ความสำคัญของ ‘ข้าว’ เมื่อโลกส่อเกิดวิกฤตอาหาร/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ความสำคัญของ ‘ข้าว’

เมื่อโลกส่อเกิดวิกฤตอาหาร

 

ในยามที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสงครามที่ทับซ้อนเข้ามาขณะที่วิกฤตเดิมอย่างวิกฤตโควิดยังไม่สร่างซาสิ้นสุด หันมองไปทางไหนทุกอย่างก็ยุ่งยากลำบากกันไปทั้งหมด

ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นลิบลิ่ว ฉุดกระชากให้ราคาข้าวของต่างๆ ตบเท้าสูงขึ้นตามไปด้วย ตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวนอย่างหนัก การระดมทุนการลงทุนพลอยชะงัก อุตสาหกรรมการผลิตเกิดขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบสำคัญ

และว่ากันว่า ระบบอาหารของโลก กำลังจวนเจียนจะดิ่งลงสู่ภาวะวิกฤตอยู่รอมร่อ

การบุกยูเครนของกองทัพรัสเซีย คือเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกย่างเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตการณ์ด้านอาหารครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยเหตุที่ว่าทั้งรัสเซียและยูเครน คือ “อู่ข้าวอู่น้ำ” ที่สำคัญที่สุดของโลก ซึ่งตอนนี้พลิกคว่ำคะมำหงายกระจัดกระจายไปทั้งหมด ทั้งเพราะการสู้รบและการแซงก์ชั่นที่เกิดขึ้นตามมา

ข้าวสาลี วัตถุดิบสำคัญสำหรับทำขนมปัง ราคากระฉูดถึงระดับสูงสุดอย่างไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน เช่นเดียวกับราคาน้ำมันพืชและข้าวโพด

ชาติที่นำเข้าอาหารอย่างหลายประเทศในตะวันออกกลาง จู่ๆ ก็ได้เห็นน้ำมันพืช 3 ขวดราคาเกือบพันบาท ชนิดทำให้จังงังไปตามๆ กัน

แต่ฮาเวียร์ บลาส คอลัมนิสต์ของบลูมเบิร์ก ระบุไว้ในข้อเขียนเมื่อ 25 มีนาคมที่ผ่านมานี้ว่า ระบบอาหารโลกยังไม่ถึงวิกฤตเต็มตัวในยามนี้ ต่างจากวิกฤตอาหารครั้งใหญ่ล่าสุดในระหว่างปี 2007-2008

เหตุผลก็เพราะว่า ยังมี “ข้าว” เพียงพอต่อการบริโภค

 

“ข้าว” มีความสำคัญสูงยิ่งต่อทั้งโลก เพราะเป็นพืชอาหารสำคัญที่ประชากรราวครึ่งหนึ่งของทั้งโลกใช้บริโภคเป็นอาหารประจำวัน บลาสย้ำไว้ด้วยว่า ในจำนวนครึ่งโลกที่ว่านี้ มีคนที่จัดอยู่ในข่ายเผชิญภาวะทุพโภชนาการ อยู่มากถึงราว 1,000 ล้านคน ทั้งในแอฟริกาตะวันตกและเอเชีย

ไม่มีข้าวเมื่อไหร่ คนพันล้านนี้จะร่วงลงสู่ภาวะอดอยากทันที

วิกฤตอาหารโลกในปี 2007-2008 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะไม่มีข้าว ไม่ใช่ขาดแคลนขนมปังจากข้าวสาลี

องค์การอาหารและเกษตรกรรม (เอฟเอโอ) ของสหประชาชาติ บอกว่าราคาอาหารของโลกพุ่งขึ้นสูงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แม้ว่าจะคำนวณโดยตัดเอาอัตราเงินเฟ้อออกไป ราคาอาหารโลกก็ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1974 แล้วอยู่ดี

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาแป้งข้าวสาลีในยุโรป สูงขึ้นเกือบ 65 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพดเกือบ 38 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันปาล์ม เกือบ 55 เปอร์เซ็นต์ในเวลานี้

แต่ราคาข้าวในตลาดโลกในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลับลดลงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์…

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

 

คําตอบก็คือ เพราะโลกได้รับบทเรียนสำคัญจากวิกฤตเมื่อปี 2007-2008 มาแล้ว ทำให้สต๊อกข้าวยังคงมีอยู่ในระดับสูง

ในช่วงก่อนหน้าวิกฤตหนนั้น ในแต่ละปีระหว่างปี 2000 เรื่อยมา โลกบริโภคข้าวเกินกว่ากำลังการผลิต 75.4 ล้านตันต่อปีอยู่ทุกปี พอถึงปี 2006-2007 สต๊อกข้าวโลกร่วงลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี

เวียดนามตัดสินใจห้ามส่งออกข้าวในปี 2008 ประเทศอื่นๆ ทั้งอินเดีย จีน และกัมพูชา ก็ประกาศทำนองเดียวกัน ก่อให้เกิดภาวะแตกตื่นในตลาดผู้นำเข้า

แตกตื่นชนิดที่ฟิลิปปินส์ใช้เวลาเพียง 4 เดือนหลังจากนั้น นำเข้าข้าวในปริมาณที่เทียบเท่ากับการนำเข้าทั้งปี ส่วนซาอุดีอาระเบียนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

ผลก็คือราคาข้าวจาก 480 ดอลลาร์ต่อตัน พุ่งขึ้นเป็น 1,100 ดอลลาร์ต่อตันภายใน 8 สัปดาห์

วิกฤตราคาและการขาดแคลนจึงเกิดตามมาอย่างช่วยไม่ได้

 

ข้าวเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความอ่อนไหวสูงมาก การปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าในด้านการส่งออกหรือนำเข้า ก็จะส่งผลกระทบสูงต่อราคาในตลาดโลก

ทุกวันนี้ผลผลิตข้าวของโลกอยู่ในระดับสูงมาก ฤดูกาลเพาะปลูกที่ผ่านมา โลกผลิตข้าวได้ถึง 509.6 ล้านตัน นำเข้าสู่ระบบการซื้อขายกันเพียงแค่ 9.9 เปอร์เซ็นต์หรือราว 50.6 ล้านตันเท่านั้น

ต่างจากข้าวสาลีที่กว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตถูกนำออกมาซื้อขายกันเมื่อปีที่แล้ว

ราคาข้าวในตลาดโลกทุกวันนี้ซื้อขายกันที่ 405 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลงจากก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครนเล็กน้อย เพราะตอนนั้นอยู่ที่ 410 ดอลลาร์

แต่ระดับราคานี้เปราะบางอย่างยิ่ง ในขณะที่มีปัจจัยสำคัญอีก 3 ปัจจัย เป็นเครื่องชี้ขาดราคาในอนาคตอันใกล้ และชี้ขาดด้วยว่า วิกฤตอาหารโลกครั้งใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่

หนึ่งคือ สภาพดินฟ้าอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตโดยตรง และควบคุมไม่ได้

อีกหนึ่งคือ ราคาปุ๋ยที่แพงหูฉี่ในยามนี้ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะทำอย่างไร? ให้ความช่วยเหลือหรือไม่?

สุดท้ายก็คือจะมีประเทศไหน ห้ามการส่งออกอีกหรือไม่?

เหล่านี้คือความสำคัญของข้าว ในฐานะพืชอาหารอันดับหนึ่งของโลก

แต่ความสำคัญนี้จะมีความหมายต่อพี่น้องเกษตรกรและชาวนาไทยในทางที่ดีหรือไม่

ขึ้นอยู่กับนโยบายและฝีมือของรัฐบาลครับ!