’10 ไฮไลท์แห่งปี 2564′ ปฏิรูป(ไม่)ถึงฝัน : ‘รธน.ฉบับประชาชน-ลบล้างคำสั่ง คสช.-แก้ไข ม.112’ ตีตกไม่ใยดี

ปี 2564 วิกฤตศรัทธาต่อประเทศไทยได้เกิดขึ้นกับทุกสถาบันทางการเมือง แม้แต่รัฐสภา ที่ถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่ต่อรองเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันของประชาชน แต่เมื่อประเด็นอันแหลมคมถาโถมเข้าสู่สภา พื้นที่ดังกล่าวกลับกลายเป็นสถานที่ที่ถูกตั้งคำถามในความเชื่อมั่นว่ายังสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ปีนี้ร้อนแรงอย่างมาก ไม่ว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญ, การลบล้างผลพวงคำสั่งของคณะรัฐประหาร หรือแม้แต่แก้ไขกฎหมายที่ถกเถียงกันอย่าง กฎหมายอาญา มาตรา 112

ม.112 : แก้ไขหรือยกเลิก กับ ไม่ยกเลิก-ไม่แก้ไข?

การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 31 ตุลาคม ของกลุ่มราษฎรและกลุ่มการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่รวมตัวกันในชื่อเฉพาะกิจของ ‘คณะราษฎรยกเลิก 112’ ได้จัดการชุมนุมในชื่อ “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” ซึ่งเป็นการชุมนุมใหญ่ในช่วงปลายปี แม้มีสายฝนเทกระหน่ำในช่วงเย็น แต่พอฝนซา ผู้ร่วมชุมนุมซึ่งคาดว่ามีจุดยืนต่อแก้ไขหรือยกเลิกม.112 รวมตัวกันอย่างคึกคักและเหนียวแน่น ไฮไลท์สำคัญคือ การอ่านคำแถลงการณ์ โดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ในฐานะโฆษกกลุ่มราษฎร โดยรุ้งได้กล่าวตอนหนึ่งว่า

“กฎหมาย ม.112 เป็นกฎหมายล้าหลัง ทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจการปกครองของอภิสิทธิชนมาอย่างยาวนาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจยกเลิกกฎหมายนี้ ทั้งนี้ คณะราษฎร มีข้อเรียกร้ององค์กรตุลาการ ดังนี้ 1.ให้สิทธิประกันตัวและปล่อยตัวผู้ต้องขังทุกคนออกจากเรือนจำ 2.แก้ไขกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิก ม.112 โดยพวกเราจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ภราดรภาพ”

จากนั้น รุ้งก็ได้เอามีดคัตเตอร์ กรีดที่แขนตัวเองเป็นตัวเลข 112 และกรีดอีกเป็นรอยยาวขีดฆ่าตัวเลขลงไป ด้วยสีหน้าสงบไม่แสดงความเจ็บปวดใดๆออกมา

ต่อมาในค่ำของวันเดียวกัน พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมนำข้อเสนอภาคประชาชนที่เรียกร้องเสนอร่างแก้ไขข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบการทำงานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัว ลงนามโดย ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย

นับเป็นก้าวย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับพรรคการเมืองที่มีการวางจุดยืนตัวเองห่างจากเรื่องที่ตัวเองมองว่าอ่อนไหวและเสี่ยงตกเป็นเป้าทางการเมือง เพราะครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทางคณะกรรมการณรงค์แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 หรือ ครก.112 ได้ล่ารายชื่อและเสนอแก้ไขกฎหมายเข้าสู่สภา แต่คราวนั้นถูกตีตกในวาระแรก

แต่ท่าทีที่เปลี่ยนของพรรคเพื่อไทยกับม.112 กลายเป็นประเด็นดราม่า เพราะต่อมา ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน ได้ออกความเห็น โดยส่วนหนึ่งของโพสต์ข้อความระบุว่า  ‘ตัวกฎหมายไม่เคยมีปัญหา แต่คนที่เป็นปัญหาคือคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและคนที่นำประเด็นนี้มาสร้างความแตกแยกในสังคม’ ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดดราม่าและพูดคุยกับผู้เห็นต่างเพื่อถวายความจงรักภักดีที่ถูกต้องถูกทาง ไม่ให้เจ้านายต้องถูกครหาโดยที่ไม่รู้

อย่างไรก็ตาม โพสต์ข้อความดังกล่าว กลับเป็นจังหวะนรกที่สร้างความสับสนกับคนที่สนับสนุนแก้ไขหรือยกเลิก 112 และยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่าพรรคการเมืองจะเดินต่อไปยังไง

