วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร : เศรษฐกิจไทยมาถึงจุดนี้ได้ไง…ทำอย่างไรไม่ให้ทุนไทยตกขบวนโลก?

จนถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่าคนไทยไม่ว่าจะสังกัดกลุ่มความคิดทางการเมืองฝ่ายใด ในทางเศรษฐกิจ ต่างเห็นตรงกันว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก

หลายคนนำสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ไปเปรียบเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจยุคปี 2540 หรือที่เรียกกันว่าต้มยำกุ้ง ตัวอย่างคือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดชัดเจนเมื่อหลายเดือนก่อนว่าปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทยครั้งนี้หนักและแก้ไขยากกว่าปี’40

เป็นโอกาสอันดีที่จะได้คุยกับ รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัย National Graduate Institute for Policy Studies หรือ GRIPS ประเทศญี่ปุ่น เพื่อถอดรหัสวิกฤตเศรษฐกิจปี 2567 ต่างกับวิกฤต 2540 อย่างไร

 

ต่างกับต้มยำกุ้ง รอบนี้มาแบบ “ซึมยาว”

รศ.ดร.วีระยุทธ เริ่มต้นโดยมองว่า การจะเรียกสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็นวิกฤตหรือไม่นั้น นิยามในทางเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงคลุมเครือ เพราะหากดูตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายๆส่วนไม่ได้แย่ จีดีพีก็ยังมีการเติบโตแม้จะโตต่ำแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่ายังมีการเติบโต

แต่ในวิกฤตต้มย้ำกุ้งมันเป็นอะไรที่ฉับพลัน ค่าเงินมันเปลี่ยนชั่วข้ามคืน แต่วันนี้มันเป็นลักษณะซึมๆ ทรงๆ ตัวเลขมันดูเหมือนดี แต่พอไปเดินตลาดจะพบการค้าขายไม่ค่อยดี คนทั่วไปรู้สึกแย่ ถ้าไปดูตัวเลขอีกหมวดคือหนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะ คนก็จะตั้งคำถามแล้วว่ามันเกิดปัญหาไหม?

แน่นอน ปัญหารอบนี้สะเทือนรุนแรง และก็ยาวไกล ดูที่อุตสาหกรรมยานยนต์คือตัวอย่างที่ชัดเจน ย้อนไปดูช่วงต้มยำกุ้งที่หลายอุตสาหกรรมล้มลง ตอนนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์คือพระเอก พาเศรษฐกิจไทยให้พอประคองต่อเนื่องมาได้

รศ.ดร.วีระยุทธ ยกตัวเลขให้เห็นว่า ก่อนปี 2540 การจะบอกว่าประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบส่งออก ก็คงพูดได้ยาก เพราะตัวเลขการส่งออกอยู่ที่ 30-40% ของจีดีพี แต่พอค่าเงินลดและเป็นจังหวะตลาดโลกมีกำลังซื้อ การส่งออกก็กลับมากลายเป็นตัวชูโรง โดยมียานยนต์เป็นตัวสำคัญ

ดังนั้น จะเห็นว่าในปัจจุบัน สิ่งที่เคยพาประเทศไทยเติบโต ต่อเนื่องมาได้หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง มันกำลังจะจากเราไปแล้ว

ทั้งนี้หากไปคุยกับคนในแวดวงยานยนต์ จะพบว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดสภาวะถดถอยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ใช่การมาของรถอีวี แต่คือ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” เพราะการซื้อรถในเมืองไทยส่วนใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจะพึ่งพาระบบไฟแนนซ์ พอหนี้ครัวเรือนสูง โอกาสที่ไปแนนซ์จะปล่อยให้กู้เงินก็น้อยลง ทั้งยังเจอเข้ากับรถที่กำลังอยู่ระหว่างการผ่อนมีปัญหาจ่ายค่างวดไม่ไหว ถูกยึดรถกันระดับมโหฬาร

พอต้นเหตุมันเป็นเรื่องหนี้สินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน เป็นปัญหาเรื้อรังรุนแรง จึงสะท้อนปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าการถูกดิสรัปด้วยรถอีวีเสียอีก เพราะการเป็นหนี้ไม่ใช่การก้าวกระโดดเป็นปัญหาในชั่วข้ามคืน แต่มันคือการค่อยๆสะสมมาต่อเนื่องเป็นสิบปีจนปรากฏชัดเป็นกำลังซื้อที่ถดถอย

รศ.ดร.วีระยุทธ ยังเตือนว่า ทั้งหมดยังเชื่อมโยงไปยังค่ายรถ สำหรับคนไทยที่เห็นว่าค่ายรถญี่ปุ่นปิดตัวในไทย อาจจะไปเผลอคิดว่าค่ายญี่ปุ่นไม่ปรับตัว ต้องบอกว่าเขาปรับตัว เพียงแต่เขาไม่ได้เลือกไทยที่จะปรับตัวและไปต่อในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งนั่นก็สะท้อนปัญหาที่ลึกเข้าไปอีก

“อย่าคิดว่าบริษัทอย่างฮอนด้าเขาไม่ปรับตัว ไม่ใช่เลย เขาเพียงเลือกไปทำที่ประเทศอื่น อย่างอินโดนีเซีย เขามีทรัพยากรแร่ธาตุในการทำแบตเตอรี่ และยังมีกำลังซื้อที่ยังเติบโต” รศ.ดร.วีระยุทธ กล่าว

โดยสรุป ปัญหานี้จะยังเกิดต่อเนื่องยาวนาน แต่ที่น่ากังวลคือตัวเลขมันยังสวย เงินเฟ้อต่ำ การว่างงานต่ำ จีดีพียังพอเติบโตภายใต้ตัวเลขที่ดูเหมือนสวย มันสะท้อนว่าตัวเลขไม่ได้สะท้อนความเดือดร้อนของผู้คน นี่คือโจทย์ที่ยากอย่างยิ่งสำหรับผู้กำหนดนโยบาย เพราะตอนวิกฤตต้มยำกุ้งตัวเลขมันลบแทบหมด คนรู้ว่าจะไปแก้จุดไหน

