ธีรยุทธ บุญมี : ของขวัญ กับความคิดเรื่องการทำบุญ ทำทาน และการบริจาค

เทศกาลของขวัญ จะนำเสนอ 2 ประเด็นคือเรื่องของขวัญ กับประเด็นที่จะเชื่อมโยงไปสู่มิติสังคมโดยรวม

ใน ประเด็นแรก ของขวัญในโลกตะวันตกใช้คำกว้างๆ ว่า gift ซึ่งปัจจุบันดูจะเป็นการส่งความสุข คือ Happy New Year Gift หรือ Happy Birthday Gift

ซึ่งดูเสมือนว่าจะไม่ใช่การให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทน

แต่ในความเป็นจริงของมนุษย์จะถือหลักต่างตอบแทน

คือจะมีการส่งของขวัญตอบแทนกลับในโอกาสเดียวกันหรือต่างโอกาสกันก็ได้

ภาษาไทยมีคำพิเศษคือ ของขวัญ ในความหมายว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ขวัญของผู้รับมั่งคั่ง สมบูรณ์ ทำให้ชีวิตมีความสุข ความก้าวหน้า ความเจริญได้

ขณะเดียวกันเราก็มีคำว่าของฝาก ของกำนัล ซึ่งให้ความหมายต่างกันไป

เช่น ของขวัญคล้ายกับไม่หวังผลตอบแทน แต่ของฝากสื่อว่าควรจะมีของฝากตอบแทนในโอกาสอื่น ๆ เป็นต้น

แต่ทั้งหมดก็อยู่ภายใต้กติกาต่างตอบแทน ซึ่งเป็นกลไกกระทำตนของสังคมมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์

หลักการนี้ดีทางสังคม แต่บางครั้งก็ถูกนำไปใช้ทางการเมือง

เช่น สังคมชนเผ่าจะใช้ของขวัญมีค่าสูงไปเกทับคู่แข่ง

ถ้าคู่แข่งหาของขวัญมาตอบแทนไม่ได้ก็จะหมดบารมีไป

คือถ้านักการเมืองรับนาฬิกาแพงเป็นของขวัญจากนักธุรกิจ ก็ต้องคิดสิ่งตอบแทนให้สมน้ำสมเนื้อกัน

หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่ใจดีก็ต้องมอบให้มากกว่าที่รับมา

อย่างไรก็ตาม ประเพณีการให้ของขวัญจะเป็นภาวะที่ต้องตอบแทน แต่ก็มีผลเป็นโบนัสให้กับมนุษย์เราคือ ของขวัญมักจะถูกเลือกให้ถูกใจตรงใจกับความคาดหวังของคนรับว่าอยากได้อะไรอยู่ในใจ

ถ้าได้รับสิ่งนั้นเป็นของขวัญก็จะเป็นการก้าวผ่านไปสู่ปีใหม่หรือสภาวะใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

คนไทยก็มักให้ของขวัญหรือของปลอบขวัญเพื่อให้เพื่อนมิตรพ้นจากภาวะเจ็บป่วย ตกใจ ผิดหวังได้โดยไว

ประเด็นที่ 2 จะเชื่อมโยงไปถึงปัญหาสำคัญของประเทศคือมิติทางสังคม ว่าเหตุใดการปฏิรูปประเทศถึงเคยมี เช่น สมัย ร.5 มีลักษณะเป็นจากบนสู่ล่าง (top-down) สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งก็เป็น top-down เช่นกัน

คนไทยไม่สามารถผลักดันให้สังคมไทยมีการปฏิรูปโดยอาศัยพลังทางสังคมได้ อะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นอุปสรรคขัดขวาง?

เมื่อเปรียบเทียบการพัฒนาประเทศในทางประวัติศาสตร์แล้ว ชาติตะวันตกโชคดีกว่าชาติอื่นๆ ในแง่มีการปรับเปลี่ยน ปฏิรูปความคิดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมการเมืองได้ค่อนข้างดีในช่วงต่างๆ จึงมีส่วนช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการผลักดันปฏิวัติอุตสาหกรรมให้กับตัวเองในศตวรรษที่ 18 จนได้กลายเป็นมหาอำนาจของโลกสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

เมื่อยุโรปพ้นจากช่วงยุคมืดคือยุคตกต่ำในช่วงศตวรรษที่ 5-10 พอถึงศตวรรษที่ 12-14 ซึ่งเกิดทั้งภาคความรุ่งเรืองทางการผลิตการเกษตรและการค้าขาย พร้อมๆ ไปกับความยากจนของชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้าน รวมทั้งมีโรคระบาด โรคติดต่อ โรคเรื้อน บ่อยครั้ง

ก็ได้เกิดมีขบวนการทางสังคมของพวกชนชั้นนำ ขุนนาง คนรวย เป็น “การปฏิวัติด้านการสร้างกุศล” (charity movement)

ระดมกำลังจัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับคนจน คนป่วย และที่พักอาศัยพวกเป็นโรคเรื้อน เปิดโรงทานตามโบสถ์ วิหารสำคัญต่างๆ อย่างกว้างขวาง

และเมื่อมาสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดปัญหาความยากจนข้นแค้นของกรรมกรคนจน ปัญหาสุขภาพ ความปลอดภัยจากการทำงาน ปัญหาโสเภณี กามโรค ในยุโรปก็ได้เกิดการปฏิวัติใหญ่ทางความคิดครั้งที่สองขึ้นคือ การเกิดขบวนการมนุษยนิยม (Humanitarianism, Philanthropy) สร้างสิ่งสำคัญขึ้นหลายอย่าง

เช่น มีการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วๆ ไป รวมทั้งโรงพยาบาลสำหรับเด็กกำพร้า ยากจน ป่วยเป็นโรคขาดอาหาร ไข้ทรพิษ ท้องร่วง ฯลฯ ในปี 1739 โดยไม่จำกัดกิจกรรมเฉพาะการรักษา แต่รวมถึงการให้ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และการศึกษาด้วย

ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่หนักมาก แต่ก็มีเจ้านายชั้นสูงหลายร้อยคนร่วมสนับสนุน

มีการตั้งองค์กรการกุศลเพื่อกิจกรรมเฉพาะต่างๆ เช่น สมาคมเพื่อนผู้ใช้แรงงานกรรมกร สมาคมช่วยผู้มีอาชีพโสเภณี สมาคมเพื่อการศึกษา

จุดประสงค์หลักของกระแส “มนุษยนิยม” ในช่วงนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาเมือง (urban problems) และปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม

แต่ในบางประเทศ เช่น อเมริกามีการเคลื่อนไหวทางการกุศล ทางด้านมนุษยธรรม เพื่อเป็นการช่วยผลักดันให้ประเทศได้ก้าวข้ามจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมอุตสาหกรรมโดยสมบูรณ์

รวมทั้งก้าวไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยด้วย

อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จในการพัฒนาประเทศของสหรัฐนั่นเกิดมาจากการทุ่มเทขององค์กรเพื่อการกุศลและมนุษยธรรม ซึ่งได้แก่องค์กรทางศาสนาต่างๆ ในช่วงต้นและมาเสริมเติมด้วยบุคคล องค์กร ที่ร่ำรวยมาจากธุรกิจด้านต่างๆ ทำให้เกิดระบบการศึกษาที่มีพื้นฐานหนักแน่น ก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน

ทั้งการศึกษาเพื่อเด็ก สตรี และอาชีพต่างๆ ตั้งแต่ภาษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ กฎหมาย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ พยาบาล ฯลฯ

เช่น ในช่วงต้น โบสถ์ วัด และองค์กรทางศาสนาทั้งโปรเตสแตนต์ คาทอลิก จะเป็นผู้ร่วมจัดตั้งโรงเรียนประถม มัธยม และระดับวิทยาลัย เช่น วิทยาลัย Harvard วิทยาลัย Yale ซึ่งตั้งขึ้นประมาณปี 1700 ตามมาด้วย New Light Presbyterians (1747 ซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัย Princeton) King”s College ในนิวยอร์ก มหาวิทยาลัย Brown ใน Rhode Island เป็นต้น

หลังปี 1800 ซึ่งสหรัฐเริ่มเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปใหญ่ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ขบวนการจิตอาสาหรือขบวนการ Philanthropy มีส่วนสำคัญในการปฏิรูป โดยกลุ่มทุนใหญ่จำนวนมาก

เช่น มีการตั้งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins, Stanford, Vanderbilt, มหาวิทยาลัย Chicago โดยตระกูล Rockefeller

และมีมหาวิทยาลัยที่เกิดจากพระราชบัญญัติ Land Grant ตามรัฐต่างๆ อีกจำนวนมาก เช่น Michigan State, Kansa State, Cornell, Texas, Pennsylvania, Ohio, California

มหาวิทยาลัยเหล่านี้เน้นทางการเกษตร เทคโนโลยี และการบริหาร ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศแนวหน้าในด้านเหล่านี้ไปในที่สุด

ปัจจุบันมหาเศรษฐีอย่าง Bill Gates, Warren Buffett, George Soros ก็เป็นตัวอย่างของนัก Philanthropist ที่มีบทบาทสูง

ประเทศคริสเตียนของยุโรปอาศัยผลึกความคิดทางศาสนาจำนวนหนึ่งมาเป็นฐานในการปฏิรูปของตน ในยุคกลางอาศัยความคิดเรื่องการกุศล (charity) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 คุณธรรมหลักของศาสนาคริสต์มาใช้ ในช่วงสองความคิดนี้ได้พัฒนามาเป็นความรักในเพื่อนพ้อง มวลมนุษย์ ประชาคม สังคม

