บทความพิเศษ : ดูมาส์กับมาเก้ต์ – “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ”

ในภาษาฝรั่งเศสคำว่า negre หรือ negro มีมาตั้งแต่ ค.ศ.1516 หมายถึงคนผิวดำในทวีปแอฟริกา

เมื่อถึง ค.ศ.1757 คำนี้มีความหมายเพิ่มมาอีกหนึ่ง กล่าวคือ ใช้เรียกบุคคลซึ่งเขียนงานประพันธ์ฉบับร่างไม่ว่าจะเป็นบทละครหรือนวนิยาย แล้วให้นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงเขียนแก้ไขและลงนามในฐานะเจ้าของต้นฉบับที่ใช้ตีพิมพ์เผยแพร่ ในบางกรณีนักประพันธ์มิได้แก้ไขต้นฉบับแต่ให้ยืมชื่อเพื่อให้ต้นฉบับนั้นได้ตีพิมพ์

กล่าวได้ว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 แล้ว

ในศตวรรษที่ 19 การเขียนในลักษณะนี้มีมากเนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา เพราะเผยแพร่ครั้งแรกด้วยการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงหนังสือพิมพ์รายวัน

หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นมี 2 ฉบับ คือ La Presse กับ Le Si?cle ต่างแข่งกันเพิ่มยอดสมาชิกและรักษาสมาชิกเดิมไว้ วิธีการคือตีพิมพ์นวนิยาย “ขายดี” เป็นตอนๆ ลงต่อเนื่องทุกวัน ในการนี้เจ้าของหนังสือพิมพ์จับนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงติดตลาดเซ็นสัญญากับตน ตลาดที่ว่านี้ขยายจากพวกปัญญาชนซึ่งอ่านหนังสือเล่มไปสู่คนทั่วไปซึ่งนิยมอ่านหนังสือพิมพ์

สำนวนที่ว่า “โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า” ซึ่งนิตยสาร Revue de Paris เริ่มใช้เมื่อ ค.ศ.1829 กลายเป็นคำที่วงการหนังสือพิมพ์นิยมใช้

นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงติดตลาดก่อน อเล็กซ็องด์ร์ ดูมาส์ คือ เออแฌน ซู ผู้แต่งเรื่อง Les Mysteres de Paris

หนังสือพิมพ์ La Presse ใช้วิธีการแบบนายทุน กล่าวคือ เซ็นสัญญาผูกมัดนักประพันธ์ยาวนานถึงสิบสองหรือสิบห้าปี หนังสือพิมพ์เล็กๆ ที่อยากตีพิมพ์นวนิยายของนักประพันธ์ขายดีเพื่อเพิ่มยอดสมาชิก ก็จะต้องมาซื้อสิทธิ์ต่อจาก La Presse ตามที่ฝ่ายนี้กำหนดเงื่อนไข

ดูมาส์มีชื่อเสียงโด่งดังมาก่อนในฐานะนักแต่งบทละคร เมื่อเขาหันมาสนใจแต่งนวนิยายตั้งแต่ปี ค.ศ.1838 เป็นต้นมา เขาก็เล็งเห็นว่าเขาน่าจะประสบความสำเร็จถ้าเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์

เหตุผลและแรงกระตุ้นมีหลายประการ

ประการแรก เขาประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากบทละครอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง “พระเจ้าอองรีที่ 3 และราชสำนัก” ตั้งแต่ปี ค.ศ.1829

ประการที่สอง คือแรงบันดาลใจจากประเทศอังกฤษ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของ Sir Walter Scott เป็นที่นิยมโด่งดังไปทั่วยุโรป ประเทศฝรั่งเศสควรจะมีนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของตนเช่นกัน

ประการที่สาม ตัวดูมาส์เองชื่นชอบประวัติศาสตร์และประสงค์จะบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหลังการปฏิวัติใหญ่ ค.ศ.1789 ในรูปแบบของนวนิยาย นับเป็นการสร้างนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เต็มตัวแท้จริง

แน่ละ ดูมาส์ย่อมไม่เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ด้วยกลวิธีการประพันธ์เดียวกับ Sir Walter Scott ซึ่งเริ่มด้วยการบรรยายบุคลิกลักษณะของตัวละครเพื่อให้ผู้อ่านจดจำได้ว่าเป็นผู้ใดเมื่อตัวละครนั้นๆ ปรากฏตัวอีกครั้ง

