บิ๊กตู่ โชว์ power ลุยเอง ดึงแอสตร้าฯ เข้าไทย 61 ล้านโดส ฉีดวัคซีนเต็มแขน ก่อนศึกไม่ไว้วางใจ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

บิ๊กตู่ โชว์ power ลุยเอง

ดึงแอสตร้าฯ เข้าไทย 61 ล้านโดส

ฉีดวัคซีนเต็มแขน ก่อนศึกไม่ไว้วางใจ

 

มหากาพย์วัคซีน 100 ล้านโดส สิ้นสุดลงหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โชว์ภาพและเสียงประชุมทางไกลกับ Mr.Pascal Claude Roland Soriot ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ด้วยตัวเอง

“อนุชา บูรพชัยศรี” อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยความสำเร็จ-บอกข่าวดีว่า “ซีอีโอแอสตร้าเซนเนก้า” ตกปากรับคำจะส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ ยังลงนามใน “สัญญาใจ” จัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า “เวอร์ชั่น 2” สำหรับต่อสู้กับ “ไวรัสกลายพันธุ์” ล่วงหน้าอีก 60 ล้านโดส ในปี 2565 โดยคาดว่าจัดทำ “ข้อตกลง” ภายในเดือนกันยายน 2564

ก่อนหน้าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีแผนส่งมอบวัคซีนเดือนละ 6 ล้านโดส (กันยายน-ธันวาคม 2564) ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลง แต่หลังจาก “รับปาก” จะส่งมอบวัคซีนให้ครบ 61 ล้านโดสภายในปี 2564 ทำให้ต้องส่งวัคซีนเพิ่มเป็นเดือนละ 11 ล้านโดส

ขณะที่แผนวัคซีนประเทศไทย เป้าหมายจำนวน 120 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 เพื่อฉีดให้ประชาชนชาวไทย 50 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร “ทะลุเป้า” ที่ตั้งไว้มาแล้วเป็น 122.1 ล้านโดส

 

สําหรับความก้าวหน้าการจัดหา-ส่งมอบวัคซีนทางหลัก-ทางเลือก 7 ยี่ห้อ แบ่งออกเป็น วัคซีนยี่ห้อแอสต้าเซนเนก้า จำนวน 61 ล้านโดส ส่งมอบให้แล้ว 14.7 ล้านโดส แผนการส่งมอบเดือนละ 11 ล้านโดส จนครบ 61 ล้านโดสภายในปี 2564 โดยไม่นับรับวัคซีนบริจาคแล้ว 1.46 ล้านโดส

วัคซีนยี่ห้อซิโนแวค มีแผนสั่งซื้อจำนวน 31.1 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 13.4 ล้านโดส เหลือรับเพิ่ม 5.7 ล้านโดสในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 ไม่นับรวมวัคซีนรับบริจาคแล้ว 1 ล้านโดส

วัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ จำนวน 30 ล้านโดส กำหนดทยอยส่งมอบไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2564) จำนวน 20 ล้านโดส ไม่นับรวมรับบริจาคมาแล้ว 1.5 ล้านโดส และรอรับส่งมอบวัคซีนบริจาคอีก 1 ล้านโดส

ส่วนวัคซีนยี่ห้อจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน บริษัทขอเลื่อนลงนามสัญญา เนื่องด้วยพบปัญหาการผลิต และวัคซีนยี่ห้อสปุตนิก รอขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

สำหรับ “วัคซีนทางเลือก” ยี่ห้อซิโนฟาร์ม จำนวน 10 ล้านโดส ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้าและส่งมอบแล้ว 5 ล้านโดส เหลืออีก 5 ล้านโดส

วัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นา จำนวน 5 ล้านโดส องค์การเภสัชฯ/สภากาชาดไทยมีแผนนำเข้า โดยมีกำหนดส่งมอบปลายปี 2564 ซึ่งความต้องการของเอกชนต้องการนำเข้า 10 ล้านโดส

โดยคาดว่าอีก 5 ล้านโดส จะส่งมอบให้ต้นปี 2565

 

นอกจากนี้ ยังได้รับรับความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากต่างประเทศ เพื่อ “แลกวัคซีน” แอสตร้าเซนเนก้า ระหว่างรัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทย จำนวน 130,000-150,000 โดส

ภายใต้ร่างความตกลงไตรภาคี (Tripartite agreement) ระหว่างรัฐบาลภูฏาน รัฐบาลไทย และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยมี 3 เงื่อนไขหลัก

เงื่อนไขแรก วัคซีนที่มีการแลกระหว่างกัน จำนวน 130,000-150,000 โดส (หมดอายุเดือนตุลาคม 2564) ซึ่งจะหมดอายุในเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 19,070 โดส (คาดว่าประเทศไทยจะสามารถใช้ได้หมดก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม 2564)

เงื่อนไขที่สอง การแลกวัคซีนโควิด-19 ระหว่างรัฐบาลภูฏานกับรัฐบาลไทย โดยรัฐบาลไทยต้องคืนวัคซีนแอสต้าเซนเนก้าแก่รัฐบาลภูฏาน (Returnable Basis) ในภายหลัง

