คณิตศาสตร์กฎหมายอาญา ทำไมจำคุก 1 ปี ไม่เท่ากับจำคุก 12 เดือน ?

โอภาส เพ็งเจริญ : คณิตศาสตร์กฎหมายอาญา จำคุก 1 ปี ไม่เท่ากับจำคุก 12 เดือน

ถ้าในคดีหนึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้อง, จำเลยที่ 2 ถึง 4 มีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามบทเฉพาะ และเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุดตาม ป.อ. มาตรา 90 รวม 6 กระทง

ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ดังนี้ คือ ให้จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง 30 ปี, ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 หมื่นบาท รวม 6 กระทง เป็นเงิน 1.2 แสนบาท และให้จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ลงโทษ 2 ใน 3 ของโทษที่ลงแก่จำเลยที่ 1 คือ ลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี

ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตาม ป.อ. มาตรา 78

คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี (ลด 1 ใน 3 ของ 30 ปี คือลดลง 10 ปี)

ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8 หมื่นบาท (ลดลง 1 ใน 3 ของ 1.2 แสนบาท คือลดลง 4 หมื่นบาท)

จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน (ลดลง 1 ใน 3 ของ 20 ปี คือลดลง 6 ปี 8 เดือน)

จำเลยอุทธรณ์คดี

 

ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

นั่นคือ ให้ลงโทษ

จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี

ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 8 หมื่นบาท

จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน

มีข้อน่าสังเกต ถึงโทษจำคุกของทั้งจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า ลดแล้วมีโทษจำคุก 20 ปี และโทษของจำเลยที่ 3 และที่ 4 อันมีที่มาจากตัวเลขโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ระบุระยะเวลาจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน

นี้เป็นการคิดคำนวณ โดยคิดรวมโทษทุกกระทงก่อน แล้วมาคิดสัดส่วนโทษ แล้วจึงค่อยลด

อย่างไรก็ตาม โทษนี้อาจคำนวณได้อีกทางหนึ่ง คือ คิดโทษเป็นรายกระทง

นั่นคือ เมื่อจะลงโทษจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี แล้วลดลง 1 ใน 3 (ทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3)

ส่วนโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 แต่ละกระทงก่อน แล้วจึงนำผลนั้นมาคิดลด 1 ใน 3 (แต่ละกระทง) แล้วค่อยรวมเป็นโทษสุดท้าย จะเป็นดังต่อไปนี้

สำหรับโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 จำคุกกระทงละ 5 ปี หากลดลง 1 ใน 3 ของโทษแต่ละกระทง (ลดลง 1/3 x 5 = 1 ปี 8 เดือน) จะเหลือจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน ทั้งหมด 6 กระทง จึงจะเป็นโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน ไม่ใช่จำคุก 20 ปี

โทษจำคุกของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งได้รับ 2 ใน 3 ในฐานเป็นผู้สนับสนุน จึงเป็นกระทงละ 2/3 x 5 ปี คือ กระทงละ 3 ปี 4 เดือน

เมื่อลดโทษให้ 1 ใน 3 ของโทษที่จะลง = 1/3 x 3 ปี 4 เดือน คือลดลง 1 ปี 1 เดือน 10 วัน

เมื่อลดแล้วจึงคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทงละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน ทั้งหมด 6 กระทง เป็นจำนวน 12 ปี 12 เดือน 120 วัน หรือ 12 ปี 16 เดือน

ผลจากการคำนวณ 2 แบบ คือ แบบรวมโทษทุกกระทงก่อนแล้วมาคิดสัดส่วน แล้วค่อยลด กับแบบคิดสัดส่วนทีละกระทงและลดทีละกระทง แล้วค่อยรวม จะให้ผลลัพธ์โทษของต่างกัน คือ

แบบแรก จำเลยที่ 1 รับโทษจำคุก 20 ปี จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน

แบบหลัง จำเลยทื่ 1 รับโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับโทษจำคุก 12 ปี 16 เดือน

 

เกี่ยวกับเรื่องการคำนวณระยะเวลาการลงโทษจำคุกนี้ มีบัญญัติไว้เฉพาะใน ป.อ. มาตรา 21 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวรรคสอง ว่า

“ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ”

ดังนี้ สามารถคิดให้เห็นถึงความแตกต่างได้ชัดเจนเมื่อแตกโทษจำคุกนั้นออกมาเป็นจำนวนวัน