ดูมาส์จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวัน

ตัวเขานั้นเข้าใจและเข้าถึงเทคนิคการเขียนนวนิยายเป็นตอนๆ ให้ผู้อ่านติดตามมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเขาเป็นนักเขียนบทละครมาก่อน ละครนั้นแสดงด้วยการกระทำและคำพูดของตัวละคร มิใช่ด้วยการบรรยาย

ดูมาส์จึงสร้างตัวละครด้วยสิ่งที่เขากระทำและด้วยคำพูดของเขาซึ่งจะสะท้อนบุคลิกลักษณะของเขาอย่างเด่นชัดและประทับตราตรึงในใจของผู้อ่าน

ตอนจบแต่ละองก์ในบทละครจะทิ้งท้ายให้ผู้ชมสนใจใคร่ชมองก์ต่อไปด้วยจิตใจอันระทึกเพราะอยากรู้อยากเห็น

ดูมาส์ก็ทำเช่นเดียวกันในท้ายบทนวนิยายแต่ละบท

นวนิยายเรื่อง Le Capitaine Paul ที่ดูมาส์ตีพิมพ์ในหนังสือ Le Siecle เมื่อปี ค.ศ.1838 นั้นยังไม่ใช่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องรักสะเทือนอารมณ์แบบโรแมนติก

ในช่วงเวลาเพียง 3 สัปดาห์ หนังสือพิมพ์ Le Siecle มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกห้าพันคน

ดังนี้ไม่ว่าเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับใดก็ประสงค์จะตีพิมพ์งานของดูมาส์ทั้งนั้น

ขอย้อนกลับมาที่คำว่า negre ตามความหมายที่สอง ซึ่งในภาษาไทยอาจใช้คำว่า “มือใหม่” หรือ “มือไม่ถึง” สำหรับผู้ที่เริ่มเขียน เมื่อพัฒนาตนเองถึงขั้นร่วมวางโครงเรื่องและเขียนฉบับร่างให้ อาจเรียกว่า “มือแฝง”

ดูมาส์มีผู้ร่วมงานในฐานะมือแฝงหลายคน คนสำคัญคนหนึ่งคือ Gerard de Nerval ซึ่งเป็นทั้งกวีและนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว

แนร์วาลมีกลุ่มเพื่อนซึ่งปฏิเสธขนบการเขียนแบบคลาสสิค หนึ่งในนั้นคือ โอกุสต์ มาเก้ต์ ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมปลายชาร์ลมาญ

มาเก้ต์มาจากครอบครัวฐานะดี เขาอยากเป็นนักเขียนมากกว่าครู จึงลาออกไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ Figaro แล้วเริ่มแต่งบทละคร

บทละครเรื่องแรกของมาเก้ต์ชื่อ Soir de Carnaval ถูกปฏิเสธไม่ได้แสดง

แนร์วาลจึงติดต่อดูมาส์ขอให้ช่วยแก้ไขให้มาเก้ต์

แม้จะติดงานแต่งเรื่องอื่นแต่ดูมาส์ปฏิเสธแนร์วาลไม่ลง จึงแต่งให้ใหม่ทั้งเรื่องโดยยังเก็บเนื้อเรื่องและความคิดเดิมทั้งหมดไว้ ตั้งชื่อบทละครให้ใหม่ว่า Bathilde และให้ใช้ชื่อมาเก้ต์ในฐานะผู้แต่ง

ดังนี้มาเก้ต์จึงมีผลงานบทละครสามองก์ออกแสดงเมื่อวันที่ 14 มกราคม 1839 ขณะนั้นเขาอายุ 25 ปี นับเป็นความสำเร็จ เขาดีใจมาก

ในปีถัดมาจึงนำต้นฉบับนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง Le Bonhomme Buvat มาขอให้ดูมาส์ช่วยแก้ไข เนื้อเรื่องว่าด้วยเอกอัครราชทูตสเปนซึ่งวางแผนล้มล้าง Philippe d”Orleans ผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศส (ช่วง ค.ศ.1715-1723) แต่ไม่สำเร็จจึงถูกนำตัวมาส่งที่ชายแดน