เงื่อนไขที่สาม รัฐบาลไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ กระบวนการขนส่งวัคซีน (ขอรับการสนับสนุนการขนส่งจากกองทัพอากาศ) และภาษีนำเข้าและส่งออก ตลอดจนค่าธรรมเนียมต่างๆ

รวมถึงความช่วยเหลือด้านวัคซีนจากรัฐบาลออสเตรเลียในอนาคต ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ยกหู-ต่อสายตรงกับนายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

 

แม้มหากาพย์วัคซีนจะปิดฉากลง-วัคซีนจะปักเต็มแขนคนไทย ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเปิดฉากขึ้นหลังวันที่ 31 สิงหาคม 2564 แต่ “ข้อมูลเชิงลึก” เกี่ยวกับการบริหารจัดการ จัดซื้อ-จัดหาวัคซีน ตกอยู่ในมือพรรคฝ่ายค้านเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งรายละเอียดสัญญาจัดซื้อแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส ที่มีการลบเลือนตัวอักษรสีดำ เอกสารสัญญาการจัดซื้อวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคทั้งหมด และเอกสารมติ ครม.อนุมัติให้กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญากับบริษัทไฟเซอร์

รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับสัญญาจัดซื้อวัคซีน แผนการบริหารวัคซีนและแผนที่จะบริหารวัคซีนเพื่อรองรับการเปิดประเทศและการจัดสรรวัคซีนแต่ละจังหวัด ข้อมูลการติดต่อเพื่อซื้อขายวัคซีนระหว่างบริษัทเอกชนและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เอกสารสัญญาการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกจองประเทศไทย

เอกสารสรุปรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนาวัคซีน ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งเงินกู้ งบฯ กลาง และจากหน่วยงานอื่นๆ ทุกรายการ

ยังมีเอกสารรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับค่าตรวจ คัดกรอง ค่ารักษา ค่าฉีดวัคซีน ค่ารักษาอาการที่ได้รับวัคซีนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ของบฯ กลางเรื่องค่าบริการการติดเชื้อโควิด-19 ในปี 2563 ประมาณ 2,200 ล้านบาท ปี 2564 ขอรับงบฯ เงินกู้เรื่องค่าบริการการติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 17,000 ล้านบาท ปี 2565 ได้รับเงินกองทุน 850 ล้านบาท และขอรับจากพระราชกำหนดเงินกู้อีก 13,770 ล้านบาท

ข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับภาพรวมสาธารณสุขในประเทศไทย ทั้งในเรื่องงบประมาณ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนคนไข้ในและคนไข้นอก ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนักเรียนแพทย์ สถานการณ์ของประเทศเกี่ยวกับโรคโควิด-19

 

นอกจากเอกสารที่พรรคฝ่ายค้านมีอยู่ในมือแล้ว พรรคฝ่ายค้านเตรียมยิงคำถามไล่บี้ “พล.อ.ประยุทธ์” เช่น การขอความร่วมมือทางด้านการจัดหาวัคซีนกับประเทศต่างๆ

รวมถึงความผิดพลาดในการไม่เข้าร่วม “โคแวกซ์” การ “แทงม้าตัวเดียว” การฉีดวัคซีนให้กับ “วีวีไอพี” และจัดสรรวัคซีนไปที่จังหวัดของ “ผู้มีบารมี” ในพรรคการเมืองที่เป็นผู้บริหารสูงสุดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข มากกว่าจังหวัดอื่น

ยังไม่นับข้อหาฉกรรจ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ ปล่อยให้มีคนตายคาบ้าน เพราะเข้าไม่ถึงการรักษา และการไล่เบี้ย-ฟ้องร้องบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่ไม่สามารถส่งวัคซีนได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้จนมีคนติดเชื้อทะลุ 1 ล้านคน และมีคนตายเป็นใบไม้ร่วง รวมถึงข้อกังขาการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส ทั้งที่ถูกด้อยค่า

ตลอดจนการ “เบิกจ่าย” งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขในด้านการจัดซื้อวัคซีน รวมถึงการใช้เงิน “ในงบประมาณ” และ “นอกงบประมาณ” ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ส่อไปในทาง “ตีเช็คเปล่า”

ทั้งงบประมาณที่ใช้สำหรับ State Quarantine และ Hospitel ค่าเสี่ยงภัย และเบี้ยเลี้ยงบุคลากรด่านหน้า หมอ-พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

 

และท้ายที่สุด การที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยอม “กลับลำ” ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เรื่อง การจัดซื้อ Antigen test kid (ATK) ไม่ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

ทั้งที่การประมูลส่งกลิ่นไม่ชอบมาพากล-เรื่องแดงถูกตีแพร่ถึงการมีผลประโยชน์ในการจัดซื้อครั้งนี้

มหากาพย์วัคซีนยังคงดำเนินต่อไป ภายใต้การกำกับการแสดงของ พล.อ.ประยุทธ์แต่เพียงผู้เดียว

จึงอาจง่ายต่อการเข้าโจมตี-อภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน

ที่ปักเข็มจุดตาย-จุดเดียว