บทความพิเศษ : “ความยุติธรรม” ในทัศนะเรื่องสั้นของ เสนีย์ เสาวพงศ์

ความยุติธรรมเป็นแนวคิดเกี่ยวกับความถูกต้องตามศีลธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรม ความสมเหตุสมผล กฎหมาย กฎหมายธรรมชาติ ศาสนา ความเที่ยงธรรม (equity) และความเป็นธรรม (fairness) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย

โดยคำนึงถึงสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ และสิทธิโดยกำเนิดของมนุษยชาติและพลเมืองทั้งหลายกับสิทธิของปวงชนและเอกชนที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ซึ่งว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองของพวกเขาเหล่านั้น โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ เพศ รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ เหล่ากำเนิด สีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา ความพิการ อายุ ความยากดีมีจนและลักษณะประการอื่น ทั้งยังถือด้วยว่ารวมถึงความยุติธรรมทางสังคม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า ยุติธรรม ดังนี้

คำนาม (น.) หมายถึง ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล

คำวิเศษณ์ (ว.) หมายถึง เที่ยงธรรม, ไม่เอนเอียงเข้าทางใดทางหนึ่ง, ชอบด้วยเหตุผล

โสภณ รัตนาการ กล่าวว่า

“ความยุติธรรมอาจหมายถึง ความสุจริต ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยกฎหมาย ความถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิตามกฎหมาย การปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนประเพณีและการปฏิบัติตามหน้าที่ ความยุติธรรมคลุมถึงความประพฤติทั้งหมดของคนเรา แต่หลักความยุติธรรมนั้นกว้างกว่าหลักกฎหมาย ความยุติธรรมตามกฎหมายแคบกว่าความยุติธรรมโดยทั่วๆ ไป กล่าวคือ เป็นความยุติธรรมที่มีอยู่ในขอบเขตของกฎหมายหรือการใช้กฎหมาย ความยุติธรรมหรืออยุติธรรมเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้กฎหรือระเบียบข้อบังคับ ไม่ว่ากฎนั้นจะเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับ หรือระเบียบประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในสังคมหรือหมู่คณะ ความอยุติธรรมใน “รูป” เกิดจากการใช้กฎหรือระเบียบข้อบังคับนั้นเองไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรมเช่นนี้เป็นความอยุติธรรมใน “สาระ” หรือเนื้อหาของกฎหรือระเบียบข้อบังคับนั้นเอง”

ในบทความชิ้นนี้จะกล่าวถึง “ความยุติธรรม” ในทัศนะเรื่องสั้นของ เสนีย์ เสาวพงศ์ นามปากกาของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (12 กรกฎาคม 2461-29 พฤศจิกายน 2557) นักการทูต นักเขียนรางวัลศรีบูรพา นักเขียนอมตะและศิลปินแห่งชาติ

ผลงานชิ้นสำคัญคือนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะงานที่พูดถึงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระหว่างยุคก่อนและหลัง 2475 จนนับได้ว่าเป็นหมุดหมายทางเวลาที่ชัดเจนที่สุดอันหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย

“นักโทษเนรเทศ” พิมพ์ครั้งแรกท่องเที่ยวสัปดาห์ 3 (2 พฤศจิกายน 2483) เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่รวมอยู่ในเล่ม “แจ่มรัศมีจันทร์” ซึ่งเล่าเรื่องโดยให้ตัวละครหลัก “ผม” เป็นผู้เล่าเรื่องของตนเอง (I-narrator หรือ First person perspective) ในแนวกระแสสำนึก (Stream of consciousness vioce) เน้นปมความขัดแย้งภายในจิตใจของปัจเจก (ตัวละคร) (Man against himself)

โดยมีเนื้อหากล่าวถึงสถานที่คือเกาะตะรุเตา ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ (2479) มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน

ปลายปี 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดีกบฏบวรเดช (2476) และกบฏนายสิบ (2478) จำนวน 70 นายมายังเกาะตะรุเตา ซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง

ราชันกำลังเดินทางโดยรถไฟที่สถานีหัวลำโพง เขาไม่ได้ไปเรียนต่อดังที่เคยหวังเอาไว้ แต่เป็นการเดินทางจากกรุงเทพฯ-ควนเนียง เพื่อไปใช้ชีวิตเยี่ยงนักโทษเนรเทศเป็นเวลา 3 เดือนที่เกาะตะรุเตา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลควบคุมตัวและร่วมเดินทาง

