ปรากฏการณ์ “ตูน บอดี้สแลม” ทำให้ผู้คนรู้จักชายแดนใต้อีกด้าน

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร จากใต้สุดที่ อ.เบตง จ.ยะลา สู่เหนือสุด อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อนำรายได้จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่ง ของ “ตูน” นักร้องนำวงบอดี้สแลม พร้อมด้วย “ก้อย รัชวิน” และทีมงาน

กล่าวคือ กิจกรรมในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงถึงตาย และวิ่งผ่านเขตที่เขาเรียกว่าสีแดง ซึ่งหลายคนหรือคนไทยทั่วไปหลายคนหวาดกลัว

สุวรา (เดียว) แก้วนุ้ย นักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องชายแดนใต้หลายชิ้น กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า นับเป็นความกล้าหาญ และความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของพื้นที่นี้ยิ่งนัก

หากมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในบางมุมที่ได้เฝ้ามองมานั้น พอจะสรุปได้ดังนี้

1) สังคมภายนอกเห็นความงดงามของธรรมชาติในพื้นที่ : เส้นทางหลักที่พี่ตูนวิ่ง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นวันแรก ไปยังจุดพักต่างๆ ได้ผ่านความงดงามตามธรรมชาติในพื้นที่ที่ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ ยังไม่ค่อยปรากฏออกไปสู่สาธารณะมากนัก

เช่น ความงามของภูเขา ทะเลหมอก แม่น้ำ หรือน้ำตก ในพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต อ.บันนังสตา

ซึ่งการวิ่งไปไลฟ์สดไปด้วย ทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อสารออกสู่ภายนอก จนสังเกตเห็นคอมเมนต์หลายต่อหลายคอมเมนต์ ที่อยากมาเที่ยว มาปั่นจักรยาน หรือมาเยือนพื้นที่นี้สักครั้ง

2) สังคมภายนอกเห็นวิถีชีวิตและมีโอกาสเข้าใจวัฒนธรรมของพื้นที่นี้มากขึ้น : การวิ่งนับเป็นเครื่องมือในการพบปะผู้คน อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไม่รู้ แต่การวิ่งครั้งนี้ตูนทำให้คนไทยทั้งประเทศ และผู้คนอีกหลายแห่งบนโลกใบนี้ เห็นว่าความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของพี่น้องมุสลิม พี่น้องพุทธในพื้นที่ ยังมีความเป็นอยู่ที่พึ่งพิงกัน และพวกเราก็ยังเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้น่ากลัวกว่าคนซีกอื่นของประเทศ และ “เราน่ารักกว่าที่หลายคนคิดนะ”

3) ผู้คนจากชายแดนใต้/ปาตานีมีรอยยิ้มแห่งความสุข ที่สื่อสารให้ผู้คนในประเทศ และโลกใบนี้ : หลายคนหวาดกลัวที่จะมาเยือนชายแดนใต้ แค่บอกชื่อจังหวัดว่ามาจาก ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ให้คนข้างนอกฟัง หลายครั้งเราก็ถูกหวาดกลัวโดยเราไม่รู้ตัวว่าทำอะไรผิด และหลายคนมองว่าเราคงมีทุกข์มากกว่าสุข

แต่ในมุมของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการวิ่งตลอด 5 วันที่ผ่านมา พวกเราพร้อมเป็นผู้ส่งความสุขให้สังคมนี้ ไม่ต่างจากผู้คนที่อยู่ในพื้นที่อื่น และเราเองต้องการความสุขที่ส่งจากภายนอกเข้ามาเช่นกัน

4) พวกเราเกิดปฏิสัมพันธ์กันเองภายใน ที่ลดช่องว่างทางความไม่ไว้ใจ : จากสถานการณ์ที่มีความรุนแรง มันทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนจางหายไปมาก หลายครั้งประชาชนก็จะหวาดระแวงเมื่ออยู่ใกล้เจ้าหน้าที่ และพี่น้องพุทธจะทักทายพี่น้องมุสลิมน้อยลง แต่สิ่งที่ได้เห็นระหว่างทางของการวิ่งคือ ผู้คนในพื้นที่ต่างมีรอยยิ้ม และมีน้ำใจให้กัน ไม่แบ่งฉันแบ่งเธอ ชาวบ้านกับทหาร/เจ้าหน้าที่รัฐ พูดคุยกันได้ เหมือนเราอยู่ด้วยกันมานานแต่แค่หวาดหวั่นที่จะใกล้กัน แต่ถ้าเราขยับเข้ามาใกล้กัน มีเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ “เธอกับฉันก็อยู่ร่วมกันได้ดังเดิม”

