สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร : รัสเซีย ปูติน น้ำมัน ฟุตบอลโลก และบัลเล่ต์

ระยะเวลาสั้นๆ 1 สัปดาห์ ที่ร่วมท่องไปในดินแดนรัสเซีย กับคณะผู้บริหารกลุ่ม ปตท.

ไม่ว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ ปตท. นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP นายสุกฤตย์ สุรบทโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC ฯลฯ

นอกจากได้พบกับผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน บริษัทน้ำมันทั้งเอกชน และรัฐวิสาหกิจ วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมัน รวมทั้งเหมืองแร่ ครบวงจรแล้ว

มีเหตุการณ์ต่างๆ หลายเหตุการณ์ที่น่าสนใจ

และที่สุดก็ย้อนกลับมาเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมต้องมารัสเซีย

เหตุการณ์แรก ก็คือ วันที่ 18 มีนาคม 2561 ที่ไปถึง เป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียพอดี

สิ่งที่แตกต่างจากไทย ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ก็คือ ไม่มีโปสเตอร์หาเสียงให้เห็นแม้แต่แผ่นเดียว

ที่พอสัมผัสได้ว่ามีเหตุการณ์พิเศษคืนนั้น ก็คือ การปิดถนนบางสาย โดยเฉพาะที่จัตุรัสแดง

พร้อมมีคอนเสิร์ต ฉลองวันเลือกตั้ง

ซึ่งก็ดูประหนึ่งเป็นการฉลองชัยชนะให้ นายวลาดิเมียร์ ปูติน กลายๆ

ด้วยการเลือกตั้งครั้งนี้ “ปูติน” เต็งตั้งแต่แรก ด้วยเพราะคู่แข่งสำคัญอย่าง นายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญ

แพ้ฟาวล์ ถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ตามสไตล์การเมืองรัสเซีย

ทำให้วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย คว้าชัยชนะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียต่ออีก 6 ปี

โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนสูงเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากคะแนนเสียง 64% ที่เคยได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 เป็นกว่า 76%

ซึ่งก็สมใจ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลรัสเซียเกรงว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะไม่มีคู่แข่ง

ทำให้มีการออกมาตรการจูงใจ เช่น แจกจ่ายอาหารเครื่องดื่มฟรี รวมทั้งจำหน่ายสินค้าราคาถูกตามหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้คนออกมาลงคะแนนเสียงกันมากขึ้น

รวมทั้งคอนเสิร์ตที่จัตุรัสแดง ในท่ามกลางความเหน็บหนาวของคืนนั้นด้วย

อย่างที่เราทราบ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ถือเป็นตัวแสบของสหรัฐและชาติตะวันตก

เขากอบกู้เกียรติภูมิรัสเซียที่ตกต่ำลงอย่างมากหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ให้กลับมาเคียงบ่าเคียงไหล่มหาอำนาจโลกสหรัฐ ได้อีกครั้ง

โดยอาศัย “พลังงาน” คือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียกความมั่งคั่งกลับมาสู่รัสเซีย

แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเจอการแซงก์ชั่นและคว่ำบาตรจากสหรัฐและพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เมื่อปูตินถูกกล่าวหาว่าใช้วิธีการใต้ดิน หรือวิธีเหนือความคาดหมายที่จะเรียกความยิ่งใหญ่ของรัสเซียกลับมา

เช่น รัสเซียถูกลงโทษจากข้อกล่าวหาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐ

กรณีรัสเซียผนวกเอาดินแดนไครเมียมาเป็นของตน

กรณีเข้าไปเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลซีเรีย เป็นต้น

การโดนรุมกินโต๊ะจากการถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ การเงิน ราคาน้ำมันโดนสหรัฐและซาอุดีอาระเบียทุบลงมาทำให้ประเทศขาดรายได้ ประเทศถูกโดดเดี่ยว และค่าเงินโดนเก็งกำไรหนัก

จึงไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องสู้ตาย และต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดอย่างหนัก

ซึ่งปูตินแม้จะมีภาพของผู้นำอำนาจนิยม แต่เขาก็ได้ใจคนรัสเซีย ในการฟื้นรัสเซียกลับมา

และทวีความสำคัญในฐานะมหาอำนาจโลกอีกครั้ง

อีกราวๆ 2 เดือนกว่าจากนี้

ในช่วงเดือนมิถุนายน รัสเซียจะเป็นจุดศูนย์กลางของโลกอีกครั้ง

นั่นคือ จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

ความหวังหนึ่งในการมารัสเซีย คือจะได้สัมผัสบรรยากาศฟุตบอลดังกล่าว

แต่เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเศษๆ

ช่างดูเงียบเชียบ

ที่สัมผัสด้วยตา นอกจากเห็นนาฬิกานับถอยหลัง ที่จัตุรัสแดงแล้ว

มีร้านขายของที่ระลึกตามห้างต่างๆ ซึ่งก็แค่คูหาเดียว

ทั้งที่ “ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ” น่าจะตื่นเต้น

เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ศึกฟุตบอลโลกจะทำการแข่งขันกันในดินแดน “หมีขาว”

