อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (2)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

อาจินต์กับ อ.สุมาลีและลูกชาย

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (2)

 

ครบ 7 รอบ

คืนแรกที่บ้านไม้บนไหล่เขา

ฉันนั่งรำลึกความหลังครั้งนี้อยู่ที่มุมระเบียงบ้านโรงสี มุมที่ได้รับลมจากทุกทิศ มันเป็นเวลาราวแปดโมงเช้า วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 เสียงเครื่องตัดหญ้าดังอยู่เป็นระยะๆ เสียงสับๆ โขลกๆ ดังมาจากในครัว มุมทแยงไกลสุดจากตรงนั้นของบ้าน หมาสีน้ำตาลขนหลังสีดำของบางแก้วพันธุ์ผสมสองตัวนอนหมอบอยู่คนละข้าง สายลมพลิ้วแผ่วเย็นสบายมาเรื่อยๆ

แดดสายสวยสว่าง ให้เงาดำสลับกับสีเขียวอ่อนบ้างแก่บ้างเป็นหย่อมๆ กวาดตามองใบไม้รอบตัว สีเขียวทุกเฉดเขียวปะปนกันอยู่ในทุกระดับสายตา ทุกรูปลักษณ์ของพุ่มไม้ เกินบรรยาย

ฉันไม่เคยเบื่อหน่ายกับภาพรอบตัวเช่นนี้ คำของเพื่อนนักอักษรศาสตร์คนหนึ่งแว่วดังขึ้นมา เขาว่า

…บ้านเล็กในป่าใหญ่มันเป็นหนังเรื่องหนึ่ง แต่นี่คือเรื่องจริงของเธอ อบอุ่นด้วยเรื่องราวของอดีต ที่แสนสุขในความเป็นจริงในปัจจุบัน…ฉันว่าเขาน่าจะเขียนเรื่องนี้ของฉันได้ดีกว่าฉันแน่นอน…

ที่ร้านอาหาร อ.สุมาลี

ยังมีอีก…

…บ้านเธอเหมือน Symphony ของสีเขียวในทุกระดับสายตาที่มองเห็น น่าจะมีคนสร้างสรรค์เสียงบรรยายให้สัมผัสได้ทั้ง 5 ผัสสะนะน้อย เขาต้องใช้เสียงระบายสีน่ะเธอ มีใครเก่งพอจะทำได้บ้าง กล้องเธอก็ดีมากจนแยกเฉดสีเขียวได้ ทำไมคนเราถึงทำทุกอย่างไม่ได้เหมือนกล้อง แต่รูปเธอทำได้เยอะเลย ไม่ต้องใช้สี แค่เก็บสีมาโชว์

…ฉันว่าเขาหวังไกลไปกว่าฉันมากมายเลย…

และความที่เขาเป็นคนชอบมอสส์ชอบไลเคน เขาตื่นเต้นมากเมื่อมาพบที่นี่สามสี่แปลง คราวนี้หน้าฝน ฉันเดินขึ้นไปบนภูเขาแล้วเห็นมอสส์บนแผ่นหินตามข้างทางเดินยาวเต็มพรืดไปเกือบตลอดทาง เลยส่งรูปไปให้ดู

…บางรูปที่เธอถ่าย เหมือน Painting มากกว่าภาพถ่าย หน้าฝนเธอก็เล่นภาพวาดของมอสส์บนผืนผ้าใบหินไปนะ มันออกมาหลายสี เขียวสวยทุกภาพเลย…

ฉันก็คิดเช่นนั้น ไม่คิดว่ามอสส์จะมีสีหลายเฉดเช่นนี้ ทั้งสวยงามและแปลกตาซุกซ่อนอยู่ข้างทางเดินป่าๆ

กลับมาเรื่องเล่าที่เราเพิ่งจะเริ่มต้นกันดีกว่า เรื่องเล่าว่าเรามาอยู่ที่นี่ทำไม อยู่อย่างไร และอื่นๆ ตามใจนึก

อาจินต์บนบ้านฉลอง

เมื่อแรกจะมาอยู่ที่นี่ ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องของความบังเอิญล้วนๆ

อาจินต์มีลูกศิษย์ในวงการวรรณกรรมมากมาย ศิษย์คนสุดท้ายมาพบเราที่บ้านตอนที่อาจินต์เลิกทำ ฟ้าเมืองไทยแล้ว ฉลอง เจยาคม เขาอ่านฟ้าเมืองไทย ตั้งแต่ยังอยู่ในผ้าเหลือง บวชตั้งแต่อายุ 10 ขวบ พอเป็นพระแล้วกลับสึกออกมา เรียนรามจนจบ เขียนหนังสือส่งให้อาจินต์มาบ้างแล้ว เมื่ออาจินต์ทำหนังสือฟ้ารายเดือน ก็เอาเรื่อง เด็กบ้านป่า ของเขาลงพิมพ์ และเมื่อเลิกฟ้าแล้วเขาก็เขียนหนังสือส่งที่อื่นต่อไป ส่งได้ลงที่สตรีสารของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ด้วย และขณะเดียวกันเขาก็เริ่มทำสำนักพิมพ์เอง

