2503 สงครามลับ สงครามลาว (83)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (83)

 

การเข้าตีของเวียดนามเหนือ

ฝ่ายเวียดนามเหนือวางแผนการใช้กำลังเข้าตีซำทองครั้งใหม่ดังนี้

กรม 141 เป็นหน่วยเข้าตีหลักทางด้านเหนือของซำทอง โดยกำหนดให้กองพันที่ 1 เป็นหน่วยเข้าตีหลักต่อที่หมาย DX เมื่อยึดที่หมายได้แล้วให้วางกำลังสกัดกั้น และใช้กำลังส่วนใหญ่ขนอาวุธกระสุนที่ยึดได้ ส่งกลับเชลยศึกและผู้บาดเจ็บ

กองพันที่ 2 เข้าตีสนับสนุนทางใต้ต่อที่หมาย DW ซึ่งอยู่ทางใต้ DX ประมาณ 400 เมตร เมื่อยึดที่หมายได้แล้ว ให้จัดกำลังไล่ติดตามเพื่อทำลายกำลังฝ่ายเราพร้อมสถาปนาระบบสื่อสาร

กองพันที่ 3 เข้าตีสนับสนุนต่อที่มั่น DI เมื่อยึดที่หมายได้แล้วให้วางกำลังสกัดกั้นการถอนตัวของฝ่ายเรา

กรม 165 เข้าตีตามสันเนินด้านตะวันออกของซำทอง ดังนี้

กองพันที่ 5 เป็นหน่วยเข้าตีหลักต่อที่หมาย DC และ DN เมื่อยึดที่หมายได้แล้ว ให้ขนอาวุธกระสุนที่ยึดได้เข้าที่หลบซ่อน แล้วเคลื่อนที่เข้าสู่สกายไลน์

กองพันที่ 4 วางกำลังทางทิศใต้ของฐานยิงธันเดอร์สกัดกั้นฝ่ายเราไม่ให้ถอนตัวลงสู่ล่องแจ้ง

กองพันที่ 6 เป็นกองหนุน เคลื่อนที่ติดตามกองพันที่ 5 ไล่ติดตามฝ่ายเราเมื่อสั่ง

 

การเข้าตีระลอกแรก

17.00 น. ข้าศึกเริ่มใช้อาวุธหนักยิงเตรียมโจมตีฝ่ายเราทุกที่ตั้งตรงตามคำแจ้งเตือนจาก บก.ผสม 333 สภาพอากาศขณะนั้นไม่เกื้อกูลต่อฝ่ายเราในการโจมตีตอบโต้ทางอากาศ เมื่อสิ้นสุดการยิงเตรียม พัน.ทสพ. บีซี 606 ซึ่งเป็นที่หมายการเข้าตีหลักของข้าศึก ถูกเข้าตีด้วยกำลังทหารราบจากทางเหนือและตะวันออก

แต่ด้วยสภาพอากาศที่ดีขึ้น ฝ่ายเราจึงสามารถใช้เครื่องบิน T-28 สนับสนุนการโจมตีทางอากาศได้ การเข้าตีของข้าศึกล้มเหลว

 

ฝ่ายเราบาดเจ็บ 5-6 นาย

การเข้าตีระลอกสอง

19.00 น. เริ่มด้วยการยิงเตรียม ติดตามด้วยการส่งกำลังเข้าตีตลอดแนวทั้ง 3 กองพันต่อที่หมาย พัน.ทสพ.606 608 และ 607 ฝ่ายเราต่อสู้อย่างเหนียวแน่น

20.15 น. เครื่องบินสปุ๊กกี้ทิ้งพลุส่องแสง และยิงปืนกลอากาศขนาด 7.62 ม.ม. สนับสนุน ข้าศึกเสียชีวิตพาดอยู่บนลวดหนามด้านทิศเหนือ 6 ราย สปุ๊กกี้ให้การสนับสนุนอยู่ชั่วโมงเศษจนกระสุนใกล้หมด จึงแจ้งให้รอเครื่องใหม่มาสับเปลี่ยน และยังมีเครื่องบินสตริงเกอร์ติดตั้งปืนกลอากาศขนาด 20 ม.ม. และปืนขนาด 40 ม.ม. ซึ่งเหมาะสำหรับทำลายยานพาหนะข้าศึก แต่ผู้นำอากาศยานหน้าประจำ พัน.ทสพ.606 ขอให้ไปตรวจสอบทางด้านตะวันออกของบ้านหินตั้งซึ่งมีเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อกับทุ่งไหหินได้ และคาดว่ามีการเคลื่อนไหวของรถถังข้าศึก

