บีอาร์ไอ ท่าเรือนั้นสำคัญไฉน?/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

บีอาร์ไอ ท่าเรือนั้นสำคัญไฉน?

 

ผมใช้เวลาและความอดทนอ่านและทำความเข้าใจข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีนนานพอดู และอ่านเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้เพื่อนร่วมงานช่วยอ่านงานภาษาจีนเรื่องนี้น่าจะถึง 1,000 ชิ้น เพื่อให้เข้าใจว่า บีอาร์ไอของจีนคืออะไรกันแน่ๆ

จนกระทั่งเพิ่งได้ข้อสรุปสำคัญว่า บีอาร์ไอเป็นการค้า การลงทุน การก่อสร้าง ความช่วยเหลือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมของจีนกับประเทศไหน และอันไหนไม่ใช่

เราต้องเริ่มต้นที่เอกสารทางการจีนก่อนเป็นอันดับแรก อันดับต่อมา ทางการจีนลงนามหรือทำข้อตกลงบีอาร์ไอกับประเทศไหน ประเทศไหนเป็นสมาชิกอันมีผลผูกพันการลงเงินให้กับธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank-AIIB บ้าง อันนี้น่าเป็นจุดเริ่มต้นบีอาร์ไอ

เมื่อชัดเจนว่า อะไรคือบีอาร์ไอแล้ว ควรรู้ด้วยว่า ความเชื่อมโยงหรือ connectivity ของบีอาร์ไอมีความเชื่อมโยงสำคัญ 3 เส้นทางคือ ทางภาคพื้นหรือทางบก (land) ทางภาคสมุทร (maritime) เส้นทางดิจิตอลสายไหม (Digital Silk Road-DSR) ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยผมจะเขียนถึงต่างหากในบทความต่อๆ ไป

มาถึงตรงนี้ บทความนี้ขอเริ่มต้นชี้ให้เห็นความสำคัญของเส้นทางที่เชื่อมต่ออย่างสำคัญของบีอาร์ไอ

เส้นทางและความเชื่อมโยง

จากงานศึกษาของ Council Foreign Relations ซึ่งสำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีนใช้ด้วยนั้น บีอาร์ไอมีทั้งแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม เส้นทางสายไหมทางทะเล และดูเหมือนเน้นระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานด้วย รวมๆ แล้ว บีอาร์ไอครอบคลุมทวีป 5 ทวีป 152 ประเทศ (เมื่อดูจากข้อตกลงที่ลงนามระหว่างกัน 172 ประเทศ อ้างพฤศจิกายน 2564)1 เชื่อมโยงเมืองสำคัญทางบกของเอเชีย เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง ยุโรป ที่สำคัญเชื่อมเส้นทางทะเล มหาสมุทร แปซิฟิก แอตแลนติก อินเดีย

ที่คนไม่ค่อยกล่าวถึงแต่สำคัญมากคือ มหาสมุทรแปซิฟิกใต้อันเป็นประเทศหมู่เกาะจำนวนมากที่ยากจน แต่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์การทหารและเศรษฐกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและเข้าโครงการบีอาร์ไอ รวมทั้งทวีปแอฟริกาด้วย

ดูเหมือนว่า James McBride and Julia Ro ผู้เขียนและใช้แผนที่นี้อ้างอิง ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China Pakistan Economic Corridor-CPEC) ราวกับเป็นต้นแบบและความสำเร็จ

ส่วนที่บีอาร์ไอสัมพันธ์โดยตรงกับไทยคือ บีอาร์ไอเชื่อมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีกรอบความร่วมมือก่อนบีอาร์ไอ หรือบีอาร์ไอควบรวมทีหลังได้แก่ ระเบียบเศรษฐกิจจีน อินโดจีน (China Indochina Economic Corridor) ระเบียบเศรษฐกิจจีน เมียนมา (China Myanmar Economic Corridor-CMEC)

