กองทัพไทยมีนายพลกี่คนกันแน่? คำถามที่ไร้คำตอบ

ทหาร

เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ กับคำถามเรื่องตกลงแล้ว จำนวนทหารตำรวจชั้นนายพลของไทย มีจำนวนกี่คนกันแน่?

ทั้งนี้ ย้อนกับไปในอดีต การพูดคุยและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจำนวนนายพลในกองทัพไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของจำนวนดังกล่าว รวมถึงการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเพื่อลดจำนวนและปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับภารกิจและงบประมาณของประเทศ

จากการรวบรวมข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชนไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับจำนวนนายพลในกองทัพไทยหลายครั้ง ดังนี้:

ปี 2551-2554: คาดว่า จำนวนนายพลอยู่ที่ประมาณ 550-584 คน

ปี 2555: จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 811 คน

ปี 2557: จำนวนนายพลทะลุ 1,000 คน ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ต่อมาใน ปี 2566 เป็นครั้งแรกที่ กระทรวงกลาโหมประกาศแผนปฏิรูปกองทัพ โดยตั้งเป้าลดจำนวนนายพลลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2570

ปี 2567: นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดนโยบายอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ลดจำนวนนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษลงกว่าร้อยละ 50 ภายใน 3 ปี หรือเหลือน้อยกว่า 300 คนในปี 2570

จะเห็นได้ว่าตามข้อมูลที่ปรากฏสู่สาธารณะ ก็ยังไม่สามารถอ้างอิงยอดจำนวนนายพลไทยได้อย่างชัดเจน ว่ามีกี่คนกันแน่?

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ วันที่ 23 มกราคม 2568

คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือถึง ปลัดกระทรวงกลาโหม ขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนนายทหารชั้นสัญญาบัตร ตั้งแต่ ระดับ พลตรี พลโท และพลเอก แยกตามเหล่าทัพ

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2568 กระทรวงกลาโหมได้ส่งหนังสือตอบกลับถึงคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตรากำลังพลสำรองของกองทัพ ตั้งแต่ระดับพลตรี จนถึง พลเอก

ในหนังสือดังกล่าว กระทรวงกลาโหมระบุว่า

“จำนวนอัตรกำลังพลของกระทรวงกลาโหม เป็นข้อมูลกำหนดชั้น “ลับมาก” โดยเฉพาะอัตรากำลังพลชั้นยศสูงซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงประเทศ รวมทั้งต้องปฏฺบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับราชการ พศ.2544 ซึ่งกำหนดให้หน่อยต้องรักษาข้อมูลความลับให้ปลอดภัย โดยข้อมูลข่าวสารระดับลับมาก หากเปิดเผยทั้งหมดหรือบางส่วน จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง”

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมยังยืนยันว่า ได้มีการวางแผนปรับลดอัตรากำลังพลสำรองลงในช่วงปีงบประมาณ 2564 – 2568 ตามกรอบนโยบายที่กำหนดไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของประเทศในปัจจุบัน

 

 

เรื่องนี้ทำให้ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาชน  แสดงความเห็น คัดค้าน โดยระบุว่า

“ก่อนหน้านี้จำนวนกำลังพลไม่เคยเป็นเรื่อง”ลับ”วันนี้กองทัพใช้วิธีกำหนดให้เป็นความลับมากเพื่อหนีการตรวจสอบ คำถามคือ กองทัพกำหนดให้เรื่องนีัเป็น”ความลับ”จากใคร? คำตอบคือ จาก”ประชาชน”คนจ่ายภาษี”

“การรู้จำนวนนายพลไม่มีผลกับความมั่นคงของประเทศอยู่แล้ว แต่อาจจะมีผลกับความมั่นคงของนายทหารบางคนเท่านั้น หากประชาชนยังไม่รู้ว่าปัจจุบันมีนายพลอยู่เท่าไร การบอกว่ามีแผนจะลดนายพล ก็เป็นแค่เพียงการเล่นละครตบตาประชาชน ไม่ได้มีความหมายอะไรทั้งสิ้น”

ตามที่กองทัพชี้แจงว่าการเปิดเผยจำนวนนายพลจะส่งผลต่อความมั่นคงร้ายแรงต่อประเทศชาติ หากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยน่าจะเสียเอกราชไปนานแล้ว เพราะชื่อนายพลทุกคนที่ได้เลื่อนยศถูกประกาศลงราชกิจจาทุกปี

และว่า “กองทัพสหรัฐอเมริกาแสนยานุภาพมากสุดในโลก มีกำลังพล 1.3 ล้านคน เค้ามีนายพลรวมกันแค่ 653 คน ส่วนกองทัพไทย กำลังพล 3 แสนคน ปีที่แล้วปีเดียว แต่งตั้งนายพลใหม่ (เฉพาะพันเอกขึ้นเป็นพลตรี) 600 กว่าคน ยังไม่รวมนายพลเดิมที่ไม่ได้เลื่อนยศ ไม่รวมพลโท พลเอกเดิม”