รายงานพิเศษ : วิกฤตซีไรต์ 2560 และการมาของ “รางวัลปีศาจ”

เปรียบอายุคน ถึงวันนี้ “รางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write)” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน Southeast Asian Writers Award)” ก็อยู่ในวัยหนุ่มใหญ่ ผ่านประสบการณ์ชีวิตพอสมควร

อายุ 38 ปี น่าจะพอทำให้มีความสุขุมนุ่มลึกอยู่มาก

ไม่ปฏิเสธถึงอิทธิพลของตัวรางวัลต่อวัฒนธรรมการอ่าน โดยเฉพาะกลุ่มซึ่งถูกนิยามว่า “สายแข็ง”

แน่นอนว่าหนังสือที่มีตราซีไรต์ประทับ ชื่อของนักเขียนที่มีสร้อยต่อท้ายว่า “นักเขียนซีไรต์” ย่อมได้รับการจับตามากกว่า ยังไม่นับยอดขาย ได้ยินคำแซวกันบ่อยๆ ในหมู่คนทำหนังสือว่า “เหมือนซื้อหวย”

หมายความว่าอย่างไรกับวลีนี้?

ตอบง่ายๆ 1. เมื่อได้รับรางวัล จากหนังสือที่เคยซุกซ่อนเห็นแต่สันปกในซอกหลืบมุมหนึ่งของร้าน จะถูกขยับขึ้นมาตั้งปกโชว์หราอยู่แถวหน้าพร้อมป้ายกำกับว่า “หนังสือรางวัล-หนังสือขายดี” เป็นต้น ยอดขายจะเริ่มไหลมา บางสำนักพิมพ์สามารถปลดหนี้สิน ตั้งเนื้อตั้งตัวได้จากการได้รางวัลนี้

2. นักเขียนเริ่มกลายเป็นที่รู้จัก เมื่อก่อนเคยส่งเรื่องให้นิตยสารหรือบรรณาธิการพิจารณาไม่ค่อยผ่าน จะเริ่มผ่านง่ายขึ้น ไม่ต้องนับถึงรายได้ของยอดขายซึ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์โดยตรง ยังมีรายได้จากการเป็นคอลัมนิสต์ รายได้จากการรับเชิญไปบรรยายในเวทีต่างๆ

และสุดท้าย ถ้าทำงานยืนระยะ ไม่ตายไปเสียก่อน รางวัลศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) ซึ่งมีประกาศยกย่องทุกปี ปีละ 1-2 คน คงไม่หลุดมือ

ดูๆ ไปแล้วจึงไม่ต่างอะไรจาก “ถูกหวย” อีกทั้งยังเป็น “หวยชุด” เสียด้วย

“วิกฤตซีไรต์ 2560” เมื่อสปอนเซอร์ถดถอย

การจัดประกวดรางวัลซีไรต์ดำเนินมาถึงวันนี้ก็มีข่าวขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ หลังจาก จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดัง โพสในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง “วิกฤตซีไรต์ 2560”

แจกแจงปัญหาที่รางวัลนี้ประสบ แต่ที่ดูจะเป็นประเด็น คือ กรณีสปอนเซอร์ไม่เข้าเป้า โดยเฉพาะในส่วนของรายใหญ่ซึ่งสนับสนุนการประกวดมาตั้งแต่ก่อตั้งอย่าง “โรงแรมโอเรียนเต็ล”

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากสปอนเซอร์ลดลง เงินที่เข้ามาไม่เท่าเดิม หลายปีที่ผ่านมา โอเรียนเต็ลเห็นว่า ซีไรต์เป็นภารกิจที่ต้องแบกภาระ ทั้งๆ ที่โรงแรมก็ไม่ได้อะไรจากงานนี้มากนัก โดยเฉพาะในมุมมองของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มาแทนคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งเข้าใจความสำคัญของรางวัลนี้

“ผลที่ตามมาคือ การลดระดับความสำคัญของงานนี้ พร้อมเสียงแว่วติดต่อกันมาหลายปี ว่าโอเรียนเต็ลไม่อยากแบกรางวัลนี้ไว้อีกต่อไปแล้ว” จรูญพร ระบุก่อนจะทิ้งท้ายว่า ท่าทีแบบนี้ อาจทำให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องต้องคิดทบทวนว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไป

หลังออกมาเปิดประเด็น ผู้ที่ติดตามอยู่ขอบเวทีจึงอยากเห็นความชัดเจน

โยนเรื่องไปให้ กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ช่วยไขข้อข้องใจ ถามว่าจริงหรือไม่ คำตอบที่ได้รับออกมาในทำนองว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน… ยังไม่ได้พูดคุยกับนายจรูญพร… ไม่ทราบว่าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดเป็นปัญหาจริงหรือไม่”

แต่ที่ฟันธงตรงประเด็น คือ นักเขียนซีไรต์ บินหลา สันกาลาคีรี หรือนามจริง วุฒิชาติ ชุ่มสนิท

บินหลา ไม่แปลกใจที่สปอนเซอร์อย่างโอเรียนเต็ลจะถอนตัว ออกจะงงๆ เสียด้วยซ้ำที่อยู่มานานจนวันนี้ เพราะมองว่าสปอนเซอร์มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของรางวัล ถ้าเป้าหมายไม่ตรงกับที่คาดหวังก็มีสิทธิถอน และมีสิทธิที่รายใหม่จะเข้ามา

อย่างกีฬาฟุตบอลถ้วย ก. เปลี่ยนหน้าตลอด แต่รางวัลนี้ทำไมไม่เปลี่ยน?

ถามเอง ชี้ให้เห็นทางออกเสร็จสรรพว่า “เป็นปัญหาเรื่องการจัดการมากกว่า เมื่อทราบปัญหาแล้วต้องจัดการ แต่เมืองไทยการจัดการทำไม่ได้กับทุกอย่าง เพราะมีคำว่าเกรงใจค้ำอยู่ กลัวกระทบนั่นนี่ จึงไม่อาจแก้ไขได้ตามที่ควรเป็นเกิดอยู่ต่อเนื่องมา ซึ่งถ้าทุกฝ่ายมองเห็นปัญหาแล้วกระบวนการแก้ไขก็ไม่น่าจะยาก หากไม่มีเรี่ยวแรงแก้ปัญหาก็ออกไปให้คนอื่นเข้ามารับหน้าที่และจัดการปัญหาในรางวัลนี้ต่อไป”

ประโยคของบินหลา ทำให้คิดถึงการจัดประกวดรางวัลซีไรต์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ข้อครหาเรื่องการจัดการโดยกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ที่ผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปนั่งเก้าอี้กรรมการ มีกลุ่มก๊วน มีพรรคพวก มีลูกจำยอม มีลูกเกรงใจ มีลูกเห็นใจ ฯลฯ

สารพัดที่ได้ยิน จนลดความน่าเชื่อถือของตัวรางวัลไปทีละน้อยๆ

เกียรติ-คุณค่า ไม่ใช่บุญคุณ การมาของ “รางวัลปีศาจ”

ฝุ่นตลบเรื่องวิกฤตซีไรต์ ไม่รู้ว่าคณะกรรมการจัดประกวดเห็นเป็นโอกาสเกาะกระแสหรืออย่างไรไม่ทราบได้ เพราะล่าสุด ณ โรงแรมโอเรียล มีการประกาศผลการพิจารณาคัดเลือกผลงานที่ผ่านเข้ารอบ (เรียกกันติดปากว่า Shorts List) จำนวน 8 เล่ม

ส่งไม้ต่อให้กับกรรมการรอบตัดสิน 7 คน ซึ่งจะมีผลงานเพียงเล่มเดียวเท่านั้นคว้ารางวัลซีไรต์

สบโอกาสดี เพื่อหาความกระจ่างเรื่องวิฤตซีไรต์ ในงานดังกล่าว ผู้สื่อข่าวพยายามมองหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในฐานะประธานกรรมการจัดงานก็ไร้วี่แวว ด้านกรรมการตัดสินรอบแรกหลังแถลงผลการคัดเลือกแล้ว ไม่มีใครยอมให้ความเห็น และแน่นอน ผู้บริหารโรงแรมโอเรียนเต็ลใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว-เงียบ

ติดตามข่าวมาระยะหนึ่ง เสียงสะท้อนซึ่งโดยส่วนตัวแล้วอยากปรบมือให้มาจาก อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักเขียนหนุ่มผมยาว ผู้มีผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยายหลายเล่ม