เรื่องทั้งหมดนำเสนอผ่านสายตาของเสมียนเล็กๆ คนหนึ่งชื่อ Buvat

ดูมาส์ชอบเนื้อเรื่องและยุคสมัยเพราะเขาเพิ่งเขียนถึงสมัยนี้ในบทละครของเขาหลายเรื่อง เขาจึงตกลงแก้ไขให้และจะเขียนให้ยาวกว่าเดิม

เมื่อเขียนใหม่เสร็จ ดูมาส์ให้ใช้ชื่อว่า Le Chevalier d”Harmental และจะให้ลงชื่อผู้ประพันธ์ร่วมกัน แต่ Emile de Girardin เจ้าของหนังสือพิมพ์ La Presse ไม่ยินยอม เขากล่าวว่า “นวนิยายที่ลงเป็นตอนถ้าใช้ชื่อดูมาส์ จะได้ค่าเขียนบรรทัดละ 3 ฟรังก์ หากใช้ชื่อดูมาส์-มาเก้ต์จะเหลือเพียงบรรทัดละ 30 ซู”

นวนิยายเรื่องนี้จึงลงชื่อดูมาส์เพียงคนเดียว มาเก้ต์ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 8 พันฟรังก์ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลในสมัยนั้น และเขาเองคงไม่มีทางได้รับเงินจำนวนนี้หากไม่มีดูมาส์

เขาทั้งปลาบปลื้มทั้งรู้สึกขอบคุณดูมาส์

ความสำเร็จของนวนิยายเรื่อง Le Chevalier d”Harmental ทำให้ดูมาส์เห็นช่องทางในการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์

ดังนั้น เมื่อมาเก้ต์เสนอโครงเรื่องซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ของมหาเสนาบดีริชเชอลิเยอ ของอานน์แห่งออสเตรียและของดยุคแห่งบักกิ้งแฮม

ดูมาส์จึงกระตือรือร้นอย่างยิ่ง

นี่คือนวนิยายซึ่งเป็นที่รู้จักต่อมาในชื่อ Les Trois Mousquetaires (หรือ “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” สำหรับฉบับแปลของผู้เขียนบทความ)

เมื่อมีการตั้งคำถามว่าระหว่างดูมาส์กับมาเก้ต์ใครเป็นผู้ค้นพบ “บันทึกความทรงจำของเมอสิเยอร์ดาร์ตาญัง” เขียนโดย Courtilz de Sandras ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1704

มาเก้ต์ยืนยันว่าเขาเป็นผู้พบหนังสือชุดนี้ก่อน อย่างไรก็ตามบัตรยืมหนังสือของห้องสมุดเมืองมาร์เซยยืนยันว่าดูมาส์เป็นผู้ยืมหนังสือชุดนี้ในปี ค.ศ.1843 และไม่เคยคืน

ทั้งสองช่วยกันวางโครงเรื่อง สิ่งหนึ่งที่ยืมมาจาก “บันทึกฯ” คือชื่อตัวละคร อาโธส ปอร์โธส และอะรามิส ดูมาส์เสนอชื่อตัวละครทั้งสามนี้เป็นชื่อนวนิยาย แต่สำนักพิมพ์ไม่เห็นพ้องและเสนอชื่อ Les Trois Mousquetaires แม้จะเป็นเรื่องของคนสี่คนแต่ชื่อเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนตัวละครเอกจะทำให้ผู้อ่านฉงนและสนใจติดตาม

นอกจากชื่อตัวละครแล้ว ดูมาส์กับมาเก้ต์ยังยืมบางบทบางตอนมาด้วย แต่แน่ละทั้งสองนำมาเปลี่ยนแปลงและเขียนใหม่เพิ่มเติม

บทบาทของมาเก้ต์ซึ่งเดิมเป็นเพียง “มือใหม่” บัดนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็น “มือแฝง” เขียนฉบับร่างให้และดูมาส์ซึ่งเป็น “มือเก่า” จะนำมาขัดเกลา เพิ่มรายละเอียดที่ทำให้มีชีวิตชีวา เขียนบทสนทนาใหม่ในฐานะ “มือหนึ่ง” ใส่ใจว่าจะทิ้งท้ายตอนจบแต่ละบทอย่างไร และทั้งหมดนี้จะเพิ่มเติมความยาว

