ผ่ากรุงเทพมหานคร พื้นที่นี้ใครครอง (1)/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ผ่ากรุงเทพมหานคร

พื้นที่นี้ใครครอง (1)

 

กรุงเทพมหานครนั้นใหญ่กว่าที่เราคิด

Worldometer มีผลการจัดลำดับเมืองใหญ่ล่าสุดในปี ค.ศ.2015 กรุงเทพฯ ของเราได้อันดับที่ 19 ด้วยประชากร 14.9 ล้านคน ต่ำกว่า Los Angeles ที่ได้อันดับ 18 ด้วยประชากร 15 ล้านคน โดยอันดับหนึ่งคือเมืองคู่แฝด Tokyo-Yokohama ที่มีประชากร 37.8 ล้านคน

แม้จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร จะมีอยู่ประมาณ 6 ล้านคน และที่มีสิทธิเลือกตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 4.7 ล้านคน แต่ปัญหาของกรุงเทพมหานครที่รอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่มาแก้ไขนั้น คงต้องครอบคลุมไปยังคนทั้งหมดที่มาอาศัยอยู่ในมหานครแห่งนี้ด้วย

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4.2 ล้านคน ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4.4 ล้านคน

พฤติกรรมการออกเสียงเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปมา ยากต่อการคาดเดา

แต่หากเรานำผลการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งหลังสุดมาเป็นฐานในการวิเคราะห์แบบแผนของการลงคะแนน เราอสาจเห็นถึงแนวโน้มที่น่าสนใจหลายประการ

กายภาพของกรุงเทพมหานคร

หากจะแบ่งพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมของการลงคะแนนเสียงได้ชัดเจน อาจแบ่งเป็นกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่เป็นศูนย์กลางทางการปกครองและความเจริญทางเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ รอบนอกซึ่งมีความเจริญกระจายตัวออกไปทางทิศเหนือและทิศตะวันออก และกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีหรือทิศตะวันตก

หากยึดตามการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 กรุงเทพฯ ชั้นในประกอบด้วยเขตเลือกตั้ง 7 เขต เขต 1 คือ พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธ์วงศ์ และบางส่วนของดุสิต เขต 2 ประกอบด้วยปทุมวัน บางรัก สาทร เขต 3 ประกอบด้วยบางคอแหลม ยานนาวา เขต 4 ประกอบด้วย คลองเตยและวัฒนา เขต 5 ประกอบด้วยห้วยขวางและดินแดง เขต 6 ประกอบด้วยราชเทวี พญาไท และบางส่วนของจตุจักร เขต 7 ประกอบด้วยบางซื่อ และบางส่วนของเขตดุสิต

ผลการเลือกตั้งเมื่อเทียบกันระหว่าง 4 พรรคใหญ่ คือ พลังประชารัฐ เพื่อไทย อนาคตใหม่ และประชาธิปัตย์ แสดงให้เห็นตามกราฟรูปที่ 1

ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในนี้ พลังประชารัฐได้ไป 5 เขตจาก 7 เขต คือ เขต 1 เขต 2 เขต 4 เขต 6 และเขต 7 เพื่อไทยได้ 1 เขต คือ เขต 5 ส่วนอนาคตใหม่ได้ 1 เขต คือ เขต 3

สมมุติฐานที่ว่า พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ คือฐานคะแนนเสียงกลุ่มอนุรักษนิยม (Conservative) ส่วนเพื่อไทยและอนาคตใหม่ มีฐานคะแนนเสียงจากกลุ่มเสรีนิยม (Liberal) ซึ่งหากในฐานคะแนนเสียงเดียวกันลงคู่กันในเขตเดียวกันจะแย่งคะแนนเสียงซึ่งกันและกันดูเหมือนจะเป็นจริง โดยเห็นได้จากในเขต 3 (บางคอแหลม ยานนาวา) ที่เพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร ทำให้อนาคตใหม่ได้รับชัยชนะ ด้วยคะแนนเสียง 28,444 คะแนน เหนือพลังประชารัฐที่ได้คะแนน 25,148 คะแนน และประชาธิปัตย์ที่ได้ 17,029 คะแนน

ส่วนในเขต 1 (พระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธ์วงศ์ ดุสิต) เมื่ออนาคตใหม่และเพื่อไทยลงพร้อมกัน พลังประชารัฐเป็นฝ่ายชนะ ด้วยคะแนนเสียง 23,246 คะแนน ในขณะที่อนาคตใหม่ได้ 18,091 คะแนน เพื่อไทยได้ 15,904 คะแนน ส่วนแชมป์เก่าประชาธิปัตย์ได้อันดับสี่ ที่ 14,348 คะแนน

ในเขต 6 (ราชเทวี พญาไท จตุจักร) เมื่อมีอนาคตใหม่และเพื่อไทยลงพร้อมกัน พลังประชารัฐเป็นฝ่ายชนะด้วยคะแนน 28,690 คะแนน ในขณะที่อนาคตใหม่ได้ 23,980 คะแนน และเพื่อไทยได้ 22,275 คะแนน ส่วนประชาธิปัตย์รั้งอันดับที่สี่ ด้วยคะแนน 16,525 คะแนน

