เปิดมุมมองบิ๊กทหารไทย วิเคราะห์การสู้รบ-อนาคตสงคราม ครบรอบ 4 ปี รัฐประหารพม่า

เหตุการณ์การรัฐประหารในพม่าล่วงเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว ยังคงมีการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและชนกลุ่มน้อยเช่นเดิม และแน่นอนว่าประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับพม่าเป็นระยะทางยาว ก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

การเข้าใจปัญหาการเมืองพม่าและภูมิทัศน์ของความขัดแย้งในพม่าจึงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทยเอง

เป็นโอกาสอันดีที่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ได้จัดการสัมมนา เรื่อง ความท้าทายความมั่นคงชายแดนของไทยในปี 2568 ในโอกาส ครบ 4 ปีเต็ม การรัฐประหารเมียนมา

เมียนมา 7 ล้านในไทย เสี่ยงมั่นคง

นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ กล่าวเริ่มต้น ระบุว่า พบว่าตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ มีคนเมียนมามาอยู่ไทยสูงถึง 7 ล้านคน ซึ่งตัวเลขความจริงอาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมทั้งปัญหาสาธารณสุขและการศึกษา เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของไทยไม่พร้อม รพ.ไม่เพียงพอ หมอก็เครียด เพราะทำงานหนัก สถานการณ์การศึกษาก็ตึงเครียด เราไม่มีความพร้อมในการรองรับ

ปัญหาที่จะกระทบความมั่นคงไทยและโลกคือกิจกรรมผิดกฏหมายอย่างยาเสพติด ยาเสพติดก็มีปัญหามาก ปัญหาฝิ่นในเมียนมาตอนนี้ติดอันดับ 1 ของโลก ยาบ้าก็เพิ่มขึ้น ประเทศอื่นๆก็เจอวิกฤตนี้ไม่ต่างกับไทย

หรือแม้แต่ปัญหาสแกมเมอร์ ความเสียหายทั่วโลกตอนนี้ มากกว่า 2.2 ล้านๆบาท เกินกว่างบประมาณกึ่งหนึ่งของจีดีพีประเทศไทยไปแล้ว ยังไม่นับปัญหาค้ามนุษย์และโรฮิงญา หนทางที่ดีที่สุด สุดท้ายก็ต้องคุยเรื่องความมั่นคงของเมียนมา คำถามคืออะไรอะไรจะทำให้เมียนมากลับมาในจุดที่ดีกว่านี้ ยังไงก็ต้องกลับมาที่ประชาธิปไตย และการเจรจาพูดคุย ไทยก็ต้องสนับสนุนเส้นทางนี้ต่อไป สิ่งที่ไทยต้องไม่ทำคือสนับสนุนกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น คงไม่สะท้อนจุดยืนประชาธิปไตยมากนัก อย่างไรก็ตามไทยสามารถเป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อการพูดคุยหาทางออกปัญหาการเมืองในพม่าได้

เสนอไทยเป็นเวทีเจรจาพม่า

เมื่อถามว่าอาเซียนมองไทยอย่างไร โรมตอบว่า มีความรู้สึกหลากหลาย บางคนอาจมองไทยทำน้อยไป ไทยก็ต้องหาระยะการวางตัวที่สร้างสรรค์ ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นประเทศที่ปลอดภัยในการพูดคุย ตอนนี้มีคนเมียนมามาอยู่ไทย 7 ล้านกว่าคน อาจจะไม่ไดเข้ามาอยู่อย่างถูกระบบจำนวนมาก เราสนับสนุนได้หลายมิติ ทั้งมนุษยธรรม ประชาธิปไตย และความมั่นคง แน่นอน เขาเข้ามาประเทศไทยไม่ถูกกฏหมาย แต่เราก็มีคุณค่าสากลหลายอย่างที่ต้องเคารพ การแก้ปัญหาเมียนมา ไทยทำฝ่ายเดียวไม่ได้ อาจจะต้องเชิญ ญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่สหรัฐฯมาร่วมพูดคุยด้วย โดยไทยจะมีบทบาทในการเป็นตัวหลักในการประสานงานที่ดีได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ในเมียนมาไม่ง่ายตัวแปรเยอะ ฝั่งชาติพันธุ์เขาก็ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารพม่า ปัญหาจึงท้าทาย ต้องยอมรับว่ามันมีเรื่องผลประโยชน์การค้า แก๊สธรรมชาติต่างๆด้วย การแก้ปัญหาด้วยชาติใดชาติหนึ่งเข้าไปแก้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ลำพังแค่ชนกลุ่มน้อยคุยกัน ยังยากเลย แต่ยังเห็นศักยภาพของไทย ที่มีศักยภาพพูดคุยกับทุกกลุ่มได้ ไทยอาจจะดึงสหรัฐฯ มาร่วมสนับสนุนแก้ปัญหาเมียนมาได้ เราดึงระดับภูมิภาคได้ เราต้องการโต๊ะซักตัว เพื่อให้คนมานั่งคุยกัน ไทยมีบทบาทตรงนี้ได้ มาเลเซียร่วมกันริเริ่มได้ในฐานะประธานอาเซียน

นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎร

 

ศอ.ปชด.กลไกหลักรับมือชายแดนไทย-พม่า

ด้าน พลโท ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ระบุว่า จากสถานการณ์ปัญหาชายแดนไทย-เมียนมาในปัจจุบัน ภัยคุกคามการข้ามพรมแดนปัญหาเรื่องการรุกล้ำอธิปไตยเป็นเรื่องเก่า แต่ปัญหาใหญ่คือปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสาธารณสุข หมอกควัน ไฟป่า ยาเสพติด พวกนี้คือปัญหาภัยคุกคามร่วม

ทั้งนี้ ความยาวพรมแดนไทย-เมียนมา ส่วนใหญ่ปักปันโดยใช้หลักสันปันน้ำ ที่จะต้องสำรวจและปักปันหลักเขตอีกเยอะ แต่ที่ผ่านมาทำสำเร็จไปแล้วแค่ 59 กม.เท่านั้นเอง

ส่วนปัญหาสแกมเมอร์จะเห็นว่าปัจจุบันขยายจากจุดเล็ก จนกลายเป็นเมืองใหญ่เห็นได้ชัด ปัญหาน้ำท่วมที่แม่สายก็เห็นชัดว่ามันเป็นปัญหาการขยายตัวของเมืองจนขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมทั้งสองประเทศอย่างหนัก นี่คือตัวอย่างปัญหาร่วมของ 2 ประเทศที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้การที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ปัญหาชายแดนที่กล่าวมาแก้ไขยากมาก ขณะที่ทางการไทย มีเครื่องมือในการบริหารจัดการคือการวางกำลังป้องกันชายแดน มีกองทัพบก เป็นผู้ดูแลหลัก ส่วนหน่วยงานใหม่ที่รัฐบาลไทยเพิ่งตั้งขึ้นมาคือ ศอ.ปชด. ใช้สำหรับบูรณาการหน่วยงานที่ปฎิบัติงานชายแดนทั้งหมด มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน หน่วยงานเกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน มีอำนาจติดตามแก้ไขปัญหาชายแดน นำนโยบายรัฐบาลมาปฏิบัติ และมีคณะกรรมการขับเคลื่อนคือ ศอ.ปชด. โดยมี ผบ.ทสส.เป็นผู้อำนวยการ นี่คือกลไกหลักในการดูแลปัญหาชายแดนตอนนี้ มีเงื่อนไขคือดูเฉพาะอำเภอที่เป็นชายแดน ดูแลภัยคุกคามทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ เช่นยาเสพติด

และสุดท้ายคือกลไกความร่วมมือกับเพื่อนบ้านที่ใช้กันมานาน เป็นเอ็มโอยูที่ทำกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เช่นเรื่องหมอกควันที่เร็วๆนี้ก็ประชุมกัน 4 ประเทศเลย แต่ก็มีปัญหาอย่างเช่นเมียนมา ที่บางครั้งเชิญมาคุยแต่เขาไม่สามารถมาได้ อย่างเรื่องยาเสพติด ไทยกับลาวคุยกันคืบหน้าไปมาก แต่กับเมียนมาไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร นี่คือปัญหา

พลโท ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร

สถานการณ์พม่ายืดเยื้อ ไทยต้องรับมือระยะยาว

ความเห็นส่วนตัว สถานะตอนนี้ไม่มีใครเพลี่ยงพล้ำ หากไปดูแผนที่ภูมิศาสตร์จะเห็นภาพว่าชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในพม่า เขาอยู่ในพื้นที่สูง รัฐบาลทหารพม่าที่คุมพื้นที่ราบ จะไปตีชนกลุ่มน้อยก็เป็นไปได้ยาก เรื่องการแซงชั่นเศรษฐกิจเมียนมาก็ทำไม่สำเร็จ เพราะจีนและเมียนมา ยังทำธุรกิจกับพม่าอยู่ เรื่องอาวุธ ตอนนี้พม่าก็ใช้โดรนแล้ว ส่วนตัวเห็นว่า สถานะการณ์ของแต่ละฝ่าย ก็จะคงในสถานะเดิมแบบนี้ไปอีกหลายปี

