มิลเดรด เฮย์ส : การต่อสู้ของคนตัวเล็ก ใน Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

ช่วงที่ผ่านมา ถ้าไม่โกหกตัวเองเสียแล้ว เราก็พอจะรู้ว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผิดเพี้ยนไปพอสมควรในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องราวหรือเนื้อหาที่ว่าด้วยความยุติธรรมและการใช้อำนาจที่ปรากฏผ่านข่าวคราวต่างๆ บนหน้าจอในโลกออนไลน์

ลองไล่ไทม์ไลน์กลับไปไม่ใกล้ไม่ไกล โดยเริ่มด้วยเรื่องของหวยตามหาเจ้าของ นาฬิกาของเพื่อน การเปิดโปงการทุจริตของนิสิตฝึกงาน ขวานพิฆาตหน้ารถ ไล่มาจนถึงกรณีเสือดำ

เราจะพบว่า ภายใต้ประเด็นร้อนหรือข่าวคราวที่เป็นกระแสอันเชี่ยวกรากอยู่นี้ ล้วนมีบางสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลในเรื่องราวไม่มากก็น้อย

โดยเฉพาะการใช้อำนาจของคนใหญ่คนโตที่สามารถตัดสินถูกผิด หรือความเฉไฉไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่คอยให้ข่าว แก้ข่าว

แม้กระทั่งมีท่าทีปกป้องการกระทำผิดของใครต่อใครด้วยคำพูดที่ว่า “ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย”

ประเด็นคือ เมื่อทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการของกฎหมาย ย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนด้วยหลักฐานและข้อมูล รวมไปถึงความแน่ชัดของพยาน

ท้ายที่สุดกระบวนการเหล่านี้ย่อมไปด้วยความล่าช้าและการเล่นพรรคเล่นพวก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทั้งที่หลายข่าวประชาชนต่างเฝ้ามองและจับตาดูว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวจะลงเอยอย่างไร แต่ร้อยทั้งร้อย ผลลัพธ์ที่ออกมาแต่ละยกเรียกว่าดูไม่จืด ถ้าเป็นมวยก็ต้องคำว่า “ค้านสายตา” ผู้ดูผู้ชมยิ่งนัก

บางทีก็เกิดเป็นความอึดอัดและคับข้องใจไม่น้อย บางครั้งเราก็อยากตอบโต้และต่อสู้ให้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมบ้าง

คำถามคือ เราจะต่อสู้อย่างไรในกระบวนการที่ดูเหมือนบิดๆ เบี้ยวๆ นี้ หากเราเป็นผู้ถูกกระทำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อร้องเรียน แจ้งความ แต่เหมือนถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจ เรื่องเงียบหาย เจ้าหน้าที่เพิกเฉย

เมื่อเราเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม มีหนทางใดที่เราจะสามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเองได้บ้าง

หากคิดไม่ออก, บางทีการกัดฟันทำแบบ “มิลเดรด เฮย์ส” ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย

มิลเดรด เฮย์ส ในภาพยนตร์เรื่อง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri เลือกที่จะเช่าป้ายบิลบอร์ด 3 ป้ายริมทางที่แทบไม่มีรถราสัญจร เธอส่งสารผ่านข้อความบนป้าย เรียกร้องความยุติธรรมให้กับการที่ลูกสาวของเธอโดนข่มขืนแล้วฆ่า แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่สนใจติดตามเรื่องราวหรือเค้นหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

นอกจากต้องทนทุกข์ในเรื่องของลูกสาวแล้ว ชีวิตเฮย์สก็ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสารพัด

ไม่ว่าจะเป็นการต้องทะเลาะกับลูกชายแทบทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องของพี่สาว

หรือการโดนเหยียดหยันแทบทุกเวลาที่ต้องเจอกับสามีที่แยกทางไปคบกับเด็กสาวรุ่นราวคราวลูก

การเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลคดีของลูกสาว

และการถูกสายตาตั้งคำถามสงสัยและดูถูกจากผู้คนในเมืองที่เป็นฝ่ายเดียวกันกับเจ้าหน้าที่

คิดดูว่าผู้หญิงอย่างเฮย์สต้องเข้มแข็งขนาดไหน ต้องอาศัยพลังมากมายมหาศาลเพียงใด จึงจะยืนหยัดต่อกรกับเรื่องราวเหล่านี้ได้

แรกๆ ดูเหมือนว่าการต่อสู้ของเธอจะเป็นการต่อสู้ที่สูญเปล่า ไม่ได้รับความสนใจ ด้วยการที่ป้ายบิลบอร์ดอยู่ในเส้นทางที่เปลี่ยวร้าง และชาวเมืองก็เลือกที่จะเพิกเฉยต่อเรื่องราวของเธอพอๆ กับตำรวจ

ดูจากปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดแล้ว เธอน่าจะพ่ายแพ้ในเกมที่ตัวเองตัดสินใจลงเล่นนี้

ทว่า โลกก็ไม่ไร้ผู้คนที่มองหาความยุติธรรม เรื่องราวของเธอค่อยๆ ถูกนำเสนอทีละเล็กละน้อย กระเพื่อมจากจุดเล็กๆ แพร่กระจายออกไปสู่วงกว้าง ค่อยๆ ถูกกล่าวถึง มีคนที่เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น มีคนที่เห็นถึงการเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่

