อติภพ ภัทรเดชไพศาล : โอลิวิเยร์ เมสซิยง กับการสร้างสรรค์ดนตรีในค่ายกักกัน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2017 ทางเว็บไซต์ Classic FM ได้ลงคลิปวิดีโอการบรรเลงเชลโลโดยนาย Steven Isserlis นักดนตรีชาวอังกฤษชื่อดัง

ความพิเศษของการบรรเลงนี้ คือเครื่องดนตรีเชลโลที่นาย Isserlis ใช้ ซึ่งเป็นเชลโลโบราณ มีประวัติศาสตร์สำคัญว่า เคยได้รับการบรรเลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ แนวหน้าแห่งสมรภูมิเมือง Ypres ที่เขตเบลเยียม

เชลโลตัวนี้เป็นสมบัติของนาย Harold Triggs ทหารในสงครามครั้งนั้น ที่นำเชลโลตัวนี้ติดตัวไปยังสมรภูมิรบด้วยเพื่อทำการฝึกซ้อมและบรรเลงในช่วงปี ค.ศ.1914

และเนื่องด้วยเชลโลตัวนี้เป็นเครื่องดนตรีที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ฝึกซ้อมและสะดวกต่อการขนย้ายตั้งแต่แรก รูปร่างของเชลโลตัวนี้จึงไม่เหมือนเชลโลทั่วไป และมีลักษณะเหมือนถูกตัดลำตัวทั้งข้างซ้ายขวาออก เพื่อความกะทัดรัดคล่องตัวในการพกพา

ในเขตแนวหน้าสงคราม เป็นเรื่องน่าสนใจว่าเสียงดนตรีของนาย Triggs นั้นส่งผลอย่างไรต่อทหารในกองทัพ?

เป็นในสถานการณ์ใดที่เขาบรรเลงดนตรี?

และมีใครฟังหรือไม่ อย่างไร?

และเรื่องของนักดนตรีกับสงครามโลก ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของนาย Triggs เท่านั้น เพราะในอีกราว 30 ปีถัดมา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น ก็ปรากฏว่ามีนักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวตะวันตกจำนวนมาก ต้องถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมรบในสงคราม

ทั้ง อาร์โนลด์ เชินเบิร์ก (Arnold Schoenberg) นักแต่งเพลงชาวยิวคนสำคัญในโลกดนตรีสมัยใหม่ อันตอน เวเบิร์น (Anton Webern) นักแต่งเพลงชาวเยอรมัน

รวมทั้ง โอลิวิเยร์ เมสซิยง (Olivier Messiaen 1908-1992) นักแต่งเพลงฝรั่งเศส นักเปียโนและนักแต่งเพลงดาวรุ่งในขณะนั้นด้วย

เมสซิยงถูกเกณฑ์ในปี ค.ศ.1939 แต่ปัญหาทางด้านสายตา (สั้น) ทำให้เขาไม่ได้รับมอบหมายให้ถืออาวุธ และถูกสั่งให้ประจำการในตำแหน่งปลีกย่อยอื่นในแนวหน้าใกล้ชายแดนเยอรมนี

แต่สำหรับนักดนตรีผู้ที่ทั้งชีวิตไม่เคยต้องทำงานหนัก เห็นได้ชัดว่างานในกองทัพนั้นไม่เหมาะกับเมสซิยงเป็นอย่างยิ่ง

และยิ่งเมื่อเจ้าตัวหวนหาเสียงดนตรี หวนหาที่จะบรรเลงดนตรีและเขียนงาน ซึ่งล้วนเป็นไปไม่ได้ในระหว่างศึก ก็ย่อมทำให้เมสซิยงเกิดความกังวลกลัดกลุ้ม

ดังปรากฏในจดหมายของเขาที่เขียนรายงานความเป็นไปในกองทัพมายังวารสาร L”Orgue ในต้นปี ค.ศ.1940 ว่า

“หลังจากขุดหลุมหรือโค่นต้นไม้เสร็จ ขนของหนักหรือไม่ก็เข็นรถบรรทุก มันเป็นเรื่องยากลำบากที่จะคิดถึงดนตรี หรือที่จะย้อนกลับไปหามัน (ดนตรี) ให้เหมือนอย่างเรากลับไปหาการปลอบประโลมจากพี่สาว

อย่างไรก็ตาม ทุกคืน ในเวลาพักผ่อนหลับนอน ผมก็ยังสามารถหาทางอ่านโน้ตเพลงฉบับพกพาที่ผมนำติดก้นกระเป๋ามาด้วยอย่างทะนุถนอม

เมื่อใดก็ตามที่ผมหาแสงสว่างได้ ผมจะหาทางอ่านมัน … ที่มุมห้อง ผมจะทำการวิเคราะห์โครงสร้างของเพลง เสียงประสาน และสีสันของเสียงในซิมโฟนีบทต่างๆ ของเบโธเฟน ในเพลง Ma Mere l”Oye ของราเวล Les Noces ของสตราวินสกี และ Horace victorieux ของโฮเนกเกอร์”

(Peter Hill & Nigel Simeone, Messiaen, Yale University Press 2005)

แต่โชคชะตาของเมสซิยงก็ไม่เลวร้ายเกินไปนัก เพราะในเวลาต่อมาเขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับดนตรี ทั้งบรรเลง และสอนการขับร้องให้แก่เหล่าทหาร

ซึ่งจากมุมของเขา แม้ว่านั่นจะไม่ใช่เรื่องน่าสนุก แต่ก็ยังดีกว่าการต้องใช้แรงทำงานหนัก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปี 1940 ปรากฏว่าทหารเยอรมันบุกเข้าโจมตีฝรั่งเศสเป็นผลสำเร็จ และเมสซิยงก็กลายเป็นหนึ่งในเชลยทหารฝรั่งเศสจำนวนหลายพันนาย ที่ถูกจับและส่งไปยังค่ายกักกันในดินแดนเยอรมนี

และก็เป็นในช่วงนี้นี่เอง ที่เมสซิยงได้มีโอกาสพบกับเพื่อนเชลย 3 คนที่เป็นนักดนตรี และทั้งกลุ่มนักดนตรีนี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานประพันธ์เพลงชิ้นใหม่ของเมสซิยงในค่ายกักกันนั้นเอง

คือเพลง “Quartet for the End of Time” สำหรับไวโอลิน แคลริเน็ต เชลโล และเปียโน

ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง และเป็นจุดเปลี่ยนของดนตรีที่เริ่มก้าวเข้าสู่ความดนตรีแบบ “สมัยใหม่” เต็มตัว

ความสำคัญของงานชิ้นนี้ คือระบบการจัดการกับ “จังหวะ” ที่ผิดไปจากขนบดนตรีคลาสสิคดั้งเดิม เช่น ในท่อนที่สาม สำหรับเดี่ยวแคลริเน็ต จะไม่มีการใช้เส้นกั้นห้องโดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายถึงการที่อัตราจังหวะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระอย่างไร้กรอบ

(การเป็นอิสระจากเวลาในแบบดนตรีตะวันตกแบบเก่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมสซิยงตั้งชื่องานชิ้นนี้ว่า Quartet for the End of Time)

ในเพลงมีการเพิ่มจังหวะในลักษณาการที่แปลกประหลาด ที่ทำให้ดนตรีเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ เหมือนสะดุด เหมือนขาดๆ เกินๆ (แต่เป็นไปอย่างจงใจ)

และทำให้ผลลัพธ์ที่ได้นั้นผิดแปลกออกไปจากดนตรีขนบนิยมในเวลานั้นเป็นอย่างมาก

เมสซิยงเล่าว่าพวกเขาซ้อมบรรเลงเพลงนี้กันในห้องซักล้าง โดยในระยะแรกยังไม่มีเปียโนสำหรับใช้บรรเลง

แต่ในเวลาต่อมา เมื่อทหารผู้คุมชาวเยอรมันพบว่ากลุ่มนักดนตรีนี้มีความสามารถ จึงสนับสนุนให้พวกเขาซ้อมดนตรี ทั้งยังจัดหากระดาษและดินสอยางลบให้แก่เมสซิยงเพื่อใช้ในการแต่งเพลง

และสัญญาว่าในวันแสดงจริงจะนำเปียโนมาให้ใช้บรรเลงจริงอีกด้วย

กลุ่มนักดนตรีของเมสซิยงใช้เวลาฝึกซ้อมเพลงนี้หลายเดือน ในระหว่างเวลา 6 โมงเย็นไปจนถึง 4 ทุ่มเมื่อไฟในค่ายถูกดับ

การแสดงถูกจัดขึ้นในตอนเย็นของวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1941 ณ ค่าย Stalag VIII-A

เมสซิยงเล่าว่าคอนเสิร์ตเริ่มด้วยการอ่านข้อความจากพระคัมภีร์วิวรณ์ แล้วจากนั้นการแสดงจึงเริ่มขึ้น

“เปียโนได้ถูกนำมาที่ค่าย เสียงเพี้ยนมาก ลิ่มเปียโนหลายอันมีอาการค้าง…

ผมเล่นเปียโนหลังนี้ต่อหน้าผู้ชมกว่าห้าพันคน ซึ่งผสมปนเปกันไปด้วยผู้คนในหลากหลายชนชั้น ทั้งชาวนา กรรมกร ปัญญาชน ทหารอาชีพ และบาทหลวง”

เมสซิยงถึงกับกล่าวว่า

“ไม่เคยมีใครรับฟังการบรรเลงของผมด้วยความใส่ใจและเข้าใจขนาดนี้มาก่อน”

น่าเชื่อว่าในสภาวการณ์ที่ไม่ปกตินั้น เสียงดนตรีของเมสซิยงคงส่งผลเป็นการประโลมใจให้แก่บรรดาเหล่าเชลยในค่ายกักกันได้ไม่น้อย และอาจถือเป็นเสมือนสิ่งพิเศษมหัศจรรย์เลยทีเดียว

ดังนั้นเองในปัจจุบัน ในโลกดนตรีคลาสสิค เพลง Quartet for the End of Time ของเมสซิยงนี้จึงถูกถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของดนตรีที่สำคัญยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

(หมายเหตุ : อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา Etienne Pasquier นักเชลโลผู้บรรเลงร่วมกับเมสซิยงในค่ายกักกันคราวนั้น ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าจำนวนผู้ฟังในค่ายกักกันนั้นมีปริมาณไม่มากถึงห้าพันคนอย่างที่เมสซิยงอ้าง แต่มีราวๆ 400 คนเท่านั้น

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานที่ที่จัดแสดงซึ่งเป็นเพียงโรงเรือนขนาดไม่ใหญ่ และมองในแง่มุมของการจัดการค่ายกักกันสมัยนั้น ข้อมูลของ Pasquier น่าจะถูกต้องตรงกับความเป็นจริงมากกว่า)