แบงก์หวั่นสัญญาณลบ วิกฤตเศรษฐกิจก่อตัว ธนาคารสหรัฐล้มต่อเนื่อง

สถานการณ์แบงก์ล้มในสหรัฐ ดูจะยังไม่จบง่ายๆ

ล่าสุด บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation : FDIC) ได้เจรจาหาผู้เข้าซื้อกิจการธนาคาร First Republic ให้ทันก่อนที่จะล้ม

และในที่สุดก็ได้ JPMorgan Chase & Co. สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเข้ามาอุ้ม

ทั้งนี้ JPMorgan จะเข้าครอบครองสินทรัพย์และสินเชื่อส่วนใหญ่ของ First Republic ซึ่งรวมถึงเงินกู้ประมาณ 173,000 ล้านดอลลาร์ หลักทรัพย์ 30,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงเงินฝาก 92,000 ล้านดอลลาร์

โดย JPMorgan และFDIC ตกลงที่จะร่วมรับความเสี่ยงจากสินเชื่อของ First Republic รวมถึงการเรียกคืนสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อเชิงพาณิชย์

ซึ่ง FDIC ประมาณการว่า ความเสียหายที่กองทุนประกันเงินฝากจะต้องรับผิดชอบอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์

ย้อนไปต้นปีที่ผ่านมา หรือในเดือนมีนาคม 2566 สหรัฐมีการปิดแบงก์ไปแล้ว 3 แห่ง คือ Silvergate Bank, Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ขณะที่ในยุโรป ธนาคารกาลางสวิตเซอร์แลนด์ก็ต้องให้ธนาคารUBS เข้าไปอุ้ม Credit Suisse แบงก์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของยุโรป

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัญหาแบงก์ล้มที่เกิดขึ้น เรียกว่า “น้ำลด ตอผุด” กล่าวคือ เมื่อบริบทโลกที่เคยอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมานาน มาเจอการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจบนสมมติฐานดอกเบี้ยต่ำ จึงเกิดปัญหา อย่างเช่นกรณี Silicon Valley Bank

ซึ่งปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐ รวมถึงในอังกฤษ คงไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ปัญหาจบหรือยัง แต่หากดูดัชนีชี้วัดความเสี่ยงเริ่มต่ำลงและคลี่คลายลง

อย่างไรก็ดี ปัญหายังไม่น่าจบ เพราะคาดว่าอาการน้ำลด ตอผุด คงจะต้องมีเกิดขึ้นกับที่อื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายภายใต้สมมุติฐานดอกเบี้ยต่ำมานาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายคนวิเคราะห์ว่าจะเกิดขึ้นกับน็อนแบงก์ แต่ปัจจุบันปัญหามาโผล่ที่ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินท้องถิ่น

“เราจับตามองและมีความกังวลภายใต้บริบทการขึ้นดอกเบี้ยแรง มองว่าความผันผวนของตลาดการเงินโลกยังคงมีอยู่ แม้ว่าสถานการณ์จะดูคลี่คลายลง แต่หากสังเกตจะเห็นว่าสหรัฐออกมาตรการจัดเต็ม หรือออกยาแรง แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง”

“เราจึงต้องจับตาดูความเสี่ยงต่างๆ โดยรวมของโลกที่มีนัยสำคัญต่อไทยอย่างใกล้ชิด” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

 

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ First Republic มองว่าเป็นอาการเดิมที่เกิดปัญหาแบงก์รัน หลังจากกรณีปิด SVB ก่อนหน้านี้ ซึ่งช่วงที่ SVB ถูกปิด ราคาหุ้นของ First Republic ก็ร่วงหนักมาก และต่อมาก็มีแบงก์กลุ่มหนึ่งนำเงินไปฝากที่ First Republic เพื่อพยุงสถานการณ์

“พองบฯ ไตรมาสแรกออกมาคนเข้าไปเห็นว่า เงินหายไปไตรมาสเดียวเป็นแสนล้านเหรียญ คนก็ตกใจ เพราะเวลาแบงก์เงินหายไป ก็ต้องไปกู้มาเติม กู้ธนาคารกลางมา ซึ่งกรณีนี้หากปล่อยไปเรื่อยๆ ธนาคารก็จะเจ๊งแน่ เพราะของดีๆ ที่มีอยู่ ก็จะด้อยค่าไปเรื่อยๆ ก็ต้องรีบเข้าไปจัดการ แต่ผมมองว่า เคสนี้เป็นลูกหลงจาก SVB เพราะถ้าเข้าไปดูฐานะการเงินของ First Republic ก็ถือว่าค่อนข้างดี มีลูกค้าเยอะ อยู่มากว่า 30 ปี กำไรทุกปี หนี้เสียน้อยมาก”

