เชตวัน เตือประโคน : เคารพเพื่อนมนุษย์ – “คนเท่ากัน” นิยายผจญภัยสมจริง “บัวบานในอะมาซอน”

ให้ความรู้สึกเหมือนจริง นี่ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าผลงานดังกล่าวเป็น “นวนิยาย” บางที ขณะอ่านอาจจะคิดว่าเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียน

นั่นเพราะ “เสนีย์ เสาวพงศ์” หรือในชื่อจริงคือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เคยดำรงตำแหน่ง เลขานุการสถานเอกอัครราชทูตอาร์เจนตินา ในช่วงปี พ.ศ.2498-2503

เรื่องราวการเดินทางของตัวละครอย่าง “ข้าพเจ้า” ในผลงานที่มีชื่อว่า “บัวบานในอะมาซอน” จึงมีความน่าเชื่อว่าอาจจะเป็นเขา ความสมจริงและหรืออาจจะเป็นจริงนั้น มีทั้งผู้คน สถานที่ สภาพภูมิประเทศ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

โดยเฉพาะชนเผ่า “อินเดียน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องราวนี้

และแม้แต่เรื่องเล่า ที่แทรกอยู่ในเรื่องเล่านี้อีกทีหนึ่ง หลายครั้ง ถึงขั้นต้องเปิดอินเตอร์เน็ตค้นข้อมูลว่า บุคคลที่ตัวละครเล่าถึงวีรกรรมการเข้าป่าในเขตลุ่มน้ำอะมาซอนนั้น มีตัวตนจริงหรือไม่

แม้แต่บันทึกการเดินทางของคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งตัวละครเอกซื้อมาจากร้านขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว อันเป็นบทสรุปของเรื่อง และเป็นคำถามปลายเปิด ที่ไม่รู้ว่าชะตากรรมของเขาซึ่งเป็นผู้บันทึกนั้นลงเอยอย่างไร

ความรู้สึกที่เกิดขึ้น พลันที่จบหน้าสุดท้าย

ถ้าผู้เขียนมีชีวิตอยู่ ก็อยากที่จะรีบรุดไปถามเอาความเหลือเกินว่า บันทึกชิ้นนั้น มีจริงหรือไม่?

กลวิธีนำเสนอน่าติดตาม

ของ “บัวบานในอะมาซอน”

ในปี พ.ศ.2561 ถ้า เสนีย์ เสาวพงศ์ ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุครบ 100 ปีพอดิบพอดี

วาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลนี้ ถ้าไม่พูดถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ของเขา ไม่มีการจัดงานรำลึก ผมคิดว่าแวดวงวรรณกรรมในบ้านเรา คงจะทำผิดพลาดอย่างมหันต์ กับนักเขียนสายก้าวหน้าผู้มีผลงานเป็นประวัติศาสตร์ อย่าง ความรักของวัลยา, ปีศาจ, คนดีศรีอยุธยา ฯลฯ

เพื่อเป็นการไม่นิ่งดูดาย ผมจึงกลับไปหาผลงานของเสนีย์อีกครั้ง

ไม่ได้เรียงลำดับก่อนหลัง หยิบจับอะไรได้ก็นำมาอ่านก่อน เริ่มต้นที่ “บัวบานในอะมาซอน” ซึ่งเป็นงานที่เคยลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร “ปิยะมิตร” ราวปี พ.ศ.2504 ในช่วงที่เสนีย์เพิ่งย้ายออกมาจากอาร์เจนตินาได้ไม่นาน ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า “ล่องใต้”

เป็นเรื่องที่เสนีย์เขียนไม่จบเมื่อครั้งลงในนิตยสาร แต่ได้เขียนต่อจนสมบูรณ์ ก่อนจะมอบให้กับ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เจ้าของฉายาบรรณาธิการแห่งบรรณาธิการ พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ในปี พ.ศ.2511 (รูปเล่มดังภาพประกอบ)

