“สนามบินผี” สะท้อนปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน “อินเดีย” อ่อนแอ ตัวฉุดฝัน Top 3 ตลาดการบินโลก

บทความพิเศษ

ปัจจุบัน “อินเดีย” ถือว่าหนึ่งในเป็นประเทศที่รุดหน้าการพัฒนาประเทศค่อนข้างมาก

ซึ่งจะเห็นจากนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ที่เดินหน้าปฏิรูปการคลังครั้งใหญ่ เพิ่มระบบภาษีสินค้าและบริการ (GST) แทนที่การจัดเก็บภาษีอื่นๆ หลายสิบประเภท

ตั้งเป้าส่งออก “วิศวกรด้านไอที” โดยเฉพาะป้อนสู่ตลาดตะวันตกและยุโรปมากขึ้น

เป้าหมายเปลี่ยนท้องถนนอินเดียให้เป็น “รถยนต์ไฟฟ้า 100%”

และล่าสุดพยายามผลักดันให้อินเดียเป็นหนึ่งใน TOP 3 ตลาดการบินของโลก รองจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา

โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า สนามบินนานาชาติ “มุมไบ” ทุบสถิติโลกครั้งใหม่ โดยมีการบันทึก Traffic เที่ยวบิน 24 ชั่วโมง สำหรับสนามบินที่มี 1 รันเวย์ โดยปิดสถิติไปที่ 969 เที่ยวบิน พลาดเป้าเพียงนิดเดียวจากที่รัฐบาลเคยตั้งไว้ที่ 1,000 เที่ยว

รัฐบาลอินเดียเคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะผลักดันให้อินเดียเป็นตลาดการบินของโลกอันดับ 3 ภายในปี 2020 หรือบางสื่อระบุว่าปี 2027

ทั้งยังมีรายงานแว่วๆ ว่าในปี 2030 อินเดียจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกแทนที่จีน

เป้าหมายใหญ่ขนาดนี้ทำให้นักวิเคราะห์ต่างประเมินสถานการณ์การพัฒนาของอินเดียอย่างจริงจัง

โดยผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงกับเคยออกปากว่า “โอกาสที่จะแซงสหรัฐ (หากดูในแง่ของจำนวนประชากร) มีความเป็นไปได้ เพราะจำนวนประชากรของอินเดียเรียกได้ว่า เพิ่มขึ้นติดๆ จ่อประเทศจีนแทบจะไม่หนีกันเลย”

รายงานของ Internet world stats ระบุว่า ในปี 2017 อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาถึง 33.4% หรือ 1.34 พันล้านคนจาก 1 พันล้านคนในปี 2000 ขณะที่ประชากรในประเทศจีนที่ครองแชมป์อันดับ 1 มีจำนวนประชาชากรเพิ่มขึ้นเพียง 9.5% จาก 1.2 พันล้านคน เป็น 1.38 ล้านคนในปัจจุบัน ขณะที่ประชากรในสหรัฐอเมริกาตามมาเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 326 ล้านคนเท่านั้น

ทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า ในปี 2050 ประชากรอินเดียจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของโลก อยู่ที่ 1.6 พันล้านคน ส่วนจีนจะร่วงมาอยู่อันดับ 2 ด้วยจำนวน 1.30 ล้านคน

“หากวัดเพียงแค่ traffic การบินทั้งต่างประเทศและในประเทศ ในแง่ของประชากร อินเดียนั้นเรียกได้ว่ากินขาด ได้เปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับอีก 2 ประเทศ ซึ่งเป็นเบอร์ต้นๆ ของตลาดการบินโลกในปัจจุบัน”

นักวิเคราะห์กล่าวกับหนังสือพิมพ์ livemint ของอินเดีย

แต่ข้อสังเกตที่รัฐบาลควรตระหนัก ก่อนจะอัดฉีดงบฯ เสริมเหล็กกล้าปักธงเป็นหนึ่งในตลาดการบินของโลก นักวิเคราะห์กล่าวกับเอเอฟพี ว่าโครงสร้างพื้นฐานภายในของอินเดียถือว่ายังอ่อนแอมาก ซึ่งรวมถึงระบบการเชื่อมโยงภายในประเทศก็ยังต่ำกว่าดีมานด์ภายใน

ไม่เพียงเท่านั้น ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานที่สูงอาจเป็นภัยคุกคามต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินได้

จากความคืบหน้าล่าสุด จากสายการบิน SpiceJet ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่อันดับ 4 ของอินเดีย มีส่วนแบ่งในตลาด 13% ประกาศแผนพัฒนาครั้งใหม่ โดยเพิ่มงบประมาณเพื่อซื้อเครื่องบินโบอิ้งจำนวน 205 ลำ มีมูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านเหรียญ เพื่อรองรับการขยายตัวที่สำคัญในประเทศ

ด้วยปัจจัยของกลุ่มชนชั้นกลางในอินเดียที่ขยายตัวเร็วขึ้น อีกทั้งยังนิยมใช้เส้นทางบินสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2015 อัตราการเติบโตของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบปีต่อปี ขณะที่จีนเติบโตอยู่ที่ 11%