21.30 น. กองพัน ทสพ.607 และ 610 ซึ่งข้าศึกกำหนดให้เป็นที่หมายรอง เริ่มถูกเข้าตี ระหว่างที่รอเครื่องบินสนับสนุนการโจมตีก็ได้รับการยิงสนับสนุนจากฐานปืนใหญ่จากที่ตั้งยิงในล่องแจ้งและฐานยิงไทเกอร์บนแนวสกายไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการขอยิงส่องสว่างสนามรบ ข้าศึกพยายามเข้าตี พัน.ทสพ.606 อีกครั้งหนึ่งเพื่อกู้ศพผู้เสียชีวิตที่พาดอยู่บนลวดหนาม ถูกฝ่ายเรายิงสกัด ข้าศึกจึงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ไม่สามารถนำศพกลับไปได้

23.00 น. สปุ๊กกี้กลับมาถึงพื้นที่สู้รบและยิงสนับสนุน พัน.ทสพ. บีซี 608 ตามคำขอ ส่วนสตริงเกอร์ที่แยกตัวไปตรวจสอบทางด้านตะวันออกของบ้านหินตั้งได้กลับมาพื้นที่การรบ และแจ้งว่า ตรวจพบแสงไฟเป็นแนวยาวจากขบวนรถจึงเข้าโจมตี แสงไฟหายไป

คาดว่าสามารถทำลายขบวนยานพาหนะของข้าศึกได้จำนวนหนึ่ง

 

คำเตือนเรื่องรถถัง

ก่อนหน้าการเข้าตีใหญ่ของเวียดนามเหนือครั้งนี้ ผู้นำอากาศยานหน้าประจำ พัน.ทสพ. บีซี 606 นามรหัส “สปอตไลต์” หรือนามจริง “ปรีชา นิธิสุภา” ได้เคยแจ้งเตือนการเข้ามาของรถถังในพื้นที่การรบไว้แล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ตามคำบอกเล่าภายหลังในบันทึก “นักรบสมรภูมิเลือด ผู้เสียสละเพื่อแผ่นดิน” ของ “พันทิวา” ดังนี้

“การรบที่หนักที่สุดจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดเห็นจะเป็นตอนที่ผมย้ายไปทำหน้าที่แฟ็กประจำกองพัน บีซี 606 และต้องเผชิญกับการโจมตีของรถถังพร้อมทหารราบที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่า

เหตุการณ์ครั้งนั้นเริ่มต้นหลังจากที่ผมย้ายไปอยู่บีซี 606 ได้ไม่กี่วัน ตอนกลางคืนผมก็ได้ยินเสียงเหมือนกับรถแทร็กเตอร์ขนาดใหญ่ดังแว่วมาจากร่องเขา เมื่อส่องกล้องมองออกไปผมก็เห็นแสงไฟวูบไหวขึ้นลงตามความลาดชันของภูมิประเทศ ลักษณะเหมือนกับเป็นขบวนคอนวอยที่กำลังแล่นเข้ามาโดยมีทิศทางมุ่งสู่ที่ตั้งกองพันของเรา”

เมื่อรายงานความเคลื่อนไหวดังกล่าวไปยังหน่วยเหนือ ฝ่ายอเมริกาได้ส่งกันชิพปีกนิ่ง หรือ “สปุ๊กกี้” ซึ่งเป็นเครื่องบิน C-130 ติดอาวุธหนักมายิงโจมตีในตำแหน่งที่เรารายงานว่ามองเห็นแสงไฟจากยวดยานข้าศึก ผลจากการโจมตีที่เรารับฟังทางวิทยุก็คือนักบินได้รายงานว่าได้ยิงทำลายเป้าหมายด้วยปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม. และปืนกลขนาด 40 ม.ม. ซึ่งเป็นอาวุธสำหรับทำลายยานพาหนะหรือขบวนคอนวอยโดยตรง

เหตุการณ์โจมตีแสงไฟจากยวดยานที่คาดว่าเป็น “รถถัง” มีการรายงานไปตามสายงานของแต่ละฝ่าย กล่าวคือ แฟกซ์รายงานไปยัง “Bounder Control” ส่วนผู้บังคับกองพันรายงานไปยัง บก.ฉก.วีพี

“ถึงแม้สิ่งที่ได้ยินและแสงไฟที่มองเห็นบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเป้าหมายนั้นเป็นยานพาหนะที่ไม่ใช่ยวดยานธรรมดา แต่หน่วยเหนือกลับไม่เชื่อ และย้อนว่าให้แฟกซ์ตรวจสอบแผนที่ให้ดี เพราะภูมิประเทศซึ่งเป็นภูเขาสูงชันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่รถถังจะขึ้นมาแล่นอย่างที่เห็น”

“การที่หน่วยเหนือไม่เชื่อ ทำให้เราเสียความรู้สึกอย่างมาก เพราะผมเองคุ้นเคยอยู่กับรถมาตั้งแต่เด็ก ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ยิ่งไปกว่านั้นก็คือก่อนหน้าที่จะมาเป็นแฟกซ์ ผมเคยทำงานอยู่กับพวกสร้างทางของกองทัพสหรัฐ ผมแยกแยะเสียงออกว่าเสียงแบบไหนเป็นเสียงรถบรรทุกหรือเป็นเสียงรถแทร็กเตอร์ ซึ่งมันไม่เหมือนกับเสียงที่ผมได้ยินในสมรภูมิลาว ผมจึงมั่นใจว่ามันเป็นเสียงรถถังอย่างแน่นอน”

“จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่กองพันจะถูกตีแตกและโดนรถถังเหยียบประมาณ 3-4 วัน ในเวลากลางวัน ข้าศึกได้ใช้ลูกยาวยิงเข้ามายังที่ตั้งฝ่ายเรา”

“เมื่อผมส่องกล้องไปก็มองเห็นควันลอยขึ้นจากตำแหน่งการยิง ในตอนนั้นผมยังคิดในแง่ดีว่า คงจะเป็นควันจากปืนใหญ่ข้าศึกเหมือนทุกครั้ง”

“แต่เมื่อเรียกเครื่องบินมาทำการโจมตีและทำลายเป้าหมายนั้นได้ ผมได้ยินนักบินรายงานทางวิทยุไปยัง ‘สกาย’ ว่าทำลายปืนใหญ่ขนาด 85 ม.ม. ได้ 1 กระบอก โดยนักบินไม่พูดว่าเป็นรถถัง ทั้งที่ปืนใหญ่ขนาด 85 ม.ม. นั้นเป็นปืนประจำรถถังแบบ T-34 ทำในโซเวียตซึ่งกองทัพเวียดนามเหนือนำเข้าประจำการและส่งเข้ามาทำการรบในสมรภูมิลาว”

“ฉะนั้น การรายงานในลักษณะดังกล่าวคือ สิ่งที่แสดงว่านักบินตรวจการณ์และนักบินโจมตีของอเมริกันมองเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าเป้าหมายคือ รถถังของเวียดนามเหนือซึ่งได้เคลื่อนเข้ามาเพื่อที่จะโจมตีกองพันทหารเสือพรานของไทยแน่ แต่นักบินไม่ยอมบอกความจริงเพราะกลัวว่าฝ่ายเราจะเสียขวัญ”

“ถึงตอนนั้นสปอตไลต์เริ่มรู้แล้วว่า ในไม่ช้ารถถังของพวกเวียดนามเหนือต้องแล่นเข้าบดขยี้กองพันเสือพราน บีซี 606 อย่างแน่นอน…”

“…สิ่งหนึ่งที่สปอตไลต์จำได้ในเหตุการณ์ครั้งนั้นก็คือ ในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่ทหารเวียดนามเหนือจะเปิดฉากโจมตีขั้นแตกหัก วิทยุสื่อสารของฝ่ายเราแทบจะใช้การไม่ได้เลย”

“สาเหตุเป็นเพราะข้าศึกมีการติดต่อสั่งการทางวิทยุเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดคลื่นรบกวนกระทบกับสัญญาณการสื่อสารของวิทยุ PRC-27 และ PRC-25 ที่ฝ่ายเราใช้อยู่”

“การที่ทหารเวียดนามเหนือใช้การติดต่อสื่อสารทางวิทยุก่อนถึงเวลาโจมตีครั้งใหญ่ต่อกองพันเสือพรานของไทยนั้นไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทหารเวียดนามเหนือมีความมั่นใจเป็นอย่างมากว่าจะสามารถบดขยี้ฝ่ายเราได้อย่างแน่นอน ข้าศึกจึงไม่สนใจว่าจะต้องรักษาความลับในการสื่อสาร ทั้งที่โดยปกติแล้วการสั่งการในสนามรบเกือบทุกแห่งที่ผ่านมา ฝ่ายเวียดนามเหนือจะนิยมใช้การวางสายโทรศัพท์ เนื่องจากสามารถรักษาความลับและป้องกันการถูกดักฟังได้ดีกว่าการใช้วิทยุ”

“ตลอดระยะเวลาที่กองพันทหารเสือพรานไปรบในสมรภูมิลาว หลายครั้งเมื่อฝ่ายเราเข้ายึดพื้นที่กลับคืน สิ่งหนึ่งที่ตรวจพบก็คือทหารเวียดนามเหนือมีเครือข่ายการวางสายโทรศัพท์สนามเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้ผู้บัญชาการระดับสูงของเวียดนามเหนือสามารถติดตามสถานการณ์และอำนวยการรบได้ตลอดเวลาและครอบคลุมไปได้ทุกหน่วยที่อยู่ในแนวหน้า”

