จุฬาลักษณ์ ภู่เกิด : คุ้งบางกะเจ้า “ปอดแห่งกรุงเทพฯ” ภาระอันหนักอึ้ง กับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ

เมื่อปี 2549 คุ้งบางกะเจ้า พื้นที่สีเขียวเนื้อที่กว่า 12,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time Asia ให้เป็น “The Best Urban Oasis of Asia”

นั่นหมายความว่าภาระอันหนักอึ้งของพื้นที่ชุ่มน้ำรูปกระเพาะหมูที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา มีกิ่วคอดแคบที่เชื่อมด้วยคลองลัดโพธิ์แห่งนี้ จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “ปอดของคนกรุงเทพฯ” และคนย่านพระประแดงที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น

แต่ยังเป็นเป้าหมายอันใกล้ตัวของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

นอกจากนักท่องเที่ยวไทยที่หนาแน่นขึ้นทุกทีในช่วงวันหยุดแล้ว

นับวันก็จะเห็นฝรั่งมังคาที่มาพร้อมทัวร์ “เอ็กซคลูซีฟ” ข้ามฟากจากท่าเรือคลองเตยมาฝั่งบางกะเจ้า ขี่จักรยานลัดเลาะไปตามท้องร่องเรือกสวนอย่างเพลินใจมากขึ้นเรื่อยๆ

หลายคนในหมู่พวกเขาอาจจะรู้จักตัวตนของบางกะเจ้าดีกว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ที่นอกจากปั่นจักรยานชิลๆ ก็มักเน้นช้อปและชิมไปตามรายทางด้วยซ้ำ

เมื่อมองจากฝั่งกรุงเทพฯ ในย่านที่เต็มไปด้วยตึกสูงทั้งอาคารพาณิชย์หรูและคอนโดมิเนียมริมเจ้าพระยาราคาแพงระยับ

คุ้งบางกะเจ้าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามช่างแตกต่างอย่างย้อนแย้งเหมือนเป็นคนละโลก

ไม่ใช่แค่ในแง่วิถีชีวิต แต่รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งถ้าไม่มองอย่างโลกสวย มันก็มีทั้งมุมบวกและลบ

ว่ากันว่าภาพถ่ายคุ้งบางกะเจ้าที่ชนะเลิศการประกวดเมื่อไม่นานมานี้ มาจากฝีมือและมุมกล้องของคนบนคอนโดฯ หรูฝั่งตรงข้ามนี่เอง ระหว่างที่เขาจิบกาแฟพร้อมทอดสายตาเสพวิวทิวทัศน์สีเขียวสะพรั่งของฝั่งตรงข้ามในเช้าวันหนึ่ง

เป็นความเขียวสะพรั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริไว้เมื่อครั้งประทับเฮลิคอปเตอร์ผ่านในช่วงปี 2525-2530 ว่า “สมควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้สำหรับเป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากมรสุมจากอ่าวไทยจะพัดเอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามาไล่อากาศเสียในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าปีละ 9 เดือน”

ก่อนจะมองไกลไปในอนาคตถึงชะตากรรมอันหมิ่นเหม่ของพื้นที่สีเขียวนี้ ท่ามกลางการถูกปิดล้อมด้วย “ความเจริญ” ในอัตราเร่ง

ลองทบทวนอดีตอันน่าสนใจ จะพบว่าชุมชนแห่งนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางน้ำมาตั้งช่วงที่รัชกาลที่ 1 นำคนมอญจากพม่ามาตั้งรกรากใน 2 จุดคือ ที่พระประแดงหรือนครเขื่อนขันธ์แห่งนี้ และที่สามโคก ปทุมธานี โดยมีการตั้งป้อมค่ายรายทางริมฝั่งแม่น้ำจำนวนมาก

ชาวมอญเหล่านี้จึงยึดอาชีพค้าขายกับคนต่างถิ่น โดยเฉพาะกับพ่อค้าจีน และแขกมุสลิมทำให้เกิดความกลมกลืนในเชื้อชาติระหว่างไทยพุทธ มอญ จีนและมุสลิมมายาวนาน

