เศรษฐกิจ/5G กำลังมา… รัฐมุ่งอีอีซี ระวังตกขอบโลก ตปท.ย้ายฐานหนี

เศรษฐกิจ

5G กำลังมา…

รัฐมุ่งอีอีซี

ระวังตกขอบโลก

ตปท.ย้ายฐานหนี

เราเดินทางมาถึงยุคที่แทบจะนึกไม่ออกเลยว่า ชีวิตก่อนหน้าการมาถึงของระบบการสื่อสารแบบไร้สายเป็นอย่างไร
สำหรับสังคมยุคปัจจุบัน การสื่อสารผ่านข้อความ ผ่านรูปภาพ และผ่านวิดีโอ เป็นเรื่องปกติในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้ปริมาณการรับส่งข้อมูลออนไลน์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และอนาคตในยุคไอโอที (อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์) อุปกรณ์ต่างๆ นับชิ้นไม่ถ้วนก็จะทำงานเชื่อมโยงผ่านการสื่อสารไร้สายเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พกพาประจำตัวของแต่ละคน
ยานพาหนะตั้งแต่รถจักรยานไปจนถึงรถยนต์
หรือแม้แต่ระบบตรวจวัดต่างๆ เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพประจำตัว
ระบบสัญญาณไฟจราจร ระบบตรวจวัดมลพิษในสิ่งแวดล้อม
ระบบสมาร์ตมิเตอร์ สมาร์ตโฮม รวมถึงกล้องวงจรปิดทั่วเมือง เป็นต้น
เราจึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
และขณะนี้อุตสาหกรรมการสื่อสารกำลังมุ่งมั่นพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 5G

ภายหลังจาก “หนังสือพิมพ์มติชน” ได้จัดเสวนา 5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านโทรคมนาคมจัดขึ้น เพื่ออัพเดตเทรนของโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว
หลายคนในประเทศ แม้แต่ภาครัฐบางส่วนยังคงเข้าใจเพียงว่า แค่เปลี่ยนระบบสมาร์ตโฟนให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ดังเช่น 4G ทดแทนระบบ 3G ที่ทำให้การใช้สมาร์ตโฟนสะดวกสบายขึ้นด้วยคลื่นที่แรงขึ้น ทำให้การใช้เน็ตเสถียรมากยิ่งขึ้น
คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยจึงเข้าใจเพียงว่า เมื่อระบบ 5G เข้ามาก็แค่เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเพื่อรองรับระบบ
แต่แท้จริงแล้ว เทคโนโลยี 5G เปรียบเสมือนโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ และแมชชีน ทู แมชชีน เป็นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ให้เชื่อมกันได้ โดยเรื่องของเวลาจะถูกจำกัดให้น้อยลง
5G จึงไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงบริษัทโทรคมนาคมหรือการใช้งานโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
แต่จะเกี่ยวข้องกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เป็นการเชื่อมโยงโลกเข้าสู่ระบบเดียวกัน
หากประเทศใดยังไม่คิดถึงสิ่งนี้ก็จะล้าหลังในการพัฒนา และจะเสียประโยชน์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ซึ่งเรื่องนี้มีการพูดถึงกันมานานราว 2-3 ปีในหลายๆ ประเทศ และมีบางประเทศเริ่มจริงจังในการทดสอบทฤษฎีให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติกันแล้ว อย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะเริ่มใช้ในงานกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะมาถึง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เริ่มทดลองใช้กับทางการแพทย์

ในปัจจุบันมีการทดสอบและพัฒนา 5G บนย่านซีแบนด์ ในหลายประเทศ และย่าน 20-70 กิกะเฮิรตซ์ ในบางประเทศ
ซึ่งย่านความถี่ที่สูงมากนี้จะมีความยาวคลื่นความถี่สั้นมากจนเรียกว่าย่านมิลลิมิเตอร์เว็บ โดยการให้บริการจะมีรัศมีจำกัดมาก
ดังนั้น เพื่อให้การใช้งานครอบคลุมความต้องการทุกลักษณะ 5G จึงจำเป็นต้องใช้ย่านความถี่ต่างๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน
ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยสำคัญในการชี้ชะตา 5G ก็คือคลื่นความถี่ ซึ่งในระดับนานาชาติ ต้องมีการตกลงมาตรฐานการใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้งานได้ในทุกประเทศ และจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องมีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อรองรับการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นระบบ
ย่านความถี่ที่อาจเห็นการจัดสรรสำหรับ 5G ก่อนคือย่าน 3.5 กิกะเฮิรตซ์ เนื่องจากในแต่ละประเทศยังเป็นคลื่นที่ไม่ได้ใช้งาน ส่วนย่าน 700 เมกกะเฮิรตซ์
ในหลายประเทศยังต้องรอการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอล จึงจะมีคลื่นความถี่มาให้บริการ 5G