ในตอนนี้ฉลองก็ได้เข้ามาใกล้ชิดกับอาจินต์เรื่อยมา และฉันก็ให้เขาไปใช้ตึก Town House สามชั้นที่ซอยถัดบ้านเราไป ตึกนี้เมื่อใช้ทำฟ้ารายเดือน จนเลิกแล้วก็ว่างลง ได้แต่เก็บหนังสือไว้บ้าง ฉลองก็เลยได้เข้าไปอยู่และทำสำนักพิมพ์ได้เต็มที่พร้อมกับทีมงานสามสี่คน

และเขาก็เป็นลูกศิษย์ที่คอยดูแลอาจินต์ได้ดี ทั้งพาไปไหนมาไหนและดูแลช่วยเฝ้าไข้ยามป่วยในโรงพยาบาล

อาจินต์กับแน่งน้อย ริมทางรถไฟสายมรณะ

วันหนึ่ง ผ่านไปหลายปี เขาก็บอกว่าเขาจะย้ายไปอยู่ที่กาญจนบุรี มีที่จะทำอะไรได้ที่นั่น ส่วนสำนักพิมพ์ตอนหลังวิกฤตเศรษฐกิจหลังลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 แล้วก็ไม่ได้พิมพ์มากนัก ทำจากที่กาญจนบุรีเลยก็ได้

ฉลองไปอยู่ที่แก่งเสี้ยนแล้วก็กลับมาพาเราไปเที่ยวหลายหน เขาปลูกพวกมะละกอ กล้วย เต็มภูเขา มันก็เพลินดีในยามว่างสำหรับเรา

วันหนึ่งเขาว่า ผมจะปลูกบ้านสักห้องหนึ่งในที่ดินผม เอาไว้ให้อาจารย์สองคนมาพักผ่อน จะได้ไม่ต้องไปกลับทันทีเหนื่อยอย่างนี้

ฉันไม่ได้สนใจอะไรนักในตอนแรก

ต่อมาอีกพักใหญ่ เขาบอกว่ามีที่ดินที่ติดกับผมแปลงหนึ่งเขาจะขาย ผมว่าจะเอาไว้เผื่อปลูกบ้าน ให้อาจารย์ได้อยู่ติดกัน ฉันก็เดินดูไปดูมาแล้วก็บอกว่า ฉลองไม่ต้องปลูกให้หรอก ถ้าเรามาอยู่กัน ไปๆ มาๆ ก็จะมีคนตามมาหาอยู่ดี เราปลูกเองเลยดีกว่า…แค่นั้น

แต่มันเป็นแค่นั้นที่ไม่แค่นั้น มันกลายเป็นเรื่องราวมากมายก่ายกองตามมาไม่รู้จบจนถึงวันนี้

วิวมองหาจุดที่จะสร้างบ้าน

“เธอจะสร้างบ้านกี่สิบหลัง?” อาจินต์ถามวันหนึ่งที่เห็นฉันเขียนผังบ้านแล้วฉีก เขียนแล้วฉีก นับหนไม่ถ้วน ฉันได้แต่ยิ้ม อาจินต์เป็นเช่นนี้แหละ ทำอะไรต้องครั้งเดียวเสร็จ เมื่อตอนซ่อมบ้านที่กรุงเทพฯ ก็เหมือนกัน ฉันไปดูกระเบื้องวันหนึ่ง อาจินต์ถามว่าก็ไปดูมาแล้วไม่ใช่รึ ก็ใช่ แต่มันยังใช้ไม่ได้ ดูทีเดียวต้องซื้อได้เลยในทัศนคติของอาจินต์

คนไม่เคยสร้างบ้านปรึกษาคนที่รู้งูๆ ปลาๆ อย่างฉลอง มันก็มีเรื่องต้องพูดคุยกันมากหน่อยปรึกษาหารือกันทางโทรศัพท์

