บทกวีพานแว่นฟ้า : ฝันที่แตกต่างกับการช่วงชิงนิยามประชาธิปไตย (1)

คงไม่อาจปฏิเสธว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ก่อรูปมาแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึงปัจจุบัน ได้แบ่งแยกประชาชนไทยออกเป็นสองฝั่ง

ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2558 : ออนไลน์) เคยกล่าวไว้ว่า ความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดในประเทศไทยเวลานี้มาจากความเห็นต่ออนาคตทางการเมืองของสังคมไทยที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว (อย่างน้อยก็ตามที่ทั้งสองฝ่ายอ้าง)

ฝ่ายหนึ่งใฝ่ฝันจะเห็นอนาคตของบ้านเมืองพัฒนาไปในทางประชาธิปไตยมากขึ้น เสียงของประชาชนคือคำตัดสินชี้ขาด ผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ไม่มีอำนาจนอกระบบแทรกแซง และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องทำให้สังคมไทยมีความเสมอภาคกันยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในทางการเมือง แต่ในทางอื่นๆ ด้วย

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งใฝ่ฝันถึงอนาคตของประเทศที่ปราศจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยสิ้นเชิง รัฐบาลหรือผู้นำมีความรู้ความสามารถและซื่อสัตย์ เพื่อนำประเทศไปสู่ความไพบูลย์ในทุกด้าน โดยที่ความเสมอภาคไม่ใช่เรื่องใหญ่

แม้มีฝันที่แตกต่าง แต่ดูเหมือนทั้งสองฝั่งกลับอ้างว่าต่างมีประชาธิปไตยเป็นปลายทางฝัน

คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นตามมาว่า ประชาธิปไตยที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวอ้างว่าต่างถวิลหานั้นคือประชาธิปไตยแบบใด แน่นอนต่างฝ่ายต่างชิงชัยกันเป็นผู้กำหนดนิยาม ประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งเลื่อนเปื้อนที่ยากแก่การอธิบาย

ต่างฝ่ายต่างชูธงเคลื่อนทัพเลียบขนานไปตามสายธารแห่งความขัดแย้งที่ยากแก่การหาจุดบรรจบ

“วรรณกรรม” (Literature) คือเครื่องมือสำคัญหนึ่งซึ่งจะทำให้ทราบว่าคนในสังคม (อย่างน้อยกลุ่มหนึ่ง) มีคติ ความคิด หรือความเชื่อทางสังคมวัฒนธรรมอย่างไร

ในฐานะที่วรรณกรรมคือ “วาทกรรม” (Discourse) ที่มีความพิเศษอยู่ในกระบวนการใช้ภาษา จึงมีสิทธิพิเศษในการตีแผ่ วิจารณ์ เผยสัจธรรม หรือเปิดโปงสังคม (นพพร ประชากุล, 2552 : 108)

ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้อารมณ์ ความรู้สึก และความปรารถนาที่ถูกท่าทีแบบงานวิชาการกดทับไว้ได้ทำหน้าที่ของตน (ชุติมา ประกาศวุฒิสาร, 2554 : 202)

วรรณกรรมจึงเป็นช่องทางหนึ่งซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ช่วงชิงนิยามประชาธิปไตยของคนสองกลุ่มที่ยืนตั้งท่าเงื้อง่าใส่กันอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำ

แต่ปัญหาสำคัญหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเรื้อรังในแวดวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัยคือนักเขียนกวีส่วนใหญ่เชื่อว่าวรรณกรรมควรเป็นสิ่งบริสุทธิ์

และความบริสุทธิ์ดังกล่าวมักได้มาด้วยการไม่ข้องแวะกับการเมือง

ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าการเมืองซ่อนตัวอยู่ในทุกซอกทุกมุมของชีวิตมนุษย์

แม้ไม่อยากเกี่ยวก็ไม่อาจไม่เกี่ยว แต่การหยิบวรรณกรรมขึ้นมาพิจารณาความคิดทางการเมืองเบื้องหลังที่แฝงฝังอยู่อย่างสุ่มสี่สุ่มห้าอาจถูกโต้แย้งได้ว่าวรรณกรรมของเขาหรือของเธอปลอดการเมือง

เหตุใดจึงมาติดป้ายใส่สี เพื่อไปให้พ้นจากข้อโต้แย้งดังกล่าว

การเพ่งเล็งไปที่ “วรรณกรรมการเมือง” โดยตรงจึงเป็นทางออกที่ดี

“รางวัลพานแว่นฟ้า” เป็นรางวัลสำหรับ “วรรณกรรมการเมืองไทย” เป็นการเฉพาะ

ผู้จัดประกวด (รัฐสภาและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย) ระบุวัตถุประสงค์ในการประกวดไว้ 3 ประการ คือ เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพทางการเมืองโดยใช้ศิลปะถ่ายทอดความรู้สึก สะท้อนภาพการเมืองและสังคม หรือจินตนาการถึงการเมืองและสังคมที่ต้องการในรูปแบบของเรื่องสั้นและบทกวี

และเพื่อสืบสานสร้างสรรค์วรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย (ตองนวล แก้วเกลี้ยง. 2556 : บทนำ/1)

