รายงานพิเศษ : 5,613 กำลังพล ร่วมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ถวายพระเกียรติสุดยิ่งใหญ่

พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการยกย่องเป็นสมมติเทพ เมื่อสวรรคตเท่ากับเป็นการเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ พระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมศพจึงถือเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี เพื่อน้อมส่งเสด็จ

เมื่อถึงหมายกำหนดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะต้องอัญเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพออกจากพระบรมมหาราชวัง เคลื่อนสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง อัญเชิญพระบรมโกศเวียนรอบพระเมรุมาศ จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธาน แล้วจึงถวายพระเพลิง วันรุ่งขึ้นอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศไปประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง

การอัญเชิญพระบรมศพไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศกลับสู่พระบรมมหาราชวัง รวมถึงการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญไปด้วยขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เรียกว่า “ริ้วขบวน”

ในแต่ละริ้วขบวนมีคนหาม คนฉุดชักจำนวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ แวดล้อมตามพระราชฐานันดรศักดิ์แห่งพระบรมศพ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องประโคม เช่น สังข์แตร ปี่ กลองชนะ พร้อมด้วยโขลนพลโยธาแห่นําตามแซงเสด็จทั้งคู่แห่ คู่เคียง เป็นจํานวนมาก ซึ่งจะเข้าขบวนและเคลื่อนขบวนไปอย่างมีระเบียบและสง่างาม

การเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์

ในริ้วขบวนมีเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ จำแนกได้เป็น ฉัตร เครื่องสูง ราชยาน ราชรถ รูปเทวดา และรูปสัตว์หิมพานต์ ทั้งที่ปรากฏในริ้วขบวนแห่พระศพที่มีมาแต่โบราณ และที่ประดับบนชั้นฐานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง

ฉัตร เป็นเครื่องสูงสำคัญสำหรับพระบรมราชอิสริยยศ มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่าง เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้มีอำนาจ และเป็นเครื่องหมายมงคลที่สำคัญสิ่งหนึ่งตามคติความเชื่อของอินเดียโบราณว่าด้วยมงคล 108 และในจีนจัดเป็นเครื่องหมายมงคลที่เนื่องในพระพุทธศาสนาสิ่งหนึ่งในมงคล 8

คติความเชื่อนี้ได้แพร่มาในประเทศไทยพร้อมการรับศาสนาพุทธมาเป็นศาสนาแห่งแผ่นดิน ดังปรากฏหลักฐานโบราณวัตถุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 และไทยถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระจักรพรรดิ หมายถึงผู้ชนะศึกทั้ง 8 ทิศ จึงนำเอาร่มของเมืองขึ้นทั้ง 8 ทิศ มารวมซ้อนเข้าด้วยกันเป็นชั้นๆ และเพิ่มทิศของตนเองอีก 1 ทิศ รวมเป็น 9 ทิศ และถือว่าสีขาวเป็นมงคล จึงยึดถือร่มสีขาวเรียกว่า ร่มสีขาว หรือ เศวตฉัตร

ดังนั้น ฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพหรือพระจักรพรรดิจึงมี 9 ชั้น เรียกว่า นพปฎลมหาเศวตฉัตร จัดเป็นเครื่องสูงที่มีความสำคัญสูงสุด เช่นเดียวกับพระมหามงกุฎ

มีหลักฐานว่าไทยเราใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ดังปรากฏในกฎมณเฑียรบาล ฉบับศักราช 720 หรือ พ.ศ.1901 ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ มีฉัตร 4 ชนิด คือ ฉัตรขาวหรือเศวตฉัตร ฉัตรขาวลายทอง ฉัตรตาด และฉัตรโหมด วิธีการใช้มีทั้งการแขวนและการปักตั้ง

การใช้จำนวนชั้นของฉัตรเป็นการแสดงพระราชอิสริยยศด้วย

นอกจากฉัตรแล้ว เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ประเภทเครื่องสูงที่ควรทราบ ได้แก่ บังพระสูรย์ บังแทรก จามร ซึ่งมีการตกแต่งเป็น 2 แบบ

ทั้งแบบปักหักทองขวาง และแบบทองแผ่ลวด

ใช้เชิญไปในขบวนเพื่อกันแดดที่ร้อนจัด นอกจากเป็นเครื่องสูงเทิดพระเกียรติตามพระอิสริยศักดิ์ เช่นเดียวกับพัดโบก ที่ทำจากใบตาลตกแต่งให้งดงาม ใช้สำหรับรำเพยพัดให้มีลมเย็นสบาย

พุ่มดอกไม้เงินและพุ่มดอกไม้ทอง เชิญเป็นริ้วสองข้างของขบวนแห่ จัดเป็นเครื่องสูงที่สมมติเป็นพุ่มดอกไม้จากสวรรค์ ใช้ได้ทั้งในพระราชพิธีมงคลและอวมงคล

สำหรับการจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคมนี้ มีขบวนพระบรมราชอิสริยยศ จำนวน 6 ริ้วขบวน ใช้กำลังพลจำนวน 5,613 นาย มีเส้นทางการเคลื่อนริ้วขบวน

ดังนี้

วันที่ 26 ตุลาคม 2560 เวลา 07.00 น.

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านทางประตูเทวาภิรมย์ จากนั้นใช้เส้นทางถนนมหาราช เลี้ยวเข้าสู่ถนนท้ายวัง มุ่งไปยังถนนสนามไชย เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รวมระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 965 นาย

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปทางถนนสนามไชย ยาตราขบวนแห่เชิญพระโกศทองใหญ่ จากถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน จากนั้น ขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่เชิญพระโกศทองใหญ่เข้าสู่ท้องสนามหลวง รวมระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เดินแบบเปลี่ยนเท้า ประกอบเพลงพญาโศก จัดกำลังพลจำนวน 2,406 นาย

ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่ ตั้งขบวนพระบรมราชอิสริยยศเข้าสู่ราชวัติ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ เวียนพระเมรุมาศครบ 3 รอบแล้ว เทียบราชรถปืนใหญ่ที่เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐาน ณ พระจิตกาธาน รวมระยะทาง 260 เมตรต่อรอบ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 781 นาย

วันที่ 27 ตุลาคม 2560 เวลา 08.00 น.

ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และเชิญพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย จากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เส้นทางจากถนนกลางสนามหลวง-ถนนราชดำเนินใน-ถนนหน้าพระลาน-เข้าประตูวิเศษไชยศรีพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 1,074 เมตร ใช้เวลา 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 834 นาย

วันที่ 29 ตุลาคม 2560 เวลา 10.30 น. และ 17.30 น. ตามลำดับ

ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รวมระยะทาง 63 เมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 550 นาย

ริ้วขบวนที่ 6 ขบวนกองทหารม้าเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางประตูวิเศษไชยศรี ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และขบวนกองทหารม้าเชิญพระบรมราชสีรางคารจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เส้นทางจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม-ประตูวิเศษไชยศรี-ถนนหน้าพระลาน-ถนนสนามไชย-วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม-ถนนอัษฎางค์-ถนนสนามไชย-ถนนราชดำเนินกลาง-ถนนพระสุเมรุ-วัดบวรนิเวศวิหาร

จัดขบวนม้าจำนวน 77 ม้า