ในดนตรีมี Waltz

ประเทศทุกประเทศในโลกย่อมมีการเต้นรำประจำชาติ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ผู้เต้นรำได้นึกถึงประเทศชาติที่ตนเองได้เกิดมา เช่น Irish มี jig, ฝรั่งเศสมี minuet, อิตาลีมี tarantella, สเปนมี jota, รัสเซียมี gopak, โปแลนด์มี mazurka, ฮังการีมี czardas และประเทศเช็กมี polka

การเต้นรำต่างๆ เป็นการเต้นรำประจำชาติ มีที่มาจาก landler (เล็นเลอร์)-ประเภทของเพลงเต้นรำในอัตราจังหวะสาม พบในแถบออสเตรีย-เยอรมนี ในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 มีลีลาคล้ายเพลงเต้นรำบอลลูม ค่อนข้างเร็วและสง่างาม

นักแต่งเพลงที่ใช้ชื่อนี้ในบทเพลง เช่น ไฮเดิน (Haydn), โมสาร์ต (Mozart), มาห์เลอร์ (Mahler), แบร์ก (Berg) กับ waltz อันเป็นการเต้นรำแรกเริ่มของชนชาวเยอรมัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของชาวออสเตรีย

พูดได้เต็มปากเลยว่า ต้องขอบคุณบรรดานักแต่งเพลง เช่น ชูเบิร์ต (Schubert), ลานเนอร์ (Lanner), สเตราส์ (Strausses) ทั้งพ่อลูก ที่ทำให้วอลซ์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางดนตรีของออสเตรีย หรือที่จริงแล้วคือเวียนนาที่เป็นเมืองหลวง

ใครๆ ก็ทราบกันดีทั่วไปว่า สเตราส์ลูกเป็นราชาแห่งวอลซ์ที่ไร้มงกุฎ ผู้มีดนตรีในหัวใจทำนองเดียวกันกับที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสที่ทรงตรัสว่า “la valse, c”est moi”

ตราบจนถึง ค.ศ.1750 โลกได้มีการเต้นรำที่เรียกว่า walzer ซึ่งเป็นคำนาม และคำกริยาคือ walzen ขณะที่ละตินเรียก volvere ซึ่งหมายถึงอาการเคลื่อนไหวแบบหมุนเวียน เช่น การไหล การส่ายหัว การหมุนกลับ การหมุนตัว ซึ่งมีใช้กันอยู่ในภาษาเยอรมันนานนับร้อยปีมาแล้ว เรื่อยมาจนกระทั่งถึงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 จึงหมายถึงการเต้นรำแบบใหม่ในรูปที่มีการกลับตัวของคู่เต้น

การเต้นในอัตราสามแบบวงกลมหรือบอลลูนได้แพร่หลายเพิ่มความนิยมในหมู่ชนอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มต้นจากทางภาคใต้ของเยอรมนีแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) ออสเตรีย (Austria) และโบฮีเมีย (Bohemia) ทำนองเดียวกันกับการเต้นรำแบบลูกทุ่งของอังกฤษ ซึ่งไม่ว่าใครก็เต้นกันได้อย่างสนุกในสังคมของศตวรรษที่ 18

การเต้นรำดังกล่าวก็ยังมิใช่ waltz ที่สมบูรณ์แบบ ยังคงเป็นการเต้นแบบลูกทุ่งเช็ก (Czech) ที่เต้นกันแบบโปลคา (polka)

ต้นกำเนิดที่แท้จริงของวอลซ์จึงค่อนข้างคลุมเครือไม่ค่อยชัดเจน

บางคนว่า วอลซ์มาจากการเต้นรำแบบเล็นเลอร์ (Landler) ซึ่งได้พัฒนามาจากการเต้นแบบพื้นเมืองต่างๆ ของคนทางภาคใต้ของเยอรมันซึ่งเรียกชื่ออย่างรวมๆ กันว่า การเต้นรำเยอรมัน (Teutsche, Deutsche) ที่นับย้อนหลังสมัยศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นการเต้นแบบวงกลมหมุนกันไปในอัตราสาม โดยแต่ละคู่เกาะเอวแนบกันเต้น ที่ต่างไปจากการเต้นแบบสองแถวหันหน้าเข้าหากัน

การเต้นรำเยอรมันแบบต่างๆ ดังกล่าว ส่วนมากใช้เต้นกันในละแวกบ้านชาวเขาของเยอรมันกับออสเตรีย คือที่ราบสูงบาวาเรีย (Bavaria), ตีโรล (Tyrol), สตีเรีย (Styria), คารินเธีย (Carinthia) และทางตอนเหนือของออสเตรีย ส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทลูกทุ่ง ที่มีการกระโดด การเหยียบหรือแม้กระทั่งกระทืบ รวมทั้งการเหวี่ยงคู่เต้นที่เป็นหญิงไปให้อีกคู่หนึ่ง มีการขับร้องเพลงแบบลูกทุ่งของออสเตรียหรือบรรเลงซอไวโอลิน (fiddle) หรือเครื่องดนตรีลมชาวเขา ทำนองเพลงเหล่านั้นส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการทำอาชีพเกษตร เช่น การเก็บเกี่ยวพืชไร่

