เลือกตั้งเมืองพัทยา แรงสะเทือนจากการกลับมาของ ‘บ้านใหญ่’ บทเรียนความพ่ายแพ้ของ ‘คณะก้าวหน้า’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เลือกตั้งเมืองพัทยา

แรงสะเทือนจากการกลับมาของ ‘บ้านใหญ่’

บทเรียนความพ่ายแพ้ของ ‘คณะก้าวหน้า’

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่สื่อมวลชนหลายแขนงต่างฉายแสงให้ความสำคัญเป็นพิเศษแล้ว

ยังมีการเลือกตั้งในสนาม “เมืองพัทยา” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ทั้งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา (ส.ม.) จำนวน 24 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยรายละเอียดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิจำนวน 38,320 คน จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 78,018 คน (ร้อยละ 49.12) ถือว่ามีผู้มาใช้สิทธิไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจากการเลือกตั้งในปี 2551 และ 2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 51.03 และ 41.51 ตามลำดับ

ผู้ได้รับชัยชนะในตำแหน่งนายกเมือง คือ ผู้สมัครหมายเลข 1 “ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์” อยู่ที่คะแนน 14,349 เสียง

ส่วนอันดับรองลงมานั้นตามมาด้วย ผู้สมัครหมายเลข 4 “สินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร” อยู่ที่ 12,477 คะแนน

และผู้สมัครจาก “คณะก้าวหน้า” คือ “กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย” ได้รับคะแนนไป 8,759

สุดท้ายจากผู้สมัครทั้งหมด 4 คน คือ “ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ” อยู่ที่ 990 เสียง

 

ชัยชนะของ “ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์” ถือได้ว่าเป็นการกลับมาของตัวแทน “บ้านใหญ่” ตระกูลคุณปลื้มอีกครั้งในตำแหน่งนายกเมือง

แม้จะไม่ได้มีนามสกุล “คุณปลื้ม” ทางสายโลหิต แต่ก็รู้ถึงความสัมพันธ์ของ “ปรเมศวร์” กับตระกูลการเมืองเก่าแก่ในพื้นที่พัทยาและจังหวัดชลบุรีเป็นอย่างดี

ผู้ที่ติดตามสนามการเมืองกรุงเทพฯ เมื่อมองไปทางภาคตะวันออก อาจเห็นได้ถึงความแตกต่างในผลการเลือกตั้งของทั้งสองสนาม

ทั้งการแลนด์สไลด์ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณของการไม่ยอมรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และที่นั่งของสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) กว่า 34 ที่นั่งตกเป็นของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล

แต่เราไม่เห็นท่วงทำนองเดียวกันนี้ในสนามเมืองพัทยา เมื่อผู้สมัครจาก “คณะก้าวหน้า” ตัวแทนฝ่ายก้าวหน้าในสนามนี้ไร้ชัยทั้งตำแหน่งนายกและที่นั่งสภาเมือง

อะไรคือแรงสะเทือนจากชัยชนะของตระกูลคุณปลื้มในพัทยา และบทเรียนจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายก้าวหน้าในสนามนี้คืออะไร

ชวนย้อนฟังทรรศนะของนักวิชาการผู้ศึกษาสนามการเมืองท้องถิ่นไทย และบทสัมภาษณ์ “พรรณิการ์ วานิช” จากคณะก้าวหน้า ใน “มติชนทีวี” เพื่อร่วมหาคำตอบ

 

ชาลินี สนพลาย อาจารย์จากภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาด้านการเมืองท้องถิ่น กล่าวผ่านโปรแกรมพอดแคสต์ของศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม ถึงลักษณะเฉพาะของเมืองพัทยาว่า พัทยาไม่ได้เป็นเพียงเมืองที่รองรับผู้อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามา รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นแหล่งเศรษฐกิจภาคบริการท่ามกลางเมืองอุตสาหกรรมในเขตภาคตะวันออก

นี่จึงเป็นหนึ่งในความสำคัญของ “เมืองพัทยา” ในเชิงเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับการเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อพูดถึงจังหวัดชลบุรี หรือเมืองพัทยา คงหลีกไม่ได้ที่จะพูดถึงกลุ่มก้อนทางการเมืองที่กุมอำนาจมาอย่างยาวนานอย่างตระกูล “คุณปลื้ม”

แต่ชาลินีชี้ให้เห็นว่าการเมืองภายในเมืองพัทยานั้นก็มีความเปลี่ยนแปลง

“อาจจะพูดได้ว่าชลบุรีในสมัยนี้เข้าสู่ยุคการเมืองหลายขั้วอำนาจแล้ว ไม่ใช่ขั้วอำนาจเดียวเหมือนสมัยยุคกำนันเป๊าะ เราจะเห็นฐานเสียงของกลุ่มบ้านใหม่ [ที่แยกออกจากบ้านใหญ่] บ้านใหญ่ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งหมด อย่างน้อย 3 กลุ่มในพื้นที่ที่แต่ละกลุ่มมีจุดเด่นและเครื่องมือทางการเมืองต่างกันไป”