ซึ่ง เสนีย์ เสาวพงศ์ มิได้บอกว่าราชันกระทำความผิดด้วยข้อหาใด จึงอาจสันนิษฐานว่าเป็นนักโทษการเมืองโดยดูความหมายของชื่อตัวละคร ราชัน และช่วงปีที่ผลงานเรื่องสั้นนี้ตีพิมพ์

ราชันเล่าเรื่องราวเมื่อเขาได้พบเห็นสิ่งแวดล้อมระหว่างเดินทาง ทั้งการตั้งคำถาม หาคำตอบและทบทวนความทรงจำถึงความรักและมิตรภาพที่แฝงไปด้วยปรัชญาน่าคิด

แต่ดูเหมือนบทสนทนาของราชันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องความยุติธรรมจะเป็นสารัตถะของเรื่องสั้น ที่ได้แสดงถึงทัศนะของตัวละครและหรือผู้เขียน ซึ่งน่าตีความเป็นอย่างยิ่ง

“คุณเชื่อไหมว่ากฎหมายเป็นสิ่งให้ความยุติธรรมเพียงพอ ผู้ที่ทำผิดย่อมจะต้องได้รับโทษเสมอไป” (น.29)

จากข้อความข้างต้นสามารถตีความได้ว่า คำถามของเจ้าหน้าที่ตำรวจนายนั้นได้แสดงทัศนะแก่ราชันว่า ความยุติธรรมมีบางอย่างเกี่ยวข้องกับการลงโทษและให้รางวัล หมายความว่าผู้ที่กระทำผิดย่อมได้รับโทษ ส่วนผู้บริสุทธิ์จะได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ แต่คำตอบของราชันที่มีต่อคำถามและความหมายข้างต้นอาจสวนทางกันดังนี้

“กฎหมายเป็นแต่เพียงระเบียบแห่งความประพฤติของสังคมเท่านั้น ซึ่งศาลถือเป็นหลักในการตัดสินข้อพิพาทของบุคคล จะเป็นทางอาญาหรือแพ่งก็ตาม และในการตัดสินนั้นศาลถือเอาความเชื่อและเหตุผลเท่านั้น ศาลมองไม่เห็นความจริงแท้ ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงด้วยความเชื่อในพยานหลักฐาน แต่ความจริงบางกรณีเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ และมนุษย์มองไม่เห็น ความจริงเป็นรากฐานของความยุติธรรม ไม่ใช่ความเชื่อและไม่ใช่ด้วยเหตุผล” (น.29-30)

จากข้อความข้างต้นจะเห็นว่า คำตอบของราชันที่มีให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นขัดแย้งกับความคิดและความเชื่อที่ว่าผู้กระทำผิดย่อมจะต้องได้รับโทษเสมอไป เพราะความจริงนั้นความยุติธรรมไม่ใช่ความเชื่อและไม่ใช่เหตุผล บ่อยครั้งที่การกระทำอย่างยุติธรรมมักเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือประยุกต์ใช้กฎหมายเหล่านี้ประกันให้เกิดความแน่นอนคงเส้นคงวา โดยกำหนดลงไปว่าจะต้องทำอะไรบ้างในสภาพการณ์เฉพาะหนึ่งๆ ทว่าลำพังความแน่นอนคงเส้นคงวาอย่างเดียวหาได้เพียงพอที่จะยังให้เกิดความยุติธรรมไม่

จนอาจกลายเป็นข้อสรุปความคิดเห็นของราชันว่า “ความยุติธรรมไม่มีในโลก ไม่มีจริงๆ มันเป็นสิ่งที่เราอุปโลกน์ขึ้นเพื่อลวงคนโง่ไม่ให้คิดตอบแทนต่อผลประโยชน์ที่คนอื่นได้เอาไปจากเขาหรือต่อการที่เขาถูกคนอื่นรังแก-” (น.31)

“คุณพูดคล้ายกับว่าคุณไม่ได้รับความยุติธรรม”

“เป็นความจริงที่สุด สิ่งที่ผมได้รับนั้นคือผลบังคับของกฎหมาย ไม่ใช่ความยุติธรรม และคุณคงรับรองว่าผมไม่ได้พูดติเตียนกฎหมาย แต่ผมติเตียนความยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งไม่มีตัวตน… ความเชื่อของบุคคลย่อมไม่ตรงกับความจริงเสมอไป และในทำนองเดียวกัน ความเชื่อของศาลก็ย่อมเป็นความยุติธรรมเสมอไปไม่ได้” (น.31)

