แรงดลใจ จาก “บทกวี เออร์เนสท์ เฮมิ่งเวย์” : บทความพิเศษ

หลังอ่าน “ปาป้า” เฮมิ่งเวย์ “อหังการแห่งชีวิตห้าว” จบไปเมื่อไม่นาน กระบวนการชีวิตของผมก็เริ่มจัดระเบียบใหม่ให้กับชีวิตตัวเองอีกครั้ง ด้วยการจัดหนังสือบนหัวนอน บนชั้นหนังสือ และที่วางตั้งระเกะระกะรกเรี่ยอยู่ตามพื้นห้อง

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นแฟนตัวยงของ “โรอัลด์ ดาห์ล”

เคยอ่านหนังสืออย่าง “มาทิลดา นักอ่านสุดวิเศษ” “โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์” ฯลฯ

และใช่ว่าปัจจุบันผมจะหลงลืมนักเขียนหัวใจเด็กผู้นี้ แต่ความที่หยิบจับหนังสืออ่านมากขึ้นและรู้จักนักเขียนหน้าใหม่ๆ มากกว่าแต่ก่อน จึงมีบ้างบางช่วงขณะที่ผมหลงลืม จินตนาการอันน่าตื่นตา ภาษาเรียบลื่น และภาพประกอบน่ารักๆ ที่เคยทำให้ผมต้องมนต์เสน่ห์จนลืมทานข้าวมาแล้ว

วรรณกรรมเยาวชนหลายต่อหลายเล่ม สมัยประถมและมัธยมผมอ่านเป็นบ้าเป็นหลัง เรียกว่าคุณแม่พาไปร้านหนังสือทีไรเป็นต้องหมดสตางค์กับค่าหนังสือให้ผมได้ทุกครั้ง

ซึ่งนอกจากงานของ โรอัดล์ ดาห์ล ที่คุ้นเคยแล้ว ชื่อหนังสือที่ครั้งหนึ่งเคยพาผมล่องเข้าสู่โลกจินตนาการได้เหมือนโดนสะกดจิตนั่นก็คือ “จินตนาการไม่รู้จบ” ของ มิชาเอ็ล เอ็นเด้ ผู้เขียนได้สะบัดน้ำหมึกเสกให้เด็กขลาดเขลาคนหนึ่งกลายเป็น “อัศวิน” ในโลกของจินตนาการ (แน่นอนว่าจินตนาการในโสตสมองของผม ณ ห้วงยามนั้นอยากเป็นผู้กล้าอย่างเด็กน้อยคนนั้นขึ้นมาในบัดดล!)

จนก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ห้องสมุดก็ยังเป็นแหล่งพักพิงเดียวที่นำพาผมจรลีเข้าหาได้ทุกคราวครั้ง (และทุกคาบที่ไม่อยากเข้าเล็กเชอร์) วรรณกรรมอันหนักอึ้งถาโถมไหลเข้าสู่ชีวิตของผมก็ช่วงนี้เอง ทั้ง รักของผู้ยากไร้ ของ ดอสโตยเยียฟสกี้, คนนอก ของ อัลแบร์ การ์มู, คนโซ ของ คนุท แฮมซุน

รวมทั้งนิยายและเรื่องสั้นของ เออร์เนสท์ เฮมิ่งเวย์

อันที่จริงผมรู้จักอัตชีวิตประวัติอันมุทะลุบ้าบิ่นของเฮมิ่งเวย์มาบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการชื่นชอบการตกปลา, สู้วัวกระทิง, ยิงปืน, ต่อยมวย ฯลฯ

และมีหนังสือคลาสสิคตลอดกาลอย่าง “เฒ่าทะเล” ที่หลายคนชอบพูดกันนักหนาและหนักหูเหลือเกินว่าต้องหามาอ่านให้ได้ “เป็นงานที่ดีที่สุดของเฮมิ่งเวย์” อะไรทำนองนั้น

แต่น่าแปลก ผมกลับชอบนวนิยายเรื่อง The Snow of Kilimanjaro มากกว่า ซึ่งเล่าเรื่องราวของทหารผ่านศึกคนหนึ่งที่หวนระลึกถึงคืนวันครั้งเก่าก่อนก่อนสิ้นลมหายใจ

เรื่องนี้สำหรับผมถือเป็นมาสเตอร์พีซของเฮมิ่งเวย์มากกว่า The Old Man and the Sea ซะอีก!

