ซอฟต์เพาเวอร์ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ซอฟต์เพาเวอร์

 

หลายคนบอกว่าภาษาอังกฤษนั้นเปรียบเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่จะไขเข้าสู่แหล่งความรู้ต่างๆ ได้เป็นอันมาก เนื่องจากภาษาอังกฤษนั้นได้รับความนิยมทั่วไปในระดับนานาชาติ

สื่อความรู้ต่างๆ อยู่ในรูปแบบที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางแทบทั้งสิ้น

แต่ก็นั่นแหละนะครับ ใช่ว่าทุกคนจะมีความสามารถที่จะใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วว่องไว

แม้แต่ตัวผมเองก็เถิด ยอมรับสารภาพหน้าชื่นตาบานว่ามีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผมอยู่ในระดับพอใช้การได้เท่านั้น ไม่ถึงระดับดีหรือดีเลิศอย่างแน่นอน

แต่ด้วยความเห็นใจคนที่ภาษาอังกฤษอ่อนแอยิ่งกว่าผม บางครั้งบางคราวผมจึงกำเริบแปลหนังสือภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาไทยเหมือนกันครับ ด้วยความรู้สึกคันไม้คันมืออยากให้หนังสือภาษาอังกฤษเล่มนั้นๆ มีฉบับภาษาไทยสำหรับอ่านกันในแวดวงผู้ที่สนใจ

ความสนุกและความท้าทายประการหนึ่งของคนแปลหนังสือคือการถ่ายทอดความหมายของถ้อยคำในภาษาอังกฤษออกมาให้ตรงกับภาษาไทยได้มากที่สุด

ภาษาอังกฤษคำหนึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะแปลเป็นภาษาไทยได้ตั้งหลายคำหลายทางเลือก

งานแปลของผมที่ผ่านมาในอดีตไม่ใช่งานเดี่ยว แต่ทำร่วมกันกับเพื่อนหรือรุ่นน้องที่คุ้นเคยกัน เวลามีคำภาษาอังกฤษยากๆ ปรากฏขึ้นมาในหนังสือเล่มที่เราแปล จะต้องมีการอภิปรายกันมากครับว่าควรถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยว่าอะไรแน่ จึงจะใกล้เคียงกับความหมายของคำในภาษาอังกฤษมากที่สุด

 

พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วทำให้ผมนึกถึงปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในวงวิชาการหรือคนที่สนใจในเรื่องของภาษาคือเรื่อง การบัญญัติศัพท์ อันหมายถึงการกำหนดคำภาษาไทยขึ้นแทนคำภาษาอังกฤษ ด้วยความตั้งใจให้คำที่คิดขึ้นใหม่ในภาษาไทยนั้นติดปากติดตลาดและเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง

บางคำก็ทำได้สำเร็จ และได้ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

เช่น ในสมัยรัชกาลที่หก เรามีสื่อสิ่งพิมพ์เกิดขึ้นใหม่เป็นอันมาก ตำแหน่ง editor ซึ่งทุกวันนี้เข้าใจกันทั่วไปแล้วว่าหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของหนังสือ แรกทีเดียวต้องเรียกทับศัพท์ว่า เอดิเตอร์ ซึ่งสำหรับคนไทยทั่วไปแล้วก็งงงวยอยู่ดีว่าหมายถึงใครกันแน่ ในครั้งนั้นมีข้อเสนอให้บัญญัติศัพท์สำหรับคำดังกล่าวเป็นภาษาไทยหลายทางเลือก เช่น คำว่า สาราณียกร ขณะที่อีกคนหนึ่งเสนอคำว่า ปัณณะการี

ซึ่งฟังแล้วอาจจะงงเข้าไปใหญ่

ลงท้ายก็มาสรุปกันที่คำว่า บรรณาธิการ ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผูกคำนี้ขึ้นสมกับฐานะที่ทรงเป็นพระมหาธีรราชจริงๆ

ขณะที่ศัพท์บัญญัติบางคำ เมื่อมีข้อเสนอขึ้นมาแล้วปรากฏว่า “ไม่ติดตลาด”

ตัวอย่างที่นึกออกคำหนึ่งคือคำว่า Computer ซึ่งมีผู้พยายามเสนอคำว่า คณิตกร ขึ้นมาแทนคำภาษาอังกฤษดังกล่าว แต่จนแล้วจนรอดก็ไปไม่รอด ฮา!

ทุกวันนี้ถ้ามีใครพูดว่าคณิตกรขึ้นมา กี่คนจะนึกถึงคอมพิวเตอร์

เป็นอันว่าเราก็ใช้คำนี้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษเพียงแต่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวสะกดแบบไทยเท่านั้น

 

ยิ่งโลกของเรามีการไปมาหาสู่กันมากขึ้น วิวัฒนาการของภาษาก็มีความซับซ้อนเพิ่มพูนขึ้นด้วย

ภาษาอังกฤษคำหนึ่งคือคำว่า soft power เป็นอีกคำหนึ่งที่กำลังมาแรงและมาเร็ว คำนี้เองแม้สำหรับชาวต่างประเทศที่ใช้อังกฤษเป็นภาษาทางการของประเทศหรือเป็นภาษาแม่อย่างที่พูดกัน ก็เพิ่งรู้จักคุ้นเคยเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

คำว่า Soft แปลว่าอะไรนั้นพอเข้าใจอยู่ คำว่า power ก็แปลว่าอำนาจแน่นอนอยู่แล้ว แต่พอเอาคำสองคำนี้มาสมาสเข้าด้วยกัน คุณพระ! นี่เราจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไรดี

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมเกิดมีภาระหน้าที่ที่มีความจำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดหรือบัญญัติจับดังกล่าวออกมาเป็นภาษาไทย คิดเอง คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก เลยไปโพสต์ลง Facebook เพื่อถามเพื่อนฝูงในวงกว้างว่ามีใครเสนอคำว่าอะไรบ้าง

คราวนี้มากันเยอะเลยครับ ที่ผมจำได้แม่นก็มี พลังอำนาจตะมุตะมิ พลังอำนาจอ่อน มัทวานุภาพ มฤทพล พลังที่ไม่พึ่งอำนาจ พลังทางวัฒนธรรม อำนาจละมุน ฯลฯ

มีบางท่านมาพร้อมกับข้อเสนอว่าอย่าไปคิดบัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้นมาเลย ใช้ทับศัพท์แบบที่เราใช้คำว่าคอมพิวเตอร์นี่แหละ สะกดเสียว่า ซอฟต์เพาเวอร์ ก็จบปัญหา

 

ศัพท์บัญญัติภาษาไทยสำหรับภาษาอังกฤษคำนี้คงเถียงกันได้อีกนาน และผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะได้ข้อยุติว่าอย่างไรกันแน่

แต่ที่แน่ใจคือซอฟต์เพาเวอร์กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยของเราเองซึ่งมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาแบบไทยของเราอยู่มากมายน่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นำมาต่อยอดในทิศทางและมิติต่างๆ ให้เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง

เรื่องอย่างนี้รัฐบาลพูดมาหลายรัฐบาลแล้ว จนเปลี่ยนรัฐมนตรีไปหลายคน (แต่นายกฯ คนเดิม ฮา!) ทุกอย่างก็ยังไม่เกิดผลขึ้นเต็มที่ดังใจปรารถนา

เทียบกับประเทศเกาหลีไม่ได้เลยครับ การใช้ซอฟต์เพาเวอร์ของเกาหลีให้เกิดประโยชน์นั้นเขาทำกันจริงจังมาก มีแผนนโยบายชัดเจน มีงบประมาณสนับสนุน และทำในระดับชาติจริงๆ

เป็นชาติปัจจุบันไม่ใช่ชาติหน้าด้วยครับ อิอิ

 

ทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยรวมทั้งผมก็ชอบดูหนังเกาหลี กิมจิก็อยากกิน หลานผมก็อยากซื้อเครื่องสำอางเกาหลี รถยี่ห้อฮุนไดก็ขายดี ผ่าตัดเปลี่ยนหน้าของเราให้เหมือนอบป้าเกาหลีก็น่าสนใจ อะไรที่เป็นเกาหลีดูมันเข้าท่าเข้าทางดีจริง

วงดนตรีเกาหลีแต่ละวงมีคนติดตามเป็นจำนวนมหึมามหาศาลทั่วทั้งโลก มีน้องคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เธอเป็นแฟนคลับของวงดนตรีเกาหลีวงหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงเรียงนามคล้ายรถไฟฟ้าบ้านเรา และมีกำหนดจะจัดแสดงคอนเสิร์ตที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

ขนาดเพียงแค่แว่วข่าวมายังไม่มีกำหนดแน่นอนว่าคอนเสิร์ตจะจัดวันไหนแน่ เธอได้จองโรงแรมแบบยกเลิกได้ล่วงหน้าเป็นช่วงๆ ให้กระจายไปตลอดทั้งเดือนที่น่าจะเป็นเดือนจัดคอนเสิร์ต

พอรู้วันแน่นอนแล้วก็ยกเลิกการจองในช่วงวันอื่นหมด เหลือไว้เพียงแค่วันที่ต้องการใช้งานจริง ตั๋วเครื่องบินก็รีบจอง วันที่ขึ้นเครื่องบินไปเกาหลี มองตากันแทบทั้งลำก็รู้ใจกันว่าทุกคนจะไปดูคอนเสิร์ตงานเดียวกัน

เต็มลำครับ เต็มลำ

ตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตก็ไม่ใช่ราคาถูกๆ ไปถึงที่นู่นแล้วก็ต้องกินต้องใช้ ต้องซื้อของที่ระลึกของฝาก ไหนยังจะสินค้าของวงของเขาอีก มีแล้วก็ต้องมีให้ครบทุกรายการ

แฟนคลับบางคนเดินทางข้ามทวีปมาจากอเมริกาใต้นู่น เรียกว่ามากันทั่วโลกเชียวล่ะ

เจ้าตัวกลับบ้านแล้วมาหัวร่อพลางเล่าให้ผมฟังว่า “เสียเงินเป็นแสน แขนยังไม่ได้จับเลย” ฮา!

 

ที่เล่าเรื่องนี้ขึ้นมาให้ฟังก็เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ซอฟต์พาวเวอร์ นั้นเป็นของมีจริง

และถ้าคิดอ่านด้วยสติปัญญาให้ลึกซึ้งกว้างขวางแล้ว จะใช้เรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองได้อีกมาก

เรื่องนี้พูดกันมานานแล้วแต่ยังไม่เกิดผลจริงเสียที

ผมนำเรื่องนี้มากล่าวเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นต่อมอะไรบางอย่างของผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ให้ขยับขับเคลื่อนขึ้นมาบ้าง

ขอเป็นนโยบายระดับชาตินี้นะครับ อย่าไปไกลถึงระดับชาติหน้าเลย