คณิต ณ นคร : ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร กับการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ (ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม)

คลิกย้อนอ่าน ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร กับการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ (ตอน1)

3.ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม

“ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม” ที่เกี่ยวกับการที่จะขอให้มี “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” ในบ้านเมืองเราเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ทั้งในชั้นการดำเนินคดีของเจ้าพนักงานและการดำเนินคดีชั้นศาล

เพราะนักกฎหมายของเราขาดความเข้าใจในหลักการดำเนินคดีอาญาว่าต่างกับหลักการดำเนินคดีแพ่งอย่างไรดังกล่าวมาแล้ว

การดำเนินคดีอาญานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “หลักการตรวจสอบความจริง” (Untersuchungsprinzip/examination principle) ซึ่งข้อนี้แตกต่างจากการดำเนินคดีแพ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “หลักความตกลง” (Verhandlungsprinzip/negotiation principle)

ในคดีอาญา กรณีนี้จึงต้องมีการตรวจสอบค้นหาความจริงแท้ของเรื่องที่กล่าวหา และในการตรวจสอบค้นหาความจริงแท้ของเรื่องนั้น ทุกฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องร่วมมือกันในการตรวจสอบค้นหาความจริง

การดำเนินคดีอาญาจึงไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้กันระหว่างผู้ฟ้องกับผู้ถูกฟ้องอย่างคดีแพ่ง

แต่เนื่องจากอิทธิพลของนักกฎหมายที่สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยเราจึงกลายเป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่างพนักงานอัยการกับจำเลยไป

ข้อนี้ผู้เขียนเคยวิเคราะห์ว่า เพราะสังคมเราเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “โรคเอาอย่าง” กล่าวคือ เรารับเอา “ระบบกฎหมายซิวิลลอว์” (Clvil Law System) ก็จริงอยู่ แต่ในอดีตเรานิยมส่งคนไปเรียนในประเทศ “ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์” (Common Law System) (7)

เมื่อเป็นเรื่องของ “หลักการตรวจสอบความจริง” (Untersuchungsprinzip/examination principle) การสอบสวนที่เรากระทำกันอยู่ ผู้เขียนจึงเห็นว่าไม่ถูกหลักเลย กล่าวคือ แทนที่จะตรวจสอบความจริงอย่างลงลึก แต่พนักงานสอบสวนก็กระทำกันเพียงแค่ให้เห็นว่าคดีมีมูลความผิดเท่านั้น

และความจริงเกี่ยวกับตัวผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่ค่อยจะกระทำกัน (8) แล้วก็จะสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการพิจารณาต่อไป

พนักงานอัยการเองก็ดูจะเป็นห่วงเรื่องการครบกำหนดฝากขังกันเอามากๆ ทั้งๆ ที่การเอาบุคคลไว้ในอำนาจรัฐที่กระทำกันอยู่ก็ไม่ถูกหลักกฎหมายเลยเช่นกัน เพราะเราไม่เคยพิจารณากันว่าการเอาบุคคลไว้ในอำนาจรัฐมีความจำเป็นหรือไม่ (9) ในทางปฏิบัติจึงดูกันแต่เพียงมูลความผิด แล้วก็รีบสรุปสำนวนและยื่นฟ้องคดีกันไปเลย

แม้ระบบกฎหมายในบ้านเราเป็นไปตาม “ระบบกฎหมายซิวิลลอว์” (Civil Law System) แต่เราก็ถูกอิทธิพลของ “ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์” (Common Law System) เข้ามามีบทบาทอย่างมากจนทำให้กระบวนการยุติธรรมของเราผิดเพี้ยนไปหมด

“การสอบสวน” นั้นแท้จริงคือการตรวจสอบความจริงแท้ของเรื่องอย่างมี “ความเป็นภววิสัย” (Objektivity) สุดๆ แต่ในทางปฏิบัติ “การสอบสวน” ยังขาด “ความเป็นภาวะวัย” อยู่มากทีเดียว

“การสอบสวน” เป็นการตรวจสอบความจริงแท้เกี่ยวกับเรื่องที่มีการกล่าวหา และการตรวจสอบความจริงแท้เกี่ยวกับตัวผู้ถูกกล่าวหา แต่ในทางปฏิบัติในชั้นเจ้าพนักงานก็มิได้เป็นไปตามที่กล่าวมา การสอบสวนจึงกระทำกันอย่างครึ่งๆ กลางๆ

และในทางปฏิบัติของพนักงานอัยการเอง พนักงานอัยการก็จะมัวพะวงเกี่ยวกับการที่จะฟ้องให้ทันเวลาของการครบกำหนดการฝากขังตามที่กล่าวมาแล้ว หลายคดีพนักงานอัยการจึงเร่งรีบในการสั่งฟ้องและยื่นฟ้อง การดำเนินการของพนักงานอัยการจึงยังขาด “ความเป็นภววิสัย” เช่นเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อครั้งผู้เขียนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ผู้เขียนจึงได้กล่าวกับพนักงานอัยการเพื่อนร่วมงานว่า หากพนักงานอัยการผู้ใดสั่งฟ้องหรือยื่นฟ้องโดยข้อเท็จจริงยังไม่สิ้นกระแสความ ผู้เขียนจะเอาเรื่องพนักงานอัยการผู้นั้น

ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่เมื่อที่สุดหลังจากผู้เขียนพ้นจากหน้าที่ราชการไปแล้ว เท่าที่สดับตรับฟังการทำงานของพนักงานอัยการก็กลับไปสู่แบบเดิม

การดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องของ “หลักการตรวจสอบความจริง” (Untersuchungsgrundsatz/examination principle) แต่เอาเข้าจริงเราก็กระทำกันอย่างลวกๆ เพราะเราเข้าใจกันว่าคดีอาญาเป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่างคู่ความในศาล

ในทางปฏิบัติเราจึงเข้าใจกันตลอดมาว่าพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์มี “หน้าที่นำสืบ” (burden of proof) และมีหน้าที่ต้องนำสืบก่อน ซึ่งแท้จริงแล้วเรื่อง “หน้าที่นำสืบ” (burden of proof) ไม่มีในคดีอาญาแต่อย่างใด หากแต่ “หน้าที่นำสืบ” (burden of proof) เป็นเรื่องของคดีแพ่งเท่านั้น เพราะการดำเนินคดีแพ่งเป็นไปตาม “หลักความตกลง” (Verhandlungsgrundsatz/negotiation principle) (10)

คำว่า “หน้าที่นำสืบ” ในปัจจุบันกฎหมายเราเรียกว่า “ภาระการพิสูจน์” (11) แต่เท่าที่ผู้เขียนสังเกต เราก็ยังไม่เข้าใจว่า “ภาระการพิสูจน์” นั้นเป็นอย่างไร เพราะในการเรียนการสอนเราสอนกันให้จำ และสอนกันแต่ในทางปฏิบัติ เป็นต้นว่า สอนให้จำคำพิพากษาของศาลฎีกา

คดีแพ่งเป็นเรื่องของ “ภาระการพิสูจน์” ซึ่งในทางหลักวิชาแล้ว “ภาระการพิสูจน์” ประกอบด้วยภาระสองประการของผู้ที่กล่าวอ้าง ซึ่งผู้ที่กล่าวอ้างในคดีแพ่งตามปกติก็คือผู้ฟ้องหรือผู้เป็น “โจทก์”

ในคดีแพ่ง “โจทก์” จึงมีภาระสองประการคือ “ภาระที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้ามาในคดี” ที่ตนได้กล่าวอ้าง ซึ่งภาระนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Burden of Producing Evidence (12) และ “ภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อ” ตามที่กล่าวอ้างนั้น ซึ่งภาระนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Burden of Proof

ในคดีอาญานั้น ในประเทศไทยเราแม้ในชั้นศาลก็ยังมีปัญหามาก เพราะในทางปฏิบัติเราปล่อยให้มีการต่อสู้กัน มีการ cross examination กล่าวคือ มีการถามซัก ถามค้านและถามติง ซึ่งการกระทำดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่า เป็นทางปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายเลย

ในคดีอาญานั้น พนักงานอัยการก็ไม่ใช่คู่ความในเนื้อหา (13)

เชิงอรรถ

(7) ดู คณิต ณ นคร “นิติธรรมอำพรางในนิติศาสตร์ไทย” หนังสือรวมบทความ พิมพ์ครั้งแรก สำนักพิมพ์วิญญูชน กันยายน 2548 หน้า 9-33

(8) ดู เป็นต้นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 มาตรา 138

(9) ดู เป็นต้นว่า คณิต ณ นคร “การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐกับการปล่อยชั่วคราว” ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม สำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า 131-142 (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ทั้งสิ้นจำนวน 5 ครั้ง ครั้งที่ 5 เมื่อกรกฎาคม 2557

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า ขณะนี้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนรวมทั้งสิ้น 41 คน ได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้แก้ไขเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว ซึ่งเรื่องในเนื้อหาทั้งหมดก็เป็นไปตามแนวคิดของผู้เขียนที่ปรากฏในบทความดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป และหากร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านรัฐสภาก็จะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย

(10) ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์วิญญูชน กรกฎาคม 2558 บทที่ 39 หน้า 352-364

(11) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1

(12) ซึ่งภาระนี้บางท่านเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Burden of Adducing Evidence”

ดู โสภณ รัตนากร คำอธิบายกฎหมายลักษณะพยาน พิมพ์ครั้งที่ 11 สำนักพิมพ์นิติบรรณการ กันยายน 2557 หน้า 62

(13) ดู คณิต ณ นคร “นโยบายของสำนักงานอัยการสูงสุดด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” อาชีพพนักงานอัยการและการปฏิรูปองค์กรอัยการ สำนักพิมพ์วิญญูชน สิงหาคม 2560 หน้า 125-141 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า 126-128