด”

ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ

หนึ่ง ต้องเข้าใจว่าเวลาเราส่งออกละครโทรทัศน์ไปต่างประเทศ เราส่งออกไปฉายทางโทรทัศน์ คนดูที่เป็นวัยรุ่นเหมือนบ้านเราไม่ดูละครจากโทรทัศน์อีกแล้ว คนที่ยังดูจากทีวีก็คือพวกแม่บ้าน กลุ่มคนดูที่เป็นผู้ใหญ่หน่อย

ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ทั่วเอเชียถ้าจะดูละครไทยก็หาดูจากฉบับ “แฟนซับ” ได้ง่ายๆ คือการที่กลุ่มแฟนคลับเอาละครไทยไปแปลซับไตเติลออกมาเป็นภาษาต่างๆ แล้วแชร์กันทางอินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็วทันใจ

ละครฉายวันนี้วันรุ่งขึ้นก็ได้ดูแล้ว ไม่ต้องมานั่งรอให้สถานีโทรทัศน์ซื้อมาฉายอีกต่อไป

สอง จากฐานคนดูที่แยกกลุ่มกันอย่างชัดเจนเช่นนี้ ทำให้เราต้องมาคิดแล้วว่า ผู้ผลิตละครโทรทัศน์จะปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี

ตอนนี้ทางเลือกใหม่คือขายลิขสิทธิ์เพื่อไปออกอากาศทางเว็บไซต์

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเว็บไซต์ใหญ่ๆ ของจีนอย่าง Tencent Youku หรือ iQiyi เริ่มหันมาซื้อลิขสิทธิ์ละครไทยไปฉายทางเว็บมากขึ้น

แต่ปัญหาก็คือ ความเชื่องช้าไม่ทันกาลของช่องทางแบบเป็นทางการ

อย่างละครบุพเพสันนิวาส ซึ่งได้ข่าวว่าเท็นเซ็นต์จะซื้อไปฉาย แต่กว่าจะเซ็นสัญญา กว่าจะผ่านเซ็นเซอร์ของจีน ซึ่งเข้มงวดมาก

คนดูก็ดูไปหมดแล้วจากฉบับที่แฟนคลับแปล

สาม ตอนนี้ทางเลือกใหม่ก็คือการซื้อลิขสิทธิ์เพื่อออกอากาศพร้อมกันกับในประเทศผู้ผลิต ที่เรียกว่า simulcast ตอนนี้เว็บไซต์ใหญ่ๆ ยอมลงทุนตรงนี้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องแฟนซับ ถ้าเขาคิดว่าคอนเทนต์ดีพอ

ประเทศเกาหลีก็เคยประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างท่วมท้นจากเรื่อง Descendant of the Sun ที่ขายลิขสิทธิ์ให้เว็บไซต์ iQiyi ของจีนได้ในราคาที่สูงถึง 250,000 เหรียญต่อตอน

แค่ขายลิขสิทธ์ให้จีนเพียงเจ้าเดียวก็ทำรายได้ครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิตละครทั้งเรื่องแล้ว

ตั้งแต่ช่วงสองปีที่ผ่านมาที่จีนแบนสื่อบันเทิงเกาหลี ก็ถือเป็นโอกาสดีของไทยที่จะบุกตลาดตรงนี้

แต่ที่ผ่านมาไทยยังฉกฉวยประโยชน์จากช่องทางนี้ไม่มากนัก

ปีที่ผ่านมาเราขายลิขสิทธิ์แบบนี้ให้เว็บไซต์ใหญ่ๆ ของจีนไปเพียงแค่ 3 เรื่องคือ Princess Hours รักวุ่นๆ เจ้าหญิงจอมจุ้น ของค่ายทรู และอีกสองเรื่องเป็นของช่องวันคือ เกมมายา และเธอคือพรหมลิขิต เรื่องหลังนี้ประสบความสำเร็จมาก มียอดเข้าชมถึง 900 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการขายลิขสิทธิ์แบบนี้จากมุมมองของผู้ผลิตละครไทยก็คือ ต้องตัดต่อให้เสร็จก่อนออกอากาศ เพราะทางจีนต้องเอาไปผ่านเซ็นเซอร์ของเขาก่อน ซึ่งผู้ผลิตของไทยอาจจะไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะมองว่าไม่เหมาะกับธรรมชาติของละครไทย ที่จะต้องตัดไปออนแอร์ไป จะได้รู้อารมณ์ของคนดู

สี่นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคนดูแล้ว เรายังต้องเข้าใจอีกว่าแต่ละประเทศก็มีเรื่องที่อ่อนไหวแตกต่างกันไป

