ย้อนบัตรใบเดียว เดี๋ยวมันก็คืนมา/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ย้อนบัตรใบเดียว

เดี๋ยวมันก็คืนมา

 

ความไม่นิ่งในการตัดสินใจเกี่ยวกับกติกาทางการเมืองของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ไม่เพียงทำให้ทั้งประชาชนเกิดความสับสน แม้นักการเมืองใต้ปีกที่สังกัดก็มึนงงต่อการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาของท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้น

จากกติกาในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ของการเลือกตั้ง คือใช้บัตรใบเดียว นับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้วาทะกรรม “ทุกคะแนนมีความหมาย” ไม่มีคะแนนใดตกน้ำ จนเกิดผลที่พรรคเพื่อไทยที่เป็นเป้าหมายทางการเมืองไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว

จนเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2564 การเปลี่ยนใจครั้งที่ 1 จึงเกิดขึ้นเมื่อที่ประชุมรัฐสภามีมติให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็น บัตรสองใบ เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 400 : 100 การเดินหน้าแก้ไขกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องก็ตามมา ด้วยการเสนอแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน ที่เรียกสั้นๆ ว่า “สูตรหารร้อย”

แต่เมื่อการลงมติของรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 23 ของ ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอ ในวาระที่สอง เพื่อกลับไปใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ที่เรียกสั้นๆ ว่า “สูตรหารห้าร้อย” ถือเป็นการเปลี่ยนใจครั้งที่ 2

มาถึงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2565 ข่าวคราวการล่มที่ประชุมรัฐสภา ดึงการประชุมให้ช้า และเพื่อให้วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ไม่ทันกรอบเวลา 180 วัน ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2565 ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นเพื่อให้ “สูตรหารร้อย” ได้กลับคืนมาใหม่ เป็นการเปลี่ยนใจครั้งที่ 3

ใจที่ไม่นิ่ง ข้อมูลที่ไม่ชัด ไม่เข้าใจแง่มุมของกฎหมายที่ดีพอ การพยากรณ์ที่ไร้หลัก ผู้มีอำนาจที่ขาดความรู้จริง และกิเลสปรารถนาจะสร้างกติกาที่ได้เปรียบจนนาทีสุดท้าย คือเหตุผลคำอธิบายของการกลับไปกลับมาที่เกิดขึ้น

ตราบใดยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง อย่าคิดว่าผู้มีอำนาจจะไม่เปลี่ยนใจให้พิสดารพันลึกไปยิ่งกว่านี้ หากเขาพบว่ามีวิธีการอื่นที่ยังดีกว่าเพื่อรักษาอำนาจของตน

ทำไมถึงอยากได้บัตรเดียว

 

ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเดียว ทำงานอย่างได้ผลในการสกัดพรรคที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งในเขต และมีคะแนนนิยมในระบบบัญชีรายชื่อมาก ให้ได้ ส.ส.จากระบบเขตแต่เพียงอย่างเดียว เพราะต้องมีระบบ ส.ส.พึงมี ก่อนไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ

ผลจากระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้คะแนนเฉลี่ย ส.ส.ที่พึงมีอยู่ที่ราว 71,000 เสียง ต่อ ส.ส.พึงมีหนึ่งคน และหากมีจำนวนเหลือจากการคิดจำนวนเต็มของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับก็จะมีการให้กับพรรคที่มีเศษเหลือจากมากสุดไปน้อยสุด ที่เรียกกันว่า ส.ส.ปัดเศษ ทำให้พรรคการเมืองขนาดจิ๋วที่ได้คะแนนทั้งประเทศเพียง 30,000-40,000 คะแนน สามารถมี ส.ส.ในสภากับเขาได้

ระบบบัตรใบเดียวยังนำไปสู่การมีองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสม การมีพรรคขนาดเล็ก ขนาดจิ๋วจำนวนมากจึงเอื้อประโยชน์ต่อการรวบรวมเสียงให้กลายเป็นข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมีข้อแลกเปลี่ยนต่อรองในรูปผลประโยชน์ต่อกัน