แต่ไม่ว่าจะเล่มไหนก็ตาม หากงานเขียนคือการได้รู้จักชีวิตและตัวตนของผู้เขียนที่ซุกซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด งานของเฮมิ่งเวย์ควรค่าแก่การหามาอ่านทั้งสิ้น

ระหว่างที่ทำการรื้อ (หรือเรียกว่ายกห้องครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบสิบปี) เช็ด-ปัด-กวาด จัดระเบียบสังคมข้าวของเครื่องใช้ทั้ง หนังสือ นิตยสาร วิดีโอ ผมได้มาเจอหนังสืออีกเล่มของเฮมิ่งเวย์ที่คิดว่าทำหายไปเนิ่นนานแล้ว

นั่นคือ “บทกวี เออร์เนสท์ เฮมิ่งเวย์” (Ernest Hemingway”s Poems) เรียกว่าเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ทำให้ผมนึกอยากเขียนบทกวีขึ้นมาก็ว่าได้

เพราะทุกบททุกตอนในหนังสือเล่มนี้ได้อรรถาธิบายความลึกซึ้งกินใจชนิดจับถึงขั้วหัวใจ โดยเฉพาะบทท้ายๆ ที่เฮมิ่งเวย์เขียนว่า “หากเธอไม่มาในวันวาเลนไทน์ ฉันคงแขวนคอตายใต้ต้นคริสต์มาสของเธอ” (If my Valentine you won”t be…)

อ่านแล้วกระทบใจ อาจเหมือนถ้อยประชดประชัน แต่หารู้ไม่หากรู้จักตัวตนจริงแท้ของเฮมิ่งเวย์แล้วคงต้องบอกว่า “เขาเอาจริง!”

บทกวีเล่มนี้ ถูกเขียนบันทึกไว้ในหลากหลายสถานที่ที่เฮมิ่งเวย์เคยไปพักอาศัย ความลึกซึ้งต่อทุกถ้อยภาษาจึงถูกเรียบเรียงมาแล้วเป็นอย่างดี

หรืออาจพูดได้เต็มปากว่า ทุกบทได้แอบอิงแฝงฝังทัศนคติ ความคิด และตัวตนของเฮมิ่งเวย์ไว้อย่างแนบเนียนหมดจดในทุกบรรทัดก็คงไม่ผิดนัก

ดังเช่นบทกวี “นกกลางคืน” (Bird of night) ที่ดังกับ “เสียงร้อง” ของความเจ็บปวดและโหยหาอ้อมกอดจากใครสักคน

จงปิดตาของฉันด้วยปีกของเจ้าเถิด

เจ้านกมืดของกลางคืน

จงกางปีกสีดำของเจ้าเหมือนไก่งวงแพนหาง

กระพือปีกอันแข็งแรงของเจ้าเหมือนไก่โต้งตีปีก

ตะกุยควักไส้ควักพุงของฉัน

ด้วยเกรงเล็บผิวเกล็ด

จิกจะงอยปากของเจ้ามาที่ปากของฉัน

แต่จงปิดตาของฉันด้วยปีกของเจ้าเถิด

ไม่ต่างจากที่ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวเหมือนตัดพ้อว่า

“คนที่โดดเดี่ยวอ้างว้าง แม้นว่าจะมีความสุข แต่ก็ตายไปด้วยความขมขื่น”

การได้กลับมาอ่านบทกวีของเฮมิ่งเวย์อีกครั้ง จึงทำให้ผมรู้สึกซึมลึกและซาบซึ้งอย่างประหลาด หรืออาจเป็นเพราะภาพชายชราร่างท้วม สวมแว่นไม่มีกรอบ หนวดเคราหรอมแหรม สวมหมวก ไม่สวมเสื้อซึ่งเผยให้เห็นแผงอกบนหน้าปกหนังสือเล่มนี้ที่ผมทำให้ผมคิดถึงเขา

เฮมิ่งเวย์คงมองเห็นสัจธรรมชีวิตผ่านพ้นมาหลายช่วงกาลเวลา ยิ้มละไมในภาพจึงถูกตีตราเป็นเครื่องหมายอบอุ่นเล็กๆ ขึ้นในใจผม จนทำให้ผมเกิดอาการซึ้งกินใจและ “อิน” ไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อเพื่อนตะโกนเรียกผมจึงตื่นจากห้วงภวังค์แห่งการระลึกถึงขึ้นฉับพลัน

แต่ผมก็ยังไม่เคยลืมว่า…

เคิร์ต โคเบน ทำให้ผมหันมาสนใจหัดเล่นกีตาร์

ไกรวุฒิ จุลพงศธร ทำให้ผมฟุ้งฝันอยากเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์

เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ทำให้ผมคันไม้คันมืออยากลองเขียนเรื่องสั้น

และเฮมิ่งเวย์ทำให้ผมริลองเขียนกวี

เบ้าหลอมเล็กๆ อันเป็นบ่อเกิดผลิผลงานแรกๆ ในชีวิตของผม อาจพูดได้เต็มปากว่า ผมเริ่มเขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนใหม่ แล้วก็ลบอีก เขียนแล้วก็ลบอีก กว่าจะคลอดบทกวีชิ้นแรกของตัวเองออกมา ก็มาจากหนังสือ “บทกวีของ เออร์เนสท์ เฮมิ่งเวย์” เล่มนี้

แม้จะเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวเล่าสู่กันฟัง แต่แรงดลใจดีๆ จากหนังสือสักเล่มที่ได้อ่าน ก็ดลดาลเหมือนเป็นการจุดเทียนส่งต่อ “ไฟ” ให้ใครอีกคน ใครอีกคนที่เห็นคุณค่าและพร้อมจะส่งแรงใจและไฟฝันให้ลุกโชนสืบเนื่องต่อไป