ทิ้งคราบไฮโซลูกคุณหนู! “กัลยกร บุนนาค” จับจอบเสียม ปลูกผักปลอดสารพิษ รับเงิน4หมื่น/เดือน

ไม่ใช่แค่ลูกหลานชาวนาที่จะปฏิเสธชีวิตในเมืองกรุง แล้วมุ่งหน้าบ้านเกิดไปทำเกษตรกรรมต่อจากบรรพบุรุษ

แต่ทุกวันนี้กลับมีคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจคนเมืองแท้ๆ รวมถึงไฮโซ เซเลบบางคนขอสวนกระแสสังคมออกไปใช้ชีวิตต่างจังหวัด และเลือกที่จะยึดอาชีพเกษตรกรรม สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองสบายๆ

เฉกเช่น กัลยกร บุนนาค หรือกัล ลูกสาว พนารัตน์ พิสุทธิศักดิ์ (บุนนาค) อดีตรองนางสาวไทยอันดับ 1 และขวัญใจช่างภาพปี 2513 ปัจจุบันยังมีผลงานแสดงผ่านทางจอแก้วอยู่บ้าง นับเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมชั้นสูง

กัลเป็นลูกหลานของบุคคลที่มีชื่อเสียง และฐานะดี แต่กลับเบื่องานประจำและปฏิเสธชีวิตหรูหรา ด้วยการผันตัวเป็นเกษตรกร ใช้ชีวิตเรียบง่าย ปลูกผักสลัดปลอดสารพิษ บนที่ดิน 7 ไร่ ที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลผลิตขายตามโรงแรมและเสิร์ฟในร้านอาหารชื่อ แปลงผัก

รายรับต่อเดือนราว 40,000 บาท

ลูกหลานแก๊งไฮโซ เมินชีวิตหรูหรา

ชักชวน 5 ชีวิต เลือกเป็นเกษตรกร

กัลในวัย 24 ปี เล่าว่า หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไปทำงานบริษัทออร์แกไนซ์แห่งหนึ่ง ทำหน้าที่ติดต่อลูกค้า จัดตารางงาน ทำอยู่ราว 3 เดือนรู้สึกสนุก แต่ทว่าไม่ค่อยชอบงานประจำ อยากหางานที่ทำแล้วมีความสุข และได้ใกล้ชิดธรรมชาติ

ประกอบกับเวลานั้นได้รู้จักรุ่นพี่คนหนึ่ง เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน เข้ามาให้ข้อมูลเรื่องการปลูกผัก ชื่อ “จักรภูมิ บุณยาคม” เป็นเกษตรกรที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำปุ๋ยไส้เดือน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ที่ต้องการทำเกษตร เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Thailand Young Farmer

ณ เวลานั้น นอกจากหญิงสาวกำลังมองหางานใหม่ เธอยังอยากอยู่ใกล้ชิดครอบครัว เลยเป็นที่มาของเรื่องราวของการผันตัวเองไปเป็นเกษตรกรเต็มตัว

“หลังจากที่พบว่าตัวเองไม่ชอบงานประจำ ประกอบกับเมื่อปี พ.ศ.2555 ครอบครัวย้ายไปอยู่ที่หัวหินเปิดร้านอาหาร ชื่อ ชิฎฑะเฬ เป็นร้านอาหารไทย เน้นเมนูอาหารใต้ สูตรอาหารเป็นฝีมือคุณแม่ ด้วยความที่อยากอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว เลือกที่ลาออกจากงานเงินเดือนดี ย้ายจากกรุงเทพฯ มาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่หัวหิน และเลือกปลูกผักสลัดบนพื้นที่ 7 ไร่ ใช้ชื่อว่า เก็บฟาร์ม เพราะตั้งใจอยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตและรวบรวมอาหารจากธรรมชาติ ที่ทุกคนสามารถมาเก็บ มารับประทานได้”

