เปิดม่านสีสัน รัฐเชิงเขาแดนอีสานของอินเดีย รุ่มรวยธรรมชาติ-หลากวัฒนธรรม/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

 

เปิดม่านสีสัน

รัฐเชิงเขาแดนอีสานของอินเดีย

รุ่มรวยธรรมชาติ-หลากวัฒนธรรม

 

อินเดีย นับเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้งศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงหลากหลายกลุ่มเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ตามรัฐต่างๆ โดยชนกลุ่มเหล่านี้ ยังคงรักษารูปแบบวัฒนธรรมประเพณีของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่นและเป็นมนต์เสน่ห์ของกลุ่มชนนั้น

ไม่เพียงวัฒนธรรมแบบฮินดูที่อาจเป็นซอฟต์เพาเวอร์หลักของอินเดียที่ถูกเผยแพร่ออกในรูปอาหาร เสื้อผ้า การแต่งกาย ความบันเทิงแบบบอลลีวู้ด

ยังมีวัฒนธรรมชนชาติในดินแดนเทือกเขาหิมาลัยทางตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ภายพื้นที่รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่อยู่ติดกับจีน พม่าและไทย ก็มีชนชาติสาขาของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนเทือกเขาสูง ก็ยังคงธำรงรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตัวเอง อีกทั้งยังเข้าไปผสมผสาน ประยุกต์ปรับเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์อีกด้วย

และเป็นโอกาสอันดีที่วัฒนธรรมของรัฐอีสานของอินเดียได้มาแสดงให้ชาวไทยได้รับชมถึงสิ่งที่ถือเป็นสายธารทางวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างชนชาติพื้นเมืองในดินแดนเทือกเขากับชาวไทย

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของไทย กับกระทรวงต่างประเทศอินเดีย ได้ร่วมจัดงานเทศกาลอินเดียอีสาน (Northeast India Festival) ตรงหน้าลานห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและไทย ในวาระครบรอบ 75 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-อินเดีย โดยนำธุรกิจแบบเอสเอ็มอี, การท่องเที่ยว รวมถึงศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ให้ชาวไทยได้ร่วมชิม ช้อป ชม ของดีต่างๆ ในรัฐอีสานของอินเดียอันประกอบด้วยสิกขิม, อัสสัม, มณีปุระ, เมฆาลัย, อรุณนาจัลประเทศ, มิโซรัม และนาคาแลนด์

ดร.ราชกุมาร รันจัน ซิงค์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ได้กล่าวก่อนหน้านี้ถึงเทศกาลดังกล่าวว่า การติดต่อกันระหว่างบุคคลกับบุคคล เป็นมิติสำคัญของความสัมพันธ์อินเดีย-ไทย และการแลกเปลี่ยนดังกล่าวระหว่างสองประเทศมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และประเพณีของกันและกัน

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเป็นประตูสู่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาแบบองค์รวมของภูมิภาค

“มีความมั่นใจว่าเทศกาลนี้จะช่วยส่งเสริมการค้าทวิภาคีและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศอย่างแน่นอน”

ในงานเทศกาลอินเดียอีสาน ที่จัด มีทั้งชาวไทยและชาวอินเดีย รวมถึงชนชาติที่มาจากรัฐทางอีสานของอินเดีย และย้ายมาอาศัยอยู่ในไทยก็มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้นำเอาผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออย่าง ชาอัสสัม ชาดาจิลลิ่ง ผ้าทอลายปัก แพ็กเกจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อชมความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่เทือกเขา

นอกจากสินค้าและธุรกิจที่มาออกร้านแล้ว ยังมีอาหารประจำพื้นที่มาให้ได้ชิม ซึ่งมีทั้งแกงกระหรี่มังสาวิรัติ ไก่ผัดเครื่องเทศ ที่รสชาติและกลิ่นมีคล้ายกับอาหารอินเดียในรัฐอื่น และยังมีอาหารแบบแป้งห่อที่เรียกว่า “โมโมะ” (Mo Mo)

จากการสอบถามเจ้าของร้านอาหารจากรัฐสิกขิม ทำให้ทราบว่า โมโมะเป็นอาหารที่แพร่หลายอยู่ในพื้นที่เทือกเขาหิมาลัย และอาจเป็นอาหารที่แตกแขนงมาจากอาหารห่อแป้งอื่นๆ เช่น ติ่มซำ ซาลาเปา แต่โมโมะจะมีลักษณะที่ต่างกันคือ แป้งจะมีความหนากว่า ไม่บางเหมือนขนมจีบหรือเกี๊ยวซ่า สามารถกินทั้งแบบทอดและนึ่งได้ และหากเป็นโมโมะที่อร่อยที่สุด ไส้จะมีซุปฉ่ำอยู่ข้างใน แนะนำให้กัดเพียงเล็กน้อยเพียงสูดเอาน้ำซุปจากไส้ข้างใน บางพื้นที่อย่างใต้ลงมาหน่อย แป้งห่อนอกจากหนากว่าแล้วอาจแข็งกว่าด้วย

