เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ : MARIO PUZO กับ เดอะก๊อดฟาเธอร์ และข้อคิด จงทำในสิ่งที่รัก และทำให้โลกหลงใหลด้วย

ผมปรารถนาจะเป็นนักเขียนนวนิยายชื่อก้องโลก ตั้งแต่ตอนอายุ 18 ปี

หลังจากได้ดื่มด่ำกับความลุ่มลึกไพเราะของ The Prophet ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทย ในชื่อว่า “ปรัชญาชีวิต” โดยฝีมือชั้นครูของนักฟิสิกส์ ผู้หลงใหลในโลกวรรณกรรม

หากทว่า ผมกลับเลือกที่จะทำงานในแวดวงการเงิน หรืออาชีพอื่นๆ ที่ตลาดต้องการ โดยปล่อยให้การเขียนหนังสือเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น

นอกจากนี้ ผมก็ยังประนีประนอมระหว่างความฝันกับความจริงไปอีกขั้นด้วยการเลือกเขียนหนังสือในแนวทาง Non fiction ตั้งแต่การวิจารณ์วรรณกรรมและประวัติศาสตร์จีน ไปจนกระทั่งถึงการลงทุนในตลาดหุ้นที่เต็มไปด้วยมายาและอคติ เพราะเชื่อว่าจะขายได้ดีกว่าการเขียนนวนิยายดีๆ ออกมาสักเล่ม

 

ยิ่งอายุมากขึ้น ผมก็ยิ่งรู้สึกดี ที่ไม่ได้วิ่งตามความฝันในวัยเยาว์อย่างบ้าคลั่ง เพราะหากทำเช่นนั้น ชีวิตก็อาจจะต้องตกอยู่ในวังวนแห่งความยากไร้ไม่สิ้นสุด

ที่สำคัญ ยังได้ปลอบประโลมตัวเองอีกด้วยว่า “ผมได้เป็นนักเขียนสมใจแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นนักประพันธ์นิยายอย่างที่นึกฝันไว้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน ผมกลับเกิดคำถามเล่นๆ ขึ้นมาในใจว่า “หากในตอนนั้น ผมตัดสินใจละทิ้งความสะดวกสบายทุกอย่างในชีวิต และทุ่มเทกับภารกิจการเป็นนักเขียนนิยายชื่อก้องโลกให้สุดตัวไปเลย บางทีผมอาจประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ได้ทั้งเงินทอง ชื่อเสียง และการบรรลุความฝันสวยงาม”

มันเป็นคำถามที่ฟุ้งซ่านไม่น้อย เพราะคิดไปก็คงไม่เกิดประโยชน์ใด เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผมไม่ได้เลือกเดิน

แต่กระนั้น มันก็ได้จุดประกายบางอย่างไว้ในใจ ซึ่งทำให้ได้ค้นพบคำตอบที่น่าสนใจในวันนี้

 

“ทําในสิ่งที่รัก VS ทำเพื่อเงิน” เป็นคำถามยอดฮิตของคนในยุคนี้ ซึ่งเถียงกันอย่างไร ก็ไม่มีวันได้ข้อสรุป

บางคนบอกว่า ทำไมต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะโลกยุคนี้เปิดกว้างและร่ำรวยมากพอที่จะทำให้เราสามารถบรรลุได้ทั้ง 2 เส้นทาง

นี่เป็นคำตอบที่ดี แต่ก็อย่าลืมว่า คนเราทุกคนล้วนมีความฝัน แต่ไม่ใช่ว่า ทุกคนจะมีความสามารถมากพอที่จะทำความฝันให้กลายเป็นเงินล้านได้ แม้แต่ในยุคปัจจุบันที่มั่งคั่งและเต็มไปด้วยโอกาสมากมาย

หากจะเลือกกลยุทธ์แบบที่ผมเคยใช้ในอดีต คือ ทำสิ่งที่รักเป็นงานอดิเรก และหวังว่ามันจะงอกเงยเป็นงานประจำได้ในอนาคต ก็เป็นเส้นทางที่พอใช้ได้

แต่กระนั้น มันก็อาจทำให้เราเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ และยากที่จะบรรลุความฝันได้อย่างเต็ม 100% เพราะเราไม่ได้ทุ่มเททรัพยากรให้กับมันมากเพียงพอ

 

เมื่อเจอทางตัน เราอาจต้องเปลี่ยนคำถามที่ใช้ หรือปรับให้มันถูกต้องยิ่งขึ้น

“ทำไมการทำสิ่งที่รัก จึงไม่อาจทำเงินได้มากพอ?”