โดยมีธีมหลักของทัวร์นาเมนต์คือ รัสเซียเป็นเมืองเทพนิยายแห่งความฝัน และเรื่องราวการสำรวจอวกาศ และจักรวาลอันโด่งดัง รวมถึง “มาโตรชก้า” ตุ๊กตาแม่ลูกดก ที่สื่อถึงความเป็นท้องถิ่น และวัฒนธรรมพื้นบ้านของประเทศ

โดยมีเจ้าหมาป่าที่มีชื่อว่า “ซาบิวาก้า” เป็นมาสคอตประจำทัวร์นาเมนต์

จะมี 32 ทีมจากทั่วโลกเข้าแข่ง

กลุ่มเอ : รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, อุรุกวัย

กลุ่มบี : โปรตุเกส, สเปน, โมร็อกโก, อิหร่าน

กลุ่มซี : ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, เปรู, เดนมาร์ก

กลุ่มดี : อาร์เจนตินา, ไอซ์แลนด์, โครเอเชีย, ไนจีเรีย

กลุ่มอี : บราซิล, สวิตเซอร์แลนด์, คอสตาริกา, เซอร์เบีย

กลุ่มเอฟ : เยอรมนี, เม็กซิโก, สวีเดน, เกาหลีใต้

กลุ่มจี : เบลเยียม, ปานามา, ตูนิเซีย, อังกฤษ

กลุ่มเอช : โปแลนด์, เซเนกัล, โคลอมเบีย, ญี่ปุ่น

มี 11 เมืองที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ประกอบไปด้วย มอสโก, รอสตอฟ ออนดอน, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, นิจนีนอฟโกรอด, โซชี, วอลโกกราด, ซามารา, คาลินินกราด, คาซาน, เยคาเตรินบุร์ก และซารันสก์

ผ่านเมืองใหญ่ 2 เมือง คือมอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

สิ่งที่เหมือนกันคือความเงียบ

ยังแปลกใจว่าทำไมรัสเซียไม่ใช้เทศกาลนี้ ปลุกเศรษฐกิจให้ฟู่ฟ่า

ถามจากนักศึกษาไทย ได้คำตอบว่าตอนนี้ “บัตรขายหมดแล้วเลยไม่ค่อยมีการโปรโมต”

และรัสเซียเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จ

ในแนวทางของตน

แต่ก่อนสงครามฟุตบอลโลกจะระเบิดขึ้น

สงครามการเมือง ก็บังเกิดขึ้นเสียก่อน

เมื่ออังกฤษ โดย เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษ กล่าวหาว่ารัฐบาลรัสเซียอยู่เบื้องหลังการลอบทำร้ายอดีตสายลับสองหน้าชาวรัสเซียที่แปรพักตร์คือ เซร์เก สกรีปาล พร้อมกับลูกสาวของเขา ที่เมืองซอลส์บรีของอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

จึงทำการตอบโต้

ปฏิบัติการแรกๆ ที่อังกฤษใช้ก็คือ ประกาศจะไม่มีสมาชิกราชวงศ์อังกฤษหรือรัฐมนตรีอังกฤษไปเข้าร่วมมหกรรมฟุตบอลโลกที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปีนี้

ตามมาด้วยสงครามการทูต เมื่ออังกฤษ พร้อมด้วยชาติพันธมิตรและชาติที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อาทิ สหรัฐ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, โปแลนด์, ลิทัวเนีย, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, สเปน, เอสโทเนีย, โครเอเชีย, ฟินแลนด์, สวีเดน, ฮังการี, ลัตเวีย และโรมาเนีย ต่างก็สั่งขับนักการทูตรัสเซียในประเทศของตนด้วย

ตอนนี้มีนักการทูตรัสเซียถูกให้ออกจากดินแดนของแต่ละประเทศแล้วอย่างน้อย 116 คน ถือเป็นเหตุการณ์ขับนักการทูตและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัสเซียในต่างประเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

สร้างความขุ่นเคืองให้กับรัสเซียมาก และกำลังจะตอบโต้ชาติต่างๆ ด้วยวิธีการเดียวกัน

และยังไม่รู้ว่าจะสะเทือนฟุตบอลโลกแค่ไหน

จะทำให้ที่เงียบอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้

เงียบกริบลงไปอีกหรือไม่ ต้องติดตาม

แต่กระนั้น การฟื้นกลับมามายืนแถวหน้าโลกได้ของรัสเซียย่อมไม่ใช่สิ่งธรรมดา

สะท้อนถึงภาวะแข็งแกร่ง ที่สามารถยืนต้านทานลมร้อนลมหนาวได้

ไม่ได้เป็นมหาอำนาจขี้โรคอย่างที่ผ่านมา

เราจึงไม่อาจมองข้าม “หมีขาว” ตัวนี้ไปได้

ต้องไม่ลืมว่า ไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานมาร่วม 120 ปี

