เลือกตั้งจบแต่ยังต้องลุ้นรัฐบาล เอกชนหวังฟอร์มเร็ว…เพื่อเปลี่ยนประเทศ

จบไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เริ่มได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นแล้วว่าพรรคใดจะได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล แต่การเมืองไทยเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก แม้ในปีนี้จะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิกว่า 75.22% ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังต้องลุ้นการโหวตจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียง

แม้เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สิ่งที่ชัดเจนแล้วคือทีมรัฐบาล โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยความเห็นจากภาคเอกชนอย่าง สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า เอกชนเชื่อว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้ง คงออกมาในลักษณะการจัดตั้งรัฐบาลผสม สิ่งที่หอการค้าฯ เป็นห่วงและอยากฝากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการคือการเดินหน้าแผนงานโครงการต่างๆ ที่เป็นแผนงานต่อเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี แบบไร้ความขัดแย้ง เพราะส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการใช้เม็ดเงินในแต่ละพื้นที่ หากจะมีการทบทวนการใช้งบประมาณก็จะต้องเร่งดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจแต่ละจังหวัดเกิดการขับเคลื่อนต่อเนื่อง

ด้าน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า สิ่งแรกที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการเป็นเรื่องแรก คือมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจ สามารถกระจายรายได้ไปให้กับกลุ่มผู้ประกอบการประชาชน ซึ่งสิ่งสำคัญคือมาตรการที่เข้าไปสร้างความยั่งยืนกับผู้ประกอบการ ไม่ใช่เป็นมาตรการที่ใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างวูบวาบ หรือการใช้เงินแจกแล้วก็หายไป

ดังนั้น รัฐบาลควรตั้งเป้าหมายลดจำนวนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐลง หรืออย่างน้อยควรลดให้ได้ 10% ปี เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น

อีกโจทย์คือทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีต่างๆ ได้มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกลง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากรัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของวินัยทางการเงิน ควบคู่กับการทำให้ผู้ประกอบการที่มีวินัยทางการเงิน ได้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปประกอบกิจการ เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจต่อไป

 

ฟาก ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เผยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกครั้ง เพราะมีความตื่นตัวค่อนข้างมาก ทั้งในแง่ของผู้สมัครที่ใช้ยุทธศาสตร์นำ ซึ่งต่างจากอดีตที่ใช้นโยบายนำ และเห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน มีทั้งกลุ่มอนุรักษนิยม และกลุ่มเสรีนิยม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เปรียบเสมือนการให้คำมั่นสัญญากับประชาชน

นอกจากนี้ การเลือกตั้งรอบนี้ยังต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะปกติแล้วการต่อสู้ทางการเมืองจะมีแค่กลุ่มอนุรักษนิยมมาสู้กัน แต่รอบนี้บางพรรค อาทิ พรรคเพื่อไทยมาในรูปแบบอนุรักษนิยม กึ่งเสรีนิยม อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเลือกตั้ง รูปแบบของการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เป็นต้น

ส่วนภาคเอกชนก็มีความตื่นตัวเช่นเดียวกัน เพราะไม่ว่าพรรคไหนมาค่าจ้างแรงงานขั้นจะสูงขึ้น เพราะถูกดึงเข้าไปอยู่ในประเด็นทางการเมือง ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยที่มีโอกาสฟอร์มรัฐบาล ล้วนมีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำทั้งสิ้น เช่น ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อคนทันที และเพิ่มเป็น 600 บาทต่อคน ภายใน 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้เอกชนทำใจไว้แล้วว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน

ขณะที่เรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ เราห่วงเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง หากในกรณีพรรคที่มีเสียงข้างน้อยได้จัดตั้งรัฐบาล จะสามารถจัดตั้งได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อความเชื่อมั่น และไม่รู้ว่ารัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพจะอยู่อย่างไร หากเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบกับการค้าการลงทุน

ซึ่งประเด็นนี้นักลงทุนต่างชาติเริ่มตั้งคำถามถึงเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองแล้วว่าเป็นอย่างไร จะกระทบกับภาคธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

“การจับขั้วรัฐบาล พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ได้เสียงข้างมากร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โอกาสจะเกิดรัฐประหารหรือไม่นั้น เรายังไม่อยากคิดมากขนาดนั้น เพราะใน พ.ศ.นี้ ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ รวมถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประกาศแล้วไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ทบ. และหวังว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น”

เรื่องนี้ถ้าเกิดขึ้นจะกระทบกับเศรษฐกิจอย่างมาก ถึงขั้นพังพินาท หากไม่เห็นภาพให้ดูประเทศเมียนมาเป็นตัวอย่าง สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น เราก็จะถูกแทรกแซงทางการค้า ซึ่งปัจจุบันกลุ่มประเทศตะวันตกก็เขม้นไทยอยู่แล้ว เพราะเราไปแบ๊กอัพเมียนมารัฐบาลทหาร ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้เจรจาการค้า (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรปอย่างชัดเจนเลย เพราะฉะนั้น หากเกิดเหตุซ้ำรอย เราอาจถูกผลักให้เป็นเมียนมา 2 ได้ แต่ผมหวังว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น หวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นอย่างนั้น”

 

สุดท้ายแล้วไม่ว่าหน้าตารัฐบาลจะออกมาแบบไหน สิ่งที่ประชาชนและเอกชนคาดหวังที่สุด คือการเมืองที่มีเสถียรภาพ ยึดผลตามเสียงของประชาชน

และอยากเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว

ควรฟอร์มรัฐบาลได้เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการภายในเดือนมิถุยายนหรือต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อเดินหน้า “เปลี่ยน” ประเทศไทย มีรัฐบาลหน้าใหม่ตามหลักประชาธิปไตย เลือกโดยประชาชนอย่างแท้จริงเข้ามาบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้

ที่เหลือก็คอยตามดู รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นโดยเร็วหรือไม่

เกิดขึ้นแล้วจะเป็นตามที่หาเสียงไว้หรือไม่…

อดใจรอ