สะเทือนรั้วจามจุรี หนุน-ต้าน ดังกระหึ่ม นิสิตสามย่านรุ่นใหม่ ร่วมใจโหวตล้ม ขบวนแบกพระเกี้ยวเข้างานบอล/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

สะเทือนรั้วจามจุรี หนุน-ต้าน ดังกระหึ่ม

นิสิตสามย่านรุ่นใหม่

ร่วมใจโหวตล้ม

ขบวนแบกพระเกี้ยวเข้างานบอล

 

ถกเถียงกันหนัก กรณีองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ หรือ อบจ.จุฬาฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งของนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย ลงมติเอกฉันท์ 29 ต่อ 0 ให้ยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว

อบจ.จุฬาฯ ให้เหตุผลในแถลงการณ์ว่า กระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ผลิตซ้ำธรรมเนียมที่สะท้อนความไม่เท่าเทียม รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อันเชิญ ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความกังขาถึงความโปร่งใส สนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่ง โดยรวมค่านิยมดังกล่าวไม่สอดคล้องกับยุคสมัยจึงมีมติให้ยกเลิก

ความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เริ่มจากชมรมเชียร์และแปรอักษร จุฬาฯ 1 ในองค์กรขับเคลื่อนสำคัญ ประกาศสนับสนุน ระบุว่า การยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้น ไม่เป็นการทำให้สัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาฯ ถูกลดทอนคุณค่า แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดรูปแบบของขบวนในงานฟุตบอลประเพณีครั้งต่อไปให้เท่าทันตามยุคสมัย

ตามด้วยฟากสภานิสิตจุฬาฯ องค์กรฝั่งนิติบัญญัติ ออกมาตอกย้ำ สภานิสิตฯ เป็นองค์กรที่สนับสนุนการเลิกกิจกรรมดังกล่าวมานานแล้วหลายปี ในปี 2560-2561-2562 เคยมีมติระงับโครงการมาแล้ว

จะเห็นว่า แนวคิดการยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่นิสิตจุฬาฯ ต่อสู้กันภายในอย่างต่อเนื่อง แต่มามีผลทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในปี 2564 นี่เอง

 

ที่หนักจริงคือฝั่งของศิษย์เก่า เริ่มจากชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาโพสต์ข้อความ รวมถึงให้สัมภาษณ์ตำหนิ อบจ.จุฬาฯ โดยมองว่าไม่มีอำนาจตัดสินแทนคนทั้งมหาวิทยาลัย แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการด้อยค่าพระเกี้ยว พร้อมยกตัวอย่างว่าสมัยตนเองมีแต่คนแย่งกันแบกเสลี่ยง

“การที่นิสิตปัจจุบันจะทำอะไร ก็อยากให้คิดถึงศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ และความภาคภูมิใจของเราที่ได้สั่งสมกันมา” ชัยวุฒิระบุ

ตามด้วยสุรพล วิรุฬห์รักษ์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา เขียนบทความโต้แถลงการณ์ของ อบจ.จุฬาฯ ตีความตอบโต้ว่า “พระเกี้ยว” ไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอำนาจเก่า การกดขี่ และความไม่เท่าเทียม แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคและเสรีภาพของคนไทย พร้อมยกตัวอย่างว่ารัชกาลที่ 5 ทรงให้เลิกหมอบคลาน ทรงนิยมเสด็จประพาสต้นแบบสามัญชน พบปะพูดจาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับราษฎรใกล้ไกล แม้เสด็จไปขึ้นรถรางแล้วถูกนายตั๋วไล่ลงเพราะไม่มีเงินค่าโดยสาร ก็เสด็จลงแต่โดยดี พฤติกรรมเหล่านี้คือจิตวิญญาณของมนุษย์ผู้มีความเท่าเทียม

รวมถึงวัฒนา เมืองสุข อดีตแกนนำเพื่อไทยปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคไทยสร้างชาติ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ก็ออกมาโพสต์ตอบโต้ อบจ.จุฬาฯ ทำนองว่าพระเกี้ยวไม่ใช่สมบัติของสโมสรนิสิตจุฬาฯ งานฟุตบอลประเพณีเป็นเรื่องของสมาคมศิษย์เก่า อบจ.จุฬาฯ เป็นแค่คณะทำงาน

รุ่นใหญ่อย่างบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มือยกร่างรัฐธรรมนูญ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ออกมาเขียนบทความยาวเหยียด พุ่งเป้าไปที่เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายก อบจ.จุฬาฯ พาดพิงไปถึงอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ โดยยกเรื่องประเภทของระบอบการปกครอง ราชาปราชญ์ (Philosopher King) ของอริสโตเติล สอนมวยเนติวิทย์ ทั้งยังยกหลัก division of labour มาตอบโต้ ยืนยันเรื่องคนแบกเสลี่ยงก็เป็นแค่การทำงาน ไม่เกี่ยวตอกย้ำความเสมอภาค

“ต่อไปถ้าเธอจะอ้างหลักใดๆ โปรดอย่าใช้แต่ความรู้สึก แต่จงใช้ความรู้แทนนะ จะได้ไม่ตื้นเขินเกินบรรยายอีก” บวรศักดิ์ระบุ

เช่นเดียวกับวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนดัง ศิษย์เก่าสถาปัตย์ ที่ระบุว่า พระเกี้ยวไม่ใช่และไม่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค ตรงกันข้าม มันเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าคนฐานะใดก็ได้เล่าเรียนเท่ากัน

แม้แต่เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ก็ยืนยันในเรื่องนี้ว่า การอัญเชิญพระเกี้ยวนั้นไม่เกี่ยวกับการยกว่าใครเหนือกว่าใคร ไม่ใช่สัญลักษณ์ชนชั้น

เจษฎามองว่ามันเป็นปัญหาเชิงเทคนิคของงานบอลที่สะสมมานานมากกว่า ต้องไปแก้ที่กระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว อย่าเน้นหน้าตา-ฐานะ-สายสัมพันธ์ เสลี่ยงที่ใช้อัญเชิญพระเกี้ยว ก็ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่อลังการ

รวมถึงทบทวนเรื่องการบังคับนิสิตหอพักมาทำกิจกรรม

ปิดท้ายแบบฮาร์ดคอร์หน่อย ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์โฉนด พระราชทานที่ดิน 700 ไร่ ตั้งจุฬาฯ พร้อมเรียกร้องให้จุฬาฯ ต้องทำหน้าที่ปกป้องชาติบ้านเมืองและสถาบันให้เป็นรูปธรรมกว่านี้

อุณหภูมิของดราม่าเรื่องนี้ร้อนขึ้นไปอีก 2 วันหลังประกาศ อบจ.จุฬาฯ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ออกมาประกาศเลื่อนการจัดงานบอลปีนี้ ย้ำชัดเจน จะสืบสานผลักดันให้มีการอัญเชิญพระเกี้ยวในปีต่อๆ ไป

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ทางศิษย์เก่าไม่สนใจความเห็นของนิสิตปัจจุบันนั่นเอง

 

มากันที่ความเห็นฝ่ายหนุน เริ่มจากบรรยง พงษ์พานิช ศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นักการเงินการธนาคารที่สังคมไทยรู้จักกันดี ประกาศขอหนุนมติของ อบจ.จุฬาฯ มองว่ามันเป็นมติหน่วยงานที่มาจากการเลือกตั้งของคนทั้งจุฬาฯ ก็เป็นปกติตามวิถีประชาธิปไตย พร้อมระบุว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา เราเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาสู่ 4.0 ขณะที่อ้างตัวเป็นสถาบันหลัก แต่จะขอหยุดอยู่ที่ 2.0 ย่อมไม่เป็นตัวอย่างที่ดี

หรือจะเป็นพัทธจิต ตั้งสินมั่นคง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ ที่ออกตัวในฐานะเคยเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ขอชวนให้มองถึงคุณค่าและความหมายของมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบัน ว่าควรจะเป็นพื้นที่ให้ทดลองไอเดียต่างๆ การยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวก็เป็นสิ่งหนึ่ง ที่ควรให้นิสิตได้เรียนรู้และทดลอง อย่าไปบอบบาง มองถึงเรื่องการด้อยค่าสถาบันอะไร

ตามด้วยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ศิษย์เก่าของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ที่เรียกร้องให้เคารพความเห็นของนิสิตจุฬาฯ ส่วนใหญ่ โดยชี้ว่า 3 องค์กรนิสิตเห็นตรงกันแล้ว ขบวนแบกพระเกี้ยวเป็นวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยประชาธิปไตยสากล จึงต้องถูกยกเลิกตามเวลาสมัยใหม่

เช่นเดียวกับวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ศิษย์เก่าวิศวะ ออกมาพูดในฐานะคนเคยแบกเสลี่ยง ระบุว่า การอัญเชิญพระเกี้ยวก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในฐานะของคนที่เคยแบกเสลี่ยง คิดว่าการวิวัฒน์ทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องปกติ พร้อมแนบภาพการอัญเชิญพระเกี้ยวในปี 2531 ที่ใช้รถยนต์

รุ่นใหญ่อย่างชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ ก็ออกมาให้ความเห็น ระบุว่า การแห่อัญเชิญพระเกี้ยวเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2507 ถือได้ว่าเป็นประเพณีใหม่ (An invented tradition) ถ้านับจากเกิดบอลประเพณีเมื่อปี 2477 ก็ใช้เวลาตั้ง 30 ปี ถึงได้เกิดประเพณีใหม่นี้

“ผมเรียน มธ. ปี 2503-2506 (เป็นคนบ้าบอล) ผมไม่เคยเห็นการเชิญพระเกี้ยวครับ และดังนั้น ที่อ้างกันนักหนาว่า-นี่-นั่น-โน่น แสนจะโบราณก็เพิ่งประดิษฐ์ในยุคสายลมและแสงแดดนี่เอง” ชาญวิทย์ระบุ

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเองก็ออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารจัดวางความสัมพันธ์กับนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันกับศิษย์เก่าให้ดี พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เตือนว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในไทยมีปัญหาศิษย์เก่าที่มีอำนาจในราชการและธุรกิจ สร้างระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ เกิดความเกรงใจ จนมหาวิทยาลัยขาดความเป็นอิสระ ปล่อยให้กดดันกิจการภายในมากเกินไป เอาเข้าจริง ศิษย์เก่าเหล่านี้บริจาคเงินหรือทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัยที่จบมาน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่บริจาคเงินกันมหาศาล แต่มหาวิทยาลัยต่างประเทศกลับรักษาตัวตนได้ดีกว่า

อีกคนที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กอย่างน่าคิดคือ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการด้านกฎหมาย จากจุฬาฯ ระบุว่า “ถ้าทหารสั่งเลิกขบวนล้อการเมืองได้ ทำไมนิสิตจะขอเลิกแห่พระเกี้ยวไม่ได้”

ปิดท้ายด้วย ส.ศิวรักษ์ นักคิดอาวุโส ที่ออกมาระบุว่า เมื่อการแบกเสลี่ยงนั้นหนัก และนิสิตเขาไม่พอใจ ก็ควรที่จะเปลี่ยนได้ ผมไม่เข้าใจที่ผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาโจมตีเด็กกันมากมาย หรือรังแกคนรุ่นใหม่จนเกินเลยไป ไม่เป็นสุภาพบุรุษ ไม่มีใจเป็นธรรมพอ อยากฝากคำพูดไว้ให้ตรึกตรองกันดู เรื่องเล็กจะได้ไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่

 

หลังเกิดการถกเถียงมา 4 วัน จนลุกลาม เมื่อสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศจะดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริง นิสิตของจุฬาฯ กระทำการลักษณะที่ไม่เหมาะสม กระทบกระเทือนต่อบุคคลที่เป็นที่เคารพเทิดทูนสักการะของผู้อื่น อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อคุณธรรม นี่อาจเป็นการไล่เช็กบิลหรือไม่?

ส่วนฝั่งองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ ประกาศขอชาวประชาคมธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความเห็น ว่าจะเอายังไงกับงานฟุตบอลประเพณี ควรมีต่อหรือพอแค่นี้!

นี่คือแรงสะเทือนในรั้วจามจุรี ที่มีทั้งหนุน-ต้าน ดังกระหึ่ม