ที่น่าสนใจคือ โครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-สปป.ลาว (China-Laos hi Speed train) เป็นบีอาร์ไอเชื่อมตรงและสำเร็จแล้ว เปิดเดินรถไฟ 2 ธันวาคม 2564

แต่รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน (Thai China hi Speed train) มีความคืบหน้าน้อย รถไฟความเร็วสูงเชื่อมจาการ์ตา-บันดุง อินโดนีเซียยังไม่เสร็จ เส้นทางรถไฟสายตะวันออก (East Coast railway) และท่าเรือน้ำลึกมะละกา (Malaka Gate way) มาเลเซีย รัฐบาลมาเลเซียยกเลิก ส่วนรถไฟลอยฟ้านครฮานอยเพิ่งสร้างเสร็จ เปลี่ยนจากการลงทุนของจีนซึ่งล่าช้าเป็นการลงทุนของญี่ปุ่น

หมายความว่า บีอาร์ไอโดยรวมในอุษาคเนย์ยังไม่สำเร็จ มีเพียงรถไฟความเร็วสูง จีน-สปป.ลาวที่สร้างเสร็จ ใช้ขนถ่ายสินค้าและเป็นบีอาร์ไอทางพื้นดิน ในขณะที่โครงการท่าเรือน้ำลึกดาราสาคร จังหวัดเกาะกงกัมพูชา เป็นบีอาร์ไอมหาสมุทรอันเดียวกำลังก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้อยากเสนอว่า ท่าเรือและบีอาร์ไอเส้นทางสายไหมทางทะเลน่าจะมีความสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุดังนี้

 

บีอาร์ไอกับความสำคัญของท่าเรือ

จากรายงาน Ambitious Harbors2 ในความจริง บีอาร์ไอกลับให้ความสนใจท่าเรือ ท่าเรือสำคัญมากกว่าคือมีมากถึง 14 แห่ง ใช้ขนถ่ายสินค้าปริมาณมาก ประหยัดและเชื่อมโยงทุกทวีป

ลักษณะสำคัญของท่าเรือและเส้นทางสายไหมทางทะเล

ท่าเรือที่จีนลงทุนและก่อสร้าง มีการใช้ยุทธศาสตร์ เป็นโครงการที่ประกอบด้วยโครงการท่าเรือ-สวนสาธารณะ-เมือง (Ports-Parks-Cities Project-PPC พร้อมกันไป และทั้ง 14 ท่าเรือมีโมเดล Dual-Use คือ ใช้ด้านการพาณิชย์และทางการทหารได้พร้อมกัน

ระยะเวลาที่จีนเช่านานกี่ปี น่าสนใจ

ท่าเรือน้ำลึกดาราสาคร เกาะกงของกัมพูชา ระยะเวลาเช่านาน 99 ปี จีนเป็นเจ้าของทั้ง 100%

ท่าเรือน้ำลึก Malaka Gateway ที่มาเลเซีย จีนเช่านาน 99 จีนเป็นเจ้าของ 49%

Dawin Port ของออสเตรเลีย เช่านาน 99 ปี จีนเป็นเจ้าของ 80%

ท่าเรือน้ำลึก Hambantota Port ของศรีลังกา เช่านาน 99 ปี จีนมีสัดส่วนเป็นเจ้าของโครงการ 70%

ท่าเรือสำคัญอื่นๆ

Kuantan Port ของมาเลเซีย ระยะเวลาเช่า 30 ปี จีนเป็นเจ้าของโครงการสัดส่วน 40%

ท่าเรือ Port of Tanjun, Pilok, Port of Muara ของอินโดนีเซีย จีนมีสัดส่วนเป็นเจ้าของโครงการ 51%

ที่เรือน้ำลึก Kyaukpyu Deep Sea Port ท่าเรือน้ำลึกที่เมียนมาสู่มหาสมุทรอินเดีย จีนเป็นเจ้าของโครงการ 70%