ที่ดูเหมือนเรา “ห่างไกล” กันเหลือเกินนั้น

เอาเข้าจริง ในปี 2560 นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางไปประเทศไทยถึง 1.31 ล้านคน โดยภูเก็ต พัทยา และกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยม

ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มหันมาท่องเที่ยวรัสเซียในเมืองสำคัญต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน

มูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 79% ในปี 2560

คิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยไทยส่งออกประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน คิดเป็น 42% อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ยาง

ไทยและรัสเซีย วางเป้าหมายเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันที่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 จากปัจจุบันทำได้เพียง 30%

อุปสรรคที่สาคัญ อาทิ

มีผู้ค้าในตลาดค่อนข้างน้อย

ระยะเวลาเดินทางของสินค้าจากไทยมารัสเซียโดยเรือค่อนข้างนาน (ประมาณ 45-60 วัน) โดยเดินทางผ่านทวีปยุโรป

รัฐบาลไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่กับรัสเซีย ที่เป็นการกระตุ้นความสนใจ ดังจะเห็นตัวอย่างของประเทศอินโดนีเซียในการตกลงซื้อเครื่องบินและรถถัง แลกกับสินค้าการเกษตรและน้ำมันปาล์ม

รัสเซียกำลังให้ความสำคัญภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก ซึ่งไทยไม่ควรตกขบวนรถไฟนี้

นี่จึงเป็นคำตอบว่า ไฉน ปตท. จึงยกทีมบริหารชุดใหญ่ไปเยือนรัสเซีย

แน่นอน เรื่องน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นเป้าหมายที่สำคัญ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ ปตท. ยอมรับว่าเรามีธุรกรรมการค้าพลังงานกับรัสเซียน้อยมาก

ทั้งนี้ นอกเหนือจากภูมิประเทศที่ห่างไกลกันแล้ว

การเมืองระหว่างประเทศ ที่สหรัฐใช้การบอยคอตทางการค้าเป็นเครื่องมือในการจำกัดเวทีรัสเซียให้แคบลงนั้น

ได้ส่งผลสะเทือนถึงประเทศต่างๆ รวมถึงไทยด้วย

เพราะใครไปคบค้ากับรัสเซียก็จะเจอมาตรการตอบโต้จากสหรัฐไปด้วย

แต่กระนั้น เราก็ไม่ควรอยู่ภายใต้การคอนโทรลของสหรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ควรหาช่องทางติดต่อกับรัสเซีย ด้วยช่องทางของเราเอง โดยเฉพาะในเรื่องธุรกิจพลังงาน

ไม่ว่าการซื้อน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงการเข้าไปลงทุนในรัสเซีย

เหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องก้าวเข้าไป

การไปรัสเซียครั้งนี้อาจจะยังไม่มีอะไรคืบหน้า แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้รู้จักกันในฐานะเพื่อน

บทบาทของรัสเซียในปัจจุบันและอนาคต ไม่อาจดูดายเช่นเดียวกับที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับจีน

รัสเซียได้เปลี่ยนโฉมจากยุค “ม่านเหล็ก” ไปแทบจะสิ้นเชิง

มีความยืดหยุ่น เปิดกว้างมากขึ้น อย่างน่าประหลาดใจ

ระหว่างอยู่ที่รัสเซีย มีโอกาสแวะไปดูโรงละคร “บอลชอย” ที่แสดงบัลเล่ต์ และโอเปร่า ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในกรุงมอสโก

แน่นอน ได้ไปแค่แวะดู “โรง” เท่านั้น

ส่วน “การแสดง” โดยเฉพาะบัลเล่ต์ อย่างสวอน เลก อันมีชื่อเสียง ไม่มีโอกาส เพราะตั๋วที่แพงลิบลิ่วถูกจองจนเต็มล่วงหน้าไปหลายเดือนแล้ว

จะเดินเทิ่งๆ เข้าไปชม ไม่มีทางแน่

แต่กระนั้น ในอีกฟากหนึ่งของเมือง ในร้านอาหารบางแห่ง เราสามารถมีโอกาสได้ชมศิลปะชั้นสูงอย่างบัลเล่ต์ ชนิดแบบ “ปลายเท้า” เฉียดจมูกเราไปแค่ไม่กี่เซนติเมตร

สะท้อนให้เห็นความยืดหยุ่น ปรับตัว มีลักษณะทุนนิยม เสรีนิยม อย่างเต็มที่

ศาสตร์ชั้นสูงไม่ได้ถูกจำกัดไว้เฉพาะบนหิ้ง หรือจำกัดไว้เฉพาะ “ส่วนนำ” อีกแล้ว

หากแต่ถูกปรับมาสู่การค้า ที่พร้อมจะล้วงเงินจากกระเป๋าเราได้ตลอดเวลา

ไม่มีม่านเหล็กอะไรขวางกั้นอีกแล้ว

มีเพียงแต่เราจะเปิด “ม่านกั้น” ไปหาประโยชน์ร่วมกันอย่างไรเท่านั้น!