ซึ่งชาวคริสต์ถือว่าก็คือภาพจำลองของตัวเอง เพราะมนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ภาพลักษณ์ของพระเจ้า นักคิดของพวกเขาสามารถผลักดันให้คำสอนดังกล่าวกลายเป็นกระแสในการปฏิรูปประเทศได้

สังคมพุทธของไทยมีแนวคิดเรื่องการสร้างกุศลอยู่หลายอย่าง ที่สำคัญคือการทำบุญ ทำทาน และ การบริจาค ซึ่งที่จริงคำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ สามารถตีความเพื่อการทำความดีหรือการกุศลให้กับตัวเองและส่วนรวมได้เช่นเดียวกับศาสนาคริสต์

แต่ความจริงที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยคือเราไม่มีทั้งการปฏิวัติหรือผลักดันความคิดดังกล่าวให้เป็นกระแสสังคมหรือการปฏิรูปทางสังคมได้

กล่าวในมิติความคิดก็ยังเป็นการตีความผิดๆ ไปอย่างมาก

เช่น

(1) คนไทยโดยเฉพาะปัจจุบันจะเน้นการทำบุญที่เป็นการสร้างวัด โบสถ์ วิหาร หรือวัตถุทางศาสนาต่างๆ ซึ่งโดยคำอธิบายหรือความเชื่อทั่วไปก็คือ เป็นการกระทำที่จะได้ผลบุญตอบแทนแก่ตัวเองในชาตินี้หรือชาติหน้าได้ดีที่สุด

(2) การทำทานซึ่งที่จริงเป็นความคิดใหญ่ของพุทธศาสนา รากศัพท์มีความหมายถึงการตัดขาด เป็นการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เป็นการทำบารมีขั้นต้นสุดที่เรียกว่าทานบารมีใน 10 ประการ ทศบารมี (ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี)

แต่ในการรับรู้ของคนไทยปัจจุบัน การทำทานเป็นเสมือนสิ่งปลีกย่อย คือให้เศษสตางค์แก่ขอทาน การให้ทานแก่คนไร้บ้าน ผู้อพยพลี้ภัย ฯลฯ ไม่ใช่สิ่งสำคัญใหญ่โตอะไร

(3) การบริจาค (แปลว่าการละ สละ โดยรอบ) โดยพฤติกรรมเหมือนกับทาน มี 5 ระดับคือ

1. การบริจาคภายนอก คือทรัพย์ สิ่งของ

2. การบริจาคขั้นสูงขึ้น คือบริจาคบุตร ธิดา

3. การบริจาคภริยา

4. การบริจาคอวัยวะ

5. การบริจาคชีวิต ซึ่งก็คือทานบารมีที่พระเวสสันดรได้กระทำเพื่อบรรลุสู่การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในชาดกที่คนไทยรู้จักกันแพร่หลาย

แต่ในปัจจุบันคำว่าบริจาคที่สังคมทราบเป็นคำกลางๆ ที่ใช้กันทั่วไป มักจะหมายถึงการทำบุญในส่วนที่ไม่ใช่กิจการศาสนา เช่น บริจาคสร้างโรงพยาบาล บริจาคดวงตา โลหิต แก่สภากาชาดไทย

กล่าวโดยสรุป ในสังคมไทยทั้งโดยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และการตีความคติทางพุทธศาสนายังเป็นในลักษณะเพื่อส่วนตัว เช่น การทำบุญแก่วัด หรือเป็นคติผิดๆ เช่น การทำทาน การบริจาค แม้จะแพร่หลายกว้างขึ้น แต่ก็ถูกจำกัดจากหลายสาเหตุ เช่น ต้องทำให้พอเหมาะพอควร ต้องไม่อวดร่ำอวดรวย จึงมักเป็นวงเงินไม่มากนัก และต้องตอบแทนได้หน้าได้ตา

แทนที่จะยกระดับเป็นการมุ่งคิดเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของสังคมเช่นที่ปฏิบัติกันในประเทศตะวันตก

การทำกุศลในบ้านเราจึงไม่สามารถยกระดับไปเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปหรือแก้ปัญหาประเทศได้

ขณะนี้มีกระแสใหม่อย่างหนึ่งคือกระแส CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังไม่ต่างไปจากการประชาสัมพันธ์องค์กรหรือ PR แบบเดิม

แต่ก็มีจำนวนหนึ่งรวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เช่น มีการรณรงค์เพื่อสิ่งที่ดี แนวคิดที่ดี ต่อเนื่อง กว้างขวาง รวมทั้งสเกลการบริจาคใช้เงินก็สูงขึ้น

เช่น บางบริษัทเริ่มตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูง เช่น วิทยาลัย มหาวิทยาลัยขึ้น

แต่จะเพียงพอที่จะเปลี่ยนโมเมนตัมสังคมได้ยังดูจะห่างไกลจากความเป็นไปได้พอสมควร