จนกระทั่ง หัวหน้าพรรคอย่างนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ต้องออกมาให้ความชัดเจนว่า แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยและการโพสต์ข้อความของทักษิณไม่ได้มีข้อขัดแย้งกัน และพรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนที่จะไม่ยกร่างแก้ไขเอง แต่พร้อมจะผลักดันข้อเสนอจากภาคประชาชนเข้าสู่สภา เพื่อจะได้รับฟังเสียงให้รอบด้าน

จากนั้น พรรคการเมืองที่ขึ้นชื่อว่าก้าวหน้าที่สุดอย่่างพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่า 4 ใน 5 ร่างได้รับการนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขณะที่อีก 1 ร่างซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 112 ถูกโต้แย้งโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีบทบัญญัติที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งมีข้อความสำคัญคือองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

พรรคก้าวไกลจึงยื่นหนังสือขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับเดียวที่ยังตกค้างอยู่ของพรรคก้าวไกล เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็ว

ชัยธวัชกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์

เมื่อมีพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองออกมาขับเคลื่อนให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตราดังกล่่าว ก็ต้องมีฝ่ายต่อต้านออกมาอย่างเปิดเผย ไม่ว่่า สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือรู้จักกันในอดีตพระพุทธอิสระ ไปจนถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมไปจนถึงขวาสุดโต่ง ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกล้า พรรคภูมิใจไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังประชารัฐ ไปจนถึงวุฒิสภาแต่งตั้งจาก คสช.ตัวเด่นๆหลายคน

และไม่แปลกใจกับรัฐบาลที่มีจุดยืนแบบจารีตนิยม โดยรองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ในนามของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 อย่างแน่นอน เราจะบริหารประเทศโดยยึดหลักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ (ไม่มีการเอ่ยถึงระบอบประชาธิปไตย)

กรณีม.112 นับเป็นมาตรวัดจุดยืนทางการเมืองที่เห็นได้ชัดว่าใครอยู่จุดไหน ระหว่าง พรรคการเมืองตลอดจนนักเคลื่อนไหวสายปฏิรูปและฝ่ายก้าวหน้า จะมีทัศนะสนับสนุนการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นและเป็นคุณต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่อีกฝ่าย คัดค้านไม่ยอมเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้นซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมหรือไปถึงขั้นราชาชาตินิยมสุดโต่ง ได้แก่ รัฐบาล(อาจรวมถึงกลไกรัฐทุกองคพยพ) พรรคร่วมรัฐบาลและนักการเมืองปีกขวาจัด

วันที่ 3 พฤศจิกายน นพ.ชลน่าน ออกมาย้ำอีกครั้งว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นผู้เสนอแก้ แต่จะเป็นเพียงตัวกลางรับเรื่องเข้าสู่สภาเท่านั้น

เรื่อง ม.112 จะยังคงเป็นเรื่องที่พยายามคัดง้างระหว่างกันต่อไป ท่ามกลางการใช้มาตราดังกล่าวในการปราบผู้เห็นต่างที่นำเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นวงกว้างจนไร้การควบคุมและโดนกันทุกคนไม่เว้นแม้แต่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ตีตก! “รธน.ฉบับประชาชน” เมื่อความหวังถูกเหยียบซ้ำ

นับเป็นความพยายามอย่างหนักของภาคประชาชนในการนำเสนอตัวร่างรัฐธรรมนูญที่แตกต่างจากกลุ่มการเมืองอื่นๆอย่าง หลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …ที่นำโดยกลุ่ม เรโซลูชั่น (RE-solution) และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนกว่า 1.5 แสนคน แต่ก็เป็นร่างกฎหมายที่เรียกว่า ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปหลายครั้งมาก แล้วในที่สุดวันที่มีโอกาสเสนอเข้าวาระการประชุมร่วม 2 สภา แต่โอกาสที่จะได้ไปต่อกลับต้องหยุดลง

วันที่ 30 มิถุนายน ก่อนที่ร่างรธน.ฉบับนี้จะถูกโรคเลื่อนยาวๆไปนั้น กลุ่ม Re-Solution และผู้เชิญชวนเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ นำโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และน.ส.ชญาธนุส ศรทัตต์ นำรายชื่อประชาชนกว่า 150,921 ชื่อมายื่นต่อ​ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และน.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานการเมืองประธารสภาผู้แทนราษฎร