ตกลงกันว่าจะเริ่มลงมือต้นปีหน้า 2554 โดยที่ฉันต้องการปลูกบ้านไม้ ไม่ต้องใหญ่หรือดิบดีมาก เอาแบบบ้านๆ ฉลองหาบ้านไม้เก่าหลังหนึ่งซึ่งเคยเป็นบ้านพักวิศวกรในเหมืองแร่แห่งหนึ่งซึ่งร้างแล้ว กาญจนบุรีมีเหมืองร้างหลายแห่ง ฉันก็ให้วัดความกว้างยาวของบ้านไม้ ของห้องต่างๆ เพื่อเอามาวางแบบให้พอดีกับความกว้างยาวของไม้ที่มี

เรื่องพื้นที่ปลูกก็ต้องคุยกันเยอะ จะปลูกตรงที่ราบๆ หน่อยด้านล่างดีหรือตรงที่สูง ซึ่งเทลาดดี ฉันว่าใกล้ภูเขาเกินไปไม่น่าจะดี เขาว่าไม่เป็นไรไฟป่ามาเราก็ทำทางไฟไว้ ข้างบนมันสวยกว่า เห็นวิวกว้างไกล แล้วปลูกตรงไหล่เขาทางมันลาดลงก็ไม่เป็นไรอีก ปรับดินเอารถไถเกลี่ยลงมาบดให้เป็นพื้นราบส่วนล่าง ส่วนบน (ต.อ.) วางบนดินเลย ส่วนล่าง (ต.ต.) ก็ต้องตั้งเสาสูงตามระดับด้านบนคือจะสูงกว่ากันราว 2 เมตร ก็ดีเหมือนกัน 2 เมตรพอจะทำเป็นห้องเก็บของหรือห้องใช้งานเด็กได้สักห้อง

ฉลองยืนตรงจุดที่จะสร้างบ้าน

ปลายปี 2553 ฉันก็เลยขะมักเขม้นออกแบบบ้านจนอาจินต์ถามว่าจะสร้างบ้านกี่หลังนั่นแหละ แต่รู้สึกว่าแบบที่ฉันฉีกทิ้งจะมากกว่าสิบแผ่นด้วยนะ แม้ฉันสร้างหลังเดียวก็ตาม สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ทิศทางลม ถ้าสร้างบ้านกลางป่าบนเขาแต่ลมไม่เข้าบ้านมันก็เสียหมดเลย

ระเบียงก็สำคัญ มาอยู่แบบนี้ไม่มีระเบียงรับลมรับแดดก็เสียของหมด สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี (ผู้เคยเป็นเจ้าพ่อ Man Group ซึ่งบุกเบิกหนังสือ Play Boy บ้านเราและตอนหลังได้ลิขสิทธิ์หนังสือแนวคอมพิวเตอร์มาสู่ตลาดหนังสือไทยอยู่ระยะหนึ่ง) น้องชายชาวค่ายจากคณะอักษรศาสตร์ผู้มีประสบการณ์ในการทำบ้านทำสวน ที่ไทรโยค ให้คำปรึกษาหลายอย่าง…ระเบียงสำคัญนะครับ พี่จะได้ใช้มันมากกว่าบ้านทั้งหมดเลย…เขาว่า

แล้วแบบบ้านหลังเดียวที่ใช้กระดาษเป็นเล่มก็เสร็จจนได้ เสร็จสมบูรณ์ใช้งานได้ทุกวัตถุประสงค์ เป็นอย่างดีแบบบ้านๆ แต่มันไม่ใช่บ้านหลังเล็กๆ แล้ว อิ๊ด-ชมัยภร แสงกระจ่าง มาเห็นแล้วตกใจ …พี่น้อย นี่นะบ้านหลังเล็กๆ หลังคาจากฝาเสื่อลำแพน!!

ก็มันกลายเป็นบ้านชั้นครึ่ง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นบนตอนหน้ามีห้องนอนห้องน้ำและห้องนอนเล็ก ถัดมาเป็นห้องโถง ห้องกินข้าวและครัว ตอนหลังเป็นห้องอเนกประสงค์ กับห้องน้ำอีกห้อง ตอนหน้าเป็นไม้ ตรงครัวและห้องอเนกประสงค์กับห้องน้ำอีกห้องเป็นคอนกรีต ข้างล่างส่วนหลังพื้นดินสูงติดกับพื้นชั้นบน ส่วนหน้าเป็นห้องนอนสูง 2 เมตรห้องหนึ่ง และห้องเก็บของ ที่เหลือเป็นโถงและโรงรถ

ข้างล่างทั้งหมดเป็นคอนกรีต

วิวที่ดินแปลงติดกันทิศเหนือ

ฉลองปลุกปล้ำกับช่างทำบ้านหลังนี้จนเหมือนจะเป็นโรคประสาท เปลี่ยนช่างหลายชุด ในที่สุดก็ได้ใช้งานตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จดี