ในยุคก่อน เรามีข้ออ้างได้ว่า โลกยังยากไร้ ผู้คนต้องจ่ายเงินให้กับสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตมากกว่าความหรูหราฟุ่มเฟือย ดังนั้น แม้สินค้าของเราจะมีคุณภาพดี แต่ถ้าไม่ใช่สิ่งจำเป็น แพงเกินไป หรือซับซ้อนเกินไป ก็คงยากจะหาลูกค้าได้

แต่ในยุคนี้ ข้ออ้างเหล่านั้นไม่เป็นจริงอีกต่อไป ดังนั้น หากสินค้าของคุณยังขายได้ยาก ก็แปลได้อย่างเดียวว่า มันอาจด้อยคุณภาพ ซับซ้อนเกินไป ออกแบบได้แย่ หรือขาดแคลนการประชาสัมพันธ์

 

การทำในสิ่งที่รัก เป็นทั้งสิ่งที่พึงกระทำ และยุทธศาสตร์ในการแข่งขันสำหรับโลกในวันนี้ เนื่องจากตลาดเปิดกว้างและมั่งคั่งกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องการสินค้าที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ยิ่งกว่ายุคสมัยใด

ดังนั้น การทำในสิ่งที่รักจึงได้เปรียบถึง 3 เท่า นั่นคือ คุณพร้อมจะเหนื่อยและทุ่มเทได้มากกว่าคู่แข่ง คุณสามารถทำมันได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องเลียนแบบใคร และที่สำคัญ คุณยังสามารถทำไปได้พร้อมกับรอยยิ้มและความสุขใจ

อย่างไรก็ตาม คนที่เลือกทำในสิ่งที่รัก แทนที่จะเลือกความมั่นคงให้ชีวิต มักจะเป็นคนมีอัตตาสูง ดังนั้น เมื่อมีผู้หวังดีกล่าวตำหนิผลงานของเขา ก็มักจะปฏิเสธไว้ก่อน บอกว่าคนอื่นไม่มีวันเข้าใจ หรือหากผลงานชิ้นนั้นขายไม่ได้ ก็มักจะดูถูกตลาดว่า โง่เขลา จึงมองข้ามผลงานอันทรงคุณค่าชิ้นนี้ไปได้

การปรับตัวให้เข้ากับโลกหรือเสียงวิจารณ์ของคนรอบข้าง ก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเรากำลังสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเองไป

สุดท้าย ผลงานที่ปรับตามความต้องการของคนอื่น ก็จะกลายเป็นเพียงผลงานธรรมดาที่หาได้ทั่วไป หรือไม่งั้นก็เป็นเพียงผลงานที่ดีงาม แต่ไม่มีคุณค่าทางใจ

 

“การทำสิ่งที่รัก ให้โลกหลงใหลด้วย” จึงย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดาย แต่กระนั้น หากเราเปิดใจให้มากพอ และรับฟังโลกให้มากขึ้น เราก็อาจจะเข้าใกล้ความสำเร็จได้ดีกว่าที่ผ่านมา

The Godfather เป็นนิยายที่ประสบความสำเร็จระดับโลก แม้จะไม่ถึงขึ้นทำให้ผู้เขียนได้รับรางวัลโนเบล แต่ก็ถือว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ ไม่ใช่ผลงานเอาใจตลาดแบบไร้รสนิยม

หากทว่า Mario Puzo กลับบอกว่า ผลงานชิ้นนี้ของเขาทำเพื่อเงินเท่านั้น ไม่อาจเทียบกับผลงานชิ้นก่อนและหลังจากนั้นที่เขาตั้งใจใส่ความเป็นศิลปะเข้าไปมากกว่า