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ไม่มีช่วงเวลาใดที่จะชัดเจนกว่านี้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะมีผลต่อชีวิตประชาชนเท่านี้ สัปดาห์ที่แล้วจะเห็นว่ารัฐสภามีโอกาสที่ดีในการลุกขึ้นมาเป็นความหวังผ่านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สมาชิกรัฐสภา นำโดยวุฒิสภาก็ปิดประตูใส่หน้าประชาชน โดยการปัดตกทุกข้อเสนอในการตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี การยื่นข้อเสนอครั้งนี้ จะเป็นการเปิดประตูแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว. 250 คน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ปฏิรูปที่มาศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และล้มล้างผลพวงมรดกรัฐประหาร ตนขอเรียกร้องให้สภาเร่งตรวจสอบเอกสารและบรรจุระเบียบวาระเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาอย่างรวดเร็วที่สุด

นายปิยบุตร กล่าวว่า ตนหวังว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้โดยประชาชนเข้าชื่อกันมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นรายชื่อ จะกระตุกจิตสำนึกของสมาชิกรัฐสภาว่าอย่างน้อยๆ จะต้องนำเข้าไปพิจารณาไม่ใช่ตีตกอย่างง่ายดายเหมือนครั้งที่แล้ว เราไม่อยากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะกลายเป็นการแก้ไขเฉพาะบัตรเลือกตั้ง เราจึงได้เสนอ 4 ประเด็นดังกล่าวที่สำคัญเข้ามา เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ให้ทุกพรรคการเมืองแข่งขันกันอย่างเสรี เป็นธรรม และตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

หลังจากเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา แต่โอกาสจะถูกออกมาพิจารณากลับถูกปัดเลื่อนออกไปเรื่อยๆจนได้ฤกษ์ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน

วันที่ 14 พฤศจิกายน หรือ 3 วันก่อนการประชุมร่วม 2 สภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมากล่าวในทำนองสนับสนุนรับหลักการร่างรธน.ฉบับประชาชน และยังกล่าวเตือนหากสภาตีตกว่า

“หากเป็นเช่นนั้นเหมือนว่ารัฐบาลจงใจให้เกิดการราดน้ำมันเข้ากองไฟ ไม่ได้ถอนฟืนออกจากกองไฟ ความเป็นจริงประชาชน และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่พัฒนามาเป็นกลุ่มราษฎรได้เก็บข้อเรียกร้องที่เป็นจุดสำคัญข้อหนึ่งคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างของไอลอว์ก็มีประชาชนเกิน 100,000 คนร่วมลงชื่อในร่างรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นจึงควรจะรับฟังเสียงของประชาชนไปพิจารณา”

ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน สุทิน คลังแสง จากพรรคเพื่อไทยในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในส่วนของพรรคพท.จะประชุมกันในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้เพื่อหารือถึงทิศทางในการโหวตทั้ง 7 ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีหลักการที่ขัดหรือแย้งกับจุดยืนของพรรคพท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ ส่วนท่าทีของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ระบุว่าจะโหวตสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถึงตอนนี้ยังไว้ใจไม่ได้จนกว่าจะมีการลงมติโหวตรับหรือไม่รับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งหรือไม่ เพราะฝ่ายรัฐบาลและส.ว.มักจะทำเรื่องเซอร์ไพรส์ที่เหนือความคาดคิดยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจนถึงขณะนี้

สิ่งที่สุทินกล่าว อาจไม่ได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะด้วยจุดยืนของรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ที่มีทัศนะเป็นลบต่อกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลและอำนาจสถาปนา และร่างรธน.แบบที่ลบล้างอำนาจที่พวกเขาเคยมีนั้น จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะยกมือรับหลักการ

และก็เป็นไปอย่างที่คาดการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ร่างรธน.ฉบับประชาชนนำโดยกลุ่ม RE-solution และประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ ผลลงมติออกมาเป็น รับหลักการ  206 เสียง ไม่รับหลักการ 473 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ในส่วนส.ว.มีเพียง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิศาล มาณวพัฒน์, มณเฑียร บุญตัน ที่ยกมือรับหลักการ

นายพริษฐ์กล่าวหลังสภาตีตกไม่รับหลักการว่า ตนในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนร่างฉบับนี้และตนเป็นคนเสนอ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง ที่ข้อเสนอของเราไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติในสังคม ซึ่งตนได้ย้ำไว้ในการอภิปรายตลอดทั้งวัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ข้อเสนอของเราไม่ได้เป็นข้อเสนอที่สุดโต่งหรือพยายามให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เราเพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น