การที่จะเห็นสายการบินโลว์คอสต์ในอินเดียเร่งขยายเส้นทางการบิน หรือแม้แต่การทุ่มเงินเพื่อซื้อเครื่องบินลำใหม่นั้น จึงไม่ได้ผิดแปลกจากกลยุทธ์การตลาดแต่อย่างใด เพียงแต่ “ต้นทาง” ที่ไม่ได้แข็งแกร่งมากพอที่จะซัพพอร์ตอุตสาหกรรมการบินสู่เป้าหมายเดียวกันได้ ทั้งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เสียมากกว่า

เพราะรัฐบาลอินเดียไม่ได้ออกนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชัดเจนพอ หรือไม่เคยสานต่อสนามบินเดิมๆ ที่เคยสร้างและปล่อยร้างไว้ไม่เคยใช้งาน

จนถูกขนานนามว่าเป็น “สนามบินผี” (ghost airports)

ขณะที่ นายคาพิล คัล หัวหน้าด้านให้คำปรึกษาอุตสาหกรรมในเอเชียใต้ของบริษัทวิจัย CAPA ระบุว่า รัฐบาลอินเดียทุ่มงบประมาณสร้างสนามบินจำนวนทั้งสิ้น 460 แห่งมานาน ทว่าความเป็นจริงแล้วกลับมีการดำเนินงานเปิดใช้สนามบินเพียง 90 แห่งเท่านั้น ความอ่อนแอด้านโครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้อาจเป็นความเสี่ยงทำให้อินเดียก้าวไปไม่ถึงฝัน

อีกปัจจัยที่น่าเป็นห่วงก็คือ การที่แต่ละสายการบินของอินเดีย เพิ่มจำนวนเครื่องบินเพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้มากขึ้น อาจทำให้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัยทางการบินไม่ได้อยู่ในระดับสากล

อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็อาจจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ว่าอินเดียจะมีจำนวนวิศวกรที่จบใหม่สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “ด้านการบิน” จะเพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่บุคลากรระดับหัวกะทิมักมุ่งหน้าสู่การทำงานในต่างแดนมากกว่า โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรป เป็นต้น

CAPA เตือนว่า อินเดียอาจประสบปัญหาด้านกำลังการผลิต เว้นแต่รัฐบาลต้องล็อกเป้าพัฒนาสร้างสนามบินใหม่ หรือต่อยอดจากสนามบินเดิมอีก 50 แห่งในช่วงทศวรรษหน้า และดำเนินการเป็นลำดับอย่างระมัดระวัง ทั้งยังต้องสร้างความเข้าใจกับนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินใหม่ ที่จากเดิมสายการบินส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเพิ่มเที่ยวบินไปยังสถานที่ยอดนิยม มากกว่าการเพิ่มเส้นทางใหม่ๆ เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว

แม้ว่าในปี 2015 รัฐบาลเคยประกาศแผน “take flying to the masses” เพื่อจุดประสงค์ในการเดินทางทางอากาศในราคาที่ไม่แพง สำหรับชาวอินเดียนับล้านๆ ชีวิต โดยรัฐบาลเคยตั้งเป้าว่าจะให้เป็นปีแห่งการฟื้นฟูสนามบิน และให้เกิดการเชื่อมโยงกับพื้นที่ชนบททั่วประเทศ

ทั้งยังคลอดนโยบายดึงดูดโดยลดค่าตั๋วโดยสารเป็น 2,500 รูปี หรือราว 37 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง ในหลายเส้นทางในภูมิภาคผ่านการเสียภาษีและเงินอุดหนุน

แต่ท้ายที่สุด นโยบายดังกล่าวก็สะดุดไม่ได้ไหลลื่นไปตามที่คาดหวังไว้ เพราะส่วนใหญ่ทางสายการบินยังติดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, สัญญาเช่า, ค่าบำรุงรักษาสนามบิน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอินเดียเป็นประเทศที่มีการจ่ายในส่วนนี้สูงที่สุดในโลก โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการเคยกล่าวว่า อินเดียถือว่าเป็นประเทศที่ทำธุรกิจการบินค่อนข้างยาก ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากที่สุดด้วย

หากจะกล่าวโดยอ้างประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ต้องยอมรับว่าระบบการเชื่อมโยงทางคมนาคมในอินเดีย ไม่เพียงเฉพาะด้านการบินเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอินเดียอยู่ไม่น้อย

แต่ระบบทางรางและถนน ก็ยังเป็นปัญหาที่ติดขัดมานาน ด้วยสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และความเหลื่อมล้ำที่ยังมีสูงมากๆ ในอินเดีย ผนวกกับประชากรที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยเหล่านี้คือความท้าทายทั้งปวงต่อการเติบโตของประเทศ

หากภาครัฐบริหารและแก้ไขไม่ถูกจุด ปัญหาจะกลายเป็นวิกฤตคอยกลืนกินประเทศให้ดิ่งลงเรื่อยๆ