5) การแบ่งปันและเป็นผู้ให้ มีมากมายอยู่ในพื้นที่นี้ : น้ำใจที่หลั่งไหลมาสู่การบริจาคให้ตูนมีทุกวัน และข้อมูลที่ปรากฏคือ ยอดบริจาคริมทางที่ตูนผ่านในพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้คือ มียอดบริจาคประมาณวันละ 1 ล้านบาท ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนว่ามีคนในพื้นที่จำนวนมากที่พร้อมเป็นผู้แบ่งปันให้กับคนอื่น

แม้เราจะอยู่ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ไม่ปกติแบบส่วนอื่นของประเทศ แต่สิ่งนี้ก็ไม่เคยทำให้เราแล้งน้ำใจเลย

ปรากฏการณ์ของตูนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ทำให้ผู้คนรู้จักชายแดนใต้อีกภาพที่มีความหวังถึงสันติภาพ

อย่างไรก็แล้วแต่ หลังจากมีภาพสาวหรือสตรีมุสลิมในพื้นที่มากมายถ่ายภาพเซลฟี่ ทำให้นักเลงคีย์บอร์ดบางส่วนออกมาโจมตีที่ทำให้ถูกตีความว่าพี่ตูนมาทำลายวัฒนธรรมคนพื้นที่บ้างละ และอื่นๆ แต่ก็ยังดีที่มีนักวิชาการมุสลิมบางท่านหรือหลายท่านออกมาชี้แจง หนึ่งในนั้นคือ ท่านอับดุลกอเดร มัสแหละ ได้เขียนบทความผ่านเฟซบุ๊กท่านในหัวข้อ จากกระทงมาถึงตูน…

โดยมีรายละเอียดดังนี้

“เมื่อคืน (3/11/60) เป็นคืนลอยกระทง สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่ริมน้ำ พวกเรามุสลิมก็อยู่ริมน้ำเช่นกัน กระทงกับคนไทย กระทงกับมุสลิม มันก็อยู่ก็เห็นกันมานาน ตั้งแต่อดีตมาก็ไม่เห็นจะมีปัญหาตรงไหน

มุสลิมไม่ลอยกระทง ก็รู้กันมาตั้งนาน เพราะมันไม่ใช่ประเพณี วัฒนธรรมของมุสลิม ก็ไม่เห็นจะมีปัญหากันตรงไหน

แต่ปัจจุบันกลับมีปัญหา ก็ไม่ทราบว่า มันเกิดการขัดข้องทางเทคนิคตรงไหน เมื่อไหร่ หรือมุสลิมหย่อนยาน หรือว่ามุสลิมเกิดเคร่งเกินไป

เคร่งไม่เป็นไร แต่อย่าเคร่งจนล้ำเส้น…ไม่ว่าเทศกาลอะไรมา มุสลิมเป็นได้วิจารณ์แหลก หลายคนก็วิจารณ์ล้ำเส้น แบบขาดความเกรงใจ

ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีใครมาชวนมุสลิมไปลอยกระทง และมุสลิมบางคนที่แอบไปงานลอยกระทงก็ไม่มีใครมาชวนสักหน่อย

การที่มุสลิมบางคนไปวิพากษ์วิจารณ์เกินความพอดี ผมไม่เห็นด้วย หลายครั้งวิจารณ์เกินเลยมากไป…ไปกระทบความเชื่อของเขา

ทำไมล่ะใครจะทำตามความเชื่อของใคร มันเกี่ยวอะไรด้วย ทำไมเราต้องเดือดร้อนด้วย ในเมื่อสิ่งเหล่านี้เราก็เคยเห็น และมันก็อยู่กับพหุวัฒนธรรมมาโดยตลอด

เราจะจัดงานอะไร ก็ไม่มีใครมาว่าอะไรเรา วันอีดเราจะมีอะไร เพื่อนๆ ต่างศาสนิกก็ไม่เคยมาก้าวก่ายเรา แล้วทำไมเมื่อเขามีเทศกาลของเขา เราต้องไปวิพากษ์จนเกินเลย…อุมมุเตาวะสะฎอ มันหายไปไหนหมด

คนในอดีตเคร่งกว่าคนยุคนี้ เขาก็ไม่เห็นจะต้องไปล้ำเส้นกัน เขาถึงอยู่ได้อย่างมีความสุข ท่ามกลางการเข้าใจซึ่งกันและกัน

เช่นเดี่ยวกัน ที่ ตูน บอดี้สแลม ออกวิ่งรณรงค์ซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาล ผมก็งงมากที่บางคนออกมาต่อว่าเสียๆ หายๆ

ภาพลักษณ์ที่พี่น้องมุสลิมสามจังหวัดร่วมกันบริจาค เป็นภาพลักษณ์ที่สวยงาม เพราะเป็นการบริจาคเพื่อมนุษยธรรม หลายฝ่ายชื่นชม สิ่งที่ออกมา มันตรงกันข้ามกับความโหดร้าย