แม้ผู้เขียนจะพูดเช่นนั้น แต่ผมกลับรู้สึกว่า The Godfather เป็นผลงานที่มีความเป็นศิลปะล้ำลึกและเหนือชั้นกว่า ที่สำคัญ ผลงานชิ้นนี้ซึ่งเขียนขึ้นจากความกระหายต้องการเงิน ก็กลับสะท้อน Signature ของเขา ไม่ยิ่งหย่อนกว่าผลงานชิ้นอื่น มันจึงไม่ใช่การขายจิตวิญญาณแบบเต็ม 100% เพียงเพื่อแลกกับเงินทองและความสำเร็จ

การปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาด โดยไม่ละทิ้งเอกลักษณ์และตัวตนของ Mario Puzo ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ในการทำให้ผลงานของตัวเองโดดเด่นและเฉียบคมยิ่งขึ้น โดยไม่หมกมุ่นกับอัตตาและแนวทางเดิมๆ มากเกินไป

 

ในทางปฏิบัติจริง เรายากจะรู้ว่า แค่ไหนจึงจะเรียกว่า “พอเพียง” และเหมาะสม

การลองผิดลองถูก จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดี ในท่ามกลางความไม่รู้

สิ่งสำคัญคือ อย่ามัวแต่คิด หากให้ลงมือทำ

ถ้าเป็นคนใจเสาะ ก็ควรเริ่มปรับตัวทีละน้อย อาจเป็นส่วนที่ไม่สำคัญ หรือกระทบกับจิตใจที่อ่อนไหวมากเกินไป แต่บางครั้ง การทำลายอัตตาและความเห็นที่คับแคบของตัวเรา ก็ต้องใช้ยาแรง เราอาจต้องเปลี่ยนตัวเองแบบ 100% ไปเลย และหากถึงจุดที่ทนไม่ไหว จึงค่อยกลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง ซึ่งย่อมแน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันนั้น จะทิ้งร่องรอยบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา

บางครั้ง การออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ไปเผชิญกับโลกที่แตกต่าง ผู้คนที่แปลกตา และแม้กระทั่งลูกค้ากลุ่มใหม่ ก็อาจส่งผลให้เกิดการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และอัตลักษณ์ของเราให้มีความกลมกล่อมยิ่งขึ้น หรืออาจถึงขึ้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จได้

ก่อนที่ Steve Jobs จะปฏิวัติโลกด้วย iPhone เขาเคยถูกไล่ออกจากบริษัท Apple ที่รักยิ่งไปหลายสิบปี

ก่อนที่ Lenin จะปฏิวัติประเทศรัสเซียให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์แห่งแรกของโลก สมดั่งที่ตั้งปณิธานไว้ เขาต้องถูกเนรเทศจากบ้านเกิดเมืองนอน ไปลี้ภัยอยู่ในหลากหลายประเทศ

ก่อนที่ Dante จะประพันธ์มหากาพย์ The Divine Comedy ที่ยิ่งใหญ่สะเทือนโลก เขาได้ลี้ภัยจากเมือง Florence ที่งดงาม และไม่อาจหวนกลับมาเหยียบผืนดินนี้อีกเลย ตลอดชีวิตแสนสั้น

ทุกคนที่สร้างผลงานยิ่งใหญ่ไว้ให้โลกได้จดจำ ล้วนแต่เดินตามยุทธศาสตร์ “ทำในสิ่งที่รัก” แบบไม่ลดละ และส่วนใหญ่ก็ต้องถูกบีบบังคับให้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่มากก็น้อย

ดังนั้น การทำในสิ่งที่รัก จึงไม่ควรเป็นภารกิจที่คับแคบ เพียงเพื่อสนองอัตตาตัวเองเท่านั้น

แต่จำเป็นต้องปฏิวัติบางอย่างในตัวเราหรือผลงาน เพื่อทำให้โลกใบนี้ได้รับประโยชน์จากมันด้วย