รูปแบบหนึ่งของเพลงที่ยังใช้ร้องกันอยู่ในเยอรมนีตอนใต้ คือ Schnadahupfl ที่หมายถึงการกระโดดของเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ทั้งร้องและเต้นในขณะเดียวกันคล้ายกับทำนองและลีลาจังหวะของพวกเล็นเลอร์ (landler) ในอัตราจังหวะสาม ส่วนทำนองอื่นๆ สืบเนื่องมาจากการล่าสัตว์และเพลงจากการทำงานของพวกประมงและช่างตีเหล็ก

ในตอนต้นศตวรรษที่ 18 การเต้นรำแบบเยอรมันเสื่อมความนิยมลง แต่กลับไปปรากฏอยู่ในดนตรีท่อนต่างๆ ของคูเปอแร็ง (Couperrin), บาค (Bach), ฮันเดิล (Handel) ฯลฯ และนักแต่งเพลงอื่นๆ ในยุคเดียวกันนั้น การเต้นรำแบบใช้อัตราจังหวะสาม (triple) หรือแบบกระเด้ง (up-spring) ได้กลับมานิยมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยมีชื่อเรียกใหม่ที่ไม่เหมือนกัน โดยมากเป็นลักษณะของการพลิ้วกลับตัว เช่น แบบดเรเบอร์ (Dreber), เวลเลอร์ (Weller), สปินเนอร์ (Spinner), ชไลเฟอร์ (Schleifer) ฯลฯ เป็นต้น แล้วแต่แต่ละกลุ่มในชนบทนั้นๆ จะชอบเรียกชื่อใดเป็นพิเศษ

เป็นต้นว่า ชอบเรียกการเต้นแบบนั้นว่า ชไตเรอร์ (Steirer) เพราะว่ามาจากเครื่องหมายสตีเรีย (Styria, Landerli, Landerer หรือ Landler ที่มาจาก Land) หรือไม่ก็ใช้คำที่มาจากชนบทลูกทุ่งของเยอรมันนั้นเอง ที่ชอบเรียกกันเป็นพิเศษคือ Land ob der Enns ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของออสเตรียทางเหนือ การเต้นรำแบบต่างๆ เหล่านี้ถือกันว่าเป็นชื่อต้นตระกูลของ Waltz

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสมีข้อแนะนำว่า ชื่อการเต้นรำต่างๆ นั้น บางคำมาจากคำฝรั่งเศสโบราณ คือ volte หรือ volta ซึ่งเหมือนกับ waltz เมื่อแรกเริ่ม ที่มีการหมุนตัวในอัตราสาม

ตามตำราของ อาร์โบ (Arbeau) เล่มหนึ่ง ชื่อ Orchesographie บอกว่าเป็นการเต้นรำที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหาและเอาแต่ใจตนเอง ซึ่งพวกผู้หญิงที่เต้นเป็นคู่เต้นมักจะกระโดดสูงให้เห็นช่วงหัวเข่าที่เปลือยพ้นอาภรณ์ โดยไม่ใช้มืออีกข้างหนึ่งคอยปิดป้อง ทำนองเดียวกันกับแบบของเยอรมันที่มีการใช้กำหมัดกำปั้นปัดป่าย

ต่อมาได้ถูกกลืนหายไปในศตวรรษต่อมาและใช้การเต้นแบบ volte ที่ใช้เต้นสืบต่อกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้

โดยสรุปความแล้ว จะเห็นได้ว่า วอลซ์เป็นการเต้นรำที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งในเพลงป๊อปและคลาสสิค ที่เริ่มต้นมาจากการเต้นรำคู่แบบบอลรูม (ballroom) ในอัตราสาม หรือ 3/4 ซึ่งมีเพียงความเร็วที่บางครั้งเปลี่ยนจากช้าไปเป็นค่อนข้างเร็ว (moderately fast)

กล่าวได้อีกครั้งหนึ่งว่า วอลซ์มีกำเนิดเกิดขึ้นในออสเตรียและเยอรมนีสมัยปลายศตวรรษที่ 18 จากการเต้นรำแบบเล็นเลอร์ (Landler) แบบชนบทลูกทุ่ง ซึ่งบางทีเรียกกันว่า deutscher Tanz การเต้นรำเยอรมัน

เป็นการเต้นรำแบบแรกที่สุดที่ใช้คู่เต้นตระกองกอดเอวกันและกัน อันเป็นการท้าทายรูปแบบสังคมสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย

วอลซ์มีเสน่ห์มากพอที่จะดึงดูดใจบรรดานักแต่งเพลงทั้งหลาย ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแต่งขึ้นโดยนักแต่งเพลงชาวเวียนนาที่มีชื่อดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โยฮันน์ สเตราส์ (Johann Strausses) ทั้งสองคนพ่อ-ลูก คือสเตราส์พ่อเป็น Father of the Waltz สเตราส์ลูกเป็น King of the Waltz ที่ยังอิทธิพลยิ่งต่อสังคมเวียนนาในขณะนั้น

อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คีตกวีเอกของโลกหลายคน เช่น เบโธเฟน (Beethoven) ชูเบิร์ต (Schubert) เวเบอร์ (Weber) โชแปง (Chopin) ลิสต์ (Liszt) และบราห์มส์ (Brahms) ซึ่งทุกคนที่กล่าวถึงได้รจนาบทบรรเลงวอลซ์ไว้ด้วยกันคนละหลายเพลง

ส่วนใหญ่เป็นดนตรีสำหรับบรรเลงโดยเปียโนหรือออเคสตรา บางเพลงมีบทร้องประกอบด้วย บทเพลงของคีตกวีดังกล่าวนั้นมิได้ประพันธ์ขึ้นสำหรับการเต้นบอลรูม แต่เป็นการบรรเลงในแบบคอนเสิร์ตในหอดนตรี วอลซ์บางเพลงมีความยืดยาวนานกว่า เช่น บัลเล่ต์วอลซ์ใน The Nutcracker ของไชคอฟสกี และในอุปรากร Der Rosenkavalier ของ ริกเคิร์ด สเตราส์ (Richard) อ่านออกเสียงว่า ริกเคิร์ด)

และยังมีวอลซ์ในรูปแบบซิมโฟนี เช่น ใน Symphonic fantastique ของบราห์มส์ (Brahms) ฯลฯ เป็นต้น

วอลซ์เป็นดนตรีที่มีท่วงทำนองไพเราะและมีเสน่ห์ ในตัวโน้ตบรรทัดบน (treble) สำหรับทำนองหรือเมโลดี้ ส่วนโน้ตบรรทัดล่าง (bass) แสดงลีลาจังหวะ หนึ่ง-สอง-สาม โดยลงจังหวะเน้นหนักในจังหวะแรกหรือจังหวะที่หนึ่งเสมอ นอกจากนั้น ก็มีวอลซ์ที่มีอัตราสามที่ต่างออกไป คือในวอลซ์ในบทดนตรีแบบ มัสซูรคา (mazurka) ที่บ่อยครั้งจะลงจังหวะเน้นหนักในจังหวะที่สองหรือจังหวะที่สามของห้องเพลง

วอลซ์ที่มีชื่อเสียงมากสำหรับเปียโน ได้แก่ Diabelli Variations ของเบโธเฟน op.120 ในปี ค.ศ.1823 และ Minute Valse จาก Valse op.69 No.1 ของโชแปง (Frederic Chopin) Valse sentimentales op.50 ของชูเบิร์ต กับ The Blue Danube หรือ An der schonen blauen Donau op.314 ของ Johann Strauss ผู้ลูก ฯลฯ เป็นต้น

เป็นความเด่นดังที่ไม่เหมือนใครในวงการดนตรีคลาสสิค ที่มีพ่อ-ลูกนักดนตรีระดับบิดาและราชาของวอลซ์ ซึ่งมีความพิสดารอยู่ไม่น้อยในประวัติศาสตร์การดนตรี

ไทยเรามีแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านเมืองหลวง ประหนึ่งสัญลักษณ์ แม้ไม่มีแม่น้ำดานูบที่เป็นวอลซ์ดังระดับโลกเหมือนเวียนนาออสเตรีย แต่ไทยเรามีนักดนตรีและนักร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียงมากมายหลายท่าน

ดังที่ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งราชทินนามของนักดนตรีไว้เป็นกลอนสัมผัสดังนี้คือ

พระเพลงไพเราะ หลวงเสนาะสำเนียง

หลวงเสียงเสนาะกรรณ พระสรรพ์บรรเลงสรวง

หลวงพวงสำเนียงร้อย หลวงสร้อยสำเนียงสนธิ์

หลวงวิมลวังเวง หลวงบรรเลงเลิศเลอ

ขุนบำเรอจิตรจรุง หลวงบำรุงจิตรเจริญ

ขุนเจริญดนตรีการ พระยาประสานดุริยศัพท์

… ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกหลายสิบท่านที่มีนามสัมผัสเรื่อยต่อกันมาจนกระทั่งถึง “ขุนสำเนียงชั้นเชิง” เป็นท่านสุดท้าย

ฝรั่งมีดนตรีที่สัมผัสเป็นตัวโน้ต ไทยเรามีกลอนสัมผัสเป็นตัวอักษร นอกจากบรรดาศักดิ์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว เรามีโขนละคร นับได้อย่างสะดวกใจว่าเป็นวัฒนธรรมระดับคลาสสิคที่ฝรั่งหากจะเอาอย่างเลียนแบบก็ทำได้เพียง “เต้นรำสวมหน้ากาก” เท่านั้น