อย่างเวียดนามยุคหนึ่งเรื่องเพศที่สามยังไม่ได้รับการยอมรับนัก ถ้าละครเรื่องไหนมีบทกะเทย พูดเสียงเล็กเสียงน้อย ทางเวียดนามจะเอาไปพากย์เป็นเสียงผู้ชายแบบแมนๆ ไม่ยอมพากย์เป็นเสียงกะเทย เพราะสังคมเวียดนามยังไม่ยอมรับ

หรืออย่างกัมพูชา ช่วงหลังความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหารก็อ่อนไหวไปทุกเรื่อง ตำนาน หรือนิยายอะไรที่ใกล้เคียงกับของที่กัมพูชามีอยู่แล้ว ก็ต้องถูกตัดออกไปเลย เพราะถือเป็นเรื่องขัดแย้งด้านมรดกทางวัฒนธรรม

จีนยิ่งแล้วเข้าไปใหญ่ เรื่องผีไม่ได้ สลับร่างไม่ได้ เพศที่สามไม่ได้ ความเชื่อทางศาสนาไม่ได้ ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสที่มีผีแม่การะเกดออกมา ก็ยังเป็นที่สงสัยว่าจะผ่านเซ็นเซอร์ของจีนหรือไม่

ประเทศอื่นๆ ที่เรายังไม่เคยนำละครไทยไปออกอากาศอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เรื่องที่อ่อนไหวของเขาแน่นอนก็เป็นเรื่องศาสนา เรื่องรักร่วมเพศ

ความจริงแล้วอินโดนีเซียเคยซื้อลิขสิทธิ์ซีรี่ส์เรื่อง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ไปออกอากาศหลายปีมาแล้ว แต่ก็ถูกเซ็นเซอร์อย่างหนักมาก เพราะมีเนื้อหาค่อนข้างอ่อนไหว

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตยังไม่ค่อยเข้าใจ ถ้าจะโกอินเตอร์ เราต้องมีความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมอยู่ในหัว

ห้า ข้อสุดท้ายนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก คือพล็อตเรื่องและการแสดง มีคำกล่าวติดตลกในหมู่ผู้ชมชาวจีนว่า “ดูละครไทยต้องไม่ใช้สมอง” เพราะตรรกะแบบไทยๆ นั้นหากใช้สมองดูจะไม่เข้าใจ ผู้ชมคนหนึ่งบอกว่า ก็เห็นอยู่ว่ารถชนทำไมไม่โทรศัพท์ไป 191 ทำไมมานั่งร้องไห้

นอกจากนี้ คนจีนยังมีคำพูดอีกว่า “ตาบอดแบบไทย” และ “หูหนวกแบบไทย” คือก็เห็นอยู่ว่าคนนั้นอยู่ตรงนั้น แต่ทำไมโลกนี้ไม่มีใครเห็นเขาเลย คนนั้นนั่งพูดอยู่ตรงนั้น คนที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็ควรได้ยิน แต่ก็ไม่ได้ยิน

จากบทเรียนที่ผ่านมาหลายๆ ปีจะเห็นว่าละครไทยที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศในยุคดิจิตอล เช่น วุ่นนักรักเต็มบ้าน หรือเธอคือพรหมลิขิต เป็นละครที่ซื้อพล็อตจากต่างประเทศมารีเมก ถึงจะประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งก็เป็นเพราะผู้ชมเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการอะไรแบบเดิมๆ ไม่ชอบเรื่องเมียหลวงเมียน้อย หรืออิจฉาริษยาแบบไม่มีเหตุผลอีกต่อไป

ซึ่งก็น่าจะเป็นข้อสรุปได้ว่าที่เราไปไม่ได้ไกลเท่าเกาหลีเป็นเพราะว่าพล็อตเรื่อง และการแสดงของเรายังเป็นแบบ “ไทยๆ” เป็นไทยแบบที่นางเอกมักจะมีเหตุให้ต้องล้มในอ้อมกอดพระเอกอยู่บ่อยๆ เป็นไทยแบบที่รถชนแล้วมานั่งร้องไห้ หรือเป็นไทยแบบที่นางร้ายสามารถร้ายได้อย่างไม่มีเหตุผล เพียงเพราะเธอเกิดมาร้าย

ท้ายที่สุดหากเราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคตรงนี้ไปได้ สร้างพล็อตเรื่องที่ดีๆ อย่างบุพเพสันนิวาส ที่ไม่จำเป็นต้องมีนางร้าย ไม่จำเป็นต้องตบจูบ หรือแย่งผู้ชาย สร้างพล็อตเรื่องที่ดูสนุก การดำเนินเรื่องฉับไว สร้างเรื่องราวที่ “เรียล” อยู่ในชีวิตประจำวัน แนวโน้มละครไทยโกอินเตอร์ก็อาจจะไม่ไกลเกินหวัง