รองเท้าพิมพ์ 3 มิติ รีไซเคิลได้ (เกือบ) ไม่สิ้นสุด/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

รองเท้าพิมพ์ 3 มิติ

รีไซเคิลได้ (เกือบ) ไม่สิ้นสุด

 

แฟชั่นแบบยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากแนวคิดว่าอยากให้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้น้อยที่สุด โดยอาจจะทำได้จากการเลือกวัสดุที่ใช้ เช่น ใช้วัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลมา หรือใช้เนื้อผ้าธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อและสวมใส่เสื้อผ้าเพื่อยืดระยะเวลาให้เสื้อผ้าอยู่กับเราให้นานที่สุด

ดังนั้น ศัตรูตัวฉกาจของแฟชั่นแบบยั่งยืนก็คือสไตล์การแต่งตัวที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ที่ทำให้เราต้องมีไอเท็มการแต่งตัวกันคนละหลายๆ ชิ้น รองเท้าที่แทบจะล้นออกมาจากตู้ แต่ละคู่ตอบโจทย์การมิกซ์แอนด์แมตช์ที่แตกต่างกัน ทั้งที่แท้จริงแล้วคู่ที่เราใส่บ่อยที่สุดอาจจะมีเพียงแค่ 2-3 คู่เท่านั้นแหละ

ลองจินตนาการดูว่าหากเราสามารถผลิตรองเท้าขึ้นมาสักคู่ด้วยวิธีง่ายๆ ใส่มันจนเบื่อ และเมื่ออยากเปลี่ยนสไตล์ก็แค่ใช้วัสดุของรองเท้าคู่นั้นมารีไซเคิลให้กลายเป็นคู่ใหม่ สไตล์ใหม่

ถึงจะฟังดูเหมือนคอนเซ็ปต์ที่หลุดออกมาจากนิยายไซไฟแต่ก็เกิดขึ้นได้จริงแล้วด้วยการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D Printing

บริษัทสตาร์ตอัพหลายแห่งคิดค้นการใช้ 3D Printing ออกมา “พิมพ์” รองเท้าของเราเพื่อช่วยลดการทิ้งขว้าง ทำให้เราสามารถมีแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้โดยที่ยังมีรองเท้าสวยๆ ให้ใส่

บริษัทอย่าง Hilos ที่อยู่ในเมืองพอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ผลิตรองเท้าด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติพิมพ์ออกมา มีรองเท้าให้เลือกมากกว่า 4 ประเภท ทั้งแบบส้นไม้ เปิดส้น โลเฟอร์ แตะ และส้นสูง ทั้งหมดถูกออกแบบมาให้สามารถถอดชิ้นส่วนเพื่อนำไปรีไซเคิลและพิมพ์ออกมาเป็นคู่ใหม่ได้

ฉันลองกดเข้าไปดูรองเท้าบนเว็บไซต์และพบว่าออกแบบมาได้สวยทีเดียว มีหลายสีหลายแบบให้เลือก

และถึงแม้จะเป็นรองเท้าที่ได้มาจากการพิมพ์ 3 มิติ ที่เราอาจจะเข้าใจไปว่าจะต้องแข็งทื่อสวมใส่ไม่สบาย แต่วัสดุที่แบรนด์เลือกใช้ก็มีหลากหลายโดยเน้นไปที่ความสบายเป็นหลัก

อย่างเช่นพื้นรองเท้าที่นุ่มและยืดหยุ่นได้ ถ้าหากไม่มีใครบอกก็คงไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นรองเท้าที่พิมพ์มาแบบ 3 มิติ

ข้อดีของการพิมพ์รองเท้าแบบ 3 มิติที่ลูกค้าสามารถเลือกขนาดที่เหมาะสมกับเท้าตัวเองได้ก็คือช่วยลดความเสี่ยงของการผลิตออกมาจำนวนมากเกินไปจนเหลือล้นสต๊อก หรือผลิตออกมาน้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อความต้องการ

วิธีทำรองเท้าตามปกติจะนำชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันและติดกาว แต่สำหรับรองเท้าของ Hilos นั้นจะออกแบบให้พื้นรองเท้าทั้งหมดเป็นชิ้นเดียวกัน พิมพ์ออกมาได้ในคราวเดียวและแทบไม่ต้องใช้กาวมาติดเลย

ทำให้พิมพ์ได้ง่าย และยังง่ายต่อการแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปรีไซเคิลด้วย

 

เว็บไซต์ของ Hilos ระบุข้อมูลรอยเท้าทางคาร์บอนที่เกิดจากการทำรองเท้าแต่ละคู่เอาไว้อย่างละเอียด เช่น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไป 11.1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 89.2 ลิตร ใช้กาวเพียง 1 กรัม เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตรองเท้าโดยทั่วไปถือว่าลดการใช้น้ำไปถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 48 เปอร์เซ็นต์