ดังที่บอกไปแล้วว่าเป็นงานเขียนที่มีความสมจริง

เสนีย์ใช้วิธีการเล่าเรื่องโดยให้ “ข้าพเจ้า” เป็นตัวเอก ซึ่งก็พลอยทำให้ผู้อ่านคิดว่าเป็นตัวเขาเอง หนุ่มชาวไทยที่มาทำงานประจำอยู่ในประเทศอาร์เจนตินา และอยากที่จะไปเจอะเจอ รู้จักชาวอินเดียนจริงๆ สักครั้งหนึ่งในชีวิต

โดยคราแรกนั้นต้องผิดหวัง สำหรับการเดินทางไปในเขตตอนเหนือของชายแดนอาร์เจนตินากับโบลิเวีย เนื่องจากร่างกายทนสภาพอากาศบางเบาในเขตสูงไม่ไหว ต่อมา มีโอกาสได้ติดตามคณะนักสำรวจ ทวนแม่น้ำอะมาซอนเข้าไปในป่า ประเทศบราซิล

การเล่าเรื่องแบบสารคดีเดินทาง-ผจญภัย นี่เองที่เป็นเสน่ห์ และทำให้ผู้อ่านเชื่อ

แต่เหนืออื่นใดก็คือ การให้ภาพของผู้คน เมือง สภาพภูมิประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ผ่านการศึกษาข้อมูลอย่างดิบดี จึงสามารถอ่านได้ทั้งในแง่ของความบันเทิง และความรู้ไปได้ในคราวเดียวกัน

จนบางฉาก เราแทบจะเชื่อว่าเขาอยู่ตรงนั้นด้วยจริงๆ

อาทิ “…มืดแล้ว เราเห็นแสงไฟดวงเล็กเท่าหิ่งห้อยอยู่ไกลๆ เป็นแสงไฟจากตึกดินของชาวอินเดียนที่ก่อเพื่อความอบอุ่น ทิวเขาที่อยู่ไกลออกไปจางกลืนไปกับความมืดของขอบฟ้า ลมเย็นพัดแรง เวลาที่ฟันของเราสัมผัสกัน รู้สึกว่ามีเมล็ดทรายอยู่ในปาก…”

หรือ “…อันตรายของการเดินเรือในแม่น้ำสายต่างๆ ที่เป็นแควของอะมาซอน หรือแม่น้ำอะมาซอนทางภาคตะวันตกเอง อยูที่ต้นไม้หรือขอนไม้ที่พังลงมากีดขวางทาง โดยคนเดินเรือแม้จะชำนาญที่สุด ก็อาจจะพลาดได้เพราะไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นเมื่อใด เมื่อสัปดาห์ก่อน เขาอาจเดินทางได้โดยสะดวก แต่หลังจากนั้นต้นไม้ล้มลงมาขวางทางเสียแล้ว…”

นี่คือความรู้เกี่ยวกับดินแดนที่อยู่ไกลจากเราไปอีกซีกโลก

“อินเดียน” ในสายตา “เสนีย์ เสาวพงศ์”

คนเท่ากัน-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นวนิยาย “บัวบานในอะมาซอน” เหมือนจะเล่าไปเรื่อยๆ ตามลำดับการเดินทาง ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรในส่วนของโครงเรื่อง

แต่สิ่งที่ผมคิดว่ามีคุณค่า นอกจากเรื่องของผู้คน สถานที่ สภาพภูมิประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดังได้กล่าวไปแล้วนั้น ก็คือ “มุมมอง” ของผู้เขียนที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ

โดยเฉพาะผู้คนในป่าอย่างชาว “อินเดียน” ที่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของอเมริกาใต้

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้าใส่ เสนีย์มองดูความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเข้าใจ ขณะเดียวกันก็เห็นใจในชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ ที่เป็นคนป่า ล้าหลังเป็นพันปีกว่าผู้คนในยุคเขา

