คุยกับ ‘กษิต ภิรมย์’ ว่าด้วยมาตรการทางการทูต จะคลอด หรือ ทำแท้งประชาธิปไตย ขอ”บิ๊กตู่”พูดกับทรัมป์ให้ชัด

เมื่อ “ประเทศไทยถอยหลังลงคลอง” และวนเวียนอยู่กับการเกิดขึ้นของ “รัฐประหาร” เป็นสาเหตุหลักที่ตะวันตกและชาติที่ถือเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นสำคัญ จะไม่เปิดประตูต้อนรับผู้นำของเรา ซึ่งเราต้องยอมรับสภาพ นั่นเป็นคำตอบจาก “กษิต ภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและอดีตนักการทูตคนดัง อธิบายให้ฟัง

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. “หลุดพูดความในใจ” ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ หรือไม่มีการเชิญจากชาติต่างๆ

แต่เพียงไม่นานก็มีเรื่องที่ทำให้ผู้นำของเรา “ใจชื้น” ขึ้นมาบ้าง เมื่อ นายเร็กซ์ เวย์น ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้แวะประเทศไทยแบบสั้นๆ โดยเข้าพบพูดคุยกับนายกฯ ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล

“อดีตทูตกษิต” ขยายภาพความเข้าใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐว่า ภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีทรัมป์” มีมุมมองการเมืองระหว่างประเทศที่แตกต่างจากทุกรัฐบาลของสหรัฐในรอบ 24 ปี

US President Barack Obama shakes hands as he meets with Republican President-elect Donald Trump (L) on transition planning in the Oval Office at the White House on November 10, 2016 in Washington,DC. / AFP PHOTO / JIM WATSON

แต่เดิมทั้ง ปธน. คลินตัน, บุช และโอบามา นโยบายต่างประเทศจะส่งเสริมอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย และเศรษฐกิจไร้พรมแดน ที่เรียกว่าฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) หลังยุคสงครามเย็นนโยบายต่างประเทศสหรัฐไปในทิศทางนี้มายาวนาน

เมื่อไทยถอยหลังเข้าคลอง อันมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งขัดกับสหรัฐที่ไม่ต้องการให้มีรัฐบาลทหาร-กึ่งทหาร มายึดอำนาจและไม่เป็นประชาธิปไตย ชาติตะวันตกจึงชะลอความสัมพันธ์ที่จะมีกับไทย ลดการข้องแวะทางการทูต ไม่ส่งรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. มาที่ไทยอย่างเด็ดขาด

และไม่เชิญไปเยือนแบบทวิภาคี ไม่มีการต้อนรับขับสู้ จนกว่าจะกลับสู่ประชาธิปไตย

“เขาจะยุติการเจรจาทั้งการค้าเอฟทีเอเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เขาจะแขวนการเจรจาไว้ อย่างมีนัยยะรวมถึงไม่กระตือรือร้นในการส่งเสริมภาคธุรกิจเขามาลงทุนในไทย ระงับความช่วยเหลือทางเทคนิค ทางวิชาการ แม้กระทั่งเรื่องเงินกู้ผ่อนปรน”

อดีตทูตขยายความ

“กษิต” ขยายความต่อไปอีกว่า จนกระทั่ง 10 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้การนำของทรัมป์ ทั้งโลกรับทราบแล้วว่า ผู้นำคนนี้ไม่เอาอุดมการณ์อย่างที่ทำกันมาเป็นตัวตั้ง ไม่สนว่าจะมีความมากน้อยประชาธิปไตยอย่างไร แต่คำนึงถึง “ผลประโยชน์ร่วมกัน” และนึกถึง “ยุทธศาสตร์ของสหรัฐ” เป็นสำคัญ

พูดง่ายๆ คือเป็นมิตรกันได้หากตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกของสหรัฐ ทั้งกรณี “เกาหลีเหนือ” ที่ต้องการให้สมาชิกทั่วภูมิภาคนี้คว่ำบาตรอย่างแข็งขัน หรือกดดัน “จีน” ที่สหรัฐรู้สึกว่าเบ่งกล้ามแพร่ขยายอิทธิพลมากเกินไป จำต้องตะล่อมไม่ให้จีนเป็น “พี่เบิ้ม” เลยกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ล้อมจีนไว้หมด

