ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เดินหน้าสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจ เดือนพฤษภาคม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สภาล่มซ้ำซากคือสัญญาณว่ารัฐบาลใกล้อวสานเต็มที เพราะนอกจาก ส.ส.ของรัฐบาลจะสันหลังยาวจนไม่สนใจประชุมสภา เหตุการณ์สภาล่มยังเกิดขึ้นทั้งที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ กำชับให้ ส.ส.เข้าประชุมสภาด้วย

ซึ่งเท่ากับว่าคำพูดของทั้งสองนายพลไม่มีความหมายสักนิดเดียว

พรรครัฐบาลโจมตีว่าสภาล่มเพราะฝ่ายค้านจงใจล่มสภา และที่จริงฝ่ายค้านเองก็ยอมรับว่าการนับองค์ประชุมจะเป็นมาตรการที่กระทำอย่างต่อเนื่อง แต่การทำให้สภาล่มแบบนี้จะไม่มีผลให้สภาล่มจริงๆ ได้เลย หาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่ในสภาโดยพร้อมเพรียงกัน

พูดตรงๆ คำว่า “สภาล่ม” มีความหมายลบเพราะทำให้คนฟังคิดว่า ส.ส.โดดร่มจนไม่ครบองค์ประชุม

แต่ “สภาล่ม” รอบนี้เป็น “การจงใจทำให้สภาล่ม” ซึ่งป็นกลยุทธ์ทางการเมืองแบบหนึ่งใน “การเตะถ่วงการออกกฎหมายของสภา” (Filibuster) โดย ส.ส.ฝ่ายค้านซึ่งจริงๆ อยู่ในที่ประชุมสภา

สรุปง่ายๆ เหตุการณ์สภาล่มเกิดขึ้นเพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่เข้าประชุม จากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านที่เข้าประชุมเห็น จนเสนอให้ “นับองค์ประชุม” เพื่อประจาน ส.ส.รัฐบาล โดย ส.ส.ฝ่ายค้านซึ่งอยู่ในที่ประชุมก็ไม่แสดงตัวว่าอยู่ในห้องประชุม ผลก็คือองค์ประชุมไม่ครบจนเกิดเหตุ “สภาล่ม” ขึ้นจริงๆ

 

แน่นอนว่ามาตรการนี้ได้ผลในแง่ทำให้คนด่า ส.ส.รัฐบาล แต่ทันทีที่สื่อเปิดเผยว่า ส.ส.เพื่อไทยเข้าประชุมแต่ไม่นับองค์ประชุม กระแสวิจารณ์ว่าพรรคเพื่อไทยจงใจทำให้สภาล่มก็ลามไปด้วย

ยิ่งเมื่อเพื่อไทยประกาศว่าจะใช้วิธีนี้จนกว่าประยุทธ์ยุบสภา คำวิจารณ์เรื่องนี้ก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ

จุดเด่นของมาตรการนี้คือทำให้ประชาชนเห็นความวุ่นวายทางการเมือง แต่ถ้า “สภาล่ม” เพราะฝ่ายค้านไปประชุมโดยไม่นับองค์ประชุม ประชาชนก็อาจมองว่าฝ่ายค้านจงใจสร้างความวุ่นวาย ไม่ต้องพูดถึงกรณี “สภาล่ม” จนกระทบเรื่องสุราก้าวหน้าหรือรายงานที่มีร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับประชาชน

พูดก็พูดเถอะ การที่ “สภาล่ม” จนเรื่องที่ภาคประชาชนยกร่างตกไปนั้นเสี่ยงต่อการทำให้ประชาชนไม่พอใจผู้ทำให้ “สภาล่ม” ทั้งสิ้น ต่อให้จะอ้างว่ารายงานที่มีร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับประชาชน ไม่ใช่กฎหมาย แต่ทุกคนก็รู้ว่ารายงานคือหลักฐานว่าสภารับรองแนวคิดนี้เพื่อร่างกฎหมายในอนาคตอยู่ดี

ฝ่ายค้านพูดถูกว่ารัฐบาลประยุทธ์หมดความชอบธรรม แต่ประชาชนก็คาดหวังให้ฝ่ายค้านแสดงให้เห็นว่ามีดีกว่ารัฐบาล

ยิ่งกว่านั้นคือคนจำนวนมากคาดหวังให้เพื่อไทยและก้าวไกลพาการเมืองไทยออกไปจากการเมืองน้ำเน่าแบบที่ประชาธิปัตย์ทำกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนสภาวุ่นวายและมีแต่เรื่องตบตีกัน