คิดแบบแรก เทียบกับ คิดแบบหลัง

กรณีจำเลยที่ 1 จำคุก 20 ปี เทียบกับจำคุก 18 ปี 24 เดือน

ช่วงเวลาที่จะแตกต่างกัน คือ ช่วงเมื่อการจำคุกผ่านปีที่ 18 ไปแล้ว ระยะเวลาการจำคุกถัดจากนั้น ถ้าเป็นคิดเป็นปี ระยะเวลา 2 ปีหลัง อาจจะเป็นปีละ 365 วัน หรือ 366 วัน (ปีอธิกสุรทิน จะมี 366 วัน 4 ปี จะมี 1 ครั้ง) ในขณะที่ 24 เดือนนั้น แต่ละเดือนมี 30 วันเท่ากันเสมอตามที่ ป.อ. มาตรา 21 บัญญัติ

เช่นเดียวกัน กรณีของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำคุก 13 ปี 4 เดือน กับจำคุก 12 ปี 16 เดือน

ช่วงเวลาที่จะแตกต่างกันคือ ช่วงเวลาที่ผ่านการจำคุกปีที่ 12 ไปแล้ว ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน กับระยะเวลา 16 เดือน เมื่อคิดเป็นวันจะเป็นจำนวนวันที่แตกต่างกัน

การคิดคำนวณสองแบบนั้น ให้ผลต่างกัน โดยแบบแรกจะได้ผลเป็นระยะเวลานานกว่าแบบหลัง

ดังนั้น ระยะเวลาที่ดูเหมือนจะเท่ากันนี้ อันที่จริงแล้วแตกต่างกัน 5-6 วัน หรืออาจมากกว่า ซึ่งคนภายนอกที่มีอิสระเสรี อาจเห็นว่า เป็นเวลาเล็กน้อยเท่านั้น

แต่สำหรับผู้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพแล้ว ระยะเวลาแม้เพียงวันเดียว หากมีโอกาสพ้นจากการจองจำออกมา ย่อมมีค่าอย่างยิ่ง

 

ปัญหามีว่า การคิดคำนวณระหว่าง 2 แบบนี้ แบบใดสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย ในประเด็นนี้ดูจะมีแนวปฏิบัติที่แตกต่าง และคล้ายจะยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2544 วินิจฉัยว่า “ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี และลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษจำคุกที่ลดแล้ว แต่ละกระทงเข้าด้วยกันนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คงจำคุกจำเลย 18 เดือน”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2544 วินิจฉัยว่า “ศาลอุทธรณ์ได้รวมโทษจำคุกของจำเลยแต่ละกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ เป็นผลร้ายแก่จำเลยเพราะมีผลเป็นการนำโทษส่วนที่เกิน 12 เดือน มาคิดคำนวณเป็น 1 ปี อยู่ในตัว ทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกในปีสุดท้ายนานขึ้น 5 วัน หรือ 6 วัน หากตรงกับปีอธิกสุรทิน เป็นการไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง ที่ถูกศาลอุทธรณ์ต้องลดโทษให้จำเลยที่ 2 เป็นรายกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้เป็นคุณแก่จำเลยได้”

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 5099/2545 วินิจฉัยว่า “การลงโทษจำเลยที่กระทำความผิดหลายกรรมและให้เรียงกระทงลงโทษ มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้ ต้องแยกลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษภายหลัง การที่ศาลรวมโทษที่วางแต่ละกระทง แล้วจึงลดโทษจึงชอบด้วยกฎหมาย”

 

แต่ต่อมายังมี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9174/2551 วินิจฉัยว่า “อย่างไรก็ดี ที่ศาลชั้นต้นรวมโทษทั้งสองกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน แม้มีเศษเป็นเดือนก็คงให้เป็นเดือนต่อไปโดยไม่ปรับเป็นปี เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แล้วถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ

เมื่อเป็นเช่นนี้การกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วัน หรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ

ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”

นอกจากนั้น ยังมี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 574/2557 วินิจฉัยว่า “ศาลล่างรวมโทษทุกกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษให้ ส่งผลให้โทษสำหรับความผิดซึ่งมีเศษเป็นเดือนทดรวมเข้าเป็นปี ย่อมเป็นผลร้ายแด่จำเลย ไม่ชอบด้วยมาตรา 21 วรรคสอง”

กระนั้นก็ตาม มีทางออกว่า หากมีการรวมโทษทุกกระทงก่อนแล้วค่อยลดในศาลล่าง ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสุดท้าย อาจแก้ไขให้ได้ ดังที่เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาแก้ไขมาแล้วข้างต้น