ฉลองเขาตั้งใจจะฉลองวันเกิดอาจินต์ที่นี่ วันเกิด 11 ตุลาคม 2554 ครบ 7 รอบ ก็ไม่ได้จัดงานอะไรหรอก มีเพียงลูกศิษย์ลูกหาชุดหลังๆ ที่ยังคงไปมาหาสู่กันชวนกันมาเอง บ้านนี้ยังไม่เสร็จดี ประตูหลังยังไม่ได้ติดเลย พื้นฝาขัดไม่ครบ ฝาผนังก็ยังต้องล้างและทาน้ำยาใหม่ แต่ก็อยู่ได้ ฉลองบอกว่าเรากลับแล้วเขาทำต่อก็ได้

คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดหาจะพาคนมาก็เกิดน้ำจะท่วมบ้าน แถวดอนเมืองน้ำจะมาก เลยต้องเตรียมตัวจัดบ้านขนย้ายข้าวของ อีกหลายคนก็มีสภาพไม่ต่างกัน เราก็ว่าอย่ามาเลยเมื่อไหร่มาก็ได้ ส่วนอาจินต์นั้นไม่สนใจใครจะไปจะมาไม่รับรู้ ขออย่าให้น้ำท่วมบ้านเสียหายก็แล้วกัน

วันครบ 84 ปีอาจินต์ก็เลยผ่านไปแบบอบอุ่นจริงๆ ด้วยคนใกล้ตัวไม่กี่คน ทุกคนแยกย้ายกันเมื่อดึกพอสมควร ยังมีแต่สองคนหัวแข็งที่ถามตอบกันดึกดื่นเรื่องหนัง เพลง หนังสือ นั่นก็คือ สุทัศน์ คนที่แนะนำให้ทำระเบียงเยอะๆ กับ วรพจน์ ประพนธ์พันธุ์ คนที่อาจินต์เรียกว่า “ตั้วเฮีย” ของผับคนแก่ Old Leng ที่ RCA เขาเป็นคน “อุ้ม” อาจินต์จากบ้านสุทธิสารไปนั่งเป็นศาลพระภูมิให้พรรคพวกยกมือไหว้แล้วต่างไปนั่งกินเหล้า-คุยกันเอง ที่ร้านของเขาในวันเกิดของอาจินต์ติดต่อกันมาไม่รู้กี่ปีแล้ว

รุ่งขึ้นก็แยกย้าย รวมทั้งเราด้วย

วิวถัดจากแปลงแรกลงทางทิศตะวันตก

กลับกรุงเทพฯ ก็ได้ยินแต่พยากรณ์อากาศว่าปีนี้ เดือนนี้ น้ำจะท่วมกรุงเทพฯหนักต่อเนื่องอีกทุกวัน ใครๆ ก็พากันอพยพออกจากกรุงเทพฯ ไปเรื่อยๆ แล้วพื้นที่สุทธิสารบริเวณบ้านเรานั้นกรมอุตุฯ บอกว่าถ้าท่วมจะท่วมเกือบ 2 เมตร คำนวณตามความสูงแล้วคงขึ้นบ้านเราเกือบเมตรแน่ๆ ถ้าเขาไม่กักน้ำไว้ด้านนอกกรุงเทพฯ มาก

“ถ้าน้ำท่วมบ้าน จะทำยังไงกับลุง” ยัยกบ แม่บ้านคู่บุญลุงตั้งคำถาม

ลุงตอนนี้ก็ไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว เดินเหินไม่สะดวก หัวเข่าไม่ค่อยมีแรง หกล้มง่าย ใช้ไม้เท้าแล้วจะเดินในน้ำยังไง

ฟังยัยกบแล้วลุงก็เงียบ ฉันก็เงียบ

“กบไม่เป็นไร พี่น้อยก็ไม่เป็นไร แล้วลุงล่ะ”

มันก็จริงนั่นแหละ ลุงเดินเฉยๆ ก็จะล้มเองแล้ว แล้วถ้าพื้นบ้านแช่น้ำ…

“ทำไมไม่พาลุงไปแก่งเสี้ยน กบเฝ้าบ้านได้”

เปิด notebook หาของเล่น
บ้านถ่ายจากมุมล่างด้านหน้า
บ้านถ่ายจากมุมหลัง
อาจินต์ชอบถ่ายรูป ไม่เคยปฏิเสธ ถ้ารู้ตัวก่อนจะยกมือชูสูงบ้าง โบกมือให้กล้องบ้าง
พระอาทิตย์ตกรูปแรกสุดประทับใจ
นั่งเล่นวิทยุ อ่านหนังสือที่ระเบียงหน้าบ้าน