เรื่องการเลือกตั้งของพม่ากับประเทศไทย ปัญหาคือการยอมรับ ต้องดูว่ามาจากส่วนไหนบ้างและผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ที่ต้องคิดต่อว่าประเทศไหนจะยอมรับบ้าง จีนและรัสเซีย คงยอมรับ ประเทศไทยจะยอมรับไหมผมตอบไม่ได้ ถามว่าทหารไทยต้องเตรียมอะไรบ้าง ตอนนี้เราไม่ได้รบกับเมียนมา เป็นเพียงได้รับผลกระทบจากการสู้รบของประเทศไทย นี่เป็นเพียงภัยคุกคามรูแบบใหม่ที่ทหารไทยต้องเตรียมรับมือ ศอ.ปชด. คือกลไกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเรื่องนี้

“บางครั้งการแก้ปัญหาพม่าอาจเริ่มจากการคุยกันที่ประเด็นเล็กๆก่อน เพื่อสร้างความเชื่อใจ จากนั้นค่อยขยับวาระเป็นเรื่องใหญ่ได้” พลโท ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร เสนอ

 

สงครามพม่ายืดเยื้อ ไทยรับมือผลกระทบรอบด้าน

ด้าน พลตรี วิทยา เสมาทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก กล่าวว่า สถานการณ์สู้รบในเมียนมา ต่างฝ่ายต่างไม่ได้เปรียบกันเท่าไหร่ อยู่ในภาวะชะงักงัน ตอนนี้ที่ตาก และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบ ทหารพม่าถอนกำลังออกไปแล้วเยอะมาก สถานะทหารพม่าค่อนข้างถดถอย ขณะที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยไม่สามารถรวมกำลังกันได้ ทำได้แค่ใช้กำลังปิดล้อมเป็นจุดๆ และใช้โดรนทิ้งระเบิด สกัดการขนส่งกำลังบำรุง รวมถึงนำกำลังส่วนหนึ่งไปซุ่มโจมตี

ส่วนตัวคิดว่า จะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกนานพอสมควร ทั้งนี้อีกสองเดือนจะเข้าหน้าฝน การสู้รบจะลดลง ดังนั้น ระยะสั้นจึงวิเคราะห์ได้ว่า ไม่มีใครรบชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปได้ ตอนนี้ฝ่ายทหารพม่ากำลังใจลดลงไปเยอะ เพราะรบแพ้มาตลอด ทั้ง ชายแดนไทย-อินเดีย แต่การสู้รบของชนกลุ่มน้อยหลายด้าน ก็ไม่แข็งแกร่งพอจะจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นที่รัฐฉาน เนื่องจากมีมหาอำนาจหนุนอยู่ สถานการณ์คล้ายกับซีเรีย แต่ละฝ่ายก็จัดการปัญหาได้ไม่เด็ดขาด ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าไม่ได้การยอมรับ ก็รบกันต่อ

เราประเมินว่ามหาอำนาจที่อาจมีผลกับพม่าคือรัสเซีย จากที่ผู้นำทหารพม่าเดินทางไปรัสเซีย เบรารุส กับความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตรงนี้เราก็กังวง ถ้าหลังเลือกตั้ง รัฐบาลชุดเดิมยังมีอำนาจอยู่ มันจะพัฒนาเกินเพดานไปกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นการสะสมสร้างอาวุธนิวเคลียร์แบบเกาหลีเหนือหรือเปล่า? หากมีการเข้ามาเกี่ยวข้องของประเทศมหาอำนาจนี้มากขึ้น สถานการณ์ก็อาจจะรุนแรงกว่านี้ เป็นต้น

ทั้งนี้พม่าเกณฑ์ทหารไปแล้ว 8 รอบ หลายส่วนหลบหนีสงครามมาไทย เดี๋ยวนี้เราจับผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ครั้งละเป็นร้อยคน

ถ้ายังเป็นอย่างนี้ ผลกระทบกับไทยคือ แรงงานพม่าก็จะเข้ามาอีก โดนเฉพาะทางฝั่งกาญจนบุรี เพราะใกล้กรุงเทพที่สุด มีชุมชนพม่าริมชายแดนเยอะ อาจเข้ามาทำงาน อยู่นาน รวมถึงมวลชนกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่อาจจะหนีภัยสู้รบ ซึ่งกลุ่มนี้บางคนมาอยู่ไม่นาน เพราะจะกลับไปทำมาหากิน หรือก็อาจมีคนอยู่านานเพื่อทำมาหากินเป็นแรงงานแฝง

อีกด้านคือกระสุน ที่อาจข้ามาตกฝั่งไทย ซึ่งเราก็เตือนไปว่าต้องไม่ให้มี ส่วนเรื่องการบาดเจ็บจากการสู้รบฝั่งไทยเราดูแลตามหลักมนุษยธรรม