อุตสาหกรรมรองเท้าทั่วโลกผลิตรองเท้ามากถึง 24,000 ล้านคู่ต่อปี โดยมีมากถึง 1 ใน 5 ที่ตรงไปสู่ลานทิ้งขยะในแบบที่ยังไม่เคยผ่านการสวมใส่ด้วยซ้ำ

มีเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลเมื่อหมดอายุการใช้งาน ทั้งหมดนี้ก็ทำให้การผลิตรองเท้าปล่อยก๊าซคาร์บอนคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด และปล่อยมลภาวะสู่น้ำคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์

การจะทำแบบที่ Hilos ทำได้ไม่ใช่ต้องรู้เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้นแต่จะต้องมีทีมดีไซเนอร์ที่เก่งกาจที่เข้าใจว่าจะออกแบบรองเท้าอย่างไรให้รีไซเคิลได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งดีไซน์ที่สวยงามด้วย

ในส่วนของลูกค้าที่ซื้อรองเท้าไป อยากเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็นำคู่เก่าไปคืนเพื่อแลกส่วนลด 15 เปอร์เซ็นต์สำหรับการซื้อคู่ใหม่

 

ยังมีแบรนด์รองเท้าอีกหลายแบรนด์ที่นำเทคโนโลยี 3D Printing มาใช้ในการช่วยทำให้รองเท้าของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อย่างเช่น Heron Preston ที่เน้นการพิมพ์รองเท้าผ้าใบที่นำกลับมารีไซเคิลซ้ำได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ใส่จนเบื่อแล้วก็ส่งกลับไปให้แบรนด์ช่วยนำไปรีไซเคิลแปลงโฉมให้กลับมาเป็นคู่ใหม่ แบบใหม่ ให้สะท้อนกับเทรนด์แฟชั่นในเวลานั้นๆ ได้มากขึ้น

ใครที่มีขนาดเท้าที่ไม่ตรงตามมาตรฐานทั่วไปสักเท่าไหร่ก็สามารถใช้ iPhone สแกนเท้าตัวเองแล้วส่งขนาดไปให้แบรนด์ได้

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่จะทำให้การพิมพ์รองเท้า 3 มิติที่รีไซเคิลได้ไม่นับจำนวนครั้งไม่สามารถเกิดในกระแสหลักได้ง่ายๆ ก็น่าจะเป็นราคาที่แพงเอาเรื่องเลยทีเดียว

ราคาเฉลี่ยของรองเท้า Hilos อยู่ที่ประมาณคู่ละหมื่นกว่าบาท ซึ่งเพียงพอต่อการซื้อรองเท้าแบรนด์เนมที่ผลิตด้วยกระบวนการทั่วไป

ก็น่าสนใจว่าใครจะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์บ้าง และต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าให้ความสำคัญต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าราคาที่พวกเขาจะต้องจ่ายแพงขึ้น

 

ถ้าในที่สุดแล้วรองเท้าที่เกิดจากการพิมพ์ 3 มิติสามารถลดต้นทุนลงได้เยอะ และมีสไตล์ให้เลือกมากขึ้นก็น่าคิดว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมให้ทุกคนซื้อรองเท้ากันคนละแค่ไม่กี่คู่ตลอดทั้งชีวิตแล้วใช้วิธีนำคู่เดิมไปรีไซเคิลเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ได้หรือเปล่า หรือวิธีคิดแบบนี้จะใช้กับเครื่องแต่งกายประเภทอื่นๆ ได้อีกหรือไม่

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเราต้องตระหนักว่าการรีไซเคิลนำรองเท้าเก่ามาผลิตเป็นรองเท้าใหม่อาจจะไม่ใช่สมการที่สมบูรณ์แบบด้วยตัวมันเอง เพราะการผลิตก็ยังต้องใช้ทรัพยากรและก่อให้เกิดของเสียได้อยู่ดี

ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาประกอบเข้าด้วยกันก็อย่างเช่นการต้องลดจำนวนขั้นตอน จำนวนชิ้นส่วนที่ใช้ลงให้ได้มากที่สุด

หรือที่ยั่งยืนที่สุดก็คือการไม่ผลิตอะไรที่ไม่จำเป็นออกมาตั้งแต่ต้น ผลิตมาเฉพาะรองเท้าที่รู้ว่ามีคนจะได้ใช้ประโยชน์จากมันจริงๆ โดยการผลิตตามคำสั่งซื้อจริงเท่านั้น

เมื่อไม่ผลิต ก็ไม่มีของเสีย ของที่ผลิตออกมาก็ได้ใช้ประโยชน์ในแบบที่ควรจะเป็น ก็จะไม่มีรองเท้าคู่ไหนถูกผลิตมาเพื่อทิ้งขว้างอีกต่อไป