ฝ่ายค้านฝั่งเพื่อไทยประกาศว่า “สภาล่ม” คือกระบวนการนำไปสู่การไล่ประยุทธ์โดยยุบสภา มาตรการจึงมีลักษณะ High Risk, High Return คือเสี่ยงที่คนบางกลุ่มจะด่า แต่ผลที่ได้ก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยง จึงเป็นมาตรการที่ต้องรวบรัดไปสู่จุดหมายให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นความเสี่ยงอาจเป็นความสูญเสียจริงๆ

คำถามคือ อะไรทำให้เพื่อไทยมั่นใจว่าจะมีการยุบสภาจนคุ้มที่จะใช้การทำให้ “สภาล่ม” เพื่อปิดฉากประยุทธ์ในเวลารวดเร็ว ไม่อย่างนั้น “สภาล่ม” อาจบานปลายเป็นการโจมตีฝ่ายค้านเล่นการเมืองน้ำเน่าไม่ต่างจากประชาธิปัตย์ รวมทั้งเปิดทางให้ทหารใช้เป็นข้ออ้างว่าสภาวุ่นวายจนล้มกระดาน

การยุบสภาตามกฎหมายคืออำนาจของคุณประยุทธ์โดยตรง และโดยพฤตินัยแล้วนายกฯ แทบทุกคนล้วนยุบสภาในเวลาที่ตัวเองได้เปรียบทางการเมืองที่สุด ไม่อย่างนั้นคือเสียเปรียบจนถอยไปไม่ได้อีก เพราะการยุบสภาคือการสูญเสียอำนาจไปเป็นคนธรรมดาๆ

ซึ่งน้อยคนจะยอมสูญเสียไป

คุณประยุทธ์กับคุณประวิตรชอบพูดว่าเป็นพี่น้องที่ไม่มีวันแยกกัน

แต่ถ้าพี่น้องท้องเดียวกันยังฆ่ากันเพราะมรดกหรือนิสัยใจคอ พี่น้องปลอมๆ ที่ผูกพันเพราะกินเที่ยวก็มีโอกาสแตกได้เสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเดิมพันคืออำนาจสูงสุดในประเทศและการคุมงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี

ภายใต้ฉากหน้าที่สวยงาม ความจริงคือทั้งคู่ต่างสร้างอาณาจักรทางการเมืองของตัวเองอย่างที่สุด

คุณประวิตรมีพรรคในมือตั้งแต่พลังประชารัฐ, พรรคอุตตม, พรรคธรรมนัส รวมทั้งอีกพรรคที่ยังไม่เปิดตัว

ขณะที่คุณประยุทธ์มีพรรคในมือแค่พรรคแรมโบ้และพรรคไทยภักดีเท่านั้นเอง

คุณประยุทธ์รู้มานานแล้วว่าประชาชนรังเกียจตัวเอง ความตระหนักเรื่องนี้มีมากจนคุณประยุทธ์มีเพจที่ไม่ให้ใครแสดงความเห็นได้เลย ความเสื่อมศรัทธาที่ประชาชนมีต่อคุณประยุทธ์นั้นสูงจนต่อให้เอาเงินภาษีไปหาเสียงผ่านคนละครึ่ง, บัตรคนจน, ชิมช้อปใช้ ฯลฯ ก็ไม่มีอะไรกระเตื้องขึ้นเลย

คุณประยุทธ์ไม่มีวันได้เปรียบด้านคะแนนนิยม ขณะเดียวกันพรรคใหม่ที่คุณแรมโบ้ตั้งให้คุณประยุทธ์ก็เพิ่งแค่เริ่มต้น เงื่อนไขเดียวที่จะทำให้คุณประยุทธ์ยุบสภาจึงได้แก่การถึงทางตันขั้นไม่มีทางถอยไปไหนได้อีก หรือพูดอีกอย่างคือการถูกบีบคั้นอย่างแรงจนยุบสภาเป็นทางเลือกที่ดีกว่าโดยปริยาย

เมื่อคำนึงว่าคุณประยุทธ์มีวุฒิสภาและอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการ คุณประวิตรย่อมเป็นคนเดียวที่จะบีบคุณประยุทธ์ยุบสภาได้ในที่สุด

คำถามคือ คุณประวิตรจะต้องการให้คุณประยุทธ์ยุบสภาทำไมในเวลาที่พรรคใหม่คุณประวิตรยังไม่พร้อม ยิ่งกว่านั้นคือคุณประวิตรยังไม่รู้เลยว่าหลังยุบได้อะไร

แม้คุณประยุทธ์จะเป็นใหญ่ในทำเนียบจนเปลี่ยนทำเนียบเป็นรังพวกพ้องตัวเอง ส่วนคุณประวิตรจะเป็นรองนายกฯ ที่ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาใครเลย นอกจากแม่บ้านและ รปภ. พรรคที่คุณประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค แต่ในความเป็นจริงแล้ว “เครือข่าย” คุณประวิตรมีมากทั้งในและนอกรัฐบาล