ถ้าหากร่วมมือด้วย สหรัฐก็จะร่วมมือทางการค้ากับชาติเหล่านั้นยิ่งๆ ขึ้นไป

ซึ่งการที่ รมต.สหรัฐแวะไทย เสมือนสัญญาณบ่งบอกว่ารูปร่างหน้าตารัฐบาลจะเป็นเช่นไรไม่สำคัญเท่ารัฐบาล คสช. จะสนับสนุนอเมริกาอย่างไรในยุทธศาสตร์ระดับโลก

เขาไม่สนเป็นแมวสีขาวหรือสีเทา แค่คุยกันได้ดูเป็นเรื่องๆ ไป

ทรัมป์เป็นนักธุรกิจมาก่อน มุ่งการต่อรองเจรจาหาผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า และ รมต. ที่บินมาก็คงมาถามว่าเรื่องเกาหลีเหนือและจีน ไทยจะเอายังไง?

ส่วนคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกว่าไปไหนไม่ได้ อดีตทูตกษิตเห็นว่า ก็ต้องเข้าใจบริบทสังคมไทยเป็นรัฐบาลทหาร ชาติที่ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ลดการข้องแวะและบีบเรา เป็นเรื่องธรรมดา ที่ผ่านมาเห็นแค่จีนที่เชิญไปพบ และทรัมป์ที่เคยเอ่ยปากเชิญตามที่มีข่าว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าช่วงไหนกันแน่ ส่วนหนึ่งมองว่ามันขึ้นกับเราว่าเราพูดจาโรดแม็ปเส้นทางสู่ประชาธิปไตยอย่างไร ประกาศให้โลกรู้อย่างชัดถ้อยชัดคำหรือไม่ คนดูเขาก็รู้สึกมันถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ ไม่แน่นอน

แต่คำถามนี้ต้องถามประชาชนคนไทยทั้งหลายด้วยว่าถึงวันนี้เราต้องการประชาธิปไตยหรือเปล่า หรือชอบอยู่แบบนี้ที่มีมาตรา 44 มีเสรีภาพจำกัด ถ้าเราพึงพอใจแบบนี้โลกจะได้รู้ เขาจะได้ทำตัวถูก ในการจัดระดับการข้องแวะ ซึ่งเป็นสิทธิของประเทศนั้นๆ

ฉะนั้น มันอยู่ที่เราในการมีเป้าหมายแน่ชัด สร้างพลเมืองเข้มแข็ง พรรคการเมืองปฏิรูปตัวเอง ต้องทำทั้งประเทศ

แต่ทั้งนี้ หากมีความชัวร์ว่าสหรัฐเชิญไปแล้ว เราก็ต้องทำให้เขามีความสบายใจในการเชิญด้วยว่า มีความแน่ชัดถึงตารางเวลาการเลือกตั้ง ทรัมป์จะได้บอกคนอเมริกันได้ว่า ที่เชิญนายกฯ ประยุทธ์มาเพราะเขาจะเป็น “ผู้คลอดประชาธิปไตย” ไม่ใช่เป็น “คนทำแท้งประชาธิปไตย” เขาจะได้อธิบายพลเมืองเขาได้ว่า เชิญผู้นำที่เป็นทหารมาทำไม ซึ่งขึ้นอยู่ที่เรามากกว่าว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือรู้สึกพอใจที่เป็นแบบนี้ แบบที่ทรัมป์ก็มาเปลี่ยนเราไม่ได้

นี่คือ “ทางเลือก”

ส่วนเราเองมีอะไรจะพูดกับเขา อดีตทูตกษิตบอกว่า คุณประยุทธ์ต้องบอกคนไทยให้ได้ว่าในกระเป๋าเรามีอะไรเตรียมการไปพูด เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย เรื่องข่าวกรอง อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยไซเบอร์ วิจัยต่างๆ การฝึกรบ มีหลายเรื่อง ซึ่งท่าทีสถานทูตสหรัฐในไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่ที่ทางวอชิงตันสั่งการมายังไง

แต่การที่ผู้นำเราจะได้ไปเยือนนั้น ไม่ได้หมายความว่า ชาติอื่นๆ จะเห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้ของสหรัฐ อดีต รมต.กษิตอธิบายว่าความเข้มข้นทางด้านอุดมการณ์ของสหภาพยุโรป ในเรื่องประชาธิปไตย องค์รวมยังเข้มแข็งอยู่มาก และใช้ตั้งเป็นเงื่อนไขในการที่จะปรับหรือไม่ปรับความสัมพันธ์กับไทย