ป้ายข้อความบนบิลบอร์ดจึงมีพลัง สั่นสะเทือนไปจนถึงหัวหน้าตำรวจประจำเมืองอย่างบิลล์ วิลเลอร์บี และลูกน้องเลือดร้อนอย่างเจสัน ดิกซอน

วิลเลอร์บีกับดิกซอน เป็นตำรวจที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัยใจคอและการแสดงออก

วิลเลอร์บีเป็นหัวหน้า แรกๆ เขามีท่าทีแข็งกระด้าง ก้าวร้าว แต่พอรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง เขาก็เริ่มเปลี่ยนไป

แม้เขาไม่สามารถช่วยเหลือเฮย์สได้ แต่เขาก็รู้ว่า ท้ายที่สุดเขาควรทำสิ่งใด ปรับเปลี่ยนสิ่งใด อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสมควร เพื่อที่จะกล้าสบตาตัวเองในกระจกผ่านชุดเครื่องแบบของตำรวจได้อย่างเต็มตา

แตกต่างจากดิกซอนผู้เป็นลูกน้อง ผู้มุทะลุ ใจร้อน และขี้หงุดหงิด

นอกจากการเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่แล้วยังข่มขู่คุกคามเฮย์ส รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับป้ายบิลบอร์ดอีกด้วย

เราสามารถมองว่า ตำรวจอย่างวิลเลอร์บีกับดิกซอน คือภาพแทนของตำรวจที่ปรากฏอยู่ในแทบทุกมุมของโลก มีทั้งตำรวจดี และตำรวจที่ไม่เข้าท่าเข้าทางที่คอยเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนมีอำนาจที่คอยหนุนหลังของตน

ขณะเดียวกัน เมื่อมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น สังคมก็ปรากฏคนอย่าง “มิลเดรด เฮย์ส” อยู่เสมอแทบทุกหย่อมย่าน ผู้ที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรม ความเพิกเฉยละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

เธอลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยวิธีของตัวเอง ด้วยสมองและสองมือเท่าที่จะสามารถทำได้ แม้เป็นการต่อสู้ที่กดดัน มองไม่เห็นปลายทางหรือชัยชนะ แต่ก็ยังดีกว่าการที่เธอไม่ได้ทำอะไร

ท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับว่าการต่อสู้ของเธอ เป็นการต่อสู้ที่ได้ผล ใครจะไปรู้ว่าป้ายบิลบอร์ดริมทางจะสามารถสั่นสะเทือนและส่งผลได้ขนาดนี้

คนตัวเล็กๆ อย่างมิลเดรด เฮย์ส ก็สามารถ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ได้เหมือนกัน

วิลเลอร์บีบอกกับดิกซอน

“ฉันคิดว่านายมีคุณสมบัติของการเป็นตำรวจที่ดี เจสัน รู้ไหมว่าทำไม เพราะลึกๆ แล้วนายเป็นคนดี ฉันไม่คิดว่านายไม่คิดงั้น แต่ฉันคิดว่ะ ไอ้เวรตะไล แต่ฉันก็คิดว่านายขี้โมโหเกินไป ฉันรู้ว่าเป็นเพราะพ่อนายตายไป นายเลยต้องมาคอยดูแลแม่ แต่ตราบใดที่นายเก็บความโกรธเกลียดแบบนั้นในใจ ฉันว่านายจะไม่มีวันกลายเป็น สิ่งที่ฉันรู้ว่านายอยากจะเป็น ตำรวจสายสืบ เพราะนายรู้ไหมว่าจะเป็นตำรวจสายสืบต้องมีอะไร พูดไปแล้วนายต้องนิ่วหน้าแน่ แต่สิ่งที่จำเป็นต้องมี หากอยากเป็นตำรวจสายสืบคือต้องรัก เพราะเมื่อรักจะมีความสงบ และเมื่อสงบ จะสามารถใช้ความคิด และบางครั้งเราต้องใช้ความคิด ถึงจะตรวจจับอะไรๆ ได้ เจสัน มันเป็นสิ่งเดียวที่ต้องใช้เลยล่ะ ไม่ต้องใช้ปืนด้วยซ้ำ และที่แน่ๆ คือไม่ต้องใช้ความเกลียด ความเกลียดไม่เคยไขปัญหาอะไรได้เลย แต่ความนิ่งสงบช่วยได้ ความคิดช่วยได้”

แม้ยังไม่สามารถจับตัวฆาตกรมาลงโทษได้ แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเอง ย่อมเป็นผลลัพธ์ที่ไม่สามารถมองข้ามได้

เฮย์ส ไม่ได้ต้องการอะไรมากมายจากตำรวจอย่างวิลเลอร์บีและดิกซอน นอกจากการทำหน้าที่ที่แท้จริงของตัวเอง หรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ เท่านี้เธอก็พอใจแล้ว

มองย้อนกลับมาที่บางประเทศ

เราต้องมีคนอย่างมิลเดรด เฮย์ส กี่คน

จึงจะต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากลที่กำลังเผชิญอยู่