จับตาแผนบริหารท่วม-แล้ง ภายใต้การคุมบังเหียน ‘บิ๊กป้อม’ วัดฝีมือนายกฯ คนที่ 30?/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

จับตาแผนบริหารท่วม-แล้ง

ภายใต้การคุมบังเหียน ‘บิ๊กป้อม’

วัดฝีมือนายกฯ คนที่ 30?

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเผชิญกับพายุแล้ว 2 ลูก ได้แก่ พายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” ที่เกิดขึ้นในจีนตอนใต้ เมียนมา และลาว เมื่อวันที่ 11-13 สิงหาคม และพายุดีเปรสชั่น “หมาอ๊อน” ที่เข้าประเทศลาวตอนบน เมื่อวันที่ 24-26 สิงหาคม ส่งผลให้เกิดอุทกภัยใน 34 จังหวัด

และปัจจุบันยังต้องเผชิญกับพายุฝนฟ้าคะนอง ที่ส่งผลให้หลายจังหวัดต้องประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้!

ทั้งนี้ จากการสำรวจของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าผลกระทบที่เกิดในด้านการเกษตร แบ่งเป็น ผลกระทบจากอุทกภัย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565-ปัจจุบัน ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 22 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ขอนแก่น เลย มหาสารคาม บุรีรัมย์ หนองคาย อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ และพระนครศรีอยุทธา

โดยมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 37,167 ราย พื้นที่ 172,933 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 141,643 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 28,242 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 3,048 ไร่

ในจำนวนดังกล่าวสำรวจพบความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 5.94 ล้านบาท โดยมีเกษตรกร 542 ราย พื้นที่ 3,848 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2,874 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 5,895 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ 79 ไร่

ส่วนด้านประมง ได้รับผลกระทบ 10 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุบลราชธานี ตราด และปราจีนบุรี เกษตรกร 1,320 ราย รวมพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1,179 ไร่ แบ่งเป็น บ่อปลา 1,057 ไร่ บ่อกุ้ง 122 ไร่ ขณะนี้ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

ขณะที่ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจันทบุรี เกษตรกร 3,235 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 600,073 ตัว แบ่งเป็น โค 6,766 ตัว กระบือ 2,019 ตัว สุกร 5,987 ตัว แพะหรือแกะ 1,227 ตัว สัตว์ปีก 584,074 ตัว แปลงหญ้า 1,661 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงด้วย นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565-ปัจจุบัน ได้แก่ ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ และปราจีนบุรี เกษตรกร 2,119 ราย พื้นที่ 31,211 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 932 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 30,279 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 27 ราย พื้นที่ (พืชไร่และพืชผัก) 343ไร่ คิดเป็นเงิน 1.39 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 27 ราย คิดเป็น 100% ของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย พื้นที่ 319 ไร่ วงเงิน 6.3 แสนบาท หรือคิดเป็น 45.32% ของวงเงินช่วยเหลือ ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ ไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ผลกระทบด้านวาตภัย นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565-ปัจจุบัน ได้แก่ ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 31 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ลำปาง ลำพูน น่าน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย พะเยา พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด จันทบุรี สระแก้ว สมุทรสาคร กระบี่ ชุมพร ตรัง พังงา สตูล นราธิวาส นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เกษตรกร 19,307 ราย พื้นที่ 25,399 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,614 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 18,489 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 5,297 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 2,741 ราย พื้นที่ 6,142 ไร่ แบ่งเป็น พืชไร่และพืชผัก 4,360 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 1,782 ไร่ คิดเป็นเงิน 15.85 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 2,430 ราย คิดเป็น 88.65% ของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย พื้นที่ 5,484 ไร่ วงเงิน 13.62 ล้านบาท หรือคิดเป็น 85.93% ของวงเงินช่วยเหลือ ส่วนด้านประมง และด้านปศุสัตว์ ไม่ได้รับผลกระทบ

สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทุกขนาด 52,118 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 63% ของความจุทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 45,582 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 64% ของความจุทั้งหมด ทั้งนี้ มีการเฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี

รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ

สําหรับแนวทางการรับมือกับทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง ปัจจุบัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เข้ามาดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และปัจจุบันได้ออกมาตรการรับมือฤดูฝน 2565 ทั้งหมด 13 มาตรการ ได้แก่

1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในช่วงเดือนมีนาคม-ธันวาคม 2565 ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนน้อยกว่าค่าปกติ เพื่อป้องกันล่วงหน้า

2. การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำหลากและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ 1 ในช่วงฤดูน้ำหลาก พร้อมจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน

3. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำหรือเกณฑ์ควบคุม

4. ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน พร้อมตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ

5. ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำรวจและจัดทำแผนดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพื้นที่น้ำท่วม หรือพื้นที่ชะลอน้ำ

6. ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา

7. เตรียมพร้อม วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ พร้อมเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

8. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ ลดการสูญเสียน้ำ

9. ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน ทำนบ และพนังกั้นน้ำ ตลอดช่วงฤดูฝน

10. จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่

11. ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ตลอดช่วงฤดูฝน

12. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ตลอดช่วงฤดูฝน สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เครือข่ายต่างๆ และประชาชน

และ 13. ติดตาม ประเมินผล และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยตลอดช่วงฤดูฝน

แม้ทางภาครัฐจะมีการเตรียมแผนรับมือน้ำเป็นอย่างดีแล้ว แต่ด้วยปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาซ้ำซากที่ไทยต้องเผชิญทุกปี จึงต้องจับตาว่ารัฐภายใต้การควบคุมของชายชื่อ พล.อ.ประวิตร ที่นั่งเก้าอี้เพิ่ม รักษาการนายกรัฐมนตรี จะคุมสถานการณ์ได้อยู่หมัด สร้างผลงานชิ้นใหญ่ในห้วงเวลาใกล้เลือกตั้ง ได้หรือไม่

ถ้าสร้างผลงานยอดเยี่ยมได้จริง ไม่แน่ว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อาจจะเป็นชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เป็นได้!