ท่าเรือ Port of Chittagong, Port of Payta ที่บังกลาเทศ

ท่าเรือ Colombo Harbor ที่ศรีลังกา ระยะเวลาเช่า 35 ปี เป็นเจ้าของโครงการ 80%

ท่าเรือ Port of Gwadar ที่ปากีสถาน ระยะเวลาเช่า 40 ปี แต่เป็นฐานทัพเรือด้วย

ท่าเรือ Doraleh Multipurpose Port ทางการจีนเป็นเจ้าของโครงการ 23% แต่เป็นฐานทัพเรือด้วย

 

วิเคราะห์ความหมายของท่าเรือ

ท่าเรือจากอ่าวเปอร์เชีย ตะวันออกกลาง ท่าเรือในศรีลังกาและปากีสถาน มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีส่วนเชื่อมต่อกับท่าเรือในทวีปแอฟริกาเหนือด้วย ท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิว ทางใต้ของเมียนมาส่วนที่ติดอยู่กับมหาสมุทรอินเดีย สู่มหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านช่องแคบมะละกา อันโด่งดังและเป็นจุดอ่อนไหวต่อจีนด้านการขนส่งน้ำมันและพลังงานอื่นๆ จากตะวันออกกลางผ่านเข้ามหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านทะเลจีนใต้ อันอุดมไปด้วยข้อพิพาททางทะเล โดยเฉพาะที่มีกับจีน ด้วยเหตุนี้ ท่าเรือ เส้นทางขนส่งและประโยชน์ทางพลังงาน สินค้าและบริการ ยุทธศาสตร์ทางการทหารของท่าเรือจึงสำคัญต่อจีนมากๆ

หากดูข้อมูลสัญญาเช่า สัดส่วนการเป็นเจ้าของท่าเรือและสิ่งปลูกสร้าง อันนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงเงินกู้จากทางการจีน และหนี้สิน บางคนอาจไม่เข้าใจ ทำไมเช่านาน 99 ปี เวลาอันยาวนานย่อมก่อประโยชน์ต่างๆ นานาต่อจีน อันนี้ย่อมสอดคล้องกับการขยายเวลาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ ถนน เส้นทางรถไฟ สนามบิน นิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จีนลงทุนก่อสร้าง

ความล่าช้าใดๆ หาใช่ความไร้ประสิทธิภาพของฝ่ายจีน ตรงกันข้าม ยิ่งล่าช้า เท่ากับเป็นการยืดเวลาและยืดภาระหนี้สินและความผูกมัดจากฝ่ายจีนอีกด้วย

ที่กล่าวมา หาใช่บีอาร์ไอภาคพื้นดินไม่สำคัญและสาระไม่ซับซ้อน เปล่าเลย บีอาร์ไอซับซ้อนและสำคัญไม่ว่าบนบกหรือในน้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคู่กันไปคือ ขนาดเรือบรรทุก ราคาค่าขนส่ง ปริมาณ ประเภทของสินค้าที่ขนส่งทางทะเลย่อมถูก มีปริมาณมากและเป็นสินค้าสำคัญ เช่น น้ำมัน ที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์เหมาะสม การขนส่งทางน้ำย่อมดีกว่าทางบก

สิ่งควรดูควรคู่กัน บีอาร์ไอเขามีสูตรสำเร็จได้แก่ เมื่อมีท่าเรือ ย่อมมีสวน เขตเศรษฐกิจพิเศษ สมาร์ตซิตี้คู่กันไป หรือตามโมเดล Ports-Parks-Cities Project-PPC

น่าสนใจมาก ท่าเรือที่จีนสร้างใช้แบบ dual used ใช้ได้ทั้งการพาณิชย์และทางยุทธศาสตร์อีกด้วย

1สัมมนาบีอาร์ไอในสายตาสื่อไทย โครงการวิจัยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความเปลี่ยนแปลงภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจใหม่บีอาร์ไอ-อาเซียน จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส 26 พฤศจิกายน 2564

2″Ambitious Harbors”, Center for Asian Development Studies Innovation for Peace 2017