แต่ก็แปลกเกิดมีคนรู้สึกไม่พอใจ ผมงงมาก…โดยเอาภาพที่มีคนถ่าย “เซลฟี่” กับตูน มาวิจารณ์ ทั้งๆ ที่ตูนเขาก็นอบน้อมเกรงใจ เขาก็คงเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของมุสลิม

แต่ภาพ “เซลฟี่” เราควรตำหนิใคร หรือเราไม่ได้สอนคนของเราเอง แต่ไปตำหนิคนอื่น

มันเลยไม่ต่างกันกับลอยกระทง คนของเราหนีไปเที่ยวเอง แต่เรากลับไปโทษเทศกาลลอยกระทง

ถามว่า “ตูน” ใครๆ ก็รู้จัก เมื่อผู้คนจะชื่นชมยินดี มันก็เรื่องปกติ ส่วนสาวๆ มุสลิมที่ออกจะเกินเลย ถามว่าจะโทษใคร

เริ่มแรกก็ผู้ปกครอง พ่อแม่เขานั้นแหละที่ต้องตักเตือนเป็นอันดับแรก ส่วนพวกเรานั้น ก็ตักเตือนด้วยกับวิทยปัญญา การตักเตือน มันก็มีรูปแบบไว้แล้ว

การใกล้ชิดระหว่างหญิงสาว-ชายหนุ่ม ที่มิใช่เป็นญาติใกล้ชิด มัน “ฮาราม” ต้องห้ามตามหลักการอิสลาม ถามว่ามุสลิมไม่รู้หรือไง…รู้หมดละครับ

ก่อนจะไปด่า “กระทง” ก่อนจะไปต่อว่า “ตูน” มาต่อว่าพวกเรากันเองไม่ดีกว่าหรือ…และการจะต่อว่าใครก็ควรมองถึงผลกระทบด้วยว่า มันเหมาะสมหรือไม่

ถ้าคิดว่าการบริจาคเงินผ่านตูนเพื่อไปซื้อเครื่องมือแพทย์ ไม่ดี สู้เอาเงินไปสร้างมัสยิดไม่ได้ คุณก็ทำไปเลย มีมัสยิดอีกมากมายที่ยังไม่แล้วเสร็จ

ใครที่บริจาคเงินสร้างมัสยิดดีครับ ไม่มีใครว่าไม่ดี แต่ถ้าเขาจะบริจาคเพื่อมนุษยธรรม แล้วไง…หรือเราคิดว่าคนที่บริจาคเงินผ่านตูน เขาไม่เคยบริจาคเงินสร้างมัสยิดหรือไง

แต่ถ้าจะมีมุสลิมคนใดจะไปช่วยซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้โรงพยาบาล โดยผ่านตูน ซึ่งเขากำลังรณรงค์ นั้นก็เรื่องของเขา

ส่วนเรื่องที่คนของเราเกินเลย นั้นเราต้องต้องมาว่ากันเอง การตักเตือน มิใช่การด่า หรือประจาน

ผมว่าไปห้ามคนที่เอาเงินไปซื้อยาบ้า เล่นการพนันดีกว่ามั้ง…ถ้าคุณทำแบบนี้ออกเฟซบุ๊ก รับรองได้มีคนเชียร์คุณเพียบ ยกเว้นคนขายยาบ้า และเจ้ามือบ่อนเท่านั้นที่ไม่พอใจ…

อย่าทำอะไรให้คนเขาคิดว่ามุสลิมนี่หาความพอดีไม่ได้เลย ใครทำอะไร เป็นขวางหูขวางตาไปทุกเรื่อง”…

ปรากฏการณ์ตูนได้สะท้อนให้สังคมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโลกโซเซียลต้องมีทักษะด้านต่างๆ อีกมาก เช่น มุมมองการบริจาคสาธารณประโยชน์ผ่านต่างศาสนิก ทักษะการสนับสนุนความดี ละเว้นความชั่วตามมุมมองศาสนา ทักษะการทำกิจกรรมสาธารณะกับคนต่างวัฒนธรรม ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ผู้เขียน ผู้เผยแผ่ศาสนธรรมและทุกคนจะร่วมด้วยช่วยกันอย่างไรในภารกิจหนุนเสริมความดีละเว้นความชั่วอย่างมีอารยะตามกรอบอิสลาม เพราะอิสลามคือแนวทางการดำเนินชีวิต

ท้ายนี้ฝากทุกท่านและมุสลิมสองเรื่องกรณีตูนวิ่งการกุศลผ่านแต่ละพื้นที่

1. ร่วมกันบริจาคเพราะมันคือความดีที่ไม่สิ้นสุด

2. สำหรับมุสลิมผู้ที่จะเซลฟี่ขอให้อยู่ในกรอบของมารยาทและหลักการอิสลาม

มาร่วมด้วยช่วยกันสร้างภาพดีๆ ที่ชายแดนใต้ต่อไป