คำถามที่น่าสนใจคือ ในฐานะวรรณกรรมที่มีสายสะพายประชาธิปไตยเป็นพันธสัญญาผูกมัดให้ปฏิบัติหน้าที่ วรรณกรรมพานแว่นฟ้าทำหน้าที่สนับสนุนประชาธิปไตยแบบใด และอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ช่วงที่วรรณกรรมพานแว่นฟ้ากำเนิดขึ้นในสังคมไทย (ปี พ.ศ.2545-ปัจจุบัน) ยังเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญ ผู้คนเลือกข้างและต่างถกเถียงคัดง้างกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจดจำ

ซ้ำการถกเถียงดังกล่าวยังไม่ได้จำกัดเฉพาะในวงนักวิชาการ ปัญญาชน นักกิจกรรรมรณรงค์ต่างๆ ที่มักปิดประตูคุยกันอยู่ในห้องแคบๆ อย่างที่แล้วมา

หากแต่กระจายเป็นไฟไหม้ลามออกไปในทุ่งกว้าง ในหมู่คนทุกสาขาอาชีพ ทุกระดับชั้น

ประเด็นที่ถกเถียงตะโกนใส่หน้ากันนั้นไล่ตั้งแต่ทิศทางการพัฒนาประเทศ ความคิดความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และโดยเฉพาะ นิยามประชาธิปไตย

เช่นนี้จึงน่าสนใจว่าวรรณกรรมการเมืองที่มีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาเดียวกับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ นำเสนอประเด็นการถกเถียงดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้ศึกษาประชาธิปไตยในบทกวีการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า 2546-2555

พบว่าบทกวีทั้งหมด 113 ตัวบท ที่ได้รับรางวัลในช่วงทศวรรษดังกล่าว นำเสนอความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยใน 5 ประเด็นที่สำคัญ

ดังนี้

หนึ่ง ภาพเสนอประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยในแบบฉบับเดียวกับประวัติศาสตร์การสร้างชาติไทยใต้กำกับของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม

อย่างที่เคยชินกันว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างชาติไทยมักพรรณนาถึงวีรกรรมเสียสละของบรรพบุรุษไทยภายใต้การนำของวีรกษัตริย์ที่เอาเลือดเนื้อทาแผ่นดินเพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลาน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 ก็เช่นกัน มักบรรยายถึงความยากลำบากของคนรุ่นก่อนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กว่าจะได้มาคนรุ่นก่อนต้องสละเลือดเนื้อทาแผ่นดินไปมากมาย

การยกย่องสรรเสริญวีรกรรมของคนรุ่นก่อนดังกล่าวนี้ยังคงผูกโยงอยู่กับวีรกษัตริย์ ทำให้วีรกรรมของกษัตริย์อยู่ในสายธารประวัติศาสตร์เดียวกับวีรกรรมของวีรบุรุษ-วีรสตรี ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

เช่น ทำให้วีรกรรมการเลิกทาสของรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องเดียวกับวีรกรรมของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลา และ 14 ตุลา กลายเป็นเรื่องของการปกป้องชาติที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง

พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องเดียวกับประชาธิปไตย

และทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นหนึ่งใน “ชาดก” ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม

หลอมรวมประชาธิปไตยให้เป็นเรื่องเดียวกับความเป็นชาติ

และหลอมรวมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของวีรบุรุษ-วีรสตรีทั้งหมดให้อยู่ในหมวดวีรบุรุษของชาติ ภายใต้การนำหรือการเป็นต้นแบบของวีรกษัตริย์ไทย

สอง บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 ประกอบสร้างนิยามประชาธิปไตยไทยให้เป็นหนึ่งในมรดกแห่งความเป็นไทย

กล่าวคือ พยายามนำความเป็นไทยมาคลุกเคล้าผสมกลมกลืนกับหลักประชาธิปไตย

เช่น อ้างว่าวิถีความเป็นไทยนั้นดีงามและสอดคล้องเข้ากันได้กับประชาธิปไตยอยู่แล้ว หรือมีความเป็นประชาธิปไตยมาแต่อ้อนแต่ออก

บทกวีที่นำเสนอประเด็นนี้มักอยู่ในท่วงทำนองของการหวนหาอดีต

นำเสนอภาพสังคมอดีตที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์งดงาม สมบูรณ์แบบ ไร้ข้อตำหนิใดๆ

หากคนรุ่นปัจจุบันเอาเยี่ยงอย่าง ยึดเป็นต้นแบบ ปัญหาความขัดแย้งยุ่งเหยิงต่างๆ ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันก็จะไม่เกิดขึ้น

ไปๆ มาๆ ประชาธิปไตยในตัวบทพานแว่นฟ้า พ.ศ.2546-2555 ได้กลายเป็นสมบัติแห่งความเป็นไทยที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ให้

เช่นเดียวกับ “ชาติไทย” ที่บรรพบุรุษสละเลือดทาแผ่นดินปกปักรักษาไว้ให้ลูกหลาน

หรืออาจกล่าวได้ว่าบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 จับประชาธิปไตยยัดใส่หีบมรดกแห่งความเป็นไทย