แต่ถ้าเปรียบเทียบกระแสคนรุ่นใหม่ หรือ “พรรคอนาคตใหม่” ในการเมืองระดับชาติเมื่อปี 2562 ที่ได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับ 3 ของประเทศ หรือการเอาชนะกลุ่มบ้านใหญ่ในจังหวัดชลบุรีได้ แต่นี่ก็เทียบกันไม่ได้เสมอไประหว่างการเมืองระดับชาติและเลือกตั้งท้องถิ่น

“มีคำอธิบายว่าจริงๆ แล้ว การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้โฟกัสนโยบายหรืออุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายระดับชาติมาก แต่ตัวแคนดิเดตยังสำคัญ และเป็นวิธีคิดที่ make sense มากด้วย เพราะที่กำลังเลือกคือผู้บริหารเมือง ไม่ใช่การส่งใครไปรัฐสภาส่วนกลาง ดังนั้น แคนดิเดตจึงสำคัญ เพราะแสดงว่ามีเครือข่ายทางการเมืองมากพอที่จะทำงานในพื้นที่ได้หรือไม่”

 

ด้าน รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การเมืองที่กุมเครือข่ายในพัทยาเดิมยังคงความได้เปรียบอยู่ เพราะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงรัฐส่วนกลางเข้ากับประชาชนในพื้นที่

ดังนั้น ผู้สมัครเบอร์ 1 ที่เป็นสายตรงของตระกูล “คุณปลื้ม” และเบอร์ 4 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีแรงงานจาก “บ้านใหม่” จึงได้เปรียบในสนามนี้

รศ.ดร.โอฬารได้ตั้งข้อสังเกตต่อการกระโดดร่วมสนามนี้ของ “คณะก้าวหน้า” ที่นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ว่าแม้จะเป็นกลุ่มการเมืองที่ยึดโยงกับการนำเสนอแนวคิด-การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใหญ่ของประเทศ ที่อาจจะดึงดูดกลุ่มประชากรที่ย้ายเข้ามาใหม่ได้ แต่ยังต้องทำงานหนักในด้านการนำเสนอผู้สมัคร

“สุดท้ายแล้วรัศมีของคุณธนาธรและตัวผู้สมัครเอง ฝ่ายไหนจะมากกว่ากัน ถ้าเลือกไปแล้วจะเป็นอิสระจากคุณธนาธรหรือไม่” อาจารย์โอฬารเปรียบเทียบตัวผู้สมัครจากคณะก้าวหน้าเข้ากับหมายเลข 1 – “ปรเมศวร์” ที่แม้จะเห็นว่าเป็นตัวแทนบ้านใหญ่ แต่อาจารย์โอฬารชี้ว่าปรเมศวร์ก็มีความเป็นตัวเองในการนำเสนอ หาเสียง หรือการบริหารงานให้ประชาชนเห็นว่าเป็นตัวของตัวเอง และเป็นอิสระในระดับหนึ่ง

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 จบลงที่ชัยชนะของ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ อาจารย์โอฬารชี้ว่าแรงสะเทือนต่อเนื่องคือการที่ผู้ชนะจะหล่อเลี้ยงกระแสทางการเมืองและสร้างฐานทางการเมืองเพื่อเชื่อมโยงในระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไปได้

 

ความพ่ายแพ้ของผู้ท้าชิงจาก “คณะก้าวหน้า” ที่ได้คะแนนตามมาเป็นอันดับที่ 3 นี้ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์กับ “มติชนทีวี” ด้วยการสรุปบทเรียนว่าทางคณะก้าวหน้ามีเวลาเตรียมตัวน้อย และในส่วนผู้สมัครนั้นแม้จะมีอุดมการณ์ตรงกับ “ความเป็นอนาคตใหม่” แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักในพื้นที่ และเป็นคนที่ชาวพัทยาไว้วางใจ

พรรณิการ์เผยว่าในช่วงแรกนั้น “บ๊อบ กิตติศักดิ์” แทบจะถูกโจมตีว่าไม่ใช่คนพัทยาเสียด้วยซ้ำ แต่ข้อนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “ผู้สมัคร” ในการเมืองท้องถิ่นดังที่อาจารย์รัฐศาสตร์สองคนวิเคราะห์เอาไว้

“ข้อสังเกตคือหน่วยเลือกตั้งริมหาด ชนะเยอะเลย แต่พอเข้าไปในโซนที่อยู่อาศัย-ชุมชนเดิม แพ้หมดเลย” พรรณิการ์แจงรายละเอียดของผลการเลือกตั้งที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อยู่ริมชายหาดคือคนกลุ่มใหม่ที่โยกย้ายเข้ามา ต่างจากเขตคนพื้นที่ซึ่งคณะก้าวหน้าไม่อาจชิงชัย

นอกเหนือจากนั้นคือจำนวนผู้ใช้สิทธินั้นอยู่ที่ 49% ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากพอเปลี่ยนฐานคะแนนเดิมของกลุ่มการเมืองพื้นที่ได้

เหล่านี้จึงเป็นข้อสรุปของการเลือกตั้งในหัวเมืองภาคตะวันออก แหล่งเศรษฐกิจ-การเมืองที่ทุกฝ่ายหมายปอง เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองและรอให้สรุปบทเรียนต่อไป