แต่ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่สร้างความอึดอัดแก่พรรคการเมือง เนื่องจากต้องส่งผู้สมัครครบถึงเขตจึงจะได้คะแนนมาคำนวณ ส.ส.พึงมี ในขณะเดียวกันการหาเสียงเป็นเรื่องยากลำบาก เกิดการขัดกันระหว่าง ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะทุกเขตที่แพ้ คือการได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เพิ่มขึ้น และในทางกลับกัน ทุกเขตที่ชนะ เท่ากับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องลดน้อยลง

บรรดาพรรคการเมืองจึงไม่ประสงค์ถอยกลับไปใช้ระบบบัตรใบเดียวอีก

ปิดประตูการถอยกลับไปใช้บัตรใบเดียวจริงหรือไม่

 

ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองจำนวนมากให้ความเห็นว่า การกลับไปสู่การใช้บัตรใบเดียวนั้นแทบไม่มีมีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากมีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรสองใบไปแล้ว การหวนคืนใช้บัตรใบเดียวนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญและต้องมีเหตุผลที่เพียงพอที่จะอธิบายต่อประชาชนว่ามีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างไร

ในขณะที่เส้นทาง “หารร้อย” หรือ “หารห้าร้อย” ก็ตามใช่ว่าจะราบรื่น เพราะยังมีขั้นตอนที่อาจมีความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และยังมีจังหวะที่ ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 ของสองสภา หรือจำนวนประมาณ 75 คนใช้สิทธิตามมาตรา 148(1) ของรัฐธรรมนูญที่สามารถเข้าชื่อกันเสนอเรื่องผ่านประธานรัฐสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นอย่างไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยไม่ได้

หากมีการรับคำร้อง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะแตกได้ถึง 3 ทาง คือ 1) ไม่ผิด ก็เดินหน้าทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย 2) ผิดเล็กน้อย ก็เป็นหน้าที่รัฐสภาต้องนำกลับมาแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ 3) ผิดในสาระสำคัญ ซึ่งเท่ากับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องตกไปทั้งฉบับ

ลองลำดับเวลาของเหตุการณ์แบบง่ายๆ หากวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เป็นวันเริ่มต้น อาจมีคำร้องของ ส.ส. และ ส.ว.จำนวน 1 ใน 10 ถึงศาลรัฐธรรมนูญในต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2565 ศาลอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการวินิจฉัย ก็จะเป็นต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 ที่หากคำวินิจฉัยออกมาในทางที่ไม่เป็นคุณ คือขัดในหลักการสำคัญซึ่งทำให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฉบับต้องตกไป

จากตุลาคม พ.ศ.2565 จนถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นวันครบ 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน มีเวลาเหลือเท่ากับ 5 เดือนเศษ ซึ่งหากจะเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่เข้ามาอาจไม่ทันกระบวนการ หรือแม้จะเสนออย่างไรก็มีโอกาสขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญที่แก้ไขนั้นเป็นการแก้ที่ไม่ครบถ้วน ยังมีมาตรา 93 และ 94 ของรัฐธรรมนูญที่กล่าวถึง การคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับค้างคาอยู่ การเขียนกฎหมายลูกไปในทางใดก็มีสิทธิขัดกับรัฐธรรมนูญอีก

ความคิดสุดท้ายอาจเกิดขึ้นในนาทีนั้นอาจเป็นว่า ถ้าเช่นนั้น ก็เลือกตั้งด้วยวิธีการเดิมที่เคยใช้ในปี พ.ศ.2562 ไปก่อน โดยเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้หวนกลับเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทุกประการ ทั้งเรื่องบัตรใบเดียว และสัดส่วน ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เปลี่ยนกลับเป็น 350 : 150 และไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายลูกใดๆ ให้เสียเวลาอีก

ทั้งหมดนี้ “ไม่เคยเป็นแผน ไม่เคยอยู่ในความคิด แต่เป็นสถานการณ์บังคับให้ต้องทำ” ท่านผู้นำคงกล่าวแบบใสซื่อเช่นนั้น

บัตรใบเดียว ถ้าเขาอยากได้ เดี๋ยวมันก็มาครับ