เลือกตั้ง 2023 จากกรุงเทพถึงพนมเปญ

แน่นอนว่า ในทันทีที่รัฐบาลไทยประกาศยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักย่อมรายงานหรือหยิบยกขึ้นมาพูดถึงโดยทั่วกัน

แต่ที่ผมให้ความสนใจมากที่สุด เป็นข้อเขียนของ ลุค ฮันท์ ใน เดอะ ดิพโพลแมต เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า เขานำเลือกตั้งในไทยไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในกัมพูชาครับ

ไทยกำหนดเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถัดจากนั้นไปอีกไม่ถึงสองเดือน กัมพูชาก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเช่นกันในวันที่ 23 กรกฎาคม

เพียงแต่ผมมีความรู้สึกว่า ผู้เขียนเลือกที่จะหยิบยกเอากระบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไทยในยามนี้ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง เพื่อที่จะได้วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการทางการเมืองภายใต้การกำกับดูแลของ ท่านอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน เสียมากกว่า

 

ลุค ฮันท์ เริ่มต้นด้วยแนวคิดที่ว่า หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศทั้งสองถูกวิพากษ์วิจารณ์มามากมาย โดยเฉพาะจากประเทศตะวันตก เหมือนๆ กัน ในแง่ที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน และบดทำลายค่านิยมประชาธิปไตยลงไปเรื่อยๆ ในคราวเดียวกัน

นั่นคือลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกันของการเมืองในประเทศทั้งสอง แต่ฮันท์ยอมรับว่า นอกเหนือจากความคล้ายคลึงกันดังกล่าวแล้ว ส่วนที่เหลือถัดจากนั้นมา แตกต่างกันอย่างลิบลับ

เขาชี้ให้เห็นว่า ครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาไทยตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหาร ในขณะที่กัมพูชาเองเผชิญกับ “การกวาดล้างทางการเมือง” ขนานใหญ่ที่ต่อเนื่องยืดเยื้อ ซึ่งยังคงเป็น “พาดหัวข่าวใหญ่” เรื่อยมาทั้งใน “สื่อฟากรัฐบาล” และส่วนเสี้ยวที่ยังหลงเหลืออยู่ของ “สื่อเสรี” ในประเทศ

แต่ในปีนี้ การเลือกตั้งที่แตกต่างกันอย่างยิ่งกำลังก่อรูปขึ้นในประเทศทั้งสอง

 

ลุค ฮันท์ ระบุว่า ในไทย โพลสำรวจความคิดเห็น สะท้อนให้เห็นอย่างต่อเนื่องคงเส้นคงวาว่า แพทองธาร ชินวัตร บุตรีของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้รับคะแนนนิยมเหนือกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

พรรคการเมืองภายใต้การนำของเธอได้รับการสนับสนุนในการสำรวจถึง 38 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่พรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงสนับสนุนเพียง 15.7 เปอร์เซ็นต์ เป็นลำดับที่ 3 ในโพลด้วยซ้ำไป

ฮันท์ชี้ว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า ไทยยังคงมีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมือง และดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ดูเหมือนว่าจะยอมรับผลโพลที่ว่าโดยดุษณี ช่วย “ก่อให้เกิดความหวัง” ที่ว่า หลัง 14 พฤษภาคมปีนี้ ประเทศไทยจะสามารถ “กลับคืนสู่สภาพสามัญทั่วไปของประชาธิปไตย” ได้สักที

ตรงกันข้ามกับในกัมพูชา ที่ไม่มีโพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นกลับสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า มีเพียงแค่พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) เท่านั้นที่ “สามารถชนะ” การเลือกตั้งได้

 

เหตุผลก็คือ รัฐบาลกัมพูชายังคงกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยอำนาจของศาล อันเป็นกรรมวิธีทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีที่ใช้มาโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อปี 2018

ผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล ตั้งแต่สื่อมวลชนอิสระ, กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน, นักกฎหมายและบรรดานักวิชาการทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่ตกเป็นเหยื่อมาแล้วทั้งสิ้น หนักบ้างเบาบ้างแตกต่างกันออกไป แต่ที่แน่ๆ ก็คือ แทบทุกวันจะมีคนใหญ่คนโตในทางการเมืองออกมา “สั่งสอนอบรม” ผู้คนเหล่านี้ว่า “ทางที่ดีควรทำตัวอย่างไร” ผ่านสื่อหลากหลายที่อยู่ในมือของรัฐบาล

การต่อต้านฝ่าฝืน หมายถึงการโดน “คดี” กล่าวหาฟ้องร้องจากอัยการ ที่ “มีอัตราฟ้องคดีสำเร็จสูงยิ่ง”

 

เลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2018 ซีพีพีกวาดที่นั่งในสภา 125 ที่นั่งเรียบวุธ หลังจากจู่ๆ ศาลก็สั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญ ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์คว้าชัยชนะได้เกือบครึ่ง ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับคอมมูนในปี 2017 และการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนหน้าในปี 2013

ในการเลือกตั้งปีนี้ มีเพียง “พรรคแสงเทียน” (Candlelight Party) พรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสเอาชนะในการเลือกตั้งได้สักที่นั่งสองที่นั่ง

“แสงเทียน” เป็นพรรคการเมืองที่ก่อรูปขึ้นมาใหม่จากส่วนที่หลงเหลืออยู่ในกัมพูชาของซีเอ็นอาร์พี แต่ก็ยังสามารถรณรงค์อย่างลำบากยากเย็น จนได้รับเสียงสนับสนุน 22 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งคอมมูนเมื่อปีที่ผ่านมา

ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ออกมาคาดการณ์ว่า พรรคจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้น 104 ที่นั่ง หรือ 83.2 เปอร์เซ็นต์ โดย 21 ที่นั่ง หรือ 16.8 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ตกเป็นของพรรคแสงเทียน

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นการอาศัยผลการเลือกตั้งระดับคอมมูนมาเป็นตัวชี้วัด

แต่ เบน โสเคียน โฆษกซีพีพี บอกว่าเป้าหมายของพรรคคือกวาดให้ได้ 115 ที่นั่ง หรือ 92 เปอร์เซ็นต์ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด เหลือให้แสงเทียนเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หลายฝ่ายเชื่อว่าจะทำให้ฮุน เซน อยู่ในสถานะที่จะกำหนด “อนาคต” ทางการเมืองได้อย่างมั่นคง

โดยการหยิบ “ฮุน มาเนต” บุตรชายคนโตยศนายพลเอกที่เป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 70 ของกองทัพบกกัมพูชา ขึ้นมาสืบทอดอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีได้สบายๆ

ในขณะที่ชาวกัมพูชาในเวลานี้ ไม่หลงเหลือแม้ความคิดฝันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้งในวันที่ 23 กรกฎาคม ใดๆ ทั้งสิ้นครับ