ดังนั้น สำหรับปัญหาวันนี้หากจะแก้ปัญหาตรงจุด ต้องวิเคราะห์กันในแต่ละภาคส่วนธุรกิจเลยทีเดียว

 

รัฐบาล-แบงค์ชาติ มีปัญหาทั้ง 2 ฝ่าย

ในมุมมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยวันนี้ถือว่าวิกฤตแล้ว หรือยังไม่ถึงขั้นวิกฤตแต่เป็นขั้นฟื้นช้านั้น รศ.ดร.วีรยุทธ มองว่า ดีเบตระหว่างแบงค์ชาติและรัฐบาลที่ผ่านมา มีปัญหาทั้งสองฝ่าย

ฝั่งแบงค์ชาติก็อาจจะต้องปรับมายเซ็ต เพราะแบงค์ชาติมีวิธีคิดเรื่องการจัดการระบบธนาคารที่สืบทอดมาจากวิกฤตปี 2540 ที่เคยพลาดมากก่อนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและทุนสำรอง โจทย์ของแบงค์ชาติหลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องเสถียรภาพทางการเงินจนถึงปัจจุบัน แต่โจทย์เช่นนี้อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพ.ศ.นี้ แล้ว

ยืนยันว่าปัจจุบันไม่มีทางเกิดวิกฤตแบบต้มยำกุ้งอีกแล้ว ซึ่งจะนับเป็นความสำเร็จของแบงค์ชาติก็ได้ แต่โจทย์แบบเดิมเรื่องเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์มันไม่เพียงพอที่จะทำให้คนไทยไปต่อได้ในทศวรรษนี้อีกแล้ว โจทย์ใหม่จึงต้องดูการแข่งขัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่คนมักคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลปัจจุบันคิดต่างกันคนละขั้ว จริงๆผมคิดว่าเขาเห็นต่างกันเรื่องเดียวคือเรื่องดอกเบี้ย ที่เหลือเขาคิดเหมือนๆกันหมด

เช่นเรื่อง Virtual Bank หรือธนาคารไม่มีสาขา เป็นการพัฒนาอีกขั้นของวงการธนาคารที่จะตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ แต่ทั้งแบงค์ชาติและรัฐบาลปัจจุบันก็เห็นตรงกันเรื่องตั้งเงื่อนไขให้สูงๆเข้าไว้ เช่นการกำหนดทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทในระยะแรก และต้องไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในระยะปกติ ที่สุดท้ายก็มีผู้เล่นทุนใหญ่กลุ่มเดิมไม่กี่ราย เป็นทุนใหญ่จากธุรกิจอื่นที่อยากจะข้ามมาเล่นธุรกิจการเงิน ขณะที่ความคิดอย่างพรรคก้าวไกลมองว่าทุนจดทะเบียนแค่ 500 ล้านบาทก็เพียงพอ เพื่อเพิ่มผู้เล่น

ยังมีตัวอย่างอีกหลายอย่าง เช่น เวลากนง.จะพิจารณาลดดอกเบี้ย คือตัวเลขอัตราการว่างงาน ซึ่งถ้าไปดูตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยอยู่ในระดับต่ำ 0.5 – 2% เพราะเขาไปสำรวจว่า ใน 1 สัปดาห์คุณทำงานแบบมีรายได้ 1 ชม. หรือไม่? ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยสามารถหาเงินได้ เช่นไปรับจ้างซ่อมบ้าน จัดสวน รับจ้างทั่วไปก็ถูกนับว่าเป็นผู้มีงานทำแล้ว ทั้งที่จริงๆเขาไม่ควรถูกนับเป็นผู้มีงานทำในความหมายว่าพอจะเลี้ยงตัวเองได้

ดังนั้นฝั่งผู้กำหนดนโยบายการเงินก็ต้องมีการปรับตัวในสภาวะทางเศรษฐกิจที่มันเปลี่ยนไป แน่นอน เขาอาจจะอ้าง พ.ร.บ.ที่ให้อำนาจแบงค์ชาติทำงาน จึงทำได้แค่นี้ ซึ่งก็เป็นความจริง ดังนั้นในเชิงกฏหมายก็ต้องคุยกันภาพใหญ่ด้วยเรื่องขอบเขตอำนาจ

ส่วนฝั่งรัฐบาลก็มองเห็นปัญหาเศรษฐกิจจริง เนื่องจากนักการเมืองเพื่อไทยก็รู้เพราะสัมผัสกับประชาชน เขาเข้าใจสภาพชีวิตประชาชนว่าเดือดร้อนแค่ไหน ถ้าดูการอภิปรายงบปี’68 ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลอภิปรายปัญหาประเทศแทบจะไม่ต่างกัน คือวิเคราะห์ปัญหาเหมือนกัน

แต่ปัญหาคือรัฐบาลจะเลือกแก้ด้วยอะไร? ซึ่งที่สุดรัฐบาลเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเชื่อว่าต้องแก้ด้วยการกระตุ้นการบริโภคก่อนแล้วจึงจะนำไปสู่การแก้เรื่องอื่นๆ

รศ.ดร.วีระยุทธ มองว่า แต่ส่วนตัวมองว่าเรื่องการบริโภคไม่ใช่โจทย์หลักในปัจจุบัน ที่จริงต้องไปแก้เรื่องอื่น เรื่องการลงทุนที่น้อยจนนำไปสู่ปัญหาการว่างงาน การจะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยังไง

วันนี้ไม่ว่าจะเป็นค้าน ฝ่ายรัฐบาล งานวิเคราะห์วิจัยของธนาคารหลายแห่งเห็นตรงกันเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ยังต่างกันเรื่องทางออก ที่ยังเป็นข้อถกเถียง

 

“ภาคการผลิตจริง” ต่างหาก คือปัญหา

ทั้งนี้ การจะออกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้นั้น รศ.ดร.วีระยุทธ ระบุว่า เรื่องหนี้ครัวเรือนและตลาดหุ้นไทย จริงๆมีปัญหาที่สืบเนื่องกันอยู่

แน่นอน เรื่องหนี้ครัวเรือนก็จำเป็นต้องแก้ให้ตรงจุดที่การออม การกู้หนี้ยืมสินระดับครัวเรือน ส่วนตลาดหุ้นก็ต้องแก้เรื่องความโปร่งใส การจัดการที่ดีในการซื้อขาย แต่ภาพที่ใหญ่กว่านั้นของทั้งสองเรื่องคือ “ภาคการผลิตจริง” ต่างหาก

เพราะไม่มีตลาดหุ้นประเทศไหนที่โตด้วยการเงินล้วนๆ ถ้าไปดูดัชนีตลาดหุ้น มันขึ้นอยู่กับการเติบโตทางธุรกิจ ขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมจริงที่เป็นผู้ผลิต หุ้นเวียดนามโตเพราะภาคการผลิตจริง ดังนั้นการไปโฟกัสปัญหาตลาดหุ้นไทยในแง่มุมต่างๆ โดยลืมว่าเรื่องใหญ่สุดของปัญหาตลาดหุ้นจริงๆแล้วคือปัญหาภาคการผลิต

เมื่อภาคการผลิตมันจะไปไม่รอด มันจึงสะท้อนออกมาผ่านตลาดทุน อย่าไปมองตลาดทุนเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ต่อให้ระบบจัดการตลาดหุ้นดี โปร่งใส่ แต่ถ้าภาคธุรกิจเขาไปไม่รอดและแห่หันไปลงุทนต่างประเทศ สุดท้ายตลาดทุนประเทศนั้นมันก็ไปไม่รอด

ในทำนองเดียวกัน หนี้ครัวเรือนก็เช่นกัน ต้องถามว่าแหล่งรายได้ของคนมาจากไหน? ถ้าฝั่งค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ฝั่งรายได้ไม่เพิ่ม กลับถูกกดเอาไว้ หรือไม่มีภาคการผลิตใหม่ๆมาลงทุน ยังไงก็ต้องมีปัญหาหนี้ครัวเรือน

ดังนั้นทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน และตลาดหุ้นไทย จึงต้องกลับมาที่ปัญหารากฐาน นั่นคือภาคการผลิตไทยมันเกิดอะไรขึ้น?

“แทนที่เซียนหุ้นไทย ที่ตอนนี้ทุกคนแนะนำกันว่าไปลงทุนหุ้นอเมริกา ไปลงทุนหุ้นเวียดนาม มาช่วยกันจี้บริษัทไทยดีกว่า มาช่วยกันจี้นโยบายไทยดีกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยมันพอมีความหวังมากกว่า เพราะสุดท้ายมันจะตอบโจทย์ระยะยาวมากกว่า คุณไหลไปลงอเมริกา เดี๋ยวพอทรัมป์กลับมา คุณอาจจะวิกฤตอีกรอบก็ได้…” รศ.ดร.วีรยุทธ กล่าว

 

“ทุนไทย” เกาะทุนนิยมโลก แต่ไม่ใช้ประโยชน์…

ต่อประเด็นทำอย่างไรให้ทุนไทยไม่ตกขบวนทุนนิยมโลก รศ.ดร.วีรยุทธ ชี้ให้เห็นว่า ทุนไทยหลายอุตสาหกรรมยังคงใช้บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง แนวทางเดียวกับแบงค์ชาติที่ยึดตามบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้ง ในแง่หนึ่งหากมองไปที่กลุ่มทุนใหญ่ๆ ผู้บริหารยังเป็นกลุ่มเดิม ยิ่งเจาะไปที่กลุ่มธุรกิจครอบครัว จำนวนไม่น้อยยังเป็นกลุ่มเดิมจากวิกฤตต้มยำกุ้ง บางท่านเกษียณไปแล้วก็ต้องกลับมาอีก เพราะลูกหลานพาธุรกิจไปไม่รอด

ถามว่าเขาได้บทเรียนอะไร? ตอนทศวรรษ 2530 มรากลุ่มทุนไทยพยายามสยายปีกออกไปลุงทุนต่างประเทศ อยากจะเป็น SAMSUNG เหมือนกัน แต่ล้วนเจ็บตัวกันหมดเพราะปัญหาค่าเงินเปลี่ยน และทำในธุรกิจก็ยังไม่เก่งจริง ส่วนใหญ่ขยายไปตามโอกาสที่ได้รับจากพาร์ทเนอร์ เช่นการไปลงทุนในจีนที่เพิ่งเปิดประเทศเพราะมีพาร์ทเนอร์มาชวน แต่พอทำในสิ่งที่ไม่ถนัดแล้วเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมันก็ล่มสลายไป ต้องปรับโครงสร้างหนี้กันยกใหญ่ ผมคิดว่าบทเรียนที่กลุ่มทุนใหญ่ไทยได้ตอนนั้นคือ การยึดตลาดประเทศไทยเป็นฐานที่มั่น ทำธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับรัฐเป็นรายได้ที่มั่นคงกับเขา