เมื่อครอบครัวของทายาทตระกูลดังย้ายไปอยู่ที่หัวหิน หญิงสาวบอกว่า ไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ ตามลำพัง เลยเลือกอาชีพเกษตรกรรมปลูกผัก เพราะส่วนตัวชอบอยู่กับธรรมชาติ รักต้นไม้ ที่สำคัญคิดแล้วว่าอาชีพนี้หาเลี้ยงตัวเองได้แน่ ผลผลิตทางการเกษตรยังไงก็ขายได้ อย่างไรก็ตาม ผักเป็นอาหารที่คนต้องบริโภคอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันเทรนด์รักษ์สุขภาพมาแรง บรรดาผักปลอดสารพิษ นับวันจะยิ่งขายดีขึ้นเรื่อยๆ

แม้จะมีแนวคิดทำเกษตร แต่ความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเสียเวลาลองผิดลองถูก หญิงสาวใช้วิธีจ้างผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นรุ่นพี่ของเธอมาเป็นที่ปรึกษาวางระบบการปลูกผักสลัดทั้งหมด ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท

พร้อมกับชวนเพื่อนอีก 4 คน ที่มีแนวคิดจะปลูกผักมาร่วมโปรเจ็กต์ครั้งนี้มี รนกร แสง-ชูโต, ศุภกร จูงพงศ์, ธนวุฒิ กุลนิรันดร และ ธีรภัทร อัศวเบญญา

ทุ่มเท ปลูกอย่างพิถีพิถัน

ผักอร่อย ส่งขายโรงแรม

กัลบอกว่า เงินลงทุน 1.5 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างโรงเรือน ค่าเช่าที่ ค่าปุ๋ย และส่วนหนึ่งเป็นทุนหมุนเวียน ที่ดิน 7 ไร่ ใช้ปลูกผักสลัด 3 ไร่ อาทิ กรีนโอ๊ก (ผักสลัดใบเขียวยอดฮิต) เรดโอ๊ก (ผักสลัดใบแดง) ฟิลเลย์ (ผักสลัดใบเขียว ใบหยิกเป็นฝอย ฉ่ำน้ำ) บัตเตอร์เฮด (ผักสลัดใบเขียว กรอบ รสชาติดี) ที่เหลือปลูกไม้เลื้อย เช่น มะเขือเทศเชอร์รี่ มะเขือเปรี้ยว แครอต มะเขือเทศอีเป๋อ บีตรูต ทั้งหมดปราศจากสารเคมี

ที่ดินบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันหญิงสาวใช้วิธีเช่า เธอบอกว่า ค่าเช่าต่อปีราว 30,000 บาท เดิมเป็นไร่ปลูกสับปะรดที่เว้นช่วงปลูกไป 2 ปี ใกล้บ่อน้ำ เข้ามาปรับปรุงดิน 3 เดือน ทำปุ๋ยใช้เอง ทำโรงเรือนไว้เพาะต้นกล้า ปลูกผักแบบยกร่อง เมล็ดผักสลัดนำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะอัตราการรอด 90 เปอร์เซ็นต์ ง่ายต่อการคำนวณผลผลิต

สำหรับขั้นตอนการปลูกผักสลัด เกษตรกรสาวจะเพาะเมล็ดในวัสดุที่ทำขึ้นเอง มีขุยมะพร้าวกับขี้เถ้าแกลบ เพาะเมล็ดในโรงเรือนนาน 15 วัน ฉีดปุ๋ยน้ำที่ทำขึ้นเอง จนกระทั่งกลายเป็นต้นอ่อนที่มีใบเลี้ยง ก่อนจะปลูกลงดิน 30-50 วัน ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงโดนแมลงกัดกินในช่วงแรก

ส่วนผสมของวัสดุที่ใช้เพาะเมล็ด มีขุยมะพร้าวหมักกับขี้เถ้าแกลบนาน 7 วัน ส่วนปุ๋ยที่ทางเก็บฟาร์มทำไว้ใช้เอง จุดเด่นช่วยให้ผักมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย วัตถุดิบมี น้ำหมักจากนมวัวดิบและกากนม น้ำหมักจากเศษปลา ส่วนปุ๋ยที่ใช้ไล่แมลงทำจากยาฉุน เครื่องต้มยำ ยาเส้น สะเดา

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกผักสลัด 3 ไร่ เจ้าของวางแผนปลูก เพื่อทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน เก็บขายได้ทุกวัน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 60 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 130-140 บาท และเพิ่งจะจำหน่ายจริงจังเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