จากข้อความอันเป็นคำถามและคำตอบข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ความยุติธรรมไม่เพียงแต่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ผู้คนได้รับเท่านั้น หากยังเกี่ยวกับกระบวนการที่ดำเนินตามเพื่อบรรลุถึงผลลัพธ์ที่ว่าด้วย เราจะเห็นความข้อนี้เมื่อนึกถึงความยุติธรรมทางอาญา แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้กระทำผิดควรถูกลงโทษอย่างได้สัดส่วนกับอาชญากรรมของตนและผู้บริสุทธิ์ควรได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ นั่นคือสิ่งซึ่งผลลัพธ์ที่ความยุติธรรมเรียกร้องต้องการให้เกิดขึ้น ทว่ามันก็สำคัญด้วยเช่นกันที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อบรรลุถึงคำพิพากษา

แต่ในบางคดี ความยุติธรรมเป็นเรื่องของกระบวนการที่ใช้บรรลุถึงการตัดสินล้วนๆ ไม่มีมาตรฐานอิสระใดๆ ที่เราอาจประยุกต์ใช้กับผลของมันได้เลย

จุดหักเหของเรื่องสั้นเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ราชันลุกขึ้นเผ่นเข้าไปคว้าตัวเด็กน้อยผู้ร่วมโดยสารในขบวนรถไฟที่โน้มตัวออกไปนอกหน้าต่างระหว่างแม่ปลีกตัวไปห้องน้ำและทำกิจอื่นๆ ความรู้สึกอันเป็นสัญชาตญาณว่าจะเกิดอันตรายแก่เด็กน้อยกลับทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิง เพราะความเข้าใจผิดว่าเขาพยายามจะหนี

จุดหักเหดังกล่าวนำมาซึ่งตอนจบของเรื่องสั้นเรื่องนี้และจุดจบคือความตายของราชัน ซึ่งอาจมองได้ว่า ความยุติธรรมนอกจากเกี่ยวข้องกับการลงโทษดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังเป็นการให้รางวัลอีกด้วย มันคือความตายที่ถูกหยิบยื่นโดยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้รักษากฎหมายหรือความยุติธรรมนั่นเอง

นอกจากผลบังคับของกฎหมายที่ราชันพยายามอธิบายว่ามันไม่ยุติธรรม หากเขาเป็นนักโทษทางการเมืองที่กำลังถูกเนรเทศไปเกาะตะรุเตา เขาจึงสะท้อนว่าความยุติธรรมเป็นกระบวนการที่มาจากรัฐที่อาจลงลึกไปถึง “อำนาจ” ที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมขณะนั้นด้วย ซึ่งต่างจากความเป็นธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียกร้องและต่อสู้เพื่อจะได้มา “ผมไม่กลัวอะไรเลยที่นั่น”, “ผมเกิดมาเพื่อสู้ชีวิตอย่างนี้” (น.29)

แต่ดูเหมือนเขาจะไม่ได้ต่อสู้หรือขัดขืนใดๆ เลย นอกจากความตายที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหยิบยื่นให้ในตอนจบแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมาย

เขาไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่

ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2459 ความว่า “ความยุติธรรมแปลว่าความประพฤติอันชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายเท่านั้น ความเห็นส่วนตัวบุคคล ย่อมแปรปรวนไปต่างๆ ไม่ยุติ เป็นยุติธรรมไม่ได้เลย”

คล้าย เสนีย์ เสาวพงศ์ จะสื่อสารว่า แม้ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ความตายอาจเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เขาสามารถหลีกหนีผลบังคับของกฎหมายหรือโทษทัณฑ์นั้นได้ การ “หนี” จึงกลายเป็นความผิดอย่างหนึ่ง แม้ว่าผลของการหนีจะแตกต่างกันระหว่างการมีชีวิตรอดและความตาย

เท่ากับว่า เสนีย์ เสาวพงศ์ กำลังตอกย้ำถึงความยุติธรรม “ที่มองไม่เห็น ไม่มีตัวตนและจับต้องไม่ได้” (น.31) แต่มันคือการยุติปัญหา ยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่ยุติที่กฎหมาย เพราะสุดท้ายแล้ว เสนีย์ เสาวพงศ์ กำลังสรุปให้ผู้อ่านขบคิดต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่มีความบกพร่องในหน้าที่จะต้องรับผิดชอบต่ออำนาจที่ได้กระทำลงไปหรือไม่ อย่างไร และการยุติปัญหา ความขัดแย้งนี้จะลดลงหรือเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

จึงน่าจะอยู่ที่กรอบคิดเรื่องความยุติธรรมของคนและสังคมไทย