หลังวิกฤต 2540 กลุ่มทุนไทยรายใหญ่ทุกกลุ่มจะไม่ทิ้งตลาดไทย ในความหมายหนึ่งก็คือจะไม่ยอมสูญเสียตลาดให้กับผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งในแง่นี้ไม่ไม่ค่อยเฮลตี้กับตลาด เพราะบางทีมันเป็นการใช้ความสามารถและคอนเนกชันที่ตัวเองมีเพื่อกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ ทำให้หลังวิกฤตต้มยำกุ้ม ธุรกิจสำคัญเราแทบไม่เห็นผู้เล่นรายใหม่เลย ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทย เพราะการที่เศรษฐกิจจะดีได้มันต้องเกิดผู้เล่นรายใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ผู้เล่นรายใหม่จะมาพร้อมกับนวัตกรรม แต่วันนี้จะเห็นว่าแม้แต่ธุรกิจสตาร์ตอัพก็เป็นทุนใหญ่ไปลงทุน ไม่ใช่สตาร์ตอัพที่ไปดิสรัปตลาดด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

การลงทุนแบบระมัดระวังอย่างมากเกินไปบางครั้งก็ไม่เป็นประโยชน์กับผู้เล่นรายใหม่ ขณะที่ผู้เล่นรายใหม่ก็มีปัญหาเรื่องการเงิน หนี้สิน อัตราดอกเบี้ยสูงและถูกทุนใหญ่กีดกัน

ส่วนปัญหาที่ทุนนิยมไทยจะทำอย่างไรไม่ให้ตกกระแสโลกนั้น จริงๆ ทศวรรษ 1980 ต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาทุนนิยมไทยก็ไม่ได้ตกกระแสโลก แต่ค่อยๆเติบโตจากการเกาะกระแสโลก ช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯกดดันเรื่องค่าเงินทำให้ต้องมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วก็เป็นไทยที่ได้อานิสงค์ เรามีอีสเทิร์นซีบอร์ดอยู่แล้ว นี่คือตัวอย่างการเกาะกระแสโลก

แต่ประเด็นคือลักษณะทุนไทยเป็นเพียงเกาะกระแส แต่ไม่ใช้ประโยชน์กับกระแสนั้น ไม่เก่งด้วยตัวเอง เช่น จีน หรือเกาหลี แต่ไทยเราแค่เกาะกระแสโลกได้ก็แฮปปี้แล้ว

“แต่รอบนี้ยากขึ้น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เราไม่ได้ shift ไปสู่อุตสาหกรรมทำเงินในปัจจุบัน ก็คือเซมิคอนดักเตอร์ แบบที่มาเลเซีย เกาะกระแสเซมิคอนดักเตอร์ได้ ไม่นานก็น่าจะเป็นประเทศรายได้สูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แน่นอนมันมีวัฏจักรของมัน มันคงไม่คงอยู่ตลอดกาล เพียงแต่รอบนี้ เราไม่ได้ไปร่วมกับเขา นี่คือตัวอย่างความเสี่ยงว่าเราจะหลุดจากโลก เราผลิตสินค้าที่ได้มูลค่าน้อยลงจากโลก ไอ้ที่เราเคยเกาะเกี่ยวได้มันน้อยลงเรื่อยๆ รอบนี้จึงน่ากลัวกว่าที่ผ่านๆมา“ รศ.ดร.วีระยุทธ ระบุ

 

ต้องเกาะเพื่อเป็นผู้เล่นระดับโลก

รศ.ดร.วีระยุทธ ยังพูดถึงตัวอย่างการเปลี่ยนแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ โดย ระบุว่า ก่อนหน้านี้เรามีบอร์ดอีวีเชื่อว่าไทยสามารถเกาะกระแสอีวีได้ เพราะมีสมมุติฐานคือเราผลิตรถสันดาปได้ รัฐกระตุ้นนิดหน่อยก็น่าจะไปได้ แต่จริงๆแล้ว เราไม่สามารถประเมินอุตวาหกรรมล่วงหน้าได้ 5 ปี 10 ปี แบบในอดีตอีกแล้ว ยิ่งอุตสาหกรรมอีวีมันเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบแร่ธาตุสำคัญในการผลิตรถอีวีนั่นคือแบตเตอรี่ซึ่งแทบจะเป็นครึ่งหนึ่งของต้นทุนราคารถ ถ้าไม่สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้จำนวนมากในราคาถูก มันก็ลดทอนศักยภาพการแข่งขันไปแล้ว ไม่นับว่ารถอีวีเขาไปแข่งกันที่ซอฟแวร์ในตัวรถ ซึ่งเราก็ไม่เก่งอีก ที่ผ่านมาเราเก่งฝั่งเครื่องกล ฝั่งเครื่องยนต์สันดาป ไม่ได้เก่งไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านมันจึงไม่ราบรื่นเช่นที่บอร์ดอีวีเคยคิดเอาไว้ และรัฐก็ไม่ได้อัดเงินมาหนุนเรื่อง Reskill เท่าไหร่ ถ้าไปดูเม็ดเงินที่ใช้ ไทยหนุนอีวีหลักหมื่นล้านจริง แต่เป็นการเอาเงินไปหนุนผู้ซื้อ รอบที่แล้วได้เงินไปถึงคันละ 1.5 แสนบาทต่อคัน เงินมันไปหนุนดีมานด์ ไม่ใช่ซัพพราย สรุปคือยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเองก็ต้องปรับตัวไปตามจังหวะ

“ข่าวดีก็คือปีนี้บีโอไอพยายามจะดึงบริษัทเซมิคอนดักเตอร์มาลงทุน รวมถึงผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งจริงๆมันควรทำตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว การมาแค่ 1 – 2 บริษัท โอเคอาจนับเป็นความสำเร็จเบื้องต้น แต่ต้องนึกถึงปีนัง ของมาเลเซีย ที่เขาดึงมาทั้ง อเมริกา-จีน-ยุโรป ทั้งนี้โจทย์คือจะทำอย่างไรให้บริษัทไทยเข้าไปแชร์ และจะกลายเป็นผู้ผลิตในอนาคตได้ นี่คือโจทย์ที่ต้องตั้งต้นไว้ มิฉะนั้นเราจะคิดแค่เอาต่างชาติเข้ามาก็นับเป็นความสำเร็จแล้ว ตอนนี้เราอาจให้เขาเข้ามาลงทุน แต่ในอนาคตต้องคิดให้บริษัทไทยขึ้นมาแข่งด้วย ต้องกล้าที่จะโตมาเป็นคู่แข่ง และไม่ใช่แค่ 1-2 บริษัท ต้องพูดกันในระดับการมาเป็น “คลัสเตอร์” การสร้างแรงงานขึ้นมาพร้อมกันเป็นหลักหลายหมื่นคน ตอนนี้เรากำลังเจอกับวัฏจักรอุตสาหกรรมใหม่ ต้องปรับตัวครั้งใหญ่“ รศ.ดร.วีระยุทธ ระบุ

เราต้องเกาะเพื่อไปเป็นผู้เล่นระดับโลก ไม่ใช่เกาะเพื่อโตระยะสั้น เศรษฐกิจไทยจะนับว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งคือมักจะได้อานิสงค์ลมหนุนจากต่างชาติมาช่วยเสมอทุกๆ 10 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรามีอเมริกามาช่วย ยุคพล.อ.เปรม 1980 เราก็มีลมบูรพาจากญี่ปุ่นพัดมาช่วย หลังต้มยำกุ้ง จีนเปิดประเทศเราได้นักท่องเที่ยวจากจีนเริ่มไหลมา แล้วเราก็ยังได้อานิสงค์จากการส่งออกเนื่องจากเรื่องค่าเงินถดถอย แต่ตอนนี้ลมหนุนเริ่มหมดแล้ว ลมใหม่ๆที่จะมาช่วยรอบนี้ยังมองไม่เห็น บางทีอาจจะต้องเป็นผู้สร้างลมเอง หรือจับกระแสลมเองว่าจะต้องเข้าให้ถูกว่าจะร่วมไปกับกระแสลมไหน เพราะภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ปั่นป่วนในปัจจุบัน ปรากฏว่าเวียดนามกับมาเลเซียได้ประโยชน์จากความผันผวนนี้ ทุกความผันผวนมันมีจังหวะที่จะเข้าไปและได้ประโยชน์อยู่ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องวางยุทธศาสตร์

รศ.ดร.วีรยุทธ ยกตัวอย่างว่า “ฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของไทยต้องประเมินเลยว่าถ้าโดนัลด์ ทรัมป์มา จะเกิดอะไรขึ้น หากเกิดสงครามการค้าขึ้นอีก ประเทศไทยจะหาจังหวะเข้าไปอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์ เราจะทำอย่างไร มีกี่ scenario พวกนี้คือตัวอย่างว่าควรจะประเมินล่วงหน้าได้เลย หรือกรณีเกิดปัญหาในทะเลจีนใต้ – ช่องแคบไต้หวันขึ้นมา เราจะทำอะไรทั้งเรื่องความมั่นคงและเรื่องเศรษฐกิจ สุดท้ายภูมิรัฐศาสตร์โลกมันไม่ใช่เรื่องรอลุ้นแต่เรื่องตื่นเต้น แต่มันคือเรื่องว่าแล้วเราจะไปอยู่ตรงไหน ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องประเมินล่วงหน้า…”

 

บทเรียนจากทุนนิยมจีนตีตลาดไทย

จากปัญหาจีนทุ่มตลาดอย่างหนัก สินค้าจีนล้นทะลักเข้ามาทำตลาดในทุกอุตสาหกรรมของไทย เกิดการดิสรัปอย่างรวดเร็วเพราะราคาของสินค้าที่จีนทำออกมาได้ดี แม้ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์แต่ก็กระทบกับอุตสาหกรรมไทยไม่น้อย รัฐไทยควรจะทำอย่างไร?

รศ.ดร.วีระยุทธ ชวนมองประเด็นนี้โดยเริ่มจากการถอยกลับมามองภาพกว้างก่อน โดยยกตัวอย่างจากสินค้าแบรนด์จีนล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดราคา 15 บาท หรือโคนไอศกรีมราคาถูก ที่ทำตลาดในไทย อันดับแรกคือคนซื้อได้ประโยชน์จริงๆ

“ต้องตั้งต้นมองที่ภาพใหญ่ที่สุดก่อน เวลาครอบครัวแรงงานต่างชาติในไทย หรือคนไทยที่ต้องอาศัยรายได้เฉลี่ยรายวันจะไปฉลองกัน เขาจะไปกินร้านไก่ชื่อดัง หรือพิซซ่าชื่อดัง ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ราคาแพง คุณต้องยอมรับว่าสินค้าที่มันมีอยู่ในไทยราคามันสูง นั่นคือทุนจีนเขามา เขาอยู่ได้เพราะตลาดมันตอบสนองเขา คุณเคยกินไก่เป็นเซ็ต ชิ้นละเกือบร้อย ลองมาเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเท่าไหร่ แล้วยังต้องเก็บเงินเพื่อจะกินไก่ทอด”

1.แน่นอนในทางเศรษฐศาสตร์การดัมพ์ราคาเป็นความผิด ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม มีผลระยะยาวที่ไม่ดี ผิดกฏหมายก็ต้องว่ากันไปตามกฏ

2.ก็ต้องดูด้วยว่าแล้วการแข่งขันที่ผ่านมาในไทย ราคามันลดลงคุณภาพดีขึ้นเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยรวมหรือเปล่า หลายอุตสาหกรรมในไทยทำไมแข่งกันมานมนาน ทำไมราคาไม่เคยลด มันสะท้อนตลาดอุตสาหกรรมในไทยมีปัญหาหรือเปล่า? ผู้บริโภคกลับรู้สึกว่าเป็นของที่เอื้อมถึงยากขึ้นเรื่อยๆ

“ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่พอที่จะเข้าไปบริโภคในร้านแบบนี้ อันนี้คือโจทย์ข้อแรก โจทย์ใหญ่สุด แต่ถ้าคุณดัมพ์ราคา เพื่อจะเป็นเจ้าตลาดแล้วไปขึ้นราคาตอนหลัง อันนี้ผิด ต้องขีดเส้นไว้” รศ.ดร.วีระยุทธ ชวนคิด

ไม่เฉพาะที่จีน หลังโควิดชาติมหาอำนาจหลายชาติก็ใช้วีธีไปช่วยภาคเอกชนแบบมโหฬาร ดังนั้นโอกาสสิ้นค้าล้นตลาดในอนาคตจะมีมาอีกแน่ ทั้งนี้ก็ต้องมาดู เรามีเครื่องมืออะไร หากทุนต่างชาติใช้วิธีขายตัดราคา ไทยเราก็มีหน่วยงานคือ “สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า หรือกขค.” ที่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบดูแล อันนี้ต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานเริ่มต้น

จากนั้นก็ต้องมาดูภาคการผลิตส่วนไหนที่เราควรสนับสนุนให้ดำรงอยู่ ซึ่งมีวิธีประเมินหลายอย่างเช่นการจ้างงาน ต้องยอมรับหลายอุตสาหกรรม ต่อให้เราอุดหนุนต่อไปก็อาจแข่งไม่ได้ หรือเคยช่วยเหลือแล้วก็ยังปรับตัวไม่ได้ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมโคนม เราเซ็นสัญญาค้าเสรีกับออเตรเลีย นิวซีแลนด์มานานแล้ว ที่ผ่านเรารู้ว่าเราแข่งเรื่องนมผงหรือน้ำนมกับ 2 ชาตินี้ได้ จึงยังไม่มีการนับภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ต่อเนื่องมา 10-20 ปีเลย ผู้บริโภคก็ซื้อน้ำนมราคาสูงกว่าตลาดโลก เพราะมีการปกป้องทางการค้าอยู่ แต่เราก็อยากช่วยผู้ผลิตโคนมในไทย ก็ทำมา 20 ปี

ปัญหาคือเมื่อไปดูตัวเลขย้อนหลังพบว่า ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วต้องเผชิญการแข่งขัน เวลา 20 ปีก็นานพอที่จะเปลี่ยนแปลงให้แฟร์กับผู้ผลิตเอง แต่กลายเป็นว่า ผลผลิตน้ำนมที่เราได้ต่อวัวต่อตัวมันลดลง ทั้งที่กระทรวงเกษตรก็มีมาตรการช่วยเหลือตลอดมา มีงบประมาณทุกปีลงไปช่วยผู้เลี้ยงโค ก็ต้องตั้งคำถามว่า มาตรการที่ผ่านมามันไม่เกิดประโยชน์หรือเปล่า เพราะการจะทำให้น้ำนมมีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น มันต้องไปดูกระบวนการผลิต อุณหภูมิในการรีดนม เทคโนโลยีต่างๆที่จะมาช่วย ขณะที่ผู้ผลิตโคนมเองก็รู้ว่าปี 2568 เขาต้องเผชิญการแข่งขันแล้ว รู้มา 20 ปีแล้ว คำถามก็คือในกรณีอย่างนี้ทำไมเราจึงยังปรับตัวไม่ได้ ทั้งๆที่มีเวลา มีงบประมาณ แล้วทุกคนก็รู้เดดไลน์ที่จะเกิดขึ้น ตรงนี้ก็ต้องเป็นกรอบสำหรับทำนโยบายในอนาคตเช่นกัน

ว่าทุ่มเงินไปตลอดหลายปี รวมๆแล้วเป็นเงินหลายพันล้าน ทำไมยังไม่สามารถส่งผู้ประกอบการไทยไปแข่งกับตลาดโลกได้ เพื่อความแฟร์ทั้งผู้ผลิตและบริโภค คิดว่าต้องมีนโยบายช่วยเหลือจากรัฐ แต่ก็ต้องถอดบทเรียนกันว่าหลายเรื่องที่พยายามจะปรับตัว ทำไมปรับแล้วยังแข่งกับชาวโลกไม่ได้?

รศ.ดร.วีระยุทธ ยังยกตัวอย่างบริษัทยานยนต์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตโตต้า ว่าในระยะแรกไม่ได้เก่ง สู้อเมริกาไม่ได้เลย ฟอร์ดในช่วงโตโยต้ายุคแรก คุณภาพก็ดีกว่า ราคาก็ยังถูกกว่า ผู้บริโภคญี่ปุ่นต้องซื้อรถราคาแพง เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งกำแพงภาษี ไม่ให้รถจากต่างชาติ เข้ามาแข่งในประเทศได้ง่าย คนญี่ปุ่นต้องซื้อรถโตโยต้าราคาแพงมา 30 ปี แต่ผ่านมา 30 ปี คุณภาพของโตโยต้าอยู่ในระดับดี แข่งกับชาวโลกได้ คนรุ่นพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นต้องทนซื้อรถโตโยต้าราคาแพงมานาน บางคนทำงาน 30 ปียังซื้อไม่ได้เลย แต่หากย้อนกลับมาถามคนรุ่นลูกในปัจจุบัน ว่าจะยอมกลับไปซื้อรถุราคาแพงไหม คำตอบก็คงไม่

แต่ในท่ามกลางความสำเร็จของโตโยต้า ก็มีบทเรียนความล้มเหลวของมาเลเซียกับรถ “ Proton” ที่รัฐอุดหนุนมา 20 – 30 ปี เหมือนกัน สุดท้ายก็แข่งกับชาวโลกไม่ได้ หรือในความสำเร็จของซัมซูง จากเกาหลีใต้ ก็มีความล้มเหลว อัดเงินรัฐเข้าไปแล้วไม่ขยับขึ้นมา ทั้งหมดตอบเราได้อย่างหนึ่งว่า สุดท้ายแล้วเราต้องเลือก เพราะที่สุดเราคงไม่สามารถปกป้องธุรกิจไทยทุกธุรกิจไม่ให้เผชิญการแข่งขันจากโลก แต่คำถามคือจะเลือกอะไร ซึ่งการเลือกหลักคือก็ต้องมีหัวใจ ต้องรู้ว่าอะไรคืออุตสาหกรรมที่อยากจะเก็บไว้ให้เป็นของไทย อุตสาหกรรมไหนที่อยากจะพัฒนา และคิดว่ามันเป็นหัวใจของโลกอนาคต ถ้าไม่มีจะไปต่อไม่ได้ แต่โดยรวมๆแล้วมันจำเป็นต้องเลือก และจำเป็นต้องให้มีการเผชิญการแข่งขัน

“แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรายใหญ่ในไทยก็ต้องทำให้การแข่งขันมันแฟร์ขึ้น ไม่ใช่กีดกันทุนต่างชาติอย่างเดียว แต่ในประเทศเราก็มีทุนผูกขาด มียักษ์ใหญ่อยู่เหมือนกัน ถ้ามัวแต่กันไม่หใ้มีการแข่งขัน สุดท้ายยักษ์ใหญ่ทุนผูดขาดก็ได้ประโยชน์ ฉะนั้น บางอุตสาหกรรม เราอาจจะต้องการการแข่งขันเพื่อให้ทุนใหญ่ของไทยปรับตัวด้วยซ้ำ ถ้ามัวแต่ปักธงกีดกันการแข่งขันทางการค้า สุดท้ายก็อาจเกิดเสือนอนกินอีกมโหฬาร ซึ่งก็เป็นอันตราย” รศ.ดร.วีระยุทธ ระบุ

แต่เมื่อยกตัวอย่างอุตสาหกรรมแอร์ของไทย ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้นำการส่งออกระดับโลก แต่ปัจจุบันกลับถูกแอร์จากจีน เข้ามาตีตลาดอย่างหนักด้วยราคาที่ถูก ซึ่งมีผลทำให้ยอดขายแอร์ภายในประเทศลดลงรวมถึงเกี่ยวข้องกับการจ้างงานที่อาจลดลงด้วยนั้น รศ.ดร.วีระยุทธ มองเรื่องนี้ว่า แอร์ไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะเติบโตและไปต่อได้ แต่ก่อนหน้านี้เราเคยส่งออกไปอินโดนีเซียจำนวนมาก แล้วถูกทางอินโดนีเซียตั้งกำแพงภาษีจนส่งออกไปไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นข่าวและรัฐไทยก็ไม่ค่อยขยับตัวตามไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยืนยันว่าแอร์ไทยเติบโตและควรได้รับการสนับสนุนให้แข่งขันต่อไปได้

เรื่องนี้ต่อเนื่องกับเรื่องดิจิตอลวอลเล็ตที่รัฐบาลกำหนดไม่ให้ใช้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งโทรศัพท์ชัดเจนว่าส่วนใหญ่นำเข้าแทบจะทั้งหมด แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องแยกเพราะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราเป็นผู้ผลิตและมีความสามารถในการผลิต โอกาสที่เราจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยควรได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย

 

ฟิลิปปินส์อาจเป็นบทเรียนที่ดีของไทย

รศ.ดร.วีระยุทธ ทิ้งท้ายในเชิงเศรษฐกิจการเมืองเปรียบเทียบวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยกังวลว่าจะเป็นคล้ายกับฟิลิปปินส์ ที่มีลักษณะ “การซึม” ทางเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 ยุคนั้นฟิลิปปินส์เคยเป็นประเทศที่รุ่งเรืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนไทยจำนวนไม่น้อยในบ้านของคนที่มีฐานะมักจะส่งลูกไปเรียนที่ฟิลิปปินส์ ตอนนั้นฟิลิปปินส์มีแหล่งงานที่ดี เคยเป็นดาวรุ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ถึง 1970 แต่เริ่มเป็นปัญหาในทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาจากนั้นก็ซึมยาว ผมคิดว่าความน่ากังวลของเศรษฐกิจไทยและหากจะมีบทเรียนจากประเทศอื่นก็คงเป็นฟิลิปปินส์

ใครที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยซึมแบบญี่ปุ่น ต้องบอกว่าถ้าซึมแบบญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องไม่ได้แย่ อย่างน้อยซึมแต่ยังมีระบบสวัสดิการที่ดี คุณภาพอากาศ คุณภาพชีวิต ระบบสาธารณะต่างๆก็ยังไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าตัวเลขมันไม่ค่อยดี ส่วนตัวเห็นว่าความน่ากลัวของเศรษฐกิจการเมืองไทยจะเป็นแบบฟิลิปปินส์มากกว่า เพราะเขาชะงักงันโดยมีลักษณะที่คล้ายกับไทยในปัจจุบันหลายอย่าง เช่น เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในยุค 1970 โตดีแต่เป็นไปในลักษณะกระจุกตัวอยู่ในมือคนที่มีธุรกิจใหญ่ อยู่ในมือเจ้าที่ดินเดิมไม่กี่ราย เป็นบทเรียนว่าถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจโตแต่กระจุกตัวอยู่ในมือคนไม่กี่คน สุดท้ายกำลังซื้อมันก็ไม่เหลือ หลังจากนั้นฟิลิปปินส์เกิดภาวะสมองไหลออกอย่างมโหฬาร คนฟิลิปปินส์พูดภาษาอังกฤษได้ดี ส่งผลทำให้ปัจจุบันฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่การส่งรายได้กลับเข้ามากลายเป็นรายได้หลักๆของประเทศ เพราะคนสมองไหลออกตั้งแต่ยุค 1980 เยอะมาก เขาไปตั้งครอบครัวที่อื่นแต่ยังมีครอบครัวใหญ่อยู่ที่ฟิลิปปินส์จึงส่งเงินกลับมา ตรงนี้แหละที่อันตรายที่เชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด ภาวะสมองไหลออก และการเติบโตที่กระจุกตัว