นายปิยบุตร ได้กล่าวถึงประชาชนที่ต่างผิดหวังกับมติดังกล่าวว่า ประชาชนที่ร่วมลงชื่อและติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่าเพิ่งสิ้นหวัง พวกเรายังมีลมหายใจ ยังมีความคิด ยังมีกำลังที่จะรณรงค์ต่อไป เพราะทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำได้ยากแต่หากเราไม่เคลื่อนไหว ไม่รณรงค์ต่อไป พวกเขาก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบมาได้อย่างต่อเนื่องตลอดกาล จึงเป็นภารกิจของพวกเราประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตัวจริงเสียงจริง จำเป็นต้องรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้ต่อไปแม้ว่าจะไม่ประสบความ สำเร็จ ล้มเหลว แม้ว่าจะล้มลงกี่ครั้งก็ตาม เราต้องลุกขึ้นมาใหม่แล้วต่อสู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จจนได้

ร่างกฎหมายลบล้างคำสั่ง คสช. ถูกตีตกแบบไม่ลังเล

วันที่ 15 ธันวาคม ยังมีกฎหมายอีก 2 ฉบับที่นำเสนอในการลบล้างผลพวงจากคำสั่งของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. อย่างร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ….ของกลุ่มไอลอว์ และอีกฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. ….ของอดีตพรรคอนาคตใหม่

ทั้ง 2 ฉบับได้ผ่านสมาชิกสภาในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เหลือเพียงการลงมติเท่านั้น โดยที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบผ่านร่างของไอลอว์ ด้วยคะแนน 234 ต่อ 162 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน ไม่ลงคะแนน 1 คะแนน และไม่เห็นชอบผ่านร่างของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ด้วยคะแนน 229 คะแนน ต่อ 157 คะแนน งดออกเสียง 4 คะแนน ไม่ลงคะแนน 2 คะแนน จึงถือว่าที่ประชุมสภาไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฯทั้ง 2 ฉบับ

ต่อมา นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการของไอลอว์ได้กล่าวหลังมติตีตกทั้ง 2 ฉบับว่า วันนี้เป็นอีกวันที่ประชาชนรู้สึกผิดหวัง เสียใจ และโกรธ ที่สภาฯ หรือผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายปัดตกในสิ่งที่ประชาชนช่วยกันผลักดัน เข้าชื่อ รณรงค์และทำกิจกรรมเพื่อนำรายชื่อมาเสนอต่อสภาฯ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชน ตนยืนยันเสมอว่า สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ สภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของคณะรัฐประหาร และตั้งแต่ปี 60 มา แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็เห็นว่าประกาศคำสั่งคสช.ยังเป็นใหญ่

“หากประชาชนรู้สึกเศร้า เสียใจบ้าง ผิดหวังบ้าง ขอให้ทราบว่า เรายังมีอำนาจสำคัญในการลงโทษผู้แทนราษฎรที่ลงมติโดยไม่มีเหตุผลรองรับเหล่านี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และขอให้จดจำว่า ใครที่ลงมติไม่รับหลักการโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งเราจะไม่เลือกคนเหล่านั้น กลับเข้ามาในสภาอีก อย่างไรก็ตาม มรดกรัฐประหารที่คสช.ได้ทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรัฐธรรมนูญ ในคำสั่งคสช. ในกฎหมายอีกหลายฉบับ ยังคงจำเป็นที่จะถูกตรวจสอบ ถูกรื้อถอน ไม่ว่าจะโดยอำนาจทางตรงของประชาชนหรืออำนาจผ่านการเลือกตั้งให้ส.ส.มาทำหน้าที่นี้ จากนี้ยังมีก้าวต่อไปและกิจกรรมอีกมาก เราต้องรวมพลังกันอีกหลายครั้ง ขอให้ประชาชนมีความหวัง ตั้งมั่นที่จะทวงคืนระบอบประชาธิปไตยที่ใช้อำนาจตามปกติกลับมา” นายยิ่งชีพ กล่าว

ภาวะปฏิเสธแนวทางปฏิรูปของภาคประชาชนหลายต่อหลายครั้งนี้ ทำให้ ปี 2564 ไม่เพียงเป็นปีแห่งความถดถอยของการเมืองแบบประชาธิปไตยที่การเมืองบนท้องถนนถูกอำนาจรัฐบดขยี้ ยังรวมถึงความหวังของประชาชนที่แก้ไขสิ่งที่ผิดปกติให้กลับมาปกติตามครรลอง ถูกโยนทิ้งอย่างไร้เยื่อใย เมื่อไม่มีสถาบันการเมืองใดๆแม้แต่สภา ออกมาโอบรับทางเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะกลายเป็นการเติมเชื้อไฟความโกรธแค้นของประชาชนให้ลุกโหมและพาประเทศไทยในปี 2565 ไปสู่ความวุ่นวายหรือไม่?