โมโมะ แม้จะเป็นอาหารเฉพาะที่กินแถบนั้น และไม่เหมือนติ่มซำ แต่อาจเรียกว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ความเกี่ยวโยงกันทางวัฒนธรรมการกินระหว่างชาวจีนทางใต้ในมณฑลยูนนาน ชาวไทใหญ่ จนถึงชาวทิเบต

นอกจากอาหารที่มีการเชื่อมโยงร่วมกันของชนชาติเทือกเขากับชนชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่การแสดงศิลปวัฒนธรรมของชนชาติที่อาศัยอยู่ ยังมีความคล้ายคลึงกันกับวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ ไม่ว่าพม่า, ลาว, กัมพูชา, ไทย, อินโดนีเซีย

บริเวณรัฐอัสสัมและมณีปุระ เป็นรัฐที่มีชาวไทใหญ่สาขาหนึ่งอาศัยอยู่ อย่างชาวไทอาหมและไทคำตี๋ ซึ่งการแสดงต่างๆ จะสังเกตคล้ายคลึงกันกับของไทย ตั้งแต่ท่าทางร่ายรำ จนถึงการขับร้อง

และการแสดงของชาวไทอาหมก็มีการฟ้อนรำที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ อย่างการฟ้อนนกกิงกะหร่า ซึ่งจะเห็นได้ว่า รำนกกิงกะหร่าของชาวไทใหญ่ในรัฐอัสสัม มีรูปแบบเดียวกับฟ้อนรำนกของชาวไทใหญ่ในภาคเหนือของไทยด้วย แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของชาวไทใหญ่ที่ไกลออกไปมาก

อ.สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจในเรื่องชนชาวไทใหญ่ว่านอกจากไทอาหมในอัสสัม ยังมีไทคำตี่ ที่มาจากอรุณนาจัลนี่แหละ ความจริงทั้งหมดคือ “ไท/ไต” ที่ขยายตัวไปจากกลุ่มไท (ฉาน) ที่เราเรียกเขารวมๆ ว่าไทใหญ่ ดังปรากฏในตำนานว่า เมื้อเจ้าเสือข่ามฟ้าตั้งอาณาจักรหมอกขาวมาวหลวง (อาณาจักรไทใหญ่) แล้ว ต่อมาอนุชาคือเจ้าเสือสามฟ้าหลวงพาผู้คนข้ามเทือกเขาปาดไก่ไปตั้งอาณาจักรลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งต่อมาคือไทอาหมและไทคำตี่ ไทคำตี่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำคำตี่ ปัจจุบันอยู่ในรัฐคะฉิ่นของพม่า (คำตี่แปลว่าสุวรรณภูมิหรือแผ่นดินทอง) และมีบางกลุ่มเป็นไทเหนือ (คือไทใหญ่ที่อยู่เหนือรัฐฉานของพม่า) และพวกไทใหญ่อื่นๆ

ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมผ่านการแสดงทั้งชาวไทในรัฐอัสสัมของอินเดียกับภาคเหนือของไทย อาจถือเป็นตัวอย่างหนึ่งว่า พื้นที่เทือกเขาดังกล่าว ถือเป็นสะพานเชื่อมของหลายชนชาติที่ทำให้สินค้า ความรู้ วัฒนธรรมไหลเวียนไปมาอย่างแน่นแฟ้น

ไม่เพียงเท่านี้ รัฐอีสานของอินเดียได้ก้าวออกสู่เวทีใหญ่ขึ้น ทั้งสินค้าที่ส่งออกไปยังหลายประเทศ การปรับเอาเครื่องแต่งกายดั้งเดิมของพื้นที่มาปรับรูปแบบให้เข้ากับวัฒนธรรมสมัยนิยมได้อย่างมีเอกลักษณ์ การแสดงแบบพื้นบ้านที่ผสมผสานกับรูปแบบนอกพื้นที่ได้อย่างลงตัว

นี่จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐอีสานของอินเดียก็มีความเจริญและยังธำรงรักษาแผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตที่คงความดั้งเดิมพร้อมกับก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย