กรองกระแส / 4 ปี ของ ‘คสช.’ ‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’ ‘สัญญาณ’ เริ่มชัด

กรองกระแส

4 ปี ของ ‘คสช.’

‘สำเร็จ’ หรือ ‘ล้มเหลว’

‘สัญญาณ’ เริ่มชัด

แรกที่ คสช. ทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และเข้ามาบริหารประเทศโดยหัวหน้า คสช. เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมกับเปล่งคำ
“การบริหารบ้านเมืองไม่เห็นจะยาก”
เสียงชโยโห่ร้องดังขึ้นกึกก้อง ประเทศไทยล้วนฝากความหวังไว้กับ คสช. ว่าจะสามารถแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ให้ยุติลงได้โดยราบรื่น เพราะมีอำนาจอยู่ในมืออย่างเป็นเอกภาพ
ไม่ว่าในด้านพลเรือน ไม่ว่าในด้านตำรวจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทหาร
การเข้ามาของ คสช. จึงเหมือนกับการเข้ามาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อเนื่องไปยัง จอมพลถนอม กิตติขจร เหมือนกับการเข้ามาของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เหมือนการเข้ามาของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เหมือนการเข้ามาของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
เป็นการเข้ามาเหมือนกับ “อัศวินม้าขาว” เข้ามาปราบยุคเข็ญของบ้านเมือง
แต่แล้วเมื่อได้ยินการแสดงความเป็นห่วงและส่งสัญญาณจากบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2560 ในเรื่อง “กองหนุน” ที่แทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว
หลายคนย่อมตกใจ ยกมือทาบอกอุทานคำ “เป็นไปได้อย่างไร” ออกมา

บทเรียน ประสบการณ์
บทเรียน อัศวินม้าขาว

ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประชาชนอาจไม่รู้ในความเสื่อมทรามเน่าเฟะ แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือมายังทายาท คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ประชาชนจึงได้ตระหนักในความเลวร้าย
เพราะรัฐบาลใช้อำนาจมาตรา 17 ยึดทรัพย์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เนื่องจากไม่เพียงแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะเบียดบังเอาเงินของแผ่นดิน หากแต่ยังใช้อำนาจทางการเมือง ทางการทหาร ในการเข้าไปแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ
เมื่อมาถึงยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ประชาชนเริ่มมีบทเรียน และเมื่อแสดงความกระหายในการอยู่ในอำนาจโดยมิได้คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมก็นำไปสู่การชุมนุมประท้วงกระทั่งเกิดสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516
จอมพลถนอม กิตติขจร และคณะจึงตกจากอำนาจและเดินตามเส้นทางเดียวกันกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นก็คือถูกยึดทรัพย์
การเรียกระบบถนอม-ประภาส-ณรงค์ว่าเป็น “ทรราช” จึงถูกต้องอย่างที่สุด
การเข้ามาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมกับ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือนกันยายน 2500 เป็นการเข้ามาในแบบ “อัศวินม้าขาว” ด้วยอำนาจจากการทำรัฐประหาร
แต่จุดจบของ “อัศวินม้าขาว” ก็คือการถูกยึดทรัพย์จากการบริหารในแบบ “ทรราช”

บทเรียน ประสบการณ์
ของ เปรม ติณสูลานนท์

เหตุปัจจัยอะไรทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำเสนอคำว่า “กองหนุน” อันเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้กับ คสช. อย่างตรงไปตรงมา
คำตอบ 1 เพราะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้าใจการเมือง
คำตอบ 1 ความเข้าใจต่อการเมืองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิใช่คิดเอง เออเอง ตรงกันข้าม มาจากประสบการณ์และความเป็นจริงที่เผชิญมาด้วยตนเอง
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” พร้อมกับความหวังของประชาชน
อย่างน้อยที่สุดประชาชนหวังว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่า นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ดีกว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งมากับรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2519 และมากับรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สามารถบริหารบ้านเมืองมีผลงานและสร้างความพอใจให้กับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าการเผด็จศึกสงครามกลางเมืองกับคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าการวางโครงสร้างพื้นฐานและเบิกสถานการณ์ใหม่ในทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาภาคตะวันออก
แต่เนื่องจากยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นยุคประชาธิปไตยไม่เต็มใบและสังคมเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ในที่สุดการต่อต้านนายกรัฐมนตรี “คนนอก” จึงก่อรูปขึ้นกระทั่งกลายเป็นการปฏิเสธ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
น่ายินดีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รู้และยอมรับความเป็นจริง คำว่า “ผมพอแล้ว” จึงออกมาจากปาก
นี่คือกระดานหกส่งให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็น “รัฐบุรุษ”

บทเรียน จากอดีต
สัญญาณเตือน คสช.

หากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าสอนมาดี หากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสอนมาดี บรรดา คสช. คงจะสามารถประมวลสถานการณ์ได้อย่างรอบด้านและคมชัดมากยิ่งขึ้น
ไม่จำเป็นต้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกมาเตือน
สถานการณ์ของรัฐบาลและ คสช. ก็เหมือนสถานการณ์ของรัฐบาลโดยทั่วไปที่อยู่มาจนใกล้ครบวาระ หากมีผลงานและความสำเร็จ การขานรับจากประชาชนจะดำเนินไปด้วยความคึกคัก อบอุ่น แต่หากไม่ปรากฏผลงานและความสำเร็จ ความไม่พอใจก็จะไหม้ลามออกไปอย่างกว้างขวาง
รูปธรรมอันเด่นชัดก็คือ ปฏิกิริยาและการถอยออกห่างของ “กองหนุน” หากคนที่เข้าใจก็จะสำเหนียกและรู้ว่าควรจะตัดสินใจอย่างไร