ในพื้นที่จึงยังคงมีหลักฐานเครื่องเคลือบ เครื่องลายคราม รวมทั้งพระพุทธรูปโบราณยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่มีเอกลักษณ์เพราะห่มจีวรลายดอกจากผ้าไหมจีนที่นำมาย้อมกลักก่อนครอง ซึ่งจากที่กระจายอยู่ตามบ้านเรือนที่ขุดพบและสะสมไว้

ขณะนี้ส่วนหนึ่งมีการเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่วัดบางกระสอบ โดยที่พระอาจารย์สุมน เจ้าอาวาสในอดีตใช้อุบายจัดทอดผ้าป่าให้ชาวบ้านนำมาบริจาคก่อนจะสร้างอาคารไม้เพื่อจัดแสดงเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งนอกจากสะท้อนความเป็นเมืองหน้าด่านในการค้าขายกับจีนแล้ว ยังมีหลักฐานบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างมอญถิ่นนี้กับมอญสามโคก

เพราะมีร่องรอยการนำเครื่องปั้นดินเผาจากสามโคกล่องลงมาขายที่นี่

เช่น ตุ่มอีเลิ้ง ซึ่งเมื่อล่องไปขายในคลองลึกเข้าไปในกรุงเทพฯ เช่น คลองผดุงกรุงเกษมจึงเป็นที่มาของชื่อย่านนางเลิ้งอันเป็นภาษาสุภาพตามนโยบายผู้นำยุคนั้น

ที่ผ่านมาชาวบางกะเจ้ายึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก มีการบุกเบิกเรือกสวนไร่นาเพื่อปลูกผลไม้ท่ามกลางภาวะน้ำกร่อย ซึ่งข้อดีของมันทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าว ส้มเทพรส ละมุดสีดา รวมถึงลูกหม่อน มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก

โดยที่การทำนากลายเป็นอดีตที่ทิ้งไว้เพียงร่อยรอยเพราะนับวันน้ำกร่อยเป็นอุปสรรคจนไปต่อไม่ได้

มาถึงวันนี้พืชพรรณที่เคยเชิดหน้าชูตาก็เริ่มลดน้อยถอยลงเหลือเพียงตำนานเพราะต้องเผชิญกับภาวะ “น้ำตาย” และจากที่กร่อยก็เริ่มเค็มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการสร้างประตูน้ำคลองลัดโพธิ์มาช่วยปล่อยน้ำจืดไล่น้ำเค็มลงทะเลเร็วขึ้นในช่วงน้ำทะเลหนุนยาว ส่วนการสร้างเขื่อนกันน้ำทะเลนั้นยังเป็นเรื่องอีกยาวไกล

“วันนี้นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป บวกกับการถูกปิดล้อมอย่างรวดเร็วจากความเจริญภายนอก ทำให้การปลูกผลไม้พื้นถิ่นที่นี่ค่อยๆ ลดลง ทั้งที่เมื่อก่อนชาวบ้านปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้แค่ 3-4 ต้นก็อยู่ได้แล้ว ชาวบ้านจึงเริ่มอยากขายที่เพราะทำเกษตรไม่ได้ผล” บุญญาภา ศิโรดม กำนันสาวแห่ง ต.บางกะเจ้า กล่าวเชิงทดท้อ

กำนันสาวต.บางกะเจ้า

ซึ่งสอดคล้องกับความจริงที่พื้นที่เกษตรเริ่มถูกเปลี่ยนมือเพื่อธุรกิจและการเก็งกำไรมากขึ้น มีนักธุรกิจรายใหญ่เข้ามากว้านซื้อ ทำให้ท้องถิ่นเริ่มตั้งรับด้วยการตั้งกติกาข้อห้ามไม่ให้มีการสร้างอาคารพาณิชย์หรือตึกสูงเกินกว่าที่กำหนด