คุณประวิตรกับคุณประยุทธ์มีรอยร้าวจนไม่มีวันเหมือนเดิม แต่คุณประวิตรจะกดดันให้คุณประยุทธ์ยุบสภาตอนไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าหลังยุบสภาแล้วได้อะไรที่ดีกว่าเดิม

และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารความสัมพันธ์กับ “เครือข่าย” ที่คุณประวิตรมีกว้างขวางกว่าทุกคนในรัฐบาล

นอกจากพลังประชารัฐและพรรคสาขา สี่พรรคใหญ่ของประเทศล้วนเป็นเป้าหมายที่คุณประวิตรต้องสร้าง “เครือข่าย” ให้มากที่สุด ก้าวไกลกับประชาธิปัตย์เป็นไม้เบื่อไม้เบากับคุณประวิตรจนคุยกันไม่ได้อยู่แล้ว จะมีก็แต่เพื่อไทยและภูมิใจไทยที่พอจะมีเงื่อนไขให้คุณประวิตรเข้าไปพูดคุยกัน

แม้พรรคใหม่คุณธรรมนัสจะคืบหน้าจนมีที่นั่งในสภาทั้งที่ตอนเลือกตั้งปี 2562 จะไม่มีใครเลือกเลย แต่การดำเนินการเพื่อเตรียมเลือกตั้งในเวลาที่ยุบสภาจริงๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ ในเครือข่าย ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายคุณประวิตรต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมสู่การยุบสภาอีกพอสมควร

ทางเลือกอีกแบบที่ฝ่ายคุณประวิตรทำได้คือพรรคใหม่ของคุณธรรมนัสเป็นเพียง “ทางผ่าน” ให้ ส.ส.พลังประชารัฐก่อนจะย้ายไปพรรคอื่นหลังการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ แต่แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการบริหารอีก ถึงจะไม่นานเท่าการทำพรรคเพื่อลงเลือกตั้งก็ตาม

คำถามคือเงื่อนเวลาก่อนที่จะเกิดการยุบสภาจริงๆ คือตอนไหนดี

คุณธรรมนัสไม่ใช่คนที่คุณประยุทธ์ไว้ใจ และความเคลื่อนไหวทุกอย่างของคุณธรรมนัสที่มีคุณประวิตรอยู่เบื้องหลังย่อมทำให้ทำเนียบระแวงขึ้นไปอีก เพราะคุณประยุทธ์เคยเกือบถูกฆ่ากลางสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2564 จนไม่มีทางที่คุณประยุทธ์จะยอมให้เกิดเรื่องนี้ซ้ำอีกแน่นอน

ฝ่ายค้านประกาศว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจคุณประยุทธ์ในเดือนพฤษภาคม และถ้าคุณธรรมนัสเป็นตัวแปรที่คุณประยุทธ์คุมไม่ได้ตั้งแต่อยู่พลังประชารัฐ คุณธรรมนัสที่ออกจากพลังประชารัฐยิ่งคุมไม่ได้ขึ้นไปอีก การอภิปรายไม่ไว้วางใจปีนี้จึงเป็นแดนสังหารที่คุณประยุทธ์เสี่ยงถูกฆ่ากว่าเดิม

ถ้าคุณประยุทธ์ไม่มั่นใจว่าจะชนะโหวตไว้วางใจ ทางเลือกเดียวที่คุณประยุทธ์มีคือชิงยุบสภาก่อนฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนพฤษภาคม 2565 เพราะหากมีการยื่นญัตติแล้ว อำนาจของคุณประยุทธ์ในการยุบสภาจะถูกระงับไปทันทีเพื่อไม่ให้เกิดการยุบสภาหนีการอภิปราย

ฝ่ายค้านประกาศแล้วว่าจะใช้ยุทธวิธี “สภาล่ม” เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลโดยวิธียุบสภา นั่นเท่ากับว่าจากนี้จนถึงพฤษภาคม 2565 เราจะเห็นปรากฏการณ์ “สภาล่ม” ดุเดือดอย่างที่สุด

คำถามคือฝ่ายค้านจะทำอย่างไรที่ “สภาล่ม” จะชนะ และผลจาก “สภาล่ม” จะไม่ลามเป็นกระแสตีกลับไปหาฝ่ายค้านเอง

การเมืองจากนี้จนถึงเดือนพฤษภาคมจะเป็นการขับเคี่ยวขั้นสูงสุดระหว่างทุกขั้วอำนาจ ยุทธวิธีที่แต่ละฝ่ายใช้จะเดินหน้าสู่การต่อสู้กันในและนอกรูปแบบอย่างถึงที่สุด

เดิมพันของศึกนี้มีมากถึงขั้นเปลี่ยนขั้วอำนาจ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแบบที่ประชาชนต้องการหรือเปลี่ยนแบบขาใหญ่ตกลงกันเอง