พลตรี วิทยา เสมาทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก

ทหารไทยคุยได้ทุกฝ่าย แต่พม่าตัดสินใจที่เนปีดอว์

ต้องยอมรับว่า รัฐบาลทหารพม่ามีงบประมาณมากกว่าชนกลุ่มน้อย ได้เงินจากการขายแก๊สธรรมชาติไปซื้ออาวุธ แต่ชนกลุ่มน้อยไม่มีเงินมาก ก็ต้องหาเงินด้วยวิธีที่ง่ายและจำนวนมากๆ สุดท้ายก็ต้องไปลงทุนเรื่องสแกมเมอร์ ปัญหาตรงนี้คือไทยจะยอมได้แค่ไหน

ข้อมูลที่ตำรวจแจ้ง มันคือการหลอกชาวต่างชาติ ไม่ใช่คนไทย แต่ก็กระทบกับไทยคือเรื่องภาพลักษณ์ ทุกวันนี้ยังมีชาวต่างชาติถูกผลักดันให้กลับประเทศที่สนามบินแม่สอด ผลจากการซักถาม ชาวต่างชาติจงใจที่จะมาแม่สอด เพราะต้องการมาหารายได้ทั้งสิ้น เช่น มีคนมาจากแอฟริกา เขาไม่รู้ว่า ฝั่งไหนฝั่งพม่า เขาคิดว่าเป็นฝั่งไทย เพราะเป็นเพียงแม่น้ำเล็กๆกั้น เมื่อเข้าไปก็ทำธุรกิจผิดกฏหมาย

อย่างไรก็ตาม โดยสรุป พื้นที่ตอนในของพม่ายังใช้ชีวิตปกติ แต่พื้นที่ชายแดนทั้งหมด รัฐบาลพม่าไม่มีอิทธิพล ตรงไหนคุยกันได้ก็พอจะคุยกัน ตรงไหนคุยไม่ได้ก็รบกัน ส่วนพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือก็ไม่ได้คุมอย่างมีเอกภาพ เป็นเพียงการสามารถพูดคุยกันได้ แบ่งประโยชน์กันได้

เรื่องการสู้รบปีนี้ไม่หนักมากเช่นปีที่แล้ว ปีก่อนใช้ฮ.โจมตี ยิงกันเห็นๆ ปีนี้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด ลักษณะการโจมตีแบบเดิมยังไม่เห็น ยังเปิดแนวรบไม่ได้ ส่วนชนกลุ่มน้อยเขาก็ไม่กล้าปะทะโดนตรง อาวุธหนักไม่ค่อยมี ก็ทำได้แค่ปิดล้อมและค่อยๆโจมตี

การคุมแบบเอกภาพเป็นไปได้ยากทั้งสองฝ่าย ส่วนฝ่ายไทยเรื่องมิติการสู้รบ ไม่มีปัญหา เรามีกำลังเพียงพอ แต่ผลกระทบอื่นๆมากกว่าที่เป็นปัญหา ที่เป็นผลกระทบจากการสู้รบ ธุรกิจผิดกฏหมายต่างๆ จำนวนทหารไทยที่จะไปตั้งรับกับปัญหาต่างๆนี่เองต่างหากที่เป็นเรื่องยาก

ก็คาดว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นไม่ว่าจะปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ส่วนผลออกมาจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยืนยันในระดับพื้นที่ ทหารไทยคุยได้กับชนชั้นน้อยและรัฐบาลทหารพม่า คุยกันได้หมด ปัญหาคือ ทหารพม่าระดับทหาร เขาตัดสินใจไม่ได้ ต้องถามกลับไปที่รัฐบาลเนปีดอร์ ผู้นำทหารพม่าขึ้นสูงแล้ว จึงลงยาก ทำได้เพียงต้องบริหารสถานการณ์ให้เป็นไปตามคาดหวัง ถ้ามีเลือกตั้งเสร็จก็เพียงหวังจะมีการบริหารที่ดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ถ้ามันไม่เกิดขึ้นจริง ไทยก็ต้องเป็นอยู่แบบนี้ ไทยรับหมด เรายกดินแดนหนีพม่าไม่ได้ ก็ต้องอยู่กันแบบนี้ ก็จึงอยู่ที่การบริหารของเรา อย่าลืมว่าพม่าไม่ได้ฟังเราทั้งหมด รัฐบาลทหารพม่าหลายครั้งเขาก็คิดว่าไทยหนุนหลังชนกลุ่มน้อยอยู่ ทั้งๆที่ไทยไม่ได้สนับสนุน โอกาสที่เขาจะฟังไทย แต่ก็ฟังแต่ไม่ปฏิบัติ มิฉะนั้น เขาปล่อยลูกเรือไทยนานแล้ว

“ต้องใช้หลายประเทศไปคุยเช่นร่วมกับจีนไปคุยถึงจะจบ แต่ไทยเราไปชาติเดียว ไม่จบแน่ๆ”  พลตรี วิทยา เสมาทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก  ระบุ