“เดิมทีคิดไว้ว่าอยากจะปลูกผักสลัดให้ได้ผลผลิตเดือนละ 600 กิโลกรัม ตั้งใจจะขายราคากิโลกรัมละ 160-180 บาท แต่พอมาปลูกจริง มีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งภัยธรรมชาติ โรค ราคาตลาด ทำให้ไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ อีกทั้งในช่วงแรกเจอปัญหาปลูกผักเยอะเกินไป ขายไม่ได้ ไม่มีใครซื้อ ผักเน่า เปลี่ยนแผนลดจำนวนพื้นที่ปลูก และปลูกตามออเดอร์”

ลบคำสบประมาทลูกคุณหนู

ทำทุกอย่าง ไม่ห่วงสวย

ด้านตลาดที่รับซื้อผัก หญิงสาวบอกว่า จำหน่ายให้กับร้านอาหาร และโรงแรมต่างๆ ในอำเภอหัวหิน อีกส่วนหนึ่งเสิร์ฟในร้านอาหารของตัวเองชื่อ แปลงผัก โดยอาหารจะเป็นสไตล์โฮมเมดยุโรป เมนูเด็ด สลัดผัก ทำน้ำสลัดเอง นอกจากนั้น ยังมีสเต๊ก เคี่ยวซอสเอง พาสต้า และเมนูอื่นอีกเพียบ

“ร้านแปลงผักชื่อร้านเดิมคือ ชิฎฑะเฬ เนื่องจากคุณแม่ป่วยเลยปิดไป และเพิ่งมาเปิดใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจเปิดร้านอาหาร แต่คิดว่าเปิดก็ดี ให้ลูกค้าได้มาชิมผักที่เราปลูก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้านักท่องเที่ยวมากกว่าคนในพื้นที่ ทุกคนต่างชมว่าผักที่นี่รสชาติดี ไม่ขม หวาน กรอบ”

เมื่อลูกหลานไฮโซมาจับจอบจับเสียม มักมีคำครหาต่างๆ นานา กัลบอกว่า ตั้งแต่ตัดสินใจปลูกผัก มีคนใกล้ตัว ญาติๆ สบประมาทว่าจะทำได้นานแค่ไหน ซึ่งเราก็ทำทุกอย่างเต็มที่ ไม่ห่วงสวย ไม่กลัวร้อน ไม่ได้ทำตามเทรนด์

ช่วง 6 เดือนแรก ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไปถึงไร่ 7 โมงเช้า ไปเพาะต้นกล้า ย้ายต้นกล้าลงดิน ทำปุ๋ยเอง เคยแม้กระทั่งขับรถแทร็กเตอร์พรวนดิน นอกจากลงมือปลูกผักเองทุกขั้นตอน ยังหาลูกค้าด้วยการเอาผักไปเสนอขายตามโรงแรม ร้านอาหาร เคยไป 10 แห่ง ขายได้ 2 แห่ง ก็ดีใจแล้ว

“ตอนทำแรกๆ เคยท้อ เพราะเจอปัญหา ผักไม่โต โรคเยอะ ต้องตื่นเช้าทุกวัน แต่ไม่เคยคิดจะเลิก เพราะเลือกแล้วที่จะเอาดีทางนี้ คิดเสมอว่างานสนุก มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นได้ทุกวัน”

ในด้านของหุ้นส่วนทั้ง 4 คน กัลบอกว่า บางคนก็ยังเรียนอยู่ มีเพียง เนม-รนกร แสง-ชูโต ที่เรียนจบแล้ว และกำลังจะเข้ามามีบทบาทดูเรื่องการปลูก รวมถึงพัฒนาระบบให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน “เก็บฟาร์ม” ดำเนินมาได้ 1 ปีแล้ว มีคนงาน 4 คน และแม้ผลผลิตจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่เจ้าของก็พอใจกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,000 บาท นับเป็นความภาคภูมิใจที่ทำทุกอย่างมาด้วยตัวเอง เลือกแล้วที่จะเป็นเกษตรกร ก็ต้องทำให้เต็มที่