เมื่อกลับมาพิจารณาประเทศไทย
ผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นความถี่ต่างรู้สึกเป็นกังวลว่าไทยจะตามทันประเทศอื่นๆ หรือไม่
เพราะเมืองไทยไม่นิยมใช้ซีแบนด์ที่จะพัฒนา 5G ได้
และภาครัฐเองยังมีนโยบายหวงคลื่น
ปัจจุบันไทยมีการนำคลื่นออกมาใช้งานในโทรคมนาคมเพียง 320 เมกะเฮิรตซ์ น้อยกว่ามาเลเซีย เมียนมา และกลุ่มประเทศยุโรป
การเก็บคลื่นไว้ไม่นำออกมาใช้ เท่ากับว่าไทยจะลดปริมาณคลื่นที่ใช้งานลงอีก
นอกจากนี้ ยังใช้สูตรการจัดสรรคลื่นที่เรียกว่า N-1 ซึ่ง “เนร่า” บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกที่เชี่ยวชาญและวิเคราะห์ และออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ทั่วโลกทั้ง เอเชียแปซิฟิก ยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา มองว่าควรจะยกเลิกสูตรดังกล่าวได้แล้ว เพราะเป็นสูตรที่ทำให้เกิดการแย่งชิงคลื่นด้วยการประมูล ส่งผลให้ต้นทุนการพัฒนาคลื่นแพงลิ่ว
เหมือนดังที่ กสทช. เคยจัดประมูลคลื่นในระบบ 4G มาแล้ว ผู้เล่น 3 ค่ายใหญ่ในประเทศ อย่าง เอไอเอส ดีแทค และทรู และรวมถึงค่ายน้องใหม่อย่าง แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ต่างบาดเจ็บถ้วนหน้า
ต้องใช้ทุนก้อนใหญ่แย่งชิงคลื่นมา จนสุดท้ายไม่มีใครชนะ หลังการประมูลจบสิ้น หุ้นในกลุ่มสื่อสารกอดคอกันร่วง เพราะนักวิเคราะห์มองว่าการใช้เงินก้อนมหาศาลทุ่มประมูลคลื่นจนแทบหมดตัว
แล้วจะเหลือเงินพอในการพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมได้อย่างไร

และดูเหมือนว่าเรื่องดังกล่าวกำลังจะเป็นบ่วงคล้องคอภาครัฐเสียเอง เพราะการประมูลรอบใหม่คลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน นำมาประมูลใหม่ กสทช. ใช้ราคาตั้งต้นการประมูลต้องไม่ต่ำกว่าที่ผ่านมา ที่ราคาจบที่ 7.5 หมื่นล้านบาท
ซึ่งเป็นไปได้อาจจะไม่มีเอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลเลยเพราะรู้ซึ้งแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสีย
ถึงตอนนั้นการตั้งราคาประมูลแพงลิ่ว ภาครัฐเองจะเป็นฝ่ายได้ไม่คุ้มเสีย
และที่สำคัญที่สุดคือ แวดวงในวงการโทรคมนาคมเป็นห่วงอย่างมากว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของการนำคลื่นที่มีเปิดให้เอกชนพัฒนาเพื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 5G หรือไม่
เพราะเท่าที่ดูนโยบายขณะนี้กลับมุ่งเน้นการชักชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟที่หวังจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
แต่รัฐบาลไม่เคยพูดถึงเรื่องการนำคลื่นมาพัฒนาเทคโนโลยี 5G ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานก่อให้เกิดประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐ ขณะที่รอบบ้านประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังกันแล้ว

ล่าสุด ประเทศญี่ปุ่นได้ทดสอบระบบ 5G ด้วยการสร้างแขนกลอัจฉริยะขึ้นมาใช้ทดแทนเครื่องจักรขนาดใหญ่ ด้วยการใช้เทคโนโลยี ไอโอที ผ่านตัวเซ็นเซอร์คือชิพที่วางโปรแกรมสั่งการไว้แล้ว โดยญี่ปุ่นมีแผนการไว้แล้วว่าจะย้ายฐานการผลิตกลับประเทศญี่ปุ่น หากแขนกลอัจฉริยะสำเร็จ
นั่นหมายความว่า ญี่ปุ่นไม่ต้องเช่าที่สร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอีกต่อไป
ไม่ต้องจ้างแรงงานราคาถูกในท้องถิ่นประเทศนั้นๆ
ไม่ต้องใช้ระบบโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เพราะแขนกลตัวนี้สามารถเคลื่อนที่ได้ ย้ายไปตามจุดต่างๆ เพื่อผลิตสินค้าตามออเดอร์ในพื้นที่นั้นๆ ได้เลย
นี่แค่เพียงตัวอย่างเดียว ที่พอจะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว
คำถามง่ายๆ ที่ตามมา ถามคนในแวดวงโทรคมนาคมว่า หากไทยตามไม่ทันระบบ 5G ที่กำลังเปลี่ยนโลก แล้วไทยจะเป็นอย่างไร ก็ได้คำตอบง่ายๆ ว่า ต่างประเทศจะย้ายฐานออกจากไทยไปยังประเทศที่รองรับเทคโนโลยี 5G แค่นั้นเอง!!