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาโดยให้แบงก์ใหญ่อย่าง JPMorgan เข้าไปอุ้ม และสามารถทำให้ไม่เกิดความเสียหายมากขึ้น เพราะพอสั่งปิดแบงก์ ก็ขายแบงก์ทันที ขณะที่เงินฝากทุกบาททุกสตางค์ทาง JPMorgan รับไป ดังนั้น FDIC อาจจะไม่เสียหายมาก ยกเว้นส่วนที่ไปการันตีให้กับ JPMorgan ซึ่งการแก้ปัญหาเช่นนี้ ทำให้คนมีความมั่นใจมากขึ้น

“ถามว่าจะลามไปคนอื่นไหม ผมว่าก็คงประกันยาก เพราะธนาคาร เวลาที่ขาดความมั่นใจ แล้วมีคนพยายามถอนเงิน จะมีความอ่อนไหวมาก ฉะนั้น ก็อาจจะมีแบบนี้อีกก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ ทางการเขาไม่ปล่อยให้ล้มจนกลายเป็นวิกฤตเชิงระบบแน่นอน โดยอาจจะมีธนาคารล้มอีก แต่เชื่อว่าความเสี่ยงที่เห็นวิกฤตธนาคารใหญ่ๆ มีค่อนข้างน้อย” ดร.พิพัฒน์กล่าว

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐตอนนี้ หลายๆ ตัวก็ชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มแผ่ว ขณะที่ปัญหาแบงก์ล้ม ก็อาจจะยิ่งทำให้ความเข้มข้นของสภาพคล่อง อาจจะมีโอกาสที่จะชะลอตัวมากขึ้นไปอีก ซึ่งทุกฝ่ายต่างจับตาว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้าย

“เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก ก็คงชะลอตัว เพราะผลกระทบจากเงินเฟ้อสูง จากดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้วยังมีปัญหาแบงก์อีก ก็น่าจะกดดันการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจไปอีกสักระยะ ปีนี้ก็คงจะโตช้ากว่าปีที่แล้ว ส่วนไทยก็จะได้รับผลกระทบในแง่การส่งออกเป็นหลัก” ดร.พิพัฒน์กล่าว

หัวหน้านักเศรษศาสตร์ KKP กล่าวด้วยว่า ด้านเศรษฐกิจไทย ยังคงฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง โดยการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอาจจะกลับมาดีขึ้น รวมถึงภาคเกษตร แต่ภาคการผลิต การส่งออก จะได้รับผลกระทบจากโลกที่ชะลอตัว ขณะเดียวกันล่าสุด ก็เริ่มเห็นตัวเลขการบริโภค การลงทุนที่เริ่มหนืด

“การท่องเที่ยวที่ฟื้น ก็ยังได้ประโยชน์ไม่กี่จังหวัด กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ส่วนที่เหลือก็ยังหนืดพอสมควรแล้วยังเจอเรื่องดอกเบี้ยสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนเยอะ ก็อาจจะทำให้การบริโภคฐานรากยังไม่ได้ดีเท่าที่ควร และอาจจะมีปัญหาหนี้ตามมาได้อีก โดยการเลือกตั้งอาจจะทำให้บรรยากาศดีขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอ” หัวหน้านักเศรษศาสตร์ KKP กล่าว

 

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สิ่งที่น่าคิด คือ แบงก์ล้มใหญ่อันดับ 2, 3 และ 4 ของประวัติศาสตร์สหรัฐเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ประมาณ 1 เดือน กำลังเกิดอะไรอยู่ และล่าสุดก็มีอีกแบงก์ในสหรัฐ ที่กำลังถูกกดดัน คือ PacWest Bancorp

“วันที่ 28 เมษายน ที่ First Republic Bank มีปัญหา ราคาหุ้นของ PacWest ลดลงมาประมาณ 50% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ทั้งเงินฝากและสินเชื่อ”

นอกจากนี้ ยังมี Regional Bank อื่น เช่น Western Alliance ที่ได้รับแรงกดดันเช่นกัน จนต้องหยุดซื้อขาย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม

“ที่เป็นเช่นนี้ คงเพราะผู้ถือหุ้นต่างๆ ได้รับบทเรียนราคาแพง จากกรณี First Republic Bank, Silicon Valley Bank และ Signature Bank ถ้ายังถือหุ้นเอาไว้ แล้วเกิดปัญหา สุดท้ายจะไม่เหลืออะไร บางคนจึงตัดสินใจเร่ง Exit ออกไป มาลุ้นกันว่า PacWest Bancorp จะกลับคืนมาได้หรือไม่ หรือจะเป็นเหยื่อของ Perfect Storm รายต่อไป” ดร.กอบศักดิ์ระบุ

ดูท่าแล้ว ปัญหาแบงก์ล้มในสหรัฐคงยังไม่จบง่ายๆ และหลายฝ่ายต่างจับตา ว่าทางการสหรัฐจะจัดการปัญหาได้เบ็ดเสร็จหรือไม่ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังจะชะลอตัว และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือสุดท้ายแล้ว ปัญหาจะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตครั้งใหม่ขึ้นมา