หลายประเทศยังดำเนินด้วยอุดมการณ์เป็นสำคัญและเข้มข้นในหมู่ประเทศสมาชิก ฉะนั้น เส้นทางใหม่ของสหรัฐที่จะจับมือกับใครก็ได้ของทรัมป์ ไม่ได้ทำให้โลกตะวันตก รวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แม้กระทั่งญี่ปุ่นจะทำตาม และมองว่าหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับวิธีการของทรัมป์

ส่วนที่มีนักวิชาการออกมาเตือนว่าห่วงไทยเสียเปรียบสหรัฐนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในการใช้ความรู้สึกพูดแบบนี้ เพราะมันต้องเอาตัวเลขมาดู ว่าเราได้เสียยังไง เพราะการเจรจาทางการทูตเป็นการต่อรองผลประโยชน์

อเมริกาต้องการสมัครพรรคพวกบีบเกาหลีเหนือและจีน และอาจมองยาวไปถึงปัญหาในตะวันออกกลาง

เราเองก็ต้องตั้งผลประโยชน์ของเรา อย่างเรื่องที่ควรไปคุย เช่น “สิทธิบัตรยารักษาโรค” เราก็ต้องเจรจาเพราะยาเป็นเรื่องสำคัญมันเกี่ยวกับชีวิตคนไทยทุกคน เราก็ต้องต่อรองเพื่อให้ทุกคนเข้าถึง อาจให้เขาส่งเสริมผลิตยาในไทย หรือการค้นคว้าวิจัย แม้กระทั่งการที่เราจะเป็นเศรษฐกิจดิจิดอล เป็น 4.0 เรื่องพลังงานทดแทน อวกาศ วิทยาศาสตร์ เราจะต้องถามว่าจะส่งเสริมกันได้อย่างไรบ้าง

ที่สำคัญเราไม่ได้ผูกปิ่นโตชีวิตกับอเมริกา การจะให้โลกยอมรับ อยู่ที่เราทำตัวอย่างไรมากกว่า

ผู้นำเราพูดจาเป็นกิจจะลักษณะขนาดไหน นโยบายเอาแน่นอนไม่โฉเฉได้ไหม โครงการต่างๆ เปิดประมูลแข่งขันอย่างเสรี มีความโปร่งใสหรือไม่ นี่คือส่วนสำคัญต่อการถูกยอมรับในเวทีโลก บ้านเมืองเราต้องสะอาด ปลอดภัย ประตูแรก สนามบิน ต้องสะดวกสบาย เราต้องสร้างมูลค่า-คุณค่าให้กับเรื่องเหล่านี้ ทุกวันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่าของเราดีไหม ข้าราชการเราก็ต้องซื่อสัตย์สุจริต หากทำได้ ทั้งโลกจะวิ่งมาหาเราเอง

เราต้องทำตนไม่เป็น “คนขอ” ต้องทำตัวให้มีศักดิ์ศรี เช่นเดียวกับเรื่องค้ามนุษย์ เราต้องทำเพราะ “เป็นเรื่องที่ต้องทำ” เพราะเรามีมนุษยธรรม ไม่ใช่ทำเพราะเขาจัดอันดับ

“กษิต” ทิ้งท้ายว่า ประเด็นการเลือกคบค้ากับจีนในหลายโครงการสำคัญก็เช่นกัน ทุกวันนี้ หอการค้าต่างชาติต่างๆ 30 กว่าชาติ เขาจับตาดูอยู่ เขาก็อยากมีส่วนในการแข่งขัน ไม่อยากเห็นการ “ผูกขาด” หรือมองว่าเราผูกปิ่นโตกับจีนแล้วไม่เปิดโอกาสให้คนอื่น เราต้องไม่เลือกปฏิบัติ คนมันถึงอดคิดไม่ได้ว่าโปร่งใสหรือไม่ มีนอกในหรือเปล่า เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดแจ้ง

ไทยจะเป็นอย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดคือ “บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ” กษิตมองว่า สิ่งที่กระทรวงต้องทำมากกว่านี้ คืออธิบายให้โลกเข้าใจสภาพสังคมเราให้ได้ ว่าเรามีปัญหาอะไรอยู่ เพราะที่ผ่านมาทั่วทั้งโลกไม่ได้เข้าใจนัก จะเป็นหรือไม่ประชาธิปไตยหรือจะครึ่งใบโลกต้องการรู้ ว่าเราจะเป็นอะไร ไม่ต้องอ้อมค้อม โลกต้องการความชัดเจน

และแน่นอน เป็นหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า “เราเป็นอะไร” และ “จะไปในทิศทางไหน”