โดยเฉพาะในประเด็น “ท่าที” ของรางวัลที่มีต่อนักเขียน

เขามองว่าด้วยรางวัลก่อตั้งโดยกลุ่มชนชั้นนำ เพราะฉะนั้น ท่าทีของรางวัลนี้ที่มีต่อนักเขียนจึงออกในลักษณะ “มีบุญคุณ” เป็น “ผู้มีพระคุณ” ที่มอบรางวัลให้กับนักเขียน ทั้งๆ ที่การที่นักเขียนคนหนึ่งได้รับรางวัล เขาควรที่จะมีเกียรติ มีคุณค่า มีความภาคภูมิใจในตัวเอง

ประเด็นคล้ายๆ กันนี้เคยมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับ วัฒน์ วรรลยางกูร

นักเขียนผู้ต้องลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ วิเคราะห์ไว้ว่า ซีไรต์เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 เป็นการเตรียมรับนักเขียนฝ่ายก้าวหน้า ที่กำลังเริ่มทยอยออกมาจากป่า ให้รางวัล มีคำว่าซีไรต์ห้อยท้ายแล้ว นักเขียนเหล่านั้นจะไม่กล้าหืออือ ไม่แข็งขืน ไม่ต่อต้าน

พูดแรงๆ คือเป็นคอกที่ทำให้สยบยอม และอยู่อย่างเชื่องๆ โดยมีขาใหญ่จำนวนหยิบมือหนึ่งคอยกำหนดชะตา และร่วมด้วยช่วยประทับตราการันตีความสำเร็จ

คิดเห็นเป็นประการใดกับ “อติภพ” และ “วัฒน์” แล้วแต่ ที่แน่ๆ กิตติพล สรัคคานนท์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 101 ราตรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องการก่อตั้ง “รางวัลปีศาจ”

แรกคิดว่า “อำ” แต่เมื่อสอบถามไปยังเจ้าตัวก็ได้รับคำอธิบายว่า “เรื่องจริง”

พร้อมอธิบายว่า คิดมานานแล้วสำหรับเรื่องรางวัล พูดคุยกับผู้สนับสนุนจนลงตัวระดับหนึ่ง ตั้งใจจะเปิดตัวเร็ววันนี้ แต่พอมีข่าววิกฤตซีไรต์ออกมา เลยถือเป็นโอกาสเหมาะทีจะได้เปิดเผย

รางวัลปีศาจอธิบายตัวเองไว้ว่า…

สมาทานชื่อมาจากนวนิยายเรื่องเยี่ยมของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ด้วยความตั้งใจจะเป็นรางวัลที่สนับสนุนผลงานที่มุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงรูปแบบ ความคิด วิธีการ เพื่อต่อต้านและช่วงชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ในสงครามวัฒนธรรมที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ

“มีรากฐานมาจากประชาชน ความเป็นคนสามัญ จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเราสนับสนุนวรรณกรรม ส่งเสริมความคิดแบบประชาธิปไตย และถือหลักดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำที่สุด”

“วิกฤตซีไรต์” จะจบลงอย่างไร ไม่มีใครรู้

แต่ที่แน่ๆ ข้อกังขาต่อตัวรางวัลรอบใหม่ก็เกิดขึ้นอีกจนได้ เมื่อปรากฏรายชื่อ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา ไพฑูรย์ ธัญญา ผู้ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องบทกวี “คดีหู” (ที่เขียนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มาฟังคำตัดสินศาล) ร่วมเป็นกรรมการด้วย

เป็น 1 ใน 7 ผู้จะมาชี้ขาดว่า ใน Shorts List 8 เล่มนั้น เล่มใดจะได้รางวัลซีไรต์ไปครอง

ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ นักเขียน-กวี-นักวิชาการ กว่า 100 รายชื่อเพิ่งจะออกมาคัดค้านการส่งกวีผู้นี้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมงานที่มาเลเซีย มิหนำซ้ำในโลกออนไลน์ยังรณรงค์ให้ถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติด้วย

อีนุงตุงนัง ชุลมุลวุ่นวายเป็นอย่างยิ่งแล้ว วิกฤตซีไรต์ 2560