“ไทย” เบอร์หนึ่ง อาณาจักร “มิตรแท้ของมังสวิรัติ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้ว่าการรับประทาน “มังสวิรัติ” หรือการงดรับประทานเนื้อสัตว์ (Vegetarian Boomers) ไม่ใช่เรื่องใหม่บนโลกใบนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเก่าเช่นเดียวกัน

ยิ่งนับวันทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับเทรนด์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ จะว่าไปกระแสการรับประทานมังสวิรัติส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเทรนด์การดูแลสุขภาพ (Health Conscious) ผนวกกับการรณรงค์ให้หยุดการทรมานสัตว์ (Animal Rights)

จากผลสำรวจของสหราชอาณาจักร (UK) เมื่อปี 2012 ที่ระบุว่าชาวอังกฤษกว่า 40% สนใจที่จะหันมาเป็นมังสวิรัติ หรืออยู่ในช่วงพยายามเลิกรับประทานเนื้อสัตว์บางชนิด

ส่วนฝั่งสหรัฐอเมริกาก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ประชากรที่เป็นมังสวิรัตินั้นมีมากกว่า 7 ล้านคนเลยทีเดียว

และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ตัวอย่างร้าน “โคลเอส์ ซอฟต์ เสิร์ฟ ฟรุต” (Chloe”s Soft Serve Fruit) ร้านไอศกรีมมังสวิรัติชื่อดังในย่านยูเนี่ยนสแควร์ ของแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก สามารถเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก

โดยร้านดังกล่าวได้กลายเป็นอีกหนึ่งร้านที่คนรักสุขภาพ นักชิม และนักท่องเที่ยว กำลังปักหมุดหมายเพื่อไปเยือนเนื่องจากไอศกรีมมังสวิรัติที่กำลังโด่งดังนี้ เลื่องลือทั้งด้านรสชาติและส่วนผสมที่อัดแน่นไปด้วยธัญพืช และผลไม้นานาชนิด

ไมเคิล สโลน ซีอีโอของ โคลเอ ซอฟต์ เสิร์ฟ ฟรุต เล่าว่า สมัยที่เริ่มหันมาทำธุรกิจร้านไอศกรีม เขาตั้งใจจะเสิร์ฟไอศกรีมมังสวิรัติเป็นเมนูเสริม สำหรับลูกค้าที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เท่านั้น

แต่หลังจากที่เปิดตัวเมนูดังกล่าวได้ไม่นานพบว่า เมนูมังสวิรัติกลับมีกระเเสตอบรับที่ดีเกินคาด จนลูกค้าหลายรายแนะนำให้ใช้เมนูมังสวิรัติเป็นจุดขายแทน

จนปัจจุบันสามารถพูดได้เต็มปากว่า ร้านมีชื่อเสียงมากขึ้นจากไอศกรีมมังสวิรัติ

ขณะเดียวกัน ร้านอาหารอื่นๆ ในย่านเดียวกันยังหันมาจับกลุ่มลูกค้าคนรักสุขภาพมากขึ้น ด้วยการพยายามนำเสนอเมนูแปลกใหม่แต่มุ่งตีตลาดมังสวิรัติให้โดดเด่นขึ้น ทำให้ย่านช้อปปิ้งแห่งนี้กลายเป็นสวรรค์ของคนทานมังสวิรัติไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศทางยุโรปที่บริโภคเนื้อสัตว์สูงอย่าง “เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์” ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในช่วงหลายปีก่อน และกลายเป็นผู้นำในการบริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเวกนินเกน (Wageningen University) ระบุว่า ในปี 2013 ราว 3 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวดัตช์และเยอรมัน มีการรับประทานมังสวิรัติอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน และราว 40% รับประทานมังสวิรัติอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน

ส่วน “กองทัพนอร์เวย์” ก็ได้เข้าร่วมแคมเปญ “Meatless Monday” หรือการงดเนื้อสัตว์ทุกวันจันทร์ จากกระแสการกินอาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพที่ดี และช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย

เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงมาก

แม้แต่ “ประเทศไทย” เองก็นิยมการรับประทานอาหารมังสวิรัติไม่น้อย แม้ว่าไทยจะมีความหลากหลายทางศาสนา และส่วนใหญ่ยังทานเนื้อสัตว์ในเกือบทุกๆ มื้อ

แต่จะเห็นว่าร้านอาหารหลายร้านในปัจจุบันมีเมนูทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งปรากฏการณ์เหล่านี้ก็มีนัยยะสำคัญต่อประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของ “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”

นักวิเคราะห์หลายสำนักยกให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายเบอร์ต้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นอีกหนึ่งอาณาจักรที่สะดวกสบายมากที่สุดต่อผู้มาเยือนในหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบ็กแพ็กเกอร์จนถึงไฮเอนด์

และความน่าภูมิใจล่าสุดก็คือ เว็บไซต์ Oliver”s Travels เพิ่งจัดอันดับเมื่อเร็วๆ นี้ในประเด็น : ประเทศที่เป็น “มิตรต่อมังสวิรัติมากที่สุด”

พบว่าใน “ท็อป 20” ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่เป็น “มิตร” มากที่สุดสำหรับกลุ่มมังสวิรัติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และติดโพลเป็นเรนจ์ที่ 2 ในรายชื่อ 20 ประเทศทั่วโลก รองจาก “เซเชลส์” ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย โดยวัดจากหลายปัจจัยที่สัมพันธ์กัน ได้แก่ จำนวนของร้านอาหารมังสวิรัติ, จำนวนผู้บริโภคในร้านอาหารมังสวิรัติ และอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อคนต่อปี เป็นต้น

นัยยะสำคัญต่อประเทศไทยในมุมมองของนักวิเคราะห์ในวงการท่องเที่ยวก็คือ การหากลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว “สายมังสวิรัติ” ให้มากขึ้น

โดยข้อมูลที่ซับพอร์ตเรนจ์ของไทยนั้น ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านอาหารมังสวิรัติสูงถึง 908 ร้าน

ยิ่งกว่านั้นอัตราผู้บริโภคในร้านยังเฉลี่ยสูงถึง 7,600 คนต่อปีในจำนวนร้านอาหารมังสวิรัติทั้งหมด ขณะที่อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศไทยมีเพียง 25.8 กิโลกรัมต่อปี/คน (เทียบกับสหราชอาณาจักรที่บริโภคสูง 84.2 กิโลกรัมต่อปี/คน)

ส่วน “มาเลเซีย” ถูกจัดให้อยู่อันดับ 3 ในโพลดังกล่าว และถือว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อกลุ่มมังสวิรัติเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศไทย

แม้ว่าในมาเลเซียจะมีร้านอาหารมังสวิรัติมากกว่าไทย อยู่ที่ 1,185 ร้าน แต่สัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์กลับสูงตาม แตะ 52.3 กิโลกรัมต่อปี/คน

อีกทั้งจำนวนผู้บริโภคในร้านอาหารมังสวิรัติในดินแดนเสือเหลืองนี้ยังน้อยกว่าไทยอยู่มาก ซึ่งมีเพียง 2,700 คนเท่านั้น

ส่วน “สิงคโปร์” อยู่ในอันดับที่ 6 (เป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) แต่ข้อมูลพบว่าประชากรในสิงคโปร์บริโภคเนื้อสัตว์สูงทีเดียวที่ 71.1 กิโลกรัมต่อปี/คน

แต่ต้องยอมรับว่าสำหรับเมืองเล็กๆ แห่งนี้กลับมีร้านอาหารมังสวิรัติจำนวนไม่น้อยเลย ถึง 654 แห่ง

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ประเทศไทยมีความโดดเด่นในภาคการท่องเที่ยวหลายประการ ทั้งเอกลักษณ์ที่ดีงามของประเทศ รวมถึงผู้คนเป็นมิตร ทั้งยังมีสถานที่สวยงามและหลากหลายติดอันดับต้นๆ ที่ต้องมาเยือน

ดังนั้น การจัดลำดับดังกล่าว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเสียงการันตีว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติมังสวิรัติ ก็สามารถมาเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างสบายใจเช่นกัน

และที่น่าสนใจมากกว่าคือ เทศกาลหรือกิจกรรมต่างๆ สำหรับชาวมังมังสวิรัติ เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สร้างรายได้และกระตุ้นเม็ดเงินในภาคท่องเที่ยวของไทยได้ถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน “เทศกาลกินเจภูเก็ต” (Phuket Vegetarian Festival) ที่มีต้นกำเนิดมายาวนานถึง 200 ปี

อีกทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติยกย่องให้เป็นกิจกรรมที่สวยงามที่สุดของเทศกาลกินเจในประเทศไทยด้วย

ลองจินตนาการดูว่า หากประเทศไทยมีกิจกรรมเพื่อกลุ่มนักรักธรรมชาติมากขึ้นอีก ประกอบกับจัดแคมเปญส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ให้โตวันโตคืนจนกลายเป็นอีกหนึ่งจุดขายของประเทศ

เงินสะพัดที่จะไหลเข้าประเทศจะมีมูลค่ามหาศาลเพียงใด