สปอตไลต์บันทึกสถานการณ์ที่ พัน.ทสพ.606 ซึ่งเป็นที่หมายหลักของเวียดนามเหนือเมื่อเย็นวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2515 ต่อไปดังนี้

“เมื่อถึงเวลาห้าโมงเย็นตรงตามเวลาที่ข่าวกรองของฝ่ายอเมริกันแจ้งมา ข้าศึกก็เปิดฉากยิงถล่มด้วยอาวุธหนักทั้งปืนใหญ่ จรวด ปืน ค. ก่อนที่จะตามมาด้วยเสียงปืนเล็กและ RPG”

“การโจมตีดำเนินไปเป็นระลอก โดยข้าศึกทุ่มกำลังหนุนเนื่องเข้ามาไม่ขาดสาย ฝ่ายเรายิงต่อสู้อย่างดุเดือดเหนียวแน่นและสามารถสังหารทหารเวียดนามเหนือตายคาลวดหนามได้เป็นจำนวนมาก ชนิดที่ว่ามองเห็นศพห้อยร่องแร่งอยู่หน้าแนวป้องกัน…”

“…การสู้รบในวันนั้นพวกเวียดนามเหนือก็เข้าโจมตีฝ่ายเราในลักษณะเดียวกัน คือส่งเสียงร้องและวิ่งดาหน้าเข้าหาแนวที่มั่นของฝ่ายเราโดยมีนายทหารซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาถือปืนสั้นโบกมือกวัดแกว่งให้ทหารรุกไล่บุกตะลุยตามกันมาเป็นระลอก”

“พอเรายิงตัวหัวหน้าล้มลง คนใหม่ก็จะขึ้นมาทำหน้าที่แทนคอยโบกมือเป็นสัญญาณให้ทหารวิ่งเข้ามาเป็นระลอกเหมือนกับคลื่นทะเลที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด”

“ทหารเวียดนามเหนือวิ่งเข้ามาใกล้ชนิดที่ว่าสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ในขณะที่พวกมันหยิบระเบิดขว้างออกมาจากเป้ที่สะพายหลังแล้วเหวี่ยงเข้าใส่แนวตั้งรับของฝ่ายเรา”

“การเข้ามาถึงระยะที่สามารถขว้างระเบิดได้หมายความว่าการรบดำเนินไปในระยะประชิดจนเกือบจะประจันหน้ากันอยู่แล้ว”

“เราต้องยอมรับว่าการที่ทหารเวียดนามเหนือสามารถทำการรบได้อย่างกล้าหาญไม่หวั่นเกรงต่อความตาย ย่อมแสดงให้เห็นว่าพวกเขาผ่านการฝึกมาอย่างเข้มข้น และมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะละลายกองพันทหารไทยให้ได้”

“อย่างไรก็ตาม ด้วยการต้านทานอย่างเหนียวแน่นและจิตใจนักสู้ของทหารไทยที่มีความองอาจ แกล้วกล้าไม่น้อยไปกว่าข้าศึก กองพันทหารเสือพรานของไทยจึงสามารถตั้งยันการบุกข้าศึกไว้ได้และยิงสกัดกั้นจนทหารเวียดนามเหนือล่าถอยกลับไป ในช่วงที่ข้าศึกถอนกำลังกลับไปและชะงักการโจมตีลงชั่วขณะ ฝ่ายเราสามารถมองเห็นร่างข้าศึกที่ถูกยิงตายติดคาลวดหนามหลายศพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายเรามีขวัญและกำลังใจเพิ่มมากขึ้น ทหารทุกคนเห็นแล้วว่าพวกเวียดนามเหนือก็ไม่ได้เก่งกาจมาจากไหน เมื่อบุกเข้ามาก็ถูกฝ่ายเรายิงตายได้เช่นกัน”

“ผู้พันได้สั่งให้ทหารเฝ้าจับตา ‘บอดี้เคาต์’ (Body Count) หรือ ‘ศพข้าศึก’ เหล่านั้นไว้ให้ดีและคอยระวังไม่ให้ข้าศึกมากระตุกกลับคืนไปได้ เพราะในเวลานั้นฝ่ายอเมริกันได้ตั้งรางวัลให้แก่ทหารเสือพรานที่สามารถสังหารข้าศึกและยึดศพมาได้เป็นหลักฐานศพละ 4,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น”

“แต่แล้วเมื่อถึงเที่ยงคืนทหารเวียดนามเหนือก็เปิดฉากบุกใหญ่อีกรอบหนึ่งและทุ่มโถมกำลังเข้าตีโจมตีอย่างหนัก บอดี้เคาต์ที่ฝ่ายเราคิดว่าจะนำไปขึ้นรางวัลก็ถูกกระตุกกลับคืนหายไปจากแนวรั้วลวดหนามจนหมดสิ้น”