บางแปลงที่ทุนยักษ์จากภายนอกมากว้านซื้อไว้จึงถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะไม่สามารถพัฒนาต่อตามแผนที่วางไว้ได้

ยิ่งคุ้มบางกะเจ้าถูกโปรโมตเป็นแหล่งท่องเที่ยวถึงในระดับโลก แม้จะสร้างรายได้กระจายไปในชุมชนอย่างทั่วถึง แต่ผลกระทบที่ตามมาคือขยะมูลฝอย โดยเฉพาะตามริมฝั่งน้ำและคูคลองต่างๆ ที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติ

ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องผนึกกำลังกันรับมือโดยมีภาคธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกันช่วยกำหนดกรอบความเจริญ ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน

เริ่มจาก ปตท. ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ที่นำโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียง มาเริ่มที่ตำบลบางน้ำผึ้ง นำไปสู่การพัฒนาป่าชุมชน ครัวเรือนอาสา วิสาหกิจชุมชน ตามด้วยโครงการพัฒนาสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ที่ตำบลบางกะเจ้าและต่อยอดสู่โครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกะเจ้า

เผ่าทอง ทองเจือ ผู้ประสานงานแสวงหาความต้องการของชุมชน

ซึ่งได้ เผ่าทอง ทองเจือ นักโบราณคดีคนดัง มาช่วยระดมองค์ความรู้และความต้องการของชุมชนของทั้ง 6 ตำบลจนได้ข้อสรุปว่าชาวบ้านต้องการอนุรักษ์พื้นที่สวนสีเขียวของพวกเขาไว้เป็นหลัก ภายใต้สโลแกน “บางกะเจ้ารวมเป็นหนึ่ง” โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ ปตท. พ่องานใหญ่เล่าว่า ปตท. เน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ผ่านการจัดสร้าง “สวนเฉลิมพระเกียรติ 80” พรรษาริมฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งนอกจากเน้นการปลูกต้นไม้พื้นถิ่นของที่นี่แล้ว ยังมุ่งฟื้นฟูตลิ่งริมฝั่งที่ถูกคลื่นจากเรือสินค้าขนาดใหญ่ซัดหายไปแล้วกว่า 4 ไร่ด้วยเร่งปลูกต้นลำพู โกงกาง และสร้างแนวไม้ไผ่กันการกัดเซาะ ขณะที่ ปตท.สผ. ก็เข้าไปช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของสวนศรีนครเขื่อนขันธ์หรือสวนบางกะเจ้า เนื้อที่ 148 ไร่ ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจหลักของคนทั้งในพื้นที่และแขกผู้มาเยือน

เทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ ปตท.เล่าความเป็นมาสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

“ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้เชิญธุรกิจใหญ่ที่มีศักยภาพมาหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะมาช่วยกันพัฒนาไปตามทิศทางนี้ ทั้ง ไทยเบฟ ซีพี อีสต์วอเตอร์ เอสซีจี บางจาก เป็นต้น ซึ่งจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนปัจจุบันมีแนวคิดในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน จึงเชื่อว่าจะช่วยเสริมให้คุ้งบางกะเจ้ายังคงเป็นทั้งห้องเรียนธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ใกล้กรุงและเป็นปอดของกรุงเทพฯ ต่อไป”

ดูชื่อชั้นแล้วก็ล้วนแต่เป็นบิ๊กเนมในโครงการ “ประชารัฐ” ที่กำลังจับมือกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการวางยุทธศาสตร์ประเทศด้านต่างๆ

จึงน่าจะเป็นความท้าทายว่าภายใต้แนวทางนี้ คุ้งบางกะเจ้าจะไปในทิศทางไหน และคนในชุมชนจะสามารถเชื่อมความร่วมมือ พร้อมๆ ไปกับยืนหยัดความต้องการของพวกเขาได้แค่ไหน เพียงใด