หลังการล่องเรือนทวนแม่น้ำอะมาซอนเข้าป่าไม่นาน ในที่สุดตัวละคร “ข้าพเจ้า” และคณะนักสำรวจก็ได้พบกับชาวอินเดียน

แม้เกิดความรู้สึกกลัวขึ้นในจิตใจ แต่ความจริงอันโหดร้ายที่คนผิวขาวจากยุโรปเข้ามารุกที่ป่าของชนเผ่าพื้นเมือง ตลอดจนการเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ ก็ทำให้ตัวละครอย่าง “ข้าพเจ้า” เข้าใจและเปิดใจยอมรับ

อาจกล่าวได้ว่า นี่เองที่เป็นความคิดความรู้สึกของผู้เขียน

อาทิ “…เพราะอินเดียนพวกนี้ได้มีประสบการณ์อันขมขื่น ที่เขาได้รับจากคนผิวขาวที่ยังสดอยู่ เป็นการยากที่เขาจะไม่ระแวง และมันอาจจะเปลี่ยนอัธยาศัยของพวกเขาไปแล้วก็ได้ เมื่อรู้เรื่องราวของเขาแล้ว ถ้าหากเขาจะทำอะไรรุนแรงกับพวกเรา ข้าพเจ้าก็จะไม่ว่าพวกเขาเลย…”

สักกี่คนจะมีมุมมองอย่างนี้ ในห้วงที่ความเป็นความตายชั่งน้ำหนักกันอยู่

ถ้าไม่ใช่คนที่เห็น “คนเท่ากัน”

ผมคิดว่านี่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง หลายความคิด ออกมาจากตัวครเอก จากเพื่อนร่วมเดินทาง จนรู้สึกว่า ตัวร้ายในนิยายเรื่องนี้ จะมีก็เพียงแต่สภาพธรรมชาติที่โหดร้าย ยากลำบาก และความเปลี่ยนแปลงที่ผู้มีอารยธรรมกว่ายัดเยียดให้นั่นเอง

ดังเช่นในประโยคนี้ของหัวหน้าคณะลูกหาบ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในนิยายที่เขียนขึ้นกว่า 50 ปีมาแล้ว

“…ผมคิดว่าในยุคนี้ สมัยนี้ คนเราได้รู้จักคำว่าคุณค่าในทรรศนะใหม่ คือไม่คิดว่าสิ่งที่เป็นของเราเท่านั้นคือสิ่งที่มีคุณค่า ของคนอื่นเป็นของต่ำทรามไปหมด และบังคับให้คนอื่นต้องรับเอาสิ่งที่เขาเห็นว่าดีงามนั้นด้วย

“…แต่สมัยนี้คนเราได้คิดว่า คุณค่านั้นมีอยู่ในประดาคนต่างๆ แตกต่างกันและเหมือนกัน รู้จักเคารพในสิ่งที่คนอื่น ถือว่าเป็นคุณค่า…”

สิ่งหนึ่งที่รู้สึก ตลอดการอ่าน “บัวบานในอะมาซอน” คือ ความเห็นอกเห็นใจ-เคารพในเพื่อนมนุษย์ที่เสนีย์แสดงออกมา

บทสรุป – ในบันทึกท้ายเล่มของนักเดินทางชาวไทย ที่มีข้อความกระท่อนกระแท่น ช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ที่สุดแล้วมนุษย์ทุกคนมีธรรมดาคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

เหนือกว่าการเป็นคนเมือง คนป่า นั้นคือทุกคนเป็น “คน”

อยู่ที่จะเปิดใจยอมรับ จนเกิดเป็น “บัวที่เบ่งบาน” ท่ามกลาง ป่า/แม่น้ำ “อะมาซอน” ที่โหดร้ายน่าสะพรึงกลัวหรือไม่ – แค่นั้นเอง