เพราะเรื่องที่ตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์นั้นจะต้องยาวต่อเนื่องหลายเดือนเพื่อดึงดูดใจผู้อ่านไว้ให้ระทึกนึกคิดติดตาม

Andre Maurois ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติชื่อ Les Trois Dumas (ดูมาส์ทั้งสาม ได้แก่ พ่อของดูมาส์ซึ่งเป็นนายพลลูกครึ่งผิวดำคนแรกของฝรั่งเศส ดูมาส์และลูกของดูมาส์ซึ่งเป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียงเช่นกัน) เปรียบบทบาทของมาเก้ต์ในเรื่อง Les Trois Mousquetaires ว่าเป็นผู้เตรียมชิ้นงาน (praticien) และดูมาส์เป็นประติมากร (sculpteur)

ดูมาส์สร้างตัวละครเพิ่มเติม เช่น พวกคนรับใช้ กรีโม่ด์บ่าวผู้เงียบขรึมจะตอบคำถามของอาโธสสั้นๆ เพียงหนึ่งคำ กล่าวได้ว่าดูมาส์คิดได้แบบฉลาดและเจ้าเล่ห์เพราะหนังสือพิมพ์จ่ายค่าเขียนตามจำนวนบรรทัด บทสนทนาสั้นๆ รวดเร็วทำให้อ่านง่ายและผู้แต่งยังได้ค่าตอบแทนเพิ่มง่ายดายอีกด้วย

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทั้งสองฉบับออกระเบียบมาใหม่ว่า หากจำนวนคำยาวไม่เกินครึ่งบรรทัดคอลัมน์จะไม่นับเป็นหนึ่งบรรทัด ในวันนั้นเผอิญเจ้าของหนังสือพิมพ์ Figaro อยู่ที่บ้านของดูมาส์ เขาเห็นดูมาส์อ่านทวนต้นฉบับและขีดฆ่าทิ้งไปหลายหน้า เมื่อเขาถามดูมาส์ว่าทำอะไร ฝ่ายนี้ตอบว่า “ข้าพเจ้าฆ่ามัน” “ฆ่าใครหรือ”

“กรีโม่ด์ ข้าพเจ้าสร้างตัวละครนี้เพื่อให้มันพูดสั้นๆ ตอนนี้มันหมดประโยชน์แล้ว”

แม้มาเก้ต์จะเคยเขียนจดหมายขอบคุณดูมาส์ด้วยน้ำเสียงจริงใจที่ดูมาส์ประกาศว่าเขามีส่วนร่วมในการประพันธ์เรื่องใดบ้างที่ลงชื่อดูมาส์เพียงคนเดียว (ดูรายละเอียดเนื้อความจดหมายในประวัติของมาเก้ต์ท้ายเล่ม “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ”) และยืนยันว่าเขาได้รับค่าตอบแทนจุใจแล้ว

แต่หลายปีต่อมามาเก้ต์เปลี่ยนใจ และตีพิมพ์บทที่ว่าด้วยความตายของมิลาดี (บทที่ 66 การประหาร) แต่การตีพิมพ์นั้นกลับยืนยันสิ่งตรงข้าม มนต์ขลังและความสะเทือนอารมณ์ของฉากความตายในบทที่ 66 นี้ ล้วนมาจากปลายปากกาของดูมาส์

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาเก้ต์ “มือแฝง” มีส่วนร่วมสำคัญในนวนิยายเรื่องนี้

แต่เราก็ปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่าถ้าปราศจากศิลปะการประพันธ์ของดูมาส์ผู้เป็น “มือหนึ่ง” นวนิยายเรื่องนี้ก็คงจะไร้เสน่ห์ไร้มนต์ขลัง

และไม่อาจตรึงตาตรึงใจผู้อ่านตั้งแต่ ค.ศ.1844 ทั้งที่อ่านภาษาต้นฉบับและภาษาชาติต่างๆ ทั่วโลกผ่านการแปลจากรุ่นสู่รุ่นอย่างที่เป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้