วางอยู่เคียงข้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และวิถีวัฒนธรรมไทยอันดีงามสมบูรณ์แบบ

เหตุนี้บทกวีพานแว่นฟ้าส่วนใหญ่ที่นำเสนอประเด็นนี้จึงมักใช้ท่าทีสั่งสอนคนรุ่นหลังให้ดูแลรักษาหีบมรดกนี้ไว้เท่าชีวิต

หากรักษาไว้ได้สังคมไทยก็จะพบแต่ความสงบสุข

แต่หากรักษาไว้ไม่ได้ก็อาจพบความวุ่นวายถึงขั้นล่มสลายสิ้นชาติ

เช่นนี้แล้วยามใดที่บ้านเมืองเกิดปัญหา บทกวีพานแว่นฟ้าดังกล่าวจะชี้หน้าใส่คนรุ่นหลังว่าเป็นเพราะไม่ดูแลมรดกที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ ไม่เอาแบบอย่างคนรุ่นก่อน

สาม บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 ประกอบสร้างภาพเสนอการเลือกตั้งที่เป็นพิษหรือเป็นศูนย์กลางของปัญหาการเมืองไทย

ปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นพิษคือนักการเมืองเลวและประชาชนโง่

จากนั้นบทกวีเสนอวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว 2 วิธี คือ

หนึ่ง ปฏิเสธการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา แล้วเสนอให้หวนกลับไปหาสังคมไทยแบบเก่าที่งดงาม ราวกับว่าหากมีประชาธิปไตยแล้ววุ่นวายนักจักไม่มีก็ได้ กลับไปอยู่กันแบบเดิมสงบร่มเย็นกว่า

สอง แม้จะเห็นว่าการเลือกตั้งเลวร้าย แต่ไม่อาจบุ่มบ่ามประกาศโต้งๆ ว่าไม่เอาการเลือกตั้ง

จึงพยายามหาทางออกโดยแสดงท่าทียอมรับการเลือกตั้ง เห็นคุณค่าของการเลือกตั้ง

แต่ยื่นเงื่อนไขว่าการเลือกตั้งต้องปลอดสารพิษ มิเช่นนั้นไม่อาจยอมรับ

สี่บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 นำเสนอภาพคุณธรรมจริยธรรมในฐานะยาวิเศษแก้โรคประชาธิปไตยเสื่อมอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งเป็นพิษ

คุณธรรมจริยธรรมดังกล่าวจำกัดความในกรอบของ “ประชาธิปไตยแบบใสสะอาด” หรือ “ประชาธิปไตยแบบอภิชน” อย่างที่ ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายว่าคือประชาธิปไตยที่หมกมุ่นอยู่กับการทำให้คนดีได้มีอำนาจและกีดกันคนเลวออกไปจากการถือครองอำนาจ

มองว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยเป็นเพียงความบกพร่องส่วนบุคคลของนักการเมืองและประชาชนผู้โง่เขลา

จากนั้นเสนอให้ใช้ชุดคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปจัดการควบคุมกำกับไม่ให้คนเลวได้มีอำนาจ

เกณฑ์ตัดสินคุณธรรมจริยธรรมในบทกวีพานแว่นฟ้ามักอิงอยู่กับศีลธรรมหรือหลักคำสอนทางศาสนาและโมเดลทศพิธราชธรรมของกษัตริย์

ห้า บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 นำเสนอหลักประชาธิปไตยทั้งเรื่องสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือสมานฉันท์ ปรองดอง สามัคคี รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ประปราย) ภายใต้ท่าทียอมรับหลักการ

แต่เป็นการยอมรับเพื่อนำไปสู่การไม่ยอมรับ

การยกย่องเชิดชูให้หลักการดังกล่าวเป็นเสมือนวัตถุบูชาหรือเครื่องรางของขลังอันศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นไปภายใต้เงื่อนไขที่ว่า พฤติกรรมของคนต้องสูงส่งดีงามปานกัน มิเช่นนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเสื่อม

แท้จริงสิ่งที่บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 พยายามทำคือกระชากหน้ากากประชาธิปไตยไทยว่าเป็นเพียง “ของปลอม”

ข้อสังเกตของผู้เขียนคือ การพยายามชี้ว่าสังคมไทยยังไปไม่ถึงหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง ยังเป็นได้แค่ของเลียนแบบนั้นนำไปสู่การปฏิเสธประชาธิปไตยในท้ายที่สุด

ข้อสังเกตอีกประการคือ บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 บางบทมีการจัดลำดับความสำคัญของหลักประชาธิปไตยโดยให้ความสำคัญแก่หลักสันติภาพและภราดรภาพเป็นอันดับต้น

หลักดังกล่าวใช้ในความหมายเดียวกับความสามัคคี ความเป็นพี่น้อง ความเป็นไทย ความเป็นชาติ

กล่าวคือ สุดท้ายแล้วหลักการสูงสุดที่ตัวบทกวีเชิดชูก็คือภราดรภาพหรือความสมานฉันท์ปรองดองที่หมายถึง “ความเป็นชาติไทย” นั่นเอง