‘ครม.บิ๊กตู่’ ทิ้งทวน 1.7 แสนล้าน ก่อนยุบสภา ชิงเหลี่ยม-โกยแต้มสู้เลือกตั้ง

เหลือเวลาเพียงไม่กี่วันที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะกดปุ่มยุบสภา เริ่มสตาร์ตเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ตามไทม์ไลน์แน่นอนว่าวันเลือกตั้งคงหนีไม่พ้น 2 ตัวเลือก คือวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม และวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม

โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างคาดเดากันว่าน่าจะเป็นการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของรัฐบาลปกติที่มีอำนาจเต็ม ก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภา เนื่องจากรัฐบาลจะครบเทอมในวันที่ 23 มีนาคมนี้

ฉะนั้น ทำให้การประชุม ครม.ครั้งนี้ย่อมถูกจับตามองเป็นพิเศษว่า รัฐบาลจะไฟเขียวโครงการหรือมาตรการใด เพื่อทิ้งทวนก่อนก้าวเข้าสู่การทำหน้าที่ในฐานะรัฐบาลรักษาการหรือไม่ เนื่องจาก ครม.ชุดปัจจุบัน อาจจะต้องทำหน้าที่รักษาการไปจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 หรือประมาณ 4 เดือนครึ่ง

ทว่า การดำเนินการภายหลังยุบสภา ครม.รักษาการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ การไม่อนุมัติงานหรือโครงการ ที่สร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดใหม่ ยกเว้นแต่เป็นเรื่องอยู่ในงบประมาณประจำปี รวมทั้งต้องไม่แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน หรือมีการให้พ้นตำแหน่ง เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียก่อน

ขณะเดียวกัน ต้องไม่อนุมัติให้ใช้งบฯ กลาง เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่นเดียวกัน รวมทั้งไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐกระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต.

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้การประชุม ครม.ครั้งล่าสุด ใช้เวลาการประชุมมากกว่าทุกครั้ง มาราธอนลากยาวกว่า 6 ชั่วโมง เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 น. เสร็จสิ้นลงในเวลา 16.05 น. โดยมีวาระทั้งสิ้น 71 วาระ แบ่งเป็นวาระเพื่อทราบ 17 เรื่อง วาระพิจารณา 29 เรื่อง และวาระจรอีก 25 เรื่อง โดยสรุปอนุมัติทิ้งทวนสารพัดโปรเจ็กต์ วงเงินกว่า 173,850 ล้านบาท

อาทิ การปรับเพิ่มค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาล และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานหลังจากที่ไม่ได้มีการปรับเงินค่าตอบแทนมานานกว่า 11 ปี ซึ่งการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนจะใช้งบประมาณจากรายได้ของ อบต. จากเดิม 9,522 ล้านบาท เป็น 13,774 ล้านบาท โดยให้จ่ายค่าตอบแทนตามบัญชีอัตราค่าตอบแทนใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

การเพิ่มเงินค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ค่าครองชีพ และทัดเทียมกับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ รวมงบประมาณจากการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แบบปรับฐาน จำนวน 4,393 ล้านบาทต่อปี และแบบขั้นวิ่ง จำนวน 402 ล้านบาทต่อปี

รวมเป็นเงิน 4,795 ล้านบาทต่อปี

 

การออกผลิตภัณฑ์สลากใหม่ ได้แก่ ล็อตเตอรี่ 6 หรือแอล 6 และสลากเลข 3 หลักหรือเอ็น 3 หรือการออกหวยใหม่ (แอล 6-เอ็น 3) หวังเพิ่มทางเลือกในการซื้อสลากแบบถูกกฎหมายมากขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหาสลากเกินราคา และช่วยบรรเทาปัญหาหวยใต้ดิน

นอกจากนี้ ยังไฟเขียวให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 G/5 G บนคลื่น 700 MHz วงเงินตามโครงการ 61,628 ล้านบาท เปิดโครงข่ายขยายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โครงการงบฯ Big Rock เชื่อมโยงเครือข่ายให้บริการปลายทางทุกภาคส่วน วงเงิน 500 ล้านบาท

รวมทั้งโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบช่วยลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ปรับเพิ่มเป็น 100 บาท/คน/3 เดือน ช่วงเมษายน-มิถุนายน 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคา LPG ที่อยู่ในระดับสูงและลดภาระค่าครองชีพสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

และเห็นชอบโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมอาชีพ แก้ไขปัญหาความยากจน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติแต่งตั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) รักษาราชการแทนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้

สืบเนื่องจากกรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถูกศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ก่อนจะมีการมอบหมายให้นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแทน จนล่าสุดมีคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้นายอนุทินเข้ามานั่งรักษาราชการแทน กรณีที่ไม่มีผู้อยู่ทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอีกหนึ่งตำแหน่ง

การแต่งตั้งนายอนุทิน สอดรับกับเหตุการณ์ที่นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชงเรื่องร้อนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาก ครม.อนุมัติเห็นชอบตามที่เสนอ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะสามารถดำเนินการลงนามในสัญญากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ทันที

แต่ทว่า ท้ายที่สุดเมื่อเรื่องร้อนเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ก็ถูกเสียงคัดค้านและทักท้วงจากกลุ่มรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคาด เนื่องจากเรื่องนี้มีประเด็นฟ้องร้องอยู่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ ควรรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองให้เกิดความชัดเจน ทำให้ ครม.ส่วนใหญ่ไม่กล้าเอาตัวไปเสี่ยงลงมติหนุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

เมื่อ ครม.ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน และหลายฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่าควรรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจทุบโต๊ะถอนเรื่องดังกล่าวออกไปเพื่อรอให้ศาลพิจารณาได้ข้อยุติ และให้รัฐบาลหน้าเป็นผู้พิจารณาต่อ

 

สําหรับการอนุมัติทิ้งทวนโครงการต่างๆ ก่อนยุบสภานั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ไม่ถือว่าเป็นการทิ้งทวนอะไร เพราะมีเรื่องเวลามาล็อกไว้ เนื่องจากหากยุบสภาไปแล้ว หลายเรื่องจะพิจารณาไม่ได้ อีกทั้งก็เป็นทุกสมัยไม่ว่ารัฐบาลไหน

ส่วนกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ยอมรับว่ายากที่จะเสนอมาในรัฐบาลนี้ เพราะหากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้อนุมัติไว้ จะติดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 169(1) ที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่า สารพัดโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลเร่งอนุมัติเทกระจาดก่อนยุบสภาด้วยตัวเลขงบประมาณสูงกว่าแสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นเมกะโปรเจ็กต์ มาตรการช่วยเหลือ เยียวยา และจ่ายค่าตอบแทน ท้ายที่สุดแล้วจะคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ได้จริงหรือไม่ แม้ว่าหลายโครงการจะถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการแจกเพื่อสร้างประชานิยม

ซื้อใจก่อนกดปุ่มยุบสภา เพื่อหวังแปรเป็นคะแนนเสียง สร้างแต้มต่อในทางการเมืองให้กับผู้มีอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาล