‘สดศรี สัตยธรรม’ ฟันธง หากยังมี รธน.ปี “60 – ปี “61ต้องเลือกตั้ง (เว้นแต่รัฐประหารฉีกกฎหมายอีก)

สดศรี สัตยธรรม ฟันธง หากยังมี รธน.ปี “60 – ปี “61ต้องเลือกตั้ง (เว้นแต่รัฐประหารฉีกกฎหมายอีก) สอนมวย กกต.รุ่นน้อง ควรล้างมือในอ่างทองคำ

ไทม์ไลน์เลือกตั้ง 19 สิงหาคม 2561 เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดนี้ ที่ทิ้งไว้ก่อนต้องนับถอยหลังสถานะตัวเอง จาก “ปัจจุบัน” กลายเป็น “อดีต” อันเป็นผลมาจากการเซ็ตซีโร่ ที่จะทำให้ กกต. ทั้ง 5 คน ต้องถูกโละทิ้ง

สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน ในฐานะ “รุ่นพี่” ที่หมดหน้าที่ไปแล้ว แต่ยังเฝ้าดูการทำงานของ กกต. และความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมือง มองกรณีนี้ว่าการที่ กกต.ชุดนี้กำหนดวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ขึ้นมา คงเป็นการวางกรอบสอดคล้องกับข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นไปตามมาตรา 268 ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับแต่กฎหมายลูก 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ (กฎหมายลูก 4 ฉบับ กฎหมายว่าด้วย กกต., เลือกตั้ง ส.ส., เลือกตั้ง ส.ว., กฎหมายพรรคการเมือง)

ซึ่งคิดว่า กกต. พูดตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งกฎหมายลูกจะต้องเสร็จภายใน 240 วัน (มาตรา 267) นับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (6 เมษายน) และต้องส่ง สนช. พิจารณา 60 วัน ตามไทม์ไลน์นี้ต้องมีเลือกตั้งประมาณช่วงกลางปีหน้า

แต่การกำหนดวันเลือกตั้ง มองว่าควรเป็นเรื่อง กกต.ชุดใหม่มากกว่า

เพราะ กกต.ชุดนี้ พูดได้ว่าถูกเซ็ตซีโร่ไปแล้ว ฉะนั้น ภาระหน้าที่ต้องทำเสมือนรักษาการ จึงมองว่าการกำหนดกรอบระยะเวลาเลือกตั้งควรให้ กกต.ชุดหน้าเป็นผู้พูด เป็นมารยาทที่เหมาะสม ที่ต้องรู้หน้าที่ใครหน้าที่มัน เขาบอกว่าให้ยุติก็ต้องยุติตามที่สภาลงมติ

อดีต กกต.สดศรีมองอีกว่า “การล้างมือในอ่างทองคำ” เป็นเรื่องที่สำคัญ วันหนึ่งเราก็ต้องกลายเป็นอดีต และ กกต. ไม่ใช่ตำแหน่งที่น่าชื่นชมหวงแหนอะไร ตนเองผ่านมา 7 ปีรู้ดีว่าเหนื่อยมาก ภาระหน้าที่ก็เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องจากทุกฝ่ายตลอดเวลา เพราะจะทำอะไรไม่เป็นที่พอใจของหลายๆ ฝ่าย

สิ่งที่ กกต.ชุดนี้ควรจะทำคือการให้คำแนะนำชุดใหม่ บทบาทเสมือนเป็นพี่เลี้ยงอย่างนี้ทำได้

ส่วนที่หลายคนมองว่าการวางวันที่ 19 สิงหาคม 2561 เสมือนมัดมือให้รัฐบาลทำนั้น สดศรีมองว่า ยังไงก็ต้องจัดเลือกตั้ง ณ ช่วงนั้น และ กกต. มัดอะไรใครไม่ได้ ท่านหมดหน้าที่แล้วก็เป็นอดีต การทำงานในขณะนี้ทำได้แค่งานรูทีนเรื่องทั่วๆ ไป การวางระบบและการเลือกตั้งใหญ่ขนาดนั้นต้องปล่อยให้ชุดใหม่ทำ

การที่พยายามทำเช่นนี้ เสมือนการสื่อให้รู้ให้เห็นว่ายังมีบทบาทสำคัญอยู่ ทั้งที่จริงๆ ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ ต้องให้ กกต. 9 ท่านชุดหน้ามาวาง

ขณะเดียวกันก็มองการเคลื่อนไหวของ กกต.ชุดนี้ที่สร้างเซอร์ไพรส์และมีความเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมาอยู่ตลอดนั้น สดศรีมองว่า เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ที่คิดว่าตัวเองยังทำงานต่อได้ ต้องหาทางไปให้ได้ถึงที่สุด แต่อยากจะบอกว่ามันยากที่อยากจะอยู่ต่อ มันเลยมาไกลกว่าที่จะกลับไปคิดจุดนั้น ต้องอย่าทำให้ดูเหมือนว่าจะยังไม่เลิกรา ถ้าเปรียบกับตัวเองก็คงเหมือนคนไม่อยากออกจากงาน ต้องสู้ให้ถึงที่สุด แต่ในเมื่อกฎหมายเขียนไว้ถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ต้องกระวนกระวายหรือเสียดายอะไร โดยขอย้ำว่าการล้างมือในอ่างทองคำจะดีกว่า

“เพราะถ้าหากตนเองเป็นกรรมการชุดนี้จะรู้สึกดีใจมากที่จะได้พักแล้ว เพราะว่ายิ่งอยู่ต่อไป ยิ่งเสี่ยงถูกฟ้อง เพราะเท่าที่ดูกฎหมายลูกจะทำให้ภาระ กกต. เหนื่อยมากขึ้น ถ้ายังอยู่งานจะหนักหนามากๆ อีกทั้งความหนักแน่นในเรื่อง “การครองตน” เป็นเรื่องสำคัญด้วยในการทำหน้าที่ของชุดใหม่” อดีต กกต.สดศรีระบุ

ส่วน กกต.ชุดหน้านั้น กกต. รุ่นพี่บอกว่าคงจะพูดอะไรมากไม่ได้ แต่มองว่าต้องทบทวนบทบาทหลายอย่าง เพราะเท่าที่ดูเสมือนถูกลดบทบาทการเป็น กกต. ลง อย่างที่เห็นได้ชัดคือการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ท่านไม่ได้ทำหน้าที่แล้ว และเสี่ยงต่อความขัดแย้งdy[ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในท้องถิ่น และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องมากขึ้นแน่นอน และส่วนตัวยังไม่เห็นด้วย เลือกตั้งท้องถิ่นให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งไปดำเนินการ ในเมื่อ กกต. เป็นอิสระดำเนินการได้ อยากให้ทบทวนในเรื่องนี้

“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลดบทบาท กกต. ลงมาก และไม่น่าเป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง มีฝ่ายอื่นมาร่วมในการจัดการเลือกตั้ง อาจจะเกิดความขัดแย้งกันได้ น่าห่วงใย ฉะนั้น ต้องทบทวนให้ชัดว่าไม่ควรให้มีส่วนอื่นมาแทรกแซงภารกิจ กกต. เพราะมองไปข้างหน้าว่าถ้าปล่อยให้มีส่วนอื่น แล้วเกิดการจัดการล้มเหลว เช่น การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต. จะยิ่งถูกลดบทบาทลงไปอีก และจะถูกแก้กฎหมายให้บทบาทลดลงไปเรื่อยๆ อันนี้น่าเป็นห่วงในการที่ กกต. ต้องพยายามพยุงตัวอยู่ให้ได้” สดศรีกล่าว

อดีต กกต.สดศรีมองว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่ กกต. ในอดีตขาดมาตลอดคือเครื่องไม้เครื่องมือการจัดการในการสืบสวนสอบสวน เช่น การออกหมายจับที่ทำไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กกต. มีสิทธิกำหนดให้ออกหมายเรียกหมายจับได้ อีกเรื่องคือการยุบพรรค แต่เดิมให้อำนาจทางประธาน กกต. เท่านั้น กรรมการที่เหลือไม่มีสิทธิ ทั้งที่ภารกิจเหมือนกันเท่ากัน ก็ควรให้มีมติร่วมกันได้

และควรจะมีการกลั่นกรองจากศาลอีกทอดหนึ่ง

อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่แต่ละกูรูออกมาฟันธงไม่ตรงกันเลย นั่นคือ ตกลงแล้วปี 2561 จะเกิดการเลือกตั้งหรือไม่

อดีต กกต.สดศรีบอกว่า ตราบใดที่ยังมีรัฐธรรมนูญปี 2560 การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นแน่ในปี 2561 (ช่วงกลางปี) เว้นแต่เกิดอุบัติเหตุการเมือง เช่น เกิดรัฐประหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาตลอด ก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วการเลือกตั้งก็จะเขยิบตามไปอีก แต่ยังไงก็ขอฟันธงว่า ถ้ายังมีรัฐธรรมนูญปี 2560 อยู่ ปี 2561 ต้องมีเลือกตั้ง!

อีกเหตุผลคือไม่มีประโยชน์อันใดที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้มีองค์กรอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะมาคุมรัฐบาลอีกทีหนึ่ง ซึ่งถามว่าใครใหญ่กว่ากัน แน่นอนกรรมการยุทธศาสตร์ใหญ่กว่ารัฐบาลที่เข้ามาจากการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลนั้นจะเป็น “รัฐบาลเป็ดง่อย” ทำอะไรไม่ได้เลย จะดำเนินนโยบายอะไรต้องคอยถามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ที่มีนายทหารเข้าไปนั่งเต็มพิกัด เพราะฉะนั้น ทหารเป็นต่ออยู่ เขาจะเลื่อนเลือกตั้งไปเพื่ออะไร ยิ่งต้องจัดเลือกตั้งให้นานาชาติดูว่าเรามีการเลือกตั้งแล้ว และได้รัฐบาล (ที่มีคนควบคุมอยู่) ก็เท่านั้นเอง

และแน่นอนที่สุดพรรคการเมืองจะอยู่ได้ลำบากมาก หลังมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ถ้าเกิดมีไพรมารีโหวตยิ่งแล้วใหญ่ เพราะประเทศไทยเรา สาขาพรรคไม่ได้มีบทบาทหรือประโยชน์อันใด แต่นายทุนในพรรคมีส่วนสำคัญ ในการส่งตัวผู้สมัคร จะทำให้พรรคใหญ่ๆ อยู่ได้ พรรคเล็กไม่ต้องพูดถึง เงินทุน วางเงินจดทะเบียน มีค่าใช้จ่ายสูง พรรคเล็กไม่ได้เกิด ไม่เติบโต มีแต่พรรคใหญ่และพรรคขนาดกลางที่อยู่ได้ และขัดกับเจตนารมณ์แรกที่ไม่ต้องการให้พรคคการเมืองใหญ่แข็งแรง

ฉะนั้น พรรคเล็กที่จะเกิด จะกลายเป็นพรรคนอมินีให้กับพรคใหญ่ หาเก้าอี้ให้สัดส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ เหมือนใช้พรรคเล็กเป็นเสมือนสาขาหนึ่งของพรรคใหญ่เท่านั้น และส่วนตัวเชื่อว่านักการเมืองเป็นมนุษย์พิเศษ ทำได้ทุกอย่างในการเข้ามาหากอยากร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ยกเว้นแต่จะไปแตะคณะกรรมการยุทธศาสตร์และรัฐธรรมนูญไม่ได้เท่านั้นเอง!

อดีต กกต.สดศรีทิ้งท้ายว่าการเลือกตั้งจะสำคัญอย่างไรในเมื่อคนในชาติ (จำนวนหนึ่ง) ไม่เห็นว่าสำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องรอ รอ รอ ต่อไป

การเลือกตั้งที่ได้รัฐบาลจากเสียงของประชาชนที่เลือกตัวแทนเข้ามา กับการให้คนกลุ่มหนึ่งมาปกครองมันต่างกัน เราต้องไม่ลืมว่าเราอยู่ในสากลโลก

อนาคต นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่จะเรียน “รัฐศาสตร์” ต้องเรียนรัฐศาสตร์ของไทยที่มี “ลักษณะพิเศษ” คือมีการออกแบบระบบให้มีกลุ่มคนมาควบคุมอำนาจรัฐบาลอีกทีนี้

ทึ่งคนร่างรัฐธรรมนูญที่ฉลาดมาก!