และในอีกแง่หนึ่งฟิลิปปินส์ก็ปรับตัวไม่ทันกับกระแสอุตสาหกรรมโลก ยุคทศวรรษ 1960 ถึง 70 ฟิลิปปินส์ก็เติบโตด้วยอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า แต่ในทศวรรษ 1980 ฟิลิปปินส์ไม่พร้อมปรับตัวในการส่งออกแข่งขันระดับโลก ช่วงเวลานั้นกลายเป็นประเทศไทยเรานี่แหละที่ได้รับผลประโยชน์จากความตกต่ำของฟิลิปปินส์ เป็นจังหวะที่ญี่ปุ่นซึ่งมีปัญหากับมหาอำนาจโลกต้องตัดสินใจ จึงกลายเป็นไทยที่มีความพร้อมมากกว่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า กำลังแรงงานที่ดีกว่าในเวลานั้น หลังจากนั้นฟิลิปปินส์ก็ไปต่อไม่เป็นเลย มากกว่า 1-2 ทศวรรษ อีกอย่างคือการคอรัปชั่นช่วงเศรษฐกิจโตของฟิลิปปินส์มีระดับสูง ระดับอาชญากรรมก็สูง นักธุรกิจญี่ปุ่นที่ไปลงทุนถูกลักพาตัวด้วยซ้ำ

นั่นคือบทเรียนว่าการเจอภาวะสมองไหลออก คนที่อยู่ก็สิ้นหวัง ปัญหาอาชญากรรมก็สูง กว่าฟิลิปปินส์จะกลับมาได้ ใช้เวลานานมาก โดยเป็นช่วงทศวรรษที่แล้วนี่เองที่ภาษาอังกฤษกลับมามีความสำคัญ เป็นฐานในอุตสาหกรรมบริการ เช่น Call Center ต่างๆ

ฟิลิปปินส์ในทศวรรษ 1980 จึงเป็นความน่ากลัวที่เราจะไปถึงจุดนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียนให้เราเหมือนกันว่าเวลาจะทำนโยบายอย่าดูแต่ตัวเลข เพราะฟิลิปปินส์ในยุค 1970 ตัวเลขสวยมาก แต่ในความตัวเลขสวยมีปัญหาซ่อนอยู่เยอะ หนี้ต่างประเทศก็สูง คอรัปชั่นก็สูง การพึ่งพาต่างชาติสูง ซึ่งเป็นอาการคล้ายประเทศเราหลายด้าน

 

วันหนึ่งประเทศไทยฟ้าเปิด สมองไหลก็จะกลับมา

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ไทยซ้ำรอยฟิลิปปินส์ จนเกิดภาวะสมองไหล ซึ่งปัจจุบันคล้ายกับว่าเริ่มที่จะเกิดปัญหานี้แล้วนับตั้งแต่ปี 2563 ที่คนรุ่นใหม่อยากออกจากประเทศ รศ.ดร.วีระยุทธ กล่าวว่า

“ผมคิดว่าถ้าทำประเทศไทยให้น่าอยู่ น่าลงทุน น่าใช้ชีวิตนะครับ สุดท้ายเขาจะกลับมา”

บทเรียนเรื่องอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ ทั้งที่ไต้หวันและมาเลเซียอย่างหนึ่ง คือทั้ง 2 ประเทศมีช่วงเวลาที่สมองไหลออกเหมือนกัน แต่ผู้นำต้องเข้าใจด้วยว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สมองไหลกลับ เพราะในแง่หนึ่งถ้าคุณไม่เคยไปอยู่กับโลกคุณก็จะไม่ได้รับความรู้จากโลก อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ในมาเลเซียที่เติบโตได้เพราะคนมาเลย์เชื้อสายจีนไปทำงานที่ Silicon Valley 20 ปี เพราะถ้าเขาอยู่แต่ในมาเลเซียก็ไม่มีทางทำได้ ในแง่หนึ่งต้องยอมรับว่าการเป็น Global Citizen การไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกก็คือการไปเก็บองค์ความรู้ของโลกมาเหมือนกัน

ไต้หวันก็เหมือนกัน ไต้หวันช่วงเผด็จการคนก็ไหลออกไปทำงานที่สหรัฐไม่กลับเลย แต่พอไต้หวันกลายเป็นประชาธิปไตยคนกลุ่มนั้นก็กลับมา บริษัทอย่าง TSMC ก็เกิดขึ้นในช่วงนั้นแหละ ช่วงสมองไหลกลับมา มาเลย์ก็แพทเทิร์นเดียวกันเลย

“อุตสาหกรรมสำคัญของโลกอย่าง เซมิคอนดักเตอร์ ไม่มีทางเรียนรู้ที่บ้านได้ ยังไงก็ต้องออกไปเรียนรู้ข้างนอก แต่ออกไปแล้วจะกลับไหมขึ้นกับภาวะของประเทศบ้านเกิดคุณในเวลานั้น ถึงวันหนึ่ง เมื่อประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่โอกาสเปิด ฟ้าเปิดให้คนกลับมาตั้งครอบครัว ผมคิดว่าเราจะได้เห็นสภาวะสมองไหลกลับที่ดี แต่จริงๆ นโยบายระยะสั้น ผมอยากเห็นการส่งคนไปเรียนที่ไต้หวัน มาเลเซีย หรือที่ สหรัฐอเมริกา ไม่อย่างนั้น เราไม่สามารถทำอุตสาหกรรมอย่างเซมิคอนดักเตอร์ได้”