ในเขต 7 (บางซื่อ ดุสิต) มีลักษณะเดียวกันคือ เมื่อเพื่อไทยและอนาคตใหม่ลงพร้อมกัน ชัยชนะจะเป็นของพลังประชารัฐ ด้วยคะแนนเสียง 25,180 คะแนน ในขณะที่เพื่อไทยได้ 23,998 คะแนน อนาคตใหม่ได้ 21,339 คะแนน และอันดับที่สี่ ประชาธิปัตย์ได้ 12,896 คะแนน

เขตชั้นในมีความเป็นอนุรักษนิยม

สูงกว่าเสรีนิยม

แม้พรรคฝ่ายเสรีนิยมจะได้ ส.ส. ในเขตชั้นในมา 2 ที่ใน 7 ที่ จากเขต 3 (เพื่อไทยไม่ส่ง) และเขต 5 (ส่งครบทั้ง 4 พรรค) แต่หากนำคะแนนของแต่ละฝ่ายรวมกัน จะเห็นแนวโน้มบางประการชัดเจนขึ้น (ดูกราฟที่ 2) ดังนี้

ความเป็นอนุรักษนิยม เห็นได้ชัดเจนในเขตเลือกตั้งที่ 1-4 ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความนิยมเอนเอียงไปทางพรรคที่มีนโยบายทางอนุรักษนิยม เนื่องจากพื้นที่ใจกลางเมืองมักจะเป็นผู้อยู่อาศัยเดิม เป็นย่านธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อการชุมนุมทางการเมือง

ดังนั้น การชูคำขวัญในเชิง “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” หรือ “รักความสงบ จบที่ลุงตู่” ดูจะเป็นแนวทางการหาเสียงที่ได้ผลในพื้นที่ดังกล่าว

ในขณะที่เขต 6 กระแสอนุรักษนิยม และกระแสเสรีนิยมดูใกล้เคียงกัน โดยฝ่ายเสรีนิยมสูงกว่าเล็กน้อย ด้วยการเป็นย่านใจกลางเมืองที่เป็นธุรกิจทันสมัย (ราชเทวี พญาไท จตุจักร)

ส่วนเขต 5 แม้เป็นพื้นที่ใจกลางเมือง (ห้วยขวาง ดินแดง) แต่ประกอบด้วยคนจนเมืองที่อยู่กันหนาแน่น ดังนั้น กระแสด้านเสรีนิยมจึงดูรุนแรงกว่า

เช่นเดียวกับเขต 7 (บางซื่อ และดุสิต) ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและมีความเป็นคนชั้นกลางมากขึ้น กระแสด้านเสรีนิยม ก็สูงกว่าอนุรักษนิยมเช่นกัน

 

ประชาธิปัตย์หายไปไหน

ใน 7 เขตของกรุงเทพฯ ชั้นใน มี ส.ส.เก่าของประชาธิปัตย์ลงถึง 6 เขต คือ เขต 1 เขต 2 เขต 3 เขต 4 เขต 5 เขต 6 ผู้สมัครเหล่านี้ล้วนทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในเขตที่ตนเองมีฐานะคะแนนเสียง

แต่คะแนนที่ได้รับกลับเป็นอันดับสาม อันดับสี่ ด้วยคะแนนแค่หมื่นต้นๆ จึงเป็นคำถามที่ชวนสงสัยว่า คะแนนหายไปไหน

คำอธิบายในกรณีดังกล่าว คือ ฐานคะแนนเสียงของประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ คือฐานคะแนนเสียงของกลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นฐานเดียวกัน

เมื่อมีพลังประชารัฐที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีแนวทาง “รักความสงบจบที่ลุงตู่” ชัดเจน

ในขณะที่ประชาธิปัตย์ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอา พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ การตัดสินใจของคนกลุ่มนี้จึงเอนเอียงไปที่พรรคพลังประชารัฐ

 

การส่งผู้สมัครแบบมียุทธศาสตร์

กลับมาดูกราฟที่ 1 เขต 2 เขต 3 และ เขต 4 คือเขตที่มีการส่งผู้สมัครแบบมียุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายเสรีนิยม ซึ่งก่อให้เกิดผลสำเร็จในเขตเลือกตั้งที่ 3 และเกือบสำเร็จในเขต 2 และเขต 4

ในขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 1 เขต 6 และ 7 หากไม่มีการส่งผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยลงพร้อมกับอนาคตใหม่ ทั้งสามเขตดังกล่าว จะมีโอกาสชนะได้ หากอีกฝ่ายส่งผู้สมัครลงแข่งขันทั้งคู่

เท่ากับว่า หากเพื่อไทยและอนาคตใหม่รู้จักหลีกกันใน 7 เขต ในขณะที่อีกฝ่ายลงทั้งคู่ ฝ่ายเสรีนิยม จะได้ไปทั้งหมด 5 ใน 7 ที่ ของกรุงเทพชั้นใน คือ เขต 1 เขต 3 เขต 5 เขต 6 และเขต 7 เปลี่ยนสัดส่วนจาก 2 : 7 เป็น 5 : 7 หรือแบบตรงกันข้ามทันที

ที่กล่าวมาทั้งหมดกำลังจะบอกว่า ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายเสรีนิยมอาจต้องประเมินและคุยกันเองว่า พื้นที่นี้ใครจะหลีกให้ใคร แต่ธรรมชาติของพรรคการเมือง คงยากที่จะมีการหลบหลีก ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นในลักษณะข้างต้นยังน่าจะคงอยู่

(ตอนหน้า วิเคราะห์กรุงเทพฯ ทิศเหนือ ตะวันออก และฝั่งธนฯ)