จับตาศึก หน.พรรคทอรี ศึกชิงเก้าอี้นายกฯ ผู้ดี/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

จับตาศึก หน.พรรคทอรี

ศึกชิงเก้าอี้นายกฯ ผู้ดี

 

งวดเข้าไปทุกขณะกับการเปิดศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม พรรครัฐบาลอังกฤษ ที่เรียกกันติดปากว่า “พรรคทอรี”

เพื่อหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากุมบังเหียนพรรคแทนบอริส จอห์นสัน ที่ยังรั้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษอยู่ด้วย ที่ยอมลาออกไป เพราะมาตกม้าตายจากปัญหาอื้อฉาวรุมเร้า

โดยเฉพาะกรณี “ปาร์ตี้เกต” ที่เจ้าตัวเข้าไปมีส่วนร่วมเต็มๆ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบควบคุมโรคโควิด-19 ที่บังคับใช้มาเสียเอง จากการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ขึ้นที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี

และกรณีของการแต่งตั้งคริส พินเชอร์ บุคคลที่มีปัญหาด้านจริยธรรม จากการถูกกล่าวหาว่ามีประวัติลวนลามทางเพศ ขึ้นมาเป็นรองประธานวิปรัฐบาล ทั้งๆ ที่จอห์นสันเองก็ล่วงรู้เรื่องนี้ดี

กรณีอื้อฉาวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้สมาชิกในพรรคอนุรักษนิยมมองว่าจอห์นสันไม่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไป หลังเผชิญความกดดันอย่างหนักจากรัฐมนตรีในคณะและเจ้าหน้าที่ในคณะทำงานรวมกันหลายสิบคนพากันทยอยตบเท้าลาออก จนเป็นแรงบีบให้จอห์นสันยอมประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคทอรีในที่สุดเมื่อ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสรรหาหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ ที่ผู้ชนะยังจะมีผลได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษโดยอัตโนมัติด้วย เนื่องจากพรรคอนุรักษนิยมยังคงกุมอำนาจบริหารประเทศ

 

ขณะนี้ศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมยังคงดำเนินอยู่ นับจากการเริ่มโหวตแข่งขันในรอบแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีผู้สมัครเสนอตัวลงสังเวียนแข่งขันในศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ทั้งสิ้น 8 คน

โดยในการโหวตแต่ละรอบจะมีการตัดตัวผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยที่สุดออกไป จนกระทั่งเหลือผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงโหวตสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมมากที่สุดเพียง 2 คนสุดท้าย เพื่อเข้าสู่การชิงชัยในรอบชี้ชะตาที่จะมีสมาชิกของพรรคอนุรักษนิยมจำนวนราว 160,000 คน เป็นผู้โหวตตัดสินผ่านการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ ก่อนที่จะมีการประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 5 กันยายนที่จะถึง

ซึ่งจะทำให้ได้รู้ผลกันด้วยว่าใครจะได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอังกฤษ

จนถึงขณะนี้ผ่านการโหวตลงคะแนนเสียงไปแล้ว 4 รอบ มีผู้สมัครที่ยังคงเหลืออยู่ในสังเวียนแข่งขัน 3 คน ได้แก่ ริชี ซูนัก อดีตรัฐมนตรีคลัง เพนนี มอร์ดันต์ รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ และลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากเคมี เบดนอค อดีตรัฐมนตรีด้านความเท่าเทียม ถูกตีตกรอบไป

ตัวเก็งที่ต้องจับตาถูกพุ่งเป้าไปที่ซูนัก ซึ่งยังคงยืนหนึ่งเก็บเสียงโหวตสนับสนุนมาได้มากที่สุดในการแข่งขันที่ผ่านมาทั้ง 4 รอบ เช่นเดียวกับมอร์ดันต์และทรัสส์ ที่ได้เสียงโหวตสนับสนุนตามมาเป็นอันดับ 2 และ 3 เหมือนในรอบที่ผ่านๆ มาเช่นกัน

แต่ทรัสส์สามารถตีตื้นขึ้นมา โดยมีคะแนนเสียงตามหลังมอร์ดันต์ลดแคบลง

ขณะที่ศึกดีเบตดวลวิสัยทัศน์ของผู้สมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ที่มีขึ้นในระหว่างการรอโหวตแข่งขัน หลักใหญ่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นเศรษฐกิจ วิกฤตค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ และประเด็นเบร็กซิท ที่ดำเนินไปอย่างดุเดือด โดยต่างงัดเอาจุดอ่อนข้อด้อยของผู้สมัครคู่แข่งขึ้นมาโจมตี เพื่อหวังเรียกเสียงสนับสนุนให้กับตนเอง และทำให้เห็นว่าตนเองเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

แต่กลายเป็นการตีแผ่ความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคอนุรักษนิยมที่มีอยู่ต่อแนวทางในการทำงานบริหารประเทศให้คนนอกได้เห็น ซึ่งยิ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของพรรคไปมากขึ้น

โดยเฉพาะศึกวิวาทะระหว่างซูนักกับทรัสส์ ที่จัดเป็นมวยคู่เอก โดยทรัสส์หยิบยกประเด็นที่ซูนักชงนโยบายปรับขึ้นภาษีในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรีคลังขึ้นมาโจมตีว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต แต่ยังทำให้คนอังกฤษต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ขณะที่ซูนักตอกกลับว่าการเสนอตัดลดภาษีของทรัสส์นั้นเป็นแนวทางของพวกสังคมนิยมมากกว่าอนุรักษนิยม

 

ถึงขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังยากคาดเดาว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เพราะแม้นายซูนักจะคว้าเสียงสนับสนุนไปได้มากที่สุดในการโหวตแข่งขันทุกรอบที่ผ่านมา แต่ก็ยังแน่ใจไม่ได้ว่าเขาจะเป็นผู้คว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ไป

เพราะโพลสำรวจที่มีการจัดทำมาอย่างของยูกอฟ ที่สำรวจความเห็นจากสมาชิกพรรค 725 คน ชี้ว่า ซูนักจะพ่ายแพ้ให้กับมอร์ดันต์ หรือไม่ก็ทรัสส์ ในการแข่งขันตัวต่อตัว

จากนี้ต้องมารอลุ้นกันว่าท้ายที่สุดแล้ว ชื่อของผู้ชนะที่จะประกาศในวันที่ 5 กันยายนที่จะถึง ในการก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่จะเป็นใคร

ซึ่งเขาผู้นั้นก็จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่คนที่